Netflix รายงานถึงการใช้ Kotlin Multiplatform เพื่อแชร์โค้ดระหว่างแอปบน iOS และ Android ลดโค้ดซ้ำซ้อนระหว่างแพลตฟอร์ม โดยเริ่มจากโมดูลที่ชื่อว่า Hendrix ใน แอป Prodicle ที่ Netflix ใช้เป็นการภายในสำหรับกองถ่ายที่ผลิตงานให้แพลตฟอร์ม
Hendrix เป็นระบบสคริปต์สำหรับอ่านคอนฟิกและแปลผลก่อนนำไปใช้งานจริง โดยเหตุผลที่ต้องใช้ Hendrix มีตั้งแต่การทำ A/B testing, ค่าเฉพาะตัวอุปกรณ์แต่ละประเภท, พื้นที่ที่ผู้ใช้ใช้งานอยู่ก็อาจจะมีฟีเจอร์ต่างกัน เดิม Hendrix พัฒนาแยกกันสองโมดูลระหว่าง Kotlin บน Android และ Swift บน iOS
กระบวนการพอร์ต Hendrix มายัง Kotlin Multiplatform สามารถใช้งานบน Android Studio ได้ทันที ขณะที่ Xcode เองก็มีส่วนเสริม xcode-kotlin ให้ใช้งานได้ โดยรองรับการแก้ไขโค้ด, คอมไพล์ และดีบั๊ก ทั้งสองแพลตฟอร์ม ส่วนการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค ตัว Kotlin Multiplatform ก็มี HttpClient มาให้ และระบบแคชข้อมูลก็สามารถใช้ SQLDelight ได้
ผลการพอร์ตครั้งนี้วิศวกรของ Netflix ระบุว่า Kotlin Multiplatform ให้คุณค่าจากการลดงานพัฒนาโค้ดทีละแพลตฟอร์ม คุ้มกับความยุ่งยากกับการอินทิเกรตและติดตั้งเครื่องมือต่างๆ และในอนาคตการพัฒนาเจาะจงแพลตฟอร์มก็อาจจะเหลือแค่การพัฒนาหน้าจอ UI เท่านั้น
ที่มา - Netflix Technology Blog
การดีบั๊กโค้ด Kotlin Multiplatform บน Xcode
Comments
Kotlin ดีแบบนี้ แล้ว Flutter อ่ะ
"และในอนาคตการพัฒนาเจาะจงแพลตฟอร์มก็อาจจะเหลือแค่การพัฒนาหน้าจอ UI เท่านั้น"
นี่คือสิ่งที่ Flutter จะเข้ามาช่วยได้ครับ เพราะในไทยตอนนี้ก็มีเจ้าที่ใช้ Kotlin Multi-platform สำหรับส่วนที่เป็น Domain + Data Layer แล้วใช้ Flutter ในส่วนที่เป็น Presentation Layer (UI) นะครับ เพราะ Flutter มันจัดการเรื่อง UI ได้สะดวกกว่าจริงๆ
ทีมที่ dev ส่วน ui น่าจะชอบ ui style declarative แบบ flutterแต่ส่วน core dev จริง ๆ น่าจะชอบ kotlin มากกว่า dart
ถามหน่อยครับ facebook app ใช้ reactnative หรอครับ
น่าจะใช่ครับ แต่เหมือนว่าโค้ดส่วนมากยังอยู่ในฝั่ง Native ครับ ใช้ Bridge มาเป็นส่วนมาก