งาน Blognone Tomorrow 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เราเลือกใช้ระบบการขายบัตรผ่าน Event Pop ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพไทยที่อยู่ในตลาดนี้มาหลายปี
ผู้ที่เคยซื้อบัตรเข้างานอีเวนต์ งานคอนเสิร์ตต่างๆ ผ่าน Event Pop น่าจะมีเยอะในระดับหนึ่ง แต่ผู้จัดงานที่เคยใช้ระบบหลังบ้านของ Event Pop น่าจะมีไม่มาก ดังนั้นเราจึงอยากแชร์ประสบการณ์ใช้งานจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่สนใจใช้ Event Pop พอเห็นภาพว่าในมุมของผู้จัดงานจะพบเจอกับอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจเลือกใช้งาน
รู้จัก Event Pop
Event Pop เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งในปี 2015 โดย ได้รับเงินลงทุนจากโครงการ InVent ของอินทัช และ Beacon VC ของธนาคารกสิกรไทย ตัวธุรกิจเป็นแพลตฟอร์มสำหรับงานอีเวนต์แบบครบวงจร (บริษัทเรียกตัวเองว่าเป็น end-to-end platform for events) ช่วยจัดการเรื่องการซื้อบัตรออนไลน์ การโปรโมทและประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการลงทะเบียนหน้างาน
Event Pop อยู่เบื้องหลังงานคอนเสิร์ตและงานสัมมนาใหญ่ๆ ของไทยหลายงาน เช่น S2O, Wonderfruit, TEDx Bangkok รวมถึง คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของ BNK48 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เริ่มต้นที่ Organizer's Dashboard
การใช้งาน Event Pop ทำผ่านหน้าเว็บไซต์ eventpop.me เป็นช่องทางหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อบัตรหรือผู้จัดงานก็ตาม สำหรับผู้จัดงาน จะมีเมนู Organizer's Dashboard เพิ่มเข้ามาจากเมนูปกติ
เมื่อเข้ามายัง Organizer's Dashboard จะเป็นหน้าสรุปข้อมูลอีเวนต์ของเราให้เห็นภาพรวมของสถานะงานในปัจจุบัน มีข้อมูลของอีเวนต์ ยอดขายเป็นจำนวนเงิน ช่องทางการจ่ายเงินที่ถูกใช้งาน และมีกราฟแสดงความเคลื่อนไหวของแต่ละวันให้อย่างสวยงาม
เว็บเพจของ Event Pop ออกแบบมาดูดี เป็นมืออาชีพ และเป็น responsive ใช้งานได้สะดวกทั้งบนพีซีและอุปกรณ์พกพาด้วย ผู้จัดงานสามารถเข้าไปดูข้อมูลอีเวนต์ของตัวเองได้ตลอดเวลา แม้จะอยู่นอกสถานที่ก็ตาม เพราะเป็นเว็บที่มีฟีเจอร์ทัดเทียมกันทั้งบนพีซีและมือถือ
เนื่องจากบริการของ Event Pop มีหลายอย่าง บางอย่างเป็นฟีเจอร์ที่ออกแบบมาสำหรับงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ เช่น ระบบจองคิว ระบบเลือกที่นั่งแบบเรียลไทม์ หรือป้าย/ริสต์แบนด์ NFC สำหรับเช็คคนเข้างาน ซึ่งกรณีของงาน Blognone Tomorrow ไม่จำเป็นต้องใช้บริการเหล่านี้
บริการที่เรามีโอกาสใช้งานจึงเน้นไปที่ 3 เรื่องหลักคือ กระบวนการจ่ายเงินซื้อบัตร, การตลาดผ่านโค้ดส่วนลด และการสแกน QR เพื่อลงทะเบียนหน้างาน
ขายบัตรเข้างานผ่าน Event Pop
ฟีเจอร์หลักของ Event Pop คือการขายบัตรออนไลน์ โดยที่ผู้จัดงานไม่ต้องมาวุ่นวายกับการทำระบบขายบัตร เพราะ Event Pop มีไว้ให้หมดแล้ว
ในมุมของผู้จัดงาน สิ่งแรกที่ต้องทำคือสร้างประเภทของบัตร (Ticket Types) ที่มีราคาต่างกันไป ซึ่งในกรณีของเรามีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ Earlybird, Standard, Group Ticket โดยระบบสามารถตั้งค่าได้อย่างละเอียด เช่น กำหนดจำนวนของบัตรแต่ละประเภท, กำหนดระยะเวลาที่เปิดขาย (เช่น Earlybird ขายแบบจำกัดเวลา) รวมถึงฟีเจอร์ระดับสูงอย่าง "บัตรลับ" ที่ต้องใส่โค้ดก่อนจึงจะมองเห็น
ตรงนี้อาจเป็นข้อติเดียวที่เราพบจากการใช้งาน Event Pop คือบัตรแบบ Group Ticket นั้นแสดงราคาเป็นรายคน ไม่ได้แสดงราคารวมให้ตั้งแต่ต้น ต้องกดซื้อบัตรราคาปกติให้เรียบร้อยก่อน ระบบจึงรวมเป็นราคาสุดท้ายให้ สร้างความสับสนให้ผู้ซื้ออยู่บ้าง แต่บัตรส่วนอื่นไม่มีปัญหาใดๆ และสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น
เมื่อกำหนดประเภทของบัตรเสร็จ เราก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มอีกเลย นอกจากโปรโมทให้ผู้ชมงานเข้ามากดซื้อบัตรในหน้าเว็บของ Event Pop ตามระยะเวลาที่เรากำหนดให้ขายบัตร งานที่เหลือ Event Pop จะจัดการให้เสร็จสรรพ ช่วยลดภาระของผู้จัดงานลงไปได้มาก
ในมุมของผู้ใช้ กระบวนการซื้อบัตรผ่าน Event Pop ก็ใช้งานง่าย มี UX ที่ดี สะดวก รวดเร็ว อีกทั้งรองรับวิธีการจ่ายเงินหลายรูปแบบ ทั้งเครดิตการ์ด การโอนเงินผ่านธนาคาร รวมไปถึงการจ่ายเงินผ่านเคาเตอร์รับจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อด้วย
ระหว่างที่การขายบัตรดำเนินไป ผู้จัดงานสามารถดูยอดการขายบัตรได้แบบเรียลไทม์ในหน้า Orders & Ticketsโดยสามารถดูแยกได้ทั้งการซื้อบัตร (Orders ที่อาจซื้อได้หลายใบในครั้งเดียว) และ Tickets ที่เป็นรายละเอียดของบัตรแต่ละใบที่ขายออกไป ว่าผู้ซื้อเป็นใคร ซื้อตอนไหนบ้าง
หน้า Orders & Tickets มีความสามารถมากมายที่ช่วยให้จัดการบัตรจำนวนมากได้ง่าย เช่น ระบบฟิลเตอร์จากสถานะต่างๆ เช่น ช่องทางการขาย, โค้ดส่วนลด, สถานะการจ่ายเงิน รวมถึงสามารถสั่ง export ข้อมูลออกมาเป็น .xlsx หรือ .csv ได้ด้วย
อีกหน้าจอที่สำคัญคือ Financial & Reportsที่รายงานยอดขายเป็นจำนวนเงิน ช่องทางการจ่ายเงิน และสามารถสั่งโอนเงินค่าขายบัตรจากบัญชีของ Event Pop เข้ามายังบัญชีของผู้จัดงานได้จากหน้าจอนี้เช่นกัน
โปรโมทการขายบัตรด้วย Discount Code
เครื่องมือสำคัญอีกอย่างที่ช่วยจูงใจให้คนมาซื้อบัตรง่ายขึ้นคือ Discount Code หรือโค้ดส่วนลด ถือเป็นโปรโมชั่นที่ผู้จัดงานใช้กระตุ้นยอดขาย ซึ่ง Event Pop ก็มีระบบตรงนี้มาให้พร้อมสรรพ ตั้งแต่การออกโค้ดตามจำนวนที่ต้องการ-จำกัดระยะเวลาที่ใช้โค้ด, สร้างโค้ดแบบสุ่มที่ใช้งานได้ครั้งเดียว, จำกัดวงเงินรวมของโค้ดส่วนลด และดูรายงานการใช้โค้ดหลังปล่อยไปแล้วได้
เครืองมือด้านการตลาดอื่นๆ ที่ Event Pop มีให้คือการส่งอีเมลอัพเดตเกี่ยวกับงานอีเวนต์ไปยังลูกค้าที่ซื้อบัตรไปแล้ว เช่น อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และการเดินทางก่อนวันงาน 1 วัน และการทำ Affiliate หรือจูงใจให้คนมาช่วยขายบัตร โดยได้ส่วนแบ่งรายได้กลับไปด้วย
วันงานจริง ตรวจบัตรคนเข้างานด้วย QR Code
หลังจากขายบัตรเสร็จเรียบร้อย ตัดมาที่วันจัดงานอีเวนต์จริงๆ ลูกค้าที่ซื้อบัตรจาก Event Pop จะมีกระบวนการตรวจบัตรเพื่อเข้างานได้อย่างไร?
ในมุมของลูกค้า จะได้รับ QR Code ของตัวเองซึ่งจะเปิดจากสมาร์ทโฟน หรือจะพิมพ์ลงกระดาษก็ได้ แล้วนำมาสแกนที่หน้างาน
ส่วนในมุมของผู้จัดงาน จะต้องใช้สมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอพชื่อว่า Dash for Organizersมาใช้เพื่อสแกน QR Code (มีทั้งบน Android/iOS) ซึ่งในการใช้งาน ผู้ตรวจบัตรแต่ละคนจะต้องได้ security token จากระบบ Dashboard เพื่อเข้าแอพก่อนทำการสแกนโค้ดของผู้เข้าร่วมงาน สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็เพียงแค่มือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น
ในการใช้งานจริงวันงาน ทีมงานตรวจบัตรของเราให้ความเห็นกลับมาว่า แอพใช้งานง่ายมาก สแกนโค้ดได้รวดเร็ว ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ตัวแอพยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยสนับสนุนผู้ตรวจบัตร เช่น แสดงจำนวนบัตรที่สแกนไปแล้วและบัตรที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงข้อมูลของผู้ซื้อบัตรบนหน้าจอแอพ เพื่อตรวจสอบกับเอกสารยืนยันตัวตนอื่นๆ ได้อย่างสะดวก
สรุปประสบการณ์ขายบัตรผ่าน Event Pop
จากประสบการณ์จริงในการขายบัตรผ่าน Event Pop ต้องบอกว่าประทับใจในความสะดวกของระบบ ที่เตรียมมาให้แล้วทุกอย่างเท่าที่ผู้จัดงานอีเวนต์จะพึงต้องการ หน้าเว็บใช้งานง่าย แสดงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างทรงพลัง จุดติคงมีเรื่องเดียวคือการแสดงข้อมูลราคาของ Group Ticket ดังที่กล่าวไปแล้ว
ผู้จัดงานอีเวนต์ที่สนใจใช้ระบบของ Event Pop สามารถดูรายละเอียดได้ ในหน้าเว็บสำหรับผู้จัดงาน
Comments
ยังหงุดหงิดกับการซื้อบัตร ที่ทำให้ผู้จัดงานสามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังผู้ซื้อได้ เช่นค่า vat7%, ค่าธรรมเนียมตั๋ว(มันคืออะไร?), ค่ารูดบัตร (ไม่รูดบัตรก็โดนครับ) และค่าอื่นๆอีก
เคยโดนตอนที่ซื้อบัตรคอน bnk48 ค่าบัตร 2000 แต่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมถึง 300 กว่าบาท
รู้มาว่า ตัวเว็บสามารถให้เลือกว่าผู้ซื้อหรือผู้จัดงานต้องเป็นคนจ่ายในส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องให้ผู้ซื้อจ่ายเองสิ ผู้จัดงานก็จะได้เงินไปเต็มๆ
วิธีแก้ก็อยากจะให้ - ค่าบริการบางอย่าง ผู้จัดควรแบกรับเอาไว้เอง เช่นค่าธรรมเนียมตั๋ว ไม่ก็ค่ารูดบัตร
- หรือแสดงราคาที่จ่ายจริงไว้คร่าวๆด้านล่างราคาที่โฆษณาไว้ เช่น ราคาบัตร 1000 (ราคารวมภาษี 1070) จะได้รู้ราคาจริงทันที ไม่ต้องไปกดเข้าไปดูหลายขั้นตอน
ปล. บางค่าธรรมเนียมก็แพงไปหน่อย ค่ารูดบัตรเกือบ 4% และค่าส่ง kerry เกือบ 70 บาท
+1
ค่าธรรมเนียมตั๋ว = ค่าบริการจากเจ้าของแพลตฟอร์มมั้งครับ
ผมว่าประมาณนั้นแหละครับ ผมว่าค่านี้เราไม่ควรจ่าย ผู้จัดควรจ่ายหรือรวมให้ไปอยู่ในราคาบัตรเลย ไม่เข้าใจเว็บจริงๆว่าแยกมาให้ผู้ใช้จ่ายทำไม
แค่แยกให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายส่วนที่จ่ายให้ระบบครับ ไม่เกี่ยวกับทางผู้ขาย อะไรแบบนี้
แต่ทางผู้ขายสามารถผลักค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ผู้ใช้จ่ายได้อะครับ มันไม่ควรให้ผู้ใช้งานจ่ายสิ
อันนี้ขึ้นกับผู้จัดจริงๆครับ ถ้าผมเป็นผู้จัดเป็นจะแสดงราคาเต็มแล้วขึ้นตัวอักษรตัวโตๆว่า ราคาสุทธิ ไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง (อันที่จริงคือมีแต่เราจ่ายให้ลูกค้าแล้ว)
ตอนนั้น เคยจองบัตร react รอบ ไป 2 แต่พอถึงจอง แล้วกดไป พร้อมกับให้ยืนยันตัวตน CAPTCHA เอาจริงๆ ผมยืมยันไม่ได้ แต่ไม่รุ้ว่า คนอื่นเป็นหรือป่าว ก็งงว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น หรือถ้ายืนยัน ตัวต้นไปแล้ว พร้อมกับกดตกลงว่าจะซื้อบัตร ใน mobile แต่ระบบฟ้อง ว่า "ระบบไม่รองรับอะไรซักอย่าง "อันนี้ละโมโหมาก ถึงอยากจะขอ log มาดู ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ เพราะ fail มากๆจริงๆ ก็อยากให้คิดไว้ด้วยปล. เจ็บ !!!!
เป็นเว็บที่น่าสนมาก เล่าก่อนว่ามีความคิดที่จะจัดงานแบบคร่าวๆ(แต่ไม่เคยจัดเลย) ซึ่ง eventpop เป็นเว็บเดียวที่เปิดให้เข้าไปทดสอบระบบได้ มีข้อแนะนำนิดนึงคือ
1. ควรแจ้งเลยว่าถ้าอยากให้มีระบบ vat ให้ออแกไนเซอร์เลือกแบบ organization ไปเลย ไม่ว่าตัวจริงจะเป็นบุคคลหรือบริษัท
2. ระบบ vat 7% ถ้ากดให้รวมกับค่าตั๋ว จะไม่แสดงว่า vat 7% มูลค่าเท่าใด อยากรู้ต้องกดให้แยกจากค่าตั๋ว
3. ในระบบทดสอบไม่มีวิธีการจ่ายเงินแบบ bill payment ให้ทดสอบค่าธรรมเนียม มีแต่แบบเครดิต
4. ระบบทดสอบไม่มีเรื่องแผนผังที่นั่ง และเงื่อนไขแบบพิเศษต่างๆ (เช่นถ้าทุกที่นั่งราคาเท่ากันแต่ถ้าจ่ายเพิ่ม 1000 จะได้ลายเซ็นศิลปิน) เดาว่าต้องติดต่อทีมงานถึงจะมาทำให้ ควรให้มันอยู่ในระบบทดสอบด้วยเลย
ผมว่าเว็บนี้สำคัญมากถึงขั้นจะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่กันเลยทีเดียว คือคนทั่วไปจะสนมาเป็นออแกไนเซอร์เองมากขึ้นเนื่องจากสามารถเล่นกับระบบได้ทางตรง