Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

บทความนี้เป็นการศึกษาข้อมูลโดย Connie Chan แห่งกองทุนชื่อดัง Andreessen Horowitz โดยตั้งคำถามว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ในฝั่งอเมริกานั้น มักมีรูปแบบรายได้หรือการทำเงินเพียง 1 วิธี และคิดเป็นรายได้เกือบทั้งหมดของรายได้รวม ซึ่งไม่มีการกระจายความเสี่ยง วิธีทำเงินนั้นแบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ

  • โฆษณาเช่น Facebook, กูเกิล, Instagram, YouTube
  • ค่าสมาชิกหรือค่าซื้อสินค้าเช่น Amazon, Spotify, Netflix

โดยแต่ละบริษัทจะมีรายได้จากโมเดลทำเงินนั้นมากกว่า 80% ของรายได้รวม เช่น Facebook มีรายได้จากโฆษณา 98.5%, Netflix มีรายได้จากค่าสมาชิก 100%

Chan มองว่าวิธีทำเงินเช่นนี้อาจจะดีในการโฟกัส แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงหรือเกิดการตันของรายได้ เช่นโฆษณาไม่สามารถเพิ่มปริมาณในเว็บได้มากกว่านี้ หรือไม่สามารถหาสมาชิกเพิ่มในอัตราที่สูงแบบอดีต ซึ่งสำหรับบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนนั้น มีรูปแบบรายได้ที่แตกต่างออกไป และน่าศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะผสมผสานรายได้สองทางนี้ไปพร้อมกัน

แนวคิดที่ข้ามจาก PC ไปสู่ Mobile Only

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนสามารถคิดค้นรูปแบบรายได้ที่แตกต่างจากอเมริกา คือการใช้อินเทอร์เน็ตในจีนนั้นไม่ได้มียุคพีซีมาก่อนแล้วค่อยไปมือถือ แต่เป็นการเริ่มต้นที่มือถือเลย และเป็นมือถือเพียงอย่างเดียวด้วย (Mobile Only) ไม่ได้เป็น Mobile First แบบอเมริกา ทำให้แนวคิดหลายอย่างคิดถึงมือถือมากกว่า เช่น Tencent มองว่าพื้นที่โฆษณาต้องไม่รกหน้าจอมากเกินไป (เพราะเป็นจอมือถือ) รวมทั้งกำหนดให้ส่วน WeChat Moments แสดงโฆษณาสูงสุดเพียง 2 ตัวเท่านั้น เพื่อควบคุมประสบการณ์ใช้งาน

บทความยกตัวอย่างรูปแบบการทำเงินใน 4 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน ดังนี้

อีบุ๊ก

ในจีนวิธีการทำเงินของหนังสือออนไลน์นั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งหลายวิธีก็พบได้ในเว็บอ่านนิยายออนไลน์ของไทย โดยยกตัวอย่างแอปดัง QQ Reading ที่มีรูปแบบรายได้ 3 อย่าง

alt=

  • ให้อ่านหนังสือ 2 ใน 3 ส่วนแรกฟรี แต่หากอย่างอ่านส่วนที่เหลือถึงตอนจบต้องจ่ายเงินเพิ่ม
  • ขายนิยายย่อยเป็นตอนสั้น ๆ และมีเนื้อเรื่องออกมาต่อเนื่องตลอด รวมทั้งผู้เขียนก็รับฟังความเห็นจากผู้อ่านเพื่อปรับเนื้อเรื่องตลอด
  • ให้อ่านนิยายฟรี แต่ในตอนจบแต่ละบท มีการร้องขอให้ผู้อ่านช่วยจากทิปส์ให้ผู้เขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งทำได้ในนักเขียนที่มีชื่อเสียง

ระบบการแข่งขันจัดอันดับ (Gamification) เป็นอีกวิธีดึงดูดผู้ใช้งาน มีการจัดอันดับคนที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด ก็จะได้เครดิตอ่านฟรีเป็นต้น

ปัจจุบันตัวเลขรายได้ในอุตสาหกรรมอีบุ๊กของจีนยังคงเติบโตตลอด สวนทางกับอเมริกาที่ตลาดอีบุ๊กเริ่มถดถอย

Podcast

ในอเมริการายได้ของ Podcast นั้นมาจากโฆษณาแทบทั้งหมด ขณะที่จีนรายได้จาก Podcast มีการผสมผสานทั้งจากโฆษณาและค่าสมาชิก รวมทั้งตลาดจีนก็ใหญ่มากจนทำให้ผู้จัดรายการ Podcast หลายคนทำเงินจนเป็นเศรษฐีได้เลย

รายการของผู้จัด Podcast หลายคนในจีน ใช้วิธีขายบางเนื้อหาเป็นชุดแบบคอร์สการเรียนรู้ บางคอร์สก็น่าสนใจและขายดีมากจนทำเงินหลายล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันสร้างรายได้จากโฆษณาด้วย รวมทั้งวิธีการทำเงินแบบที่นิยมในจีนนั่นคือขอให้คนจ่ายทิปส์ หรือซื้อของขวัญในแอป

วิดีโอ

แพลตฟอร์มวิดีโอรายใหญ่ที่สุดของจีนคือ iQiyi (ของ Baidu) ซึ่งรายได้ก็มาจากการแสดงผลโฆษณาบนวิดีโอแบบ YouTube แต่เพิ่มวิธีการแสดงโฆษณาที่สัมพันธ์กับเนื้อหาด้วย AI เช่น คลิปสอนแต่งหน้าก็จะแสดงโฆษณาเครื่องสำอางขึ้นมา อย่างไรก็ตาม iQiyi มีรายได้จากโฆษณาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

alt=

รายได้อีกส่วนที่สำคัญของ iQiyi คือการสมัครสมาชิกวีไอพี ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 80 ล้านบัญชี โดยให้สิทธิมากกว่าแค่ดูวิดีโอไม่มีโฆษณา แต่มีทั้งคูปองส่วนลดร้านค้า, ได้ชมซีรี่ส์ตอนใหม่ก่อนใคร

ลูกเล่นหนึ่งที่ iQiyi ใช้ในการชักจูงให้คนจ่ายคือการให้ชมภาพยนตร์เอ็กคลูซีฟ คือชม 6 นาทีแรกก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะซื้อภาพยนตร์นี้ชมหรือไม่ นอกจากนี้แอปยังมีลูกเล่นที่ช่วยเพิ่มการแชร์ เช่น ปุ่มแคปหน้าจอ หรือปุ่มสร้าง GIF

เพลง

ถ้าไม่ฟังฟรีแบบติดโฆษณา ก็ต้องจ่ายเงินค่าสมัครรายเดือน แต่กับแอป Tencent Music ลูกเล่นมีเยอะกว่านั้น เช่น ขายอัลบั้มใหม่ในราคาพิเศษจำกัดช่วงเวลา รวมทั้งแสดงอันดับแฟนคลับที่ซื้ออัลบั้มมากที่สุด เพื่อชิงของรางวัลพิเศษจากศิลปิน เป็นต้น

ในบรรดาแอปเพลงของจีน ตัวหนึ่งที่มาแรงคือ WeSing (เครือ Tencent Music) ซึ่งให้ผู้ใช้ร้องเพลงคาราโอเกะถ่ายทอดสด และมีรายได้จากการได้ทิปส์หรือของขวัญในแอป (คนร้องได้ส่วนแบ่ง 30%) การต่อยอดนี้ยังมีจนถึงการสร้างตู้คาราโอเกะในศูนย์การค้า เพื่อกระตุ้นให้คนร้องเพลงถ่ายทอดสดที่ตู้ได้เลยด้วย

alt=

รายได้ที่ผสมผสานทำให้แนวทางของบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน มีวิธีทำเงินหลายแบบมากกว่า ไม่เจอข้อจำกัดหากแนวทางใดทางหนึ่งเริ่มไม่ได้ผลดีแบบอดีต และยังพิสูจน์ว่าการทำเงินหลายวิธีสามารถไปด้วยกันได้ หลายวิธีการเราก็อาจเห็นบ้างแล้วในแอปของไทย

ที่มา: a16z

Get latest news from Blognone

Comments

By: PandaBaka
iPhone Android Windows
on 22 December 2018 - 20:53 #1088660
PandaBaka's picture

นิยายรู้สึกของกวีนี่ลอกโมเดลมาเลยแฮะ

By: Hadakung
iPhone Windows Phone Android Windows
on 22 December 2018 - 21:28 #1088661

คนมันเยอะมากจนคิดโมเดลอะไรก็พอจะหาส่วนแบ่งมานิดเดียวรายได้ก็มหาศาล บ้านเรามันเล็กจนโมเดลต้องชัวร์ว่ามีส่วนแบ่งระดับที่เลี้ยงบริษัทได้ก็ยากละถ้าไม่คนมาทุ่มทุนให้

By: osmiumwo1f
Contributor Windows Phone Windows
on 22 December 2018 - 21:37 #1088666 Reply to:1088661
osmiumwo1f's picture

+1 เพราะ 5% ของประชากรจีนเท่ากับ 100% ของประชากรไทยเลย

By: tulakarn
Windows Phone Android WindowsIn Love
on 23 December 2018 - 07:00 #1088679 Reply to:1088661

แต่คนสิงคโปร์ ไม่คิดแบบนี้นะ ต่อให้ประเทศมันเล็ก ก้อหาวิธีทำเงินได้ตลอด ถ้าประเทศตัวเองใหญ่ไม่พอ ทำไปขายประเทศใหญ่กว่าเลย

By: sialsialsial on 23 December 2018 - 09:18 #1088681 Reply to:1088679
sialsialsial's picture

+1024

ถ้าตอนตั้งประเทศ ลีกวนยูคิดว่าสิงคโปร์ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรอก พูดจีนกลางกับตากาลอกไปก็พอ เพราะสิงคโปร์ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร สิงคโปร์คงไม่มีวันนี้

By: Hadakung
iPhone Windows Phone Android Windows
on 23 December 2018 - 13:55 #1088705 Reply to:1088679

สิ่งที่ผมพูดมันอยู่ในประเทศไทยครับ... การขยายตลาดมันไม่ใช่หัวข้อที่ผมพูดไงครับผมไม่ใช่คนสิงคโปร์ก็คิดได้ครับ

By: gotobanana
iPhone Android Blackberry Symbian
on 22 December 2018 - 21:36 #1088664
gotobanana's picture

ผมว่า Model หาเงินนี้จริงๆ Line น่าจะเป็นต้นแบบ เก็บทุกเม็ดจริงๆ

By: 9rockky
Android In Love
on 23 December 2018 - 01:26 #1088676 Reply to:1088664

ผมเคยลองผลักดัน Model การหาเงินใหม่ๆหลายอย่างแบบในบทความล่ะ LINE ไม่เอาครับ 555
ซึ่งนี่อาจจะกลายเป็นช่องโหว่สำหรับบริษัทอื่นใน
การโค่น LINE ก็เป็นได้นะครับ

By: whitebigbird
Contributor
on 23 December 2018 - 10:03 #1088690 Reply to:1088676
whitebigbird's picture

ไลน์จับมือกับธนาคาร และบริษัทในท้องถิ่นหลายๆ แบบครับ

แหล่งที่มาของเงินจะมาจากหลายทางมากๆ

By: gotobanana
iPhone Android Blackberry Symbian
on 22 December 2018 - 21:36 #1088665
gotobanana's picture

ซ้ำครับ

By: deaknaew on 23 December 2018 - 08:51 #1088680

บทความ มีความลำเอียง ยกตัวอย่าง YouTubeไม่ได้มีรายได้จากโฆษณาอย่างเดียวแต่ยังมี premium อย่าง YouTube red อยู่ด้วย

By: TigerST
Contributor
on 24 December 2018 - 08:03 #1088754 Reply to:1088680

จริงๆอย่าง Youtube ก็แตกแขนงเยอะนะ YoutubeTV นั่นก็ด้วย

By: sialsialsial on 23 December 2018 - 09:23 #1088682
sialsialsial's picture

มีอีกอย่างมาเสริมให้ฟังครับ คือระบบสติ้กเกอร์ ใน Wechat

สติ้กเกอร์ใน Wechat นี่แทบจะฟรีทั้งหมด ต่างจาก Line ที่แทบจะขายทั้งหมด ที่ฟรีก็เป็นระบบสปอนเซอร์เป็นคนจ่าย สติ้กเกอร์ฟรีใน Line จึงมักจะเป็นตัวมาสคอตแบบฮาร์ดเซลล์ แปะโลโก้สปอนเซอร์ในทุกที่จนไม่ค่อยมีใครอยากใช้ (และเพราะว่า บริการ Wechat money เป็นที่นิยม ทุกคนจึงสามารถจ่ายผ่าน Wechat money ได้แบบโคตรลื่นไหล มือลั่นง่ายมาก)

ส่วนสติ้กเกอร์ฟรีใน Wechat มาจากนักวาดธรรมดาๆ แล้วใช้ระบบเลือกได้ว่าจะให้ทิปนีกเขียนหรือไม่

ราคาทิปก็ตามแต่ใจผู้ใช้เลย เริ่มต้นที่ 1 หยวน คือ ประมาณ 5 บาทเท่านั้น หรือถ้าชอบมากจะทิปเป็น 100 หยวนก็ได้ หรือไม่ให้ก็ได้ แล้วแต่

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 23 December 2018 - 09:24 #1088684 Reply to:1088682

ระบบทิปนี่ จะเวิร์กจริงต้องมีคนใช้เยอะมากๆ ครับ เพื่อเอามาเฉลี่ยยอดกันอีกที จริงๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการบริจาค / donate เลย

By: rainhawk
Android Windows
on 23 December 2018 - 09:36 #1088685 Reply to:1088682
rainhawk's picture

คนเยอะบริจาคคนละหยวนก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว

By: whitebigbird
Contributor
on 23 December 2018 - 10:05 #1088691 Reply to:1088685
whitebigbird's picture

ผมว่าคนไทยควรเลิกเอา mindset นี้มาใช้นะครับ มันเป็น mindset ที่เป็นกับดักทางความคิด หลายคนที่ทำแพลตฟอร์มแล้วคิดแบบนี้ ทำเอาแพลตฟอร์มเจ๊งมาเยอะแล้ว

การทำให้คนจ่ายเงินไม่ได้ง่ายขนาดนั้นครับ

By: waroonh
Windows
on 24 December 2018 - 08:07 #1088756 Reply to:1088682

ระบบทิปเงิน
คนทำมันต้องดังก่อนนะครับ
แบบมีคนตามซัก 2-3 ล้านคน
แล้วถึงจะทำ อย่างที่หลายๆตัว
มันอยู่ได้ ต้องมีคนดังๆ อยู่หลายๆคน
ก่อนค่อยชัก % ถ้าคิดว่ามีคนตั้ง
1,000,000,000 ต้องมีคนโยน
เศษเงินมาบ้างแหละน่า แล้วเปิดเลย
เจ๊งแน่นอน

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 23 December 2018 - 09:23 #1088683

อ่านแล้วมันก็จัดเข้า ค่าโฆษณา ไม่ก็ ค่าสมาชิกหรือค่าซื้อสินค้า ได้อยู่ดี มีแค่พวก ทิปส์/ของขวัญ ที่ดูไม่ใช่สองอันนั้น...

By: Onewings
Windows
on 23 December 2018 - 11:28 #1088694 Reply to:1088683

+1

By: napatercatch on 23 December 2018 - 16:24 #1088715
napatercatch's picture

ทำไม 'กูเกิล' พิมพ์ภาษาไทยขณะที่บริษัทอื่นเป็นภาษาอังกฤษ?