เทศกาลเกมประจำปี E3 2021 จบลงไปแล้ว ถึงแม้งานปีนี้เป็นออนไลน์ 100% ทำให้ขาดบรรยากาศของแฟนเกมเดินตามบูธไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นข่าวดีที่ E3 ได้กลับมาจัดอีกรอบ ( E3 ปี 2020 ถูกยกเลิก ) และมีเกมใหม่มาร่วมงานเปิดตัวมากมาย
หากให้เลือกบริษัทเกมที่โดดเด่นที่สุดใน E3 รอบนี้ ย่อมหนีไม่พ้นไมโครซอฟท์ (โซนี่ไม่ได้เข้าร่วม E3) ที่เปิดตัวเกมแบบจัดเต็มหลังควบกิจการ Bethesda และเป็นจุดเริ่มต้นของไมโครซอฟท์ยุคใหม่ ที่แก้ปัญหาเรื่องขาดเกมเอ็กซ์คลูซีฟได้แล้ว (สักที)
ปัญหาแก้ได้ด้วยเงิน ถ้ามีมากพอ
นับจากการเปิดตัว Xbox One ในปี 2013 ไมโครซอฟท์อยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำในสงครามคอนโซลมาโดยตลอด ยอดขายเครื่อง Xbox One ตามหลัง PS4 แบบไกลลิบ (ถึงขั้นไมโครซอฟท์ต้องเลิกประกาศยอดขายเป็นจำนวนเครื่อง และยังใช้ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้)
เหตุผลที่ Xbox One พ่ายแพ้ มีทั้งเรื่องนโยบายการตั้งราคาเครื่องในยุคแรกที่แพงกว่า PS4 เพราะพยายามขายพ่วง Kinect และปัจจัยการขาดแคลนเกมเอ็กซ์คลูซีฟเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อเครื่อง ซึ่งโซนี่พร้อมกว่ามากในแง่สตูดิโอแบบ first party ที่ลงทุนเรื่องนี้มายาวนานตั้งแต่ยุค PS1 ในขณะที่ไมโครซอฟท์ไม่ได้ลงทุนเรื่องนี้มากนักในยุคของ Xbox 360 (หลักๆ มีแค่ 343 ที่ทำซีรีส์ Halo, The Coalition ที่ทำซีรีส์ Gears of War, Rare ที่ทำซีรีส์ Kinect และ Turn 10 ที่ทำซีรีส์ Forza)
ช่วงปี 2014 เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของไมโครซอฟท์ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ Satya Nadella ซีอีโอคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงนั้น และการเลื่อนตำแหน่ง Phil Spencer หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเกม Microsoft Studios ขึ้นมาดูแลธุรกิจเกมทั้งหมด (อ่านรายละเอียดในบทความ Phil Spencer เผย ไมโครซอฟท์เกือบออกจากธุรกิจเกมหลัง Xbox One แต่ Satya ให้โอกาส )
หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ในเดือนกันยายน 2014 เราก็เห็นดีลช็อคโลก ไมโครซอฟท์ซื้อ Mojang สตูดิโอผู้พัฒนา Minecraft ในราคา 2.5 พันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความสงสัยว่าไมโครซอฟท์จะเอาไปทำพังหรือไม่
แต่ไมโครซอฟท์กลับใช้วิธีปล่อยให้ทีม Mojang ทำงานที่ถนัดต่อไปโดยไม่เข้าไปยุ่งมากนัก (รายละเอียดในบทความ รู้จัก Helen Chiang หัวหน้าทีม Minecraft หญิงเอเชียคนแรกในตำแหน่งหัวหน้าบริษัทเกม ) และสามารถผลักดัน Minecraft ให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่าเดิมอีก แนวทางนี้ทำให้ไมโครซอฟท์มั่นใจ
ในปี 2018 เป็นต้นมา เราจึงเห็น ไมโครซอฟท์ซื้อ ซื้อ และซื้อบริษัทเกมอย่างต่อเนื่อง ชนิดว่าไม่น่าจะมีใครจำชื่อสตูดิโอในเครือได้ทั้งหมดแล้ว ก่อนมาขมวดปมด้วย ดีลใหญ่ ZeniMax/Bethesda ในราคา 7.5 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2020 โดยสรุปแล้วไมโครซอฟท์มีสตูดิโอในมือทั้งหมด 23 แห่ง
E3 2021 การลงทุนผลิดอกออกผล
ไมโครซอฟท์เปิดตัว Xbox Series X|S ในช่วงปลายปี 2020 ด้วยเกมแบบแห้งเหือด เพราะ เกมเด่นของค่ายอย่าง Halo Infinite ถูกเลื่อน ในขณะที่เกมของสตูดิโอชุดใหม่ก็ยังเสร็จไม่ทัน ทำให้เราเห็น Xbox Series X|S ต้องโปรโมทด้วยเกมจาก third party (ที่มีบนทุกแพลตฟอร์มอย่าง Assassin's Creed Valhalla) ไปแบบแกนๆ แทน ในขณะที่ PS5 สามารถโปรโมทด้วยเกมเอ็กซ์คลูซีฟของแพลตฟอร์มอย่าง Spider-Man: Miles Morales ที่วางขายพร้อมเครื่องตั้งแต่วันแรก
หลังจากนั้นมา เราก็ยังเห็นฝั่ง PlayStation มีไลน์อัพเกมเด่นๆ ทยอยเปิดตัว และรอคิววางขายในอนาคต เช่น God of War ภาคใหม่, Horizon Forbidden West เป็นต้น ส่วนฝั่ง Xbox กลับค่อนข้างเงียบ ข่าวเดียวที่พบบ่อยๆ คือข่าวการกู้ชีพ Halo Infinite ให้กลับเข้าร่องเข้ารอย
หลังเวลาผ่านจากช่วงนั้นมาราวครึ่งปี ในที่สุดไมโครซอฟท์ก็มีอะไรไปตอบโต้บ้าง การแถลงข่าวในงาน E3 2021 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า เม็ดเงินมหาศาลที่ไมโครซอฟท์ลงทุนซื้อบริษัทเกมมาตั้งแต่ปี 2018 เริ่มผลิดอกออกผลแล้ว
ถ้าให้เลือกภาพที่สำคัญที่สุดของงาน E3 2021 ผมคิดว่าเป็นภาพไลน์อัพเกมชุดใหญ่ของไมโครซอฟท์ (ภาพแรกสุดของบทความนี้) ที่เป็นการร้องตะโกนบอกต่อโลกว่า "เรามีเกมแล้วนะ แถมมีเยอะด้วย"
บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลว่า ไมโครซอฟท์มีเกมเอ็กซ์คลูซีฟใดบ้างที่เปิดตัวแล้ว และรอวางจำหน่ายให้เล่นกัน
เกมใหม่ปี 2021
- Microsoft Flight Simulator เวอร์ชัน Xbox 27 กรกฎาคม
- Psychonauts 2Double Fine, 25 สิงหาคม
- Age of Empires IV Relic/World's Edge, 28 ตุลาคม (มีเฉพาะพีซี)
- Forza Horizon 5 Playground Games, 9 พฤศจิกายน
- Halo Infinite 343 Industries, ปลายปี 2021
เกมใหม่ปี 2022 หรือหลังจากนั้น
- Starfield Bethesda Game Studios, 2022
- Redfall Arkane Studios, ยังไม่ระบุวัน
- The Outer Worlds 2 Obsidian Entertainment, ยังไม่ระบุวัน
- Avowed Obsidian Entertainment, ยังไม่ระบุวัน
- Perfect Dark The Initiative, ยังไม่ระบุวัน
- Senua’s Saga: Hellblade II Ninja Theory, ยังไม่ระบุวัน
- Fable Playground Games, ยังไม่ระบุวัน
- Everwild Rare, ยังไม่ระบุวัน
- State of Decay 3Undead Labs, ยังไม่ระบุวัน
- Forza MotorsportTurn 10, ยังไม่ระบุวัน
- The Elder Scrolls VI Bethesda Game Studios, ยังไม่ระบุวัน
- Wolfenstein IIIMachineGames, ยังไม่ระบุวัน
- Indiana JonesMachineGames, ยังไม่ระบุวัน
นอกจากนี้ยังมีบางสตูดิโอของไมโครซอฟท์ที่ยังไม่ได้เปิดตัวเกมใหม่เลย แต่เรารู้แน่ๆ อยู่แล้วว่ากำลังทำเกมใหม่อยู่ เช่น The Coalition ที่ทำ Gears of War, Compulsion Games ที่เคยทำ We Happy Few หรือผลงานใหม่ของ id Software ที่ถัดจาก Doom Eternal เป็นต้น
ไลน์อัพเกมชุดใหญ่นี้ ทำให้ไมโครซอฟท์มั่นใจถึงขนาดประกาศว่า จะออกเกมเอ็กซ์คลูซีฟ (ในที่นี้หมายถึงเอ็กซ์คลูซีฟ Xbox และพีซี) ใหม่ได้ทุกไตรมาสด้วย
หมายเหตุ: บทความนี้ยังไม่ได้พูดถึงการเซ็นสัญญากับเกมจากบริษัทอื่น เพื่อมาให้เล่นบน Xbox Game Pass ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความเกี่ยวโยงกัน แต่เราสนใจเฉพาะ first party เท่านั้น
ผลกระทบต่อการแข่งขัน ตอนนี้สู้เพื่อเสมอ แล้วเอาชนะด้วย Game Pass และ xCloud
ถ้าเราเห็นความเคลื่อนไหวของไมโครซอฟท์ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความพยายามแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในยุค Xbox One ได้เกือบหมดแล้ว
- เครื่องแพงกว่าเขา ก็ตั้งราคาให้เท่ากันสิ (แถมมีตัวถูกคือ Xbox Series S)
- เครื่องแรงน้อยกว่าเขา ก็อัดสเปกฮาร์ดแวร์ให้แรงที่สุดสิ (ทำมาตั้งแต่ Xbox One X)
- มีเกมเอ็กซ์คลูซีฟน้อยกว่าเขา ก็ซื้อสตูดิโอเกมมันเลยสิ (สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างแล้วใน E3 ปีนี้)
ถ้าวัดกันในแง่คุณสมบัติของแพลตฟอร์ม ตอนนี้ Xbox เริ่มมาตีเสมอ PlayStation ได้แล้ว หลังตามหลังมานาน 6-7 ปี คำถามคือ PlayStation สะเทือนหรือไม่
คำตอบ ณ ตอนนี้คือไม่สะเทือนเลย โมเดลการชูเกมเอ็กซ์คลูซีฟเด่นๆ เพื่อขายเครื่อง ดึงคนเข้าแพลตฟอร์ม เป็นโมเดลที่โซนี่ถนัดและประสบความสำเร็จมายาวนาน และในยุค PlayStation 5 ก็ยังแรงดีไม่มีตก โซนี่ยังสามารถผลิตเกมเด่นๆ เพื่อขายเครื่องได้มหาศาลเหมือนเดิม เพราะคนเชื่อมั่นในแบรนด์ PlayStation ว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง
ดังนั้นถ้าเรามองการซื้อสตูดิโอเกมของไมโครซอฟท์เพื่อปิดจุดอ่อนเกมเอ็กซ์คลูซีฟ ก็คงช่วยให้ Xbox ทำได้อย่างมากแค่ "ตีเสมอ" ยอดขายของ PS5 เท่านั้น ถ้าเกมเด่นจำนวนพอๆ กัน สุดท้ายแล้วเกมเมอร์ก็อาจเลือกซื้อทั้งสองเครื่องไปเลย ( ไมโครซอฟท์ก็มีท่ารับมือด้วย Xbox Series S ที่เอาไว้เผื่อแฟน PS5 อยากเล่นเกม Xbox บ้างแต่ไม่อยากจ่ายแพงมาก )
แต่ไมโครซอฟท์ยังมีท่าตามหลังเตรียมรอไว้แล้วคือ Xbox Game Pass และ xCloud ที่ต้องมองว่าจับกลุ่มตลาด 2 ส่วนที่ต่างกัน
Phil Spencer เคยอธิบายว่า ยอดขายเครื่องคอนโซลไม่โตมานานหลายเจนแล้ว ฐานผู้เล่นคอนโซลจะอยู่ราวๆ 100 ล้านคน ถ้าหากไมโครซอฟท์อยากหาตลาดใหม่ๆ ก็ต้องไปโตวิธีอื่น ซึ่ง กลุ่มเป้าหมายของ Game Pass คือผู้เล่นคอนโซลที่ไม่มีเงินซื้อเกมราคาเต็ม 60-70 ดอลลาร์ แต่สามารถจ่าย 10-15 ดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อเล่นเกมแบบเหมาจ่ายแทน
ส่วน xCloud นั้นไปไกลกว่านั้นอีกมาก เพราะมันคือกลุ่มเกมเมอร์ที่ไม่มีคอนโซลหลักพันล้านคน (คิดจากฐานผู้เล่นเกมมือถือในปัจจุบัน) ที่ปัจจุบันเล่นเกมอย่าง PUBG Mobile หรือ Call of Duty Mobile บนมือถือ สิ่งที่ xCloud จะเข้ามาเปลี่ยนเกมตรงนี้ก็คือ อย่าเล่นเลยเกมเวอร์ชันมือถือ มาเล่น PUBG ตัวเต็มหรือ Call of Duty ตัวเต็มกันดีกว่า รันบน Xbox Series X แล้วสตรีมไปยังมือถือคุณ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กำลังจะเป็นจริงได้ในเร็วๆ นี้
ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์จะมองว่าทุกคนคือลูกค้าของ Xbox ไม่ว่าจะเล่นจากเครื่องไหน คอนโซลรุ่นใหม่ คอนโซลรุ่นเก่า พีซี มือถือ แท็บเล็ต สมาร์ททีวี ทีวีต่อกล่องสตรีมมิ่ง ฯลฯ ทุกคนจะได้เล่นเกมใหม่ล่าสุดจากสตูดิโอชื่อดังในเครือ (เช่น Starfield) คุณภาพกราฟิกระดับสูง ตั้งแต่วันแรกที่เกมวางขาย
ยอดขาย Xbox Series X|S อาจไปไม่ถึงตัวเลข 100 ล้านอีกเจนหนึ่ง แต่ฐานลูกค้า Xbox อาจไปถึงพันล้านคนเลยทีเดียว
Comments
เชียร์ครับ
อยากเห็น xCloud ลง PS5/สวิชด้วยครับ
ทำตลาดในไทยซักทีสิครับ ไม่อยากมุดไปstoreอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าจะโดน restrict เมื่อไร เลยยังไม่กล้าซื้อเครื่อง
ปัจจุบันถ้าได้เครื่องมาจะซื้อมเกมเล่นไม่ได้หรือครับ เอาแบบ default เลยน่ะ
ก็ยังรอไทย ฮ่า ๆ แต่คิดว่ามาแน่
ทิศทางคือซื้อสิ่งที่จะเป็นอนาคต หรืออาจถึงขั้นกำหนดอนาคตด้วยซ้ำเพราะตัวเองมีทรัพยากรมีศักยภาพมากพอ แนวทางคือน่าสนใจแหละ แต่พี่อย่าลืมช่องทางการขายด้วยล่ะ
เชียร์เหมือนกัน เพราะเชื่อในเรื่องของการแข่งขัน มันทำให้ผู้เล่นได้ประโยชน์มากขึ้นแน่นอน