ในปัจจุบันหากใครเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และต้องการใช้เงินสดสกุลเงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็มักจะมีทางเลือกเช่นการแลกธนบัตรสกุลนั้นๆ หรือใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ซึ่งก็มักจะมีปัญหาต่างๆ เช่น
- การถือเงินสดจำนวนมากๆ ไว้ใช้ในต่างประเทศ มีความเสี่ยงในการสูญหาย ถูกขโมย หลงลืม
- การหาแลกเงินสดในประเทศไทย หากแลกตามธนาคารก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง ส่วนการแลกเงินตามร้านต่างๆ แม้อัตราจะถูก แต่ก็มีความเสี่ยงได้ธนบัตรปลอม รวมถึงอาจไม่มีเงินตามที่ต้องการในบางช่วงเวลาที่ความต้องการสูง แถมต้องเสียเวลาเดินทางไปแลกเงินอีก (แม้ว่าในสนามบินบางแห่งจะมีบูธรับแลกเงินก็ตาม)
- หากได้เงินเหรียญหรือเงินธนบัตรย่อยๆ ก็ไม่สามารถแลกคืนได้ หรือแลกคืนได้แต่ถูกกดอัตราแลกเปลี่ยน
- บัตรเครดิตก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าปกติ รวมถึงมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศที่ส่วนใหญ่คิดในอัตราถึง 2.5% รวมถึงกรณีรูดเพลิน เกินยั้งใจ จนต้องไปนั่งกลุ้มใจตอนใบเรียกเก็บส่งมา
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารกรุงไทยก็ได้เปิดตัว Krungthai Travel Card ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสำหรับนักเดินทาง รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ โดยบัตรดังกล่าวมีจุดเด่นเช่น
- สามารถแลกเงินเก็บไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในตลาด ถึง 7 สกุลเงินได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ, ปอนด์สเตอร์ลิง, ยูโร, ดอลลาร์ฮ่องกง, เยน, ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สิงคโปร์
- สามารถแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิด และปิดการใช้งานบัตรได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai netbank
- ใช้ซื้อสินค้า / บริการ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก ผ่านเครื่องรูดบัตร และ Visa payWave
- ใช้ถอนเงินสดได้ 7 สกุลเงินที่เครื่องเอทีเอ็มทั่วโลกตามสกุลเงินที่แลกไว้
- ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
วิธีการสมัคร
ด้านวิธีการสมัครนั้น จะต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันกับกรุงไทยเสียก่อน และสามารถไปสมัครบัตรได้ที่ทุกสาขาของธนาคาร ซึ่งผมไม่เคยมีบัญชีกับกรุงไทยมาก่อน ก็เลยต้องเปิดบัญชีก่อนค่อยสมัครบัตร และทางธนาคารจะให้เรากำหนดรหัสบัตร 6 หลักเอง ซึ่งรหัสสามารถเปลี่ยนได้ที่ตู้เอทีเอ็มของกรุงไทยในภายหลังได้ โดยบัตรมีอายุ 2 ปี
ตัวบัตรจากการตรวจสอบ BIN พบว่าเป็น Visa Prepaid มีการปั๊มหมายเลขนูนลักษณะเหมือนบัตรเครดิต ส่วนชื่อที่ปั๊มบนบัตรเขียนว่า KRUNGTHAI TRAVEL ตัวบัตรยังมีเทคโนโลยี Visa PayWave เพื่อชำระผ่านเครื่องที่รองรับ NFC รวมถึงยังรองรับเทคโนโลยี Chip & PIN อีกด้วย
การใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน netbank
จากรายละเอียดด้านบน การแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิดปิดการใช้บัตร สามารถดำเนินการผ่านแอพ KTB netbank (หรือชื่อใหม่ตามการรีแบรนด์อย่าง Krungthai netbank) โดยภายในแอพจะมีเมนู Travel card แยกออกมาต่างหาก
เมื่อกดเข้าไปจะพบหน้าจอแสดงสกุลเงินทั้ง 7 สกุลที่สามารถแลกได้ และมียอดคงเหลือของแต่ละสกุล เมื่อกดเข้าไปก็จะพบรายละเอียดต่างๆ ทั้งยอดเงินที่เหลือ วันทำรายการ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น รวมถึงการดูรายการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลังได้ 3 เดือนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังสามารถเปิด-ปิดการใช้งานบัตรได้ตลอดเวลา ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
สำหรับการซื้อขายนั้น ก็สามารถทำผ่านแอพได้ทันที โดยการกดปุ่มที่อยู่ด้านล่าง โดยสามารถซื้อได้ขั้นต่ำ 1 หน่วยของสกุลเงินนั้นๆ (โดยสามารถซื้อได้ถึงหน่วยทศนิยม 2 หลัก เช่น 1.01 หรือ 9.99) โดยเลือกบัญชีกรุงไทยต้นทาง และใส่จำนวนเงินที่ต้องการ โดยสามารถแจ้งผลการแลกเงินผ่านอีเมลและใส่บันทึกช่วยจำได้
เมื่อแลกเงิน (หรือในแอพคือการโอนเงิน) ก็จะมีการเก็บรูปภาพไว้เป็นหลักฐานในเครื่อง และสามารถใช้เงินได้ทันที ส่วนการขายคืนก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เงินที่แลกไว้จะไม่ได้รับดอกเบี้ยแต่อย่างใด เนื่องจากเก็บไว้ในรูปแบบบัญชีกระแสรายวัน
การใช้งานบัตร
Travel Card สามารถใช้งานได้ใน 3 รูปแบบ คือ
- ใช้ถอนเงินที่ตู้ ATM ในต่างประเทศได้ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ โดยเลือกกดเงินจากบัญชีกระแสรายวัน
- ใช้รูดหรือใช้จ่ายภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก
- ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก
โดยมีวงเงินกดเงินสดไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน และวงเงินซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตรหรือออนไลน์ไม่เกิน 500,000 บาทต่อวัน และสามารถแลกเงินเก็บไว้ได้สูงสุด 1,000,000 บาท โดยวงเงินทั้งหมดคิดจากทุกสกุลเงินรวมกันเทียบในอัตราเงินบาท
อัตราแลกเปลี่ยน
มาถึงจุดสำคัญ นั่นคืออัตราแลกเปลี่ยนว่าจะดีกว่าร้านแลกเงินทั่วไป หรือธนาคารจริงหรือเปล่า
ผมขอเทียบกับร้านแลกเงินชื่อดังย่านประตูน้ำ ที่ขึ้นชื่อว่ามีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด แถมขยายสาขาไปหลายแห่ง (รวมถึงใต้สนามบินสุวรรณภูมิก็มี) อย่าง Superrich Thailand ก็พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Travel Card ถือว่าสูสี และอาจดีกว่าในหลายๆ สกุล อีกทั้งยังไม่มีถูกลดอัตรากรณีเป็นธนบัตรย่อยด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนต่างอัตราซื้อขายของ Travel Card จะอยู่ในกรอบแคบๆ สูงสุดไม่เกิน 4 สตางค์ ขณะที่ร้านแลกเงินอาจมีส่วนต่างสูงถึง 25 สตางค์
การเก็งกำไร(!?)
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมองว่าสามารถใช้ช่องทางนี้ในซื้อขายเพื่อการเก็งกำไรค่าเงินที่สะดวก ไม่ต้องเก็บเงินสดจริงๆ และสามารถแลกคืนได้ตลอด อย่างไรก็ตามด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไม่บ่อยครั้งนัก ก็อาจไม่เหมาะกับนักเก็งกำไรเป็นชีวิตมากนัก รวมถึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท / ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
- ค่าธรรมเนียมถอนเงินที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 100 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
- ค่าธรรมเนียมสอบถามยอดที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 15 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
- ค่าธรรมเนียมการขายเงินคืนผ่านแอพ ฟรี 5 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 6 ขึ้นไป ครั้งละ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตร / การถอนเงิน / สอบถามยอด / ขายเงินคืน จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561
สรุป
จุดเด่น
- อัตราแลกเปลี่ยนที่เทียบเท่าหรือดีกว่าร้านแลกเงินชื่อดัง
- สามารถแลกเงินในอัตราที่ดีที่สุดเก็บไว้ได้ และแลกเพิ่มได้ตลอดเวลา
- ใช้จ่ายได้ทั้งในรูปแบบบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลหลัก
- ลดความเสี่ยงในการถือเงินสดระหว่างเดินทาง และสามารถเปิด-ปิดบัตรผ่านแอพได้
- สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยหากถอนหรือใช้จ่ายเกินกว่าจำนวนเงินที่แลกไว้ รายการจะถูกปฏิเสธ
- ใช้จ่ายด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แลกไว้ ไม่มีชาร์จเพิ่ม
- มาพร้อมเทคโนโลยี Visa payWave และ Chip & PIN ลดปัญหาไม่สามารถใช้จ่ายได้ในบางประเทศที่บังคับใช้ระบบ Chip & PIN
- ตรวจสอบรายการใช้จ่ายย้อนหลังได้สูงสุด 3 เดือน
- สามารถซื้อขายได้ตั้งแต่ 1 หน่วย จนถึงเศษทศนิยม 2 หลัก
ข้อสังเกต
- ใช้จ่ายได้เพียง 7 สกุลหลักตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศที่ไม่ได้ใช้ 7 สกุลเงินในบัตรได้
- ไม่สามารถใช้กดเงินสด สอบถามยอด หรือรูดซื้อสินค้าในประเทศไทย (แต่ไม่แน่ใจว่าหากเครื่องรูดบัตรรองรับการรูดหลายสกุลเงิน จะสามารถใช้ได้หรือไม่) แต่สามารถใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลเงินได้
- มีค่าธรรมเนียมในการออกบัตร การกดเงินสดและสอบถามยอดเช่นเดียวกับบัตรเดบิต รวมถึงมีค่าธรรมเนียมในการขายคืนในครั้งที่ 6 เป็นต้นไป (ฟรีค่าธรรมเนียมถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2561)
- วงเงินการกดเงินสดต่อวันเพียง 50,000 บาท และวงเงินใช้จ่ายผ่านเครื่องรูดบัตรต่อวัน 500,000 บาท แม้ว่าจะมีเงินอยู่ในบัตรมากกว่านั้นก็ตาม
- เงินที่แลกไว้ไม่ได้รับดอกเบี้ย
- บัตรมีอายุเพียง 2 ปี
- การใช้งานแอพ KTB netbank ยังไม่ไหลลื่นนักเมื่อเทียบกับแอพธนาคารอื่นๆ
Krungthai Travel Card ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ออกเป็นธนาคารแรกของไทย และยอมรับว่าไม่คาดคิดว่ากรุงไทยจะออกผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นธนาคารแรก น่าจะเป็นธนาคารสีเขียว สีม่วง หรือสีน้ำเงินก่อนมากกว่า (แต่หากจะว่าไป กรุงไทยก็สู้ในสมรภูมิร้านรับแลกเปลี่ยนเงินใต้สนามบินเหมือนกัน ไม่เชื่อลองไปสำรวจอัตราแลกเปลี่ยนที่สาขาแอร์พอร์ตลิงก์สุวรรณภูมิได้) ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทดแทนการถือเงินสดไปใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่รับบัตรเครดิตโดยทั่วไป ลดปัญหาเศษเหรียญที่ไม่สามารถแลกคืนได้หรือธนบัตรย่อยที่ถูกกดราคา อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีโปรโมชั่นออกบัตรฟรีด้วย
แต่หากต้องการนำบัตรไปใช้เพื่อกดเงินสดที่ประเทศปลายทาง ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก เนื่องจากยังมีค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดเช่นเดียวกับการนำบัตรเดบิตในประเทศไปกดเงินที่ต่างประเทศอยู่
ใครมีแผนเดินทางต่างประเทศ อย่างน้อยๆ ไปรับบัตรมาก่อน ก่อนตัดสินใจใช้ในการท่องเที่ยวต่างประเทศก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด
Comments
KTB ออกตัวนี้มา ถือว่าน่าสนใจทีเดียว ที่สำคัญคือสมัครฟรี ต้องไปจัดไว้ก่อน 555
อัตราแลกเปลี่ยนใช้ได้เลยถ้ายกเว้นค่าธรรมเนียม กดatmนี่จะเป็น the best เลย
โอ้ย อ่านแล้วเดี๋ยววันจันทร์ไปสมัครเลย
เสียดาย น่าจะออกมาตอนเยนประมาณ 28.5-28.6 ไม่กี่เดือนก่อน จะหวดเก็บไว้
เดี๋ยวกลับไทยไปสมัครครับ น่าสนใจมาก
เรทน่าสนใจดี ไม่ต้องนั่งรถเข้าเมืองไปแลกเสียดายที่รับแค่ 7 สกุลเอง แต่ก็เป็นที่ป๊อป ๆ ทั้งนั้น
ปล.แอพ KTB netbank นี่แย่สุดในบรรดาแอพธนาคารแล้วหรือเปล่า (ปุ่มมีรอบทิศไปหมด เมนูปัดขวา กดดรอปดาวน์ข้างบน ใส่รายละเอียดด้านซ้าย บางคำสั่งอยู่ข้างล่างอีกต่างหาก)
เรทน่าสนใจมากครับ ถ้าใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินสกุลอื่นต้องเสียค่าความเสี่ยงอะไรนั่นอีก อันถ้าเป็นบัตรนี้เราคุมได้เอง ไม่ต้องพกเงินสดแล้วพรุ่งนี้จะไปทำเลย ^^
ทำไมถึงทำเรตได้ดีอะครับ เพราะไม่ต้องมีเงิน physical เหรอ?
ซื้อผ่านเรท digital กับทาง ตปท ได้โดยตรงมั้งครับ (เดา)
น่าจะมี wallet ภายในกับ visa provider ครับ อัดเงินเข้า wallet ตอนเรทดีแล้วมาเอากำไรอีกนิดหน่อยตอนลูกค้า order ผ่านบัตร
อ่านแต่ละเมนต์ รับรองว่า ปปง.มาเยี่ยมบ้านท่านอย่างแน่นอน นั่นเป็นเหตุผลนึงที่ว่าทำไมไม่มีตลาด Forex ในบ้านเราแต่ไปเล่น
บ่อนนอกแทนใช้บัตรให้ถูกวัตถุประสงค์ครับ
ผมอ่านแล้วผมเข้าใจว่าเค้าหมายถึงกรุงไทยนะครับ
??????????
ผมเดาว่าใช่ครับ
ถ้าแลกเป็นธนบัตร ผู้รับแลกต้องถือเงินสำรองไว้ ซึ่งก็ต้องเผื่อการเพิ่ม/ลดค่าเงิน ทำให้คิด Spread กว้างไว้ป้องกันขาดทุนตรงนี้
ส่วนแลกเงินใส่ Wallet แบบนี้ ถ้าแลกกับแบงก์ พอกดคำสั่งแลกปุ๊บ คำสั่งก็ไปกองรวมกันที่ฝ่ายบริหารเงิน สิ้นวันก็ Net Position ว่าต้องซื้อ/ขายเงินอะไรเท่าไหร่ ทำทีเดียว กิน Spread ขำๆ ไปเป็นค่าดำเนินการ
ดีเหมือนกัน ขก.ไปต่อแถวร้านโครตรวย
น่าสนใจตรงที่เป็น Chip and PIN เนี่ยแหล่ะครับ
ปล.แอป Netbank นี่โคตรกากจริงๆครับ
เสียดาย น่าจะมี RMB
+1 อยากให้มี RMB ในอนาคตครับ จะได้สะดวกหน่อย
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1
ไปทำบัตรหายกะนู่น นี่มันมี สาขา ออกบัตรใหม่ให้ได้มั้ยครับ
ในอัตราที่สุดเก็บไว้ได้ ?
โปรดักล้ำหน้า 5.0 ส่วนหน้าตาเวอร์ชั่น 0.5
ผมว่าหน้าตาก็โอเคอยู่นะครับ
(หน้าตาน้องๆ BNK นะ)
น่าใช้ๆ