เราเห็นข่าวบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทำดีลซื้อกิจการบริษัทอื่นกันอยู่เรื่อย ๆ แต่ในบรรดาบริษัทใหญ่เหล่านั้น แอปเปิลกลับมีรูปแบบการซื้อกิจการที่แตกต่างจากคนอื่น ซีอีโอ Tim Cook ได้เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แอปเปิลซื้อกิจการบริษัทอื่นไปแล้วเกือบ 100 แห่ง เฉลี่ยแล้วทุก 3-4 สัปดาห์ ( ข่าวเก่า )
CNBC ได้สัมภาษณ์พนักงานในบริษัทที่แอปเปิลซื้อกิจการไปหลายคน พบว่ากลยุทธ์ของแอปเปิลเวลาซื้อกิจการคือเน้นซื้อตัวทีมงานวิศวกรให้เข้ามาเป็นพนักงานแอปเปิล มากกว่าสนใจการซื้อตัวกิจการบริษัทและสินค้า (acquihire) แอปเปิลจึงนิยมซื้อสตาร์ทอัพขนาดเล็กมากกว่า มีข้อมูลว่าวิธีประเมินมูลค่าเวลาซื้อกิจการ แอปเปิลใช้วิธีนับจำนวนพนักงานสายเทคนิคคูณด้วยตัวเลขหนึ่งออกมา และไม่มีการให้มูลค่าจากแบรนด์ หรือฐานลูกค้าเดิม
วิธีการซื้อกิจการของแอปเปิล มักเริ่มต้นจากฝ่ายพัฒนาภายในพบปัญหาอุปสรรคใดอยู่ ก็จะส่งเรื่องให้แผนกเจรจาซื้อกิจการ ไปค้นหาบริษัทที่มีทีมงานซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องดังกล่าว และซื้อกิจการเพื่อให้ได้ทีมงานเข้ามาในบริษัท ตัวอย่างเช่น ดีล AuthenTec ในปี 2012 ที่พัฒนาเป็นตัวสแกน Touch ID หรือในปี 2010 แอปเปิลซื้อ Siri Assistant ที่มาเป็น Siri ตั้งแต่ iPhone 4S โดยช่วงหลังหัวข้อที่แอปเปิลซื้อกิจการเข้ามาตลอดคือ AR, VR, AI, ระบบแผนที่, ระบบสุขภาพ และเซมิคอนดักเตอร์ ตัวอย่างเช่น Akonia , NextVR , Xnor․ai , Voysis หรือ PullString
เมื่อเป็นแอปเปิลที่นิยมทำทุกอย่างให้เป็นความลับ การซื้อกิจการก็มีแนวทางแบบนี้เช่นกัน โดยข้อกำหนดหนึ่งที่แอปเปิลระบุให้พนักงานบริษัทที่ถูกซื้อกิจการทำ คือห้ามอัพเดตข้อมูลใน LinkedIn ว่าตอนนี้ย้ายมาทำงานให้แอปเปิล และหากมีข่าวหลุดออกไป พนักงานทุกคนก็ห้ามตอบคำถามนี้ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว
อีกข้อกำหนดที่แอปเปิลระบุไว้ เนื่องจากบริษัทต้องการตัวพนักงาน ฉะนั้นพนักงานบริษัทเดิมจึงห้ามลาออกจากแอปเปิลในเวลาที่กำหนด ซึ่งแอปเปิลก็ให้หุ้นบริษัทแบบที่ทยอยขายได้ในช่วงเวลาที่กำหนดเป็นสิ่งจูงใจ
อย่างไรก็ตามหากย้อนดูดีลในอดีตของแอปเปิล ก็มีดีลขนาดใหญ่อยู่เช่นกัน อาทิ การ ซื้อธุรกิจชิปโมเด็มจาก Intel มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือ Beats มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์
ที่มา: CNBC
Comments
เหตุผลที่ทุกอย่างเป็นความลับก็คือ อยากถูกจดจำในฐานะของ innovation นั่นแหละ มูลค่า product จะได้สูงโดยที่ลงทุนน้อยกว่าปกติ ส่วนตัวยังเคยจดจำมาแบบนั้นเลย จนกระทั่งมาติดตามจริง ๆ ถึงรู้
เอิ่มมม อย่าเอาความไม่รู้ของตัวเองคนเดียวมาตัดสินคนอื่นสิครับเค้าไม่ให้ข่าวหลุดก่อนที่การเจรจาจะจบ เพราะมันจะมีผลกระทบต่อราคา เดี๋ยวโดนเจ้าอื่นมาบิดแข่ง และข้อมูลจากการทำ due diligence หลายอย่างมันเป็นความลับทางการค้า
พอซื้อเสร็จ มันถือเป็น material info. มันต้องรายงานตลาดฯ รายงานผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ทุกไตรมาส CEO CFO เค้าต้องโทรศัพท์มาคุยกับ investors และ selling side analyst (buying ถ้าว่างก็มาฟังได้นะ) ในเว็บ Apple ก็มี live ให้ฟังตลอด ของแบบนี้ใครเค้าจะปิดบังกันได้ เฮ้อออออออออออ.......
+1 ชอบเม้นนี้มากกก โดยเฉพาะที่ว่า อย่าเอาความไม่รู้ของตัวเองคนเดียวมาตัดสินคนอื่น:D
ขอบคุณมากที่มาให้ความรู้ แต่จาก context ผมงงอย่างหนึ่งว่า ผมตัดสินคนอื่นอย่างไร จากที่ผมพิมพ์ ผมเจาะจงเฉพาะตัวเองและ Apple ไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใด
ส่วนเรื่องการ acquire product ผมรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องประกาศ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะต้องติดตามเรื่องนั้น พอ product มันออกมาจริง ๆ คนก็จะได้จดจำว่า Apple คือผู้นำนวัตกรรมนี้ออกมา ทั้ง ๆ ที่มีบริษัทอื่นทำมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ แต่อาจจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ว่ากันไป ยิ่งตามบอร์ดอเมริกันชนนี่โจมตีกันสนั่นหวั่นไหวเรื่อง Innovation มันเป็นเพียงการสังเกตการณ์ของผม
+1 ขอบคุณข้อมูลครับ
ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่มีการซื้อสิทธิบัตรเป็นเรื่องปกติ คนไอทีจะยังคิดไปถึงเรื่องของศักดิ์ศรีเรื่องการที่ถูกจดจำในฐานะ innovator ที่แฟนบอยแอนติแฟนบอยพากันจินตนาการขึ้นเอง ณ ตอนนี้เขาคุยกันด้วยภาษา Business ครับ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองว่าดีลกันแล้วจะเป็นประโยชน์กับบริษัท ต่อให้ต้องดีลกับคู่แข่งเขาก็พร้อมจะทำครับ
ถ้ามันสามารถคุยได้ครบในทุกส่วนของสังคมผมว่าไม่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นแน่นอน แต่เชื่อไหมว่าตามบอร์ดบางแห่งยังมีการโต้เถียงเรื่องเหล่านี้กันอยู่เรื่อย ๆ
เน้นควานหาพนักงานที่มีประสิทธิภาพ คิดต่างจากบริษัทในไทยจริงๆ
ซื้อ AuthenTec ไง เล่นเอา Fingerprint บน Notebook ช่วงนั้นห่วยเลยแต่ก็ก่อกำเนิด TouchID บนมือถือ
Can’t innovate anymore, my ass ????????????