หากพูดถึงบริษัทน้องใหม่มาแรงในตลาดหลักทรัพย์ชั่วโมงนี้ ชื่อของ บลูบิค กรุ๊ป ต้องเบียดขึ้นมาติดโผอันดับต้นๆ ด้วยแรงส่งจากภาคธุรกิจทุกอุตสาหกรรม ที่หันมาปรับตัวสู่ดิจิทัลแบบ 360 องศา การเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ชูธงความเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation จึงเป็นหมุดหมายที่ตั้งไว้แบบถูกทิศถูกทาง ทำให้คาดเดาถึงการเติบโตสู่ระดับภูมิภาคหลังจากนี้ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อได้การระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์มาช่วยจัดทัพเสริมบุคลากร และพัฒนาทีมงานให้วิ่งไปได้เร็วและแรงกว่าเดิม
“ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ผู้ร่วมก่อตั้งที่เคยร่วมงานกับองค์กรคอนซัลต์ระดับโลก และเคยมีประสบการณ์ตรงในสายงานด้าน Cyber Security ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่คนในสายงานดิจิทัลอาจกำลังเนื้อหอม มีตัวเลือกในอาชีพและในองค์กรธุรกิจชั้นนำมากมาย
ทว่าเส้นทางที่แตกต่างอย่างชัดเจนของ บลูบิค คือไม่ได้รวมเฉพาะคนเก่ง แต่มีองค์ประกอบครบเครื่องบ่มเพาะให้คนเก่งพัฒนาทักษะอื่นที่จำเป็นในโลกธุรกิจ ปูทางให้สายอาชีพเติบโตไปแบบครบเครื่อง ซึ่งการผลักดันเต็มกำลังเพราะมีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า คนไทยก็มีศักยภาพไปถึงระดับโลกได้ บลูบิค จึงรวบรวมคนที่มี Technical Skills ระดับหัวแถวมารวมกัน จนเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของวงการในปัจจุบัน
Q : แนวการทำงานของ บลูบิค เน้นการบ่มเพาะบุคลากรอย่างไร
ปกรณ์ :คนรุ่นใหม่มีทางเลือกในสายอาชีพด้านดิจิทัลกว่ารุ่นผมมาก จุดเปลี่ยนที่เป็น Key Driver คือความต้องการของภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นกว่าเดิม จนบุคลากรที่ผลิตออกมาจากภาคการศึกษาไม่พอรองรับ โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเป็นอาชีพมาแรง แต่ทีนี้เด็กที่จบใหม่อาจเก่งทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจากมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการปรับหลักสูตรของแต่ละสถาบันด้วย บ้างอาจเคยแก้โจทย์ที่อาจารย์วางไว้ให้ แต่ยังไม่เคยลงมือแก้โจทย์ธุรกิจของจริง ไม่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกันในทีมขนาดใหญ่ อธิบายง่ายๆ คือยังขาดชุดความสามารถที่พร้อมใช้ตอบโจทย์ธุรกิจ หรือสร้างระบบ IT ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้จริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกกำลังต้องการทรัพยากรแบบนี้มาก
ด้วยความที่ทีม Digital Excellence and Delivery (DX) ของบลูบิคตั้งใจทำงานด้วยตัวเองทั้งหมดโดยไม่ใช้เอาท์ซอร์ส ประกอบกับเป็นธุรกิจที่ให้บริการครบถ้วนแบบ End-to-end ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พนักงานเลยจะมีโอกาสพัฒนาความสามารถรวดเร็วกว่าที่อื่น เพราะเห็นภาพใหญ่ของการทำงานที่ไม่ใช่แค่ด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว เราพยายามตั้งเป้าเอาไว้ว่าหากใครผ่านการทำงานที่บลูบิค 1-2 ปี แล้วกลับไปเทียบกับเพื่อนในรุ่นเดียวกันจากองค์กรใหญ่อื่นๆ ต้องมีทักษะแพรวพราวมากกว่า หรือบางคนก็ต้องยิ่งเก่งด้านเทคนิคมากกว่าเพื่อนๆ คนอื่น สิ่งนี้ได้มาเพราะงานที่เราได้รับจากลูกค้าไม่เคยเป็นเรื่องง่ายๆ และทีม DX เองก็พยายามสร้าง Mindset ให้เน้นค้นหาทางผลักดันให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพมากที่สุด แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องเรียกว่าเป็นผลงานที่ออกมาแล้วทุกคนจะต้องภาคภูมิใจกับมันด้วย
ที่นี่เรายังย้ำเรื่องการจัดสรรองค์ความรู้ใหม่ๆ และส่งเสริมให้เข้าถึงนวัตกรรมทันสมัยตลอดเวลา เช่น เสริมศักยภาพด้าน Intelligence Programming อย่างการใช้ AI และมีกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานต่อยอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่จากโปรเจกต์อื่นๆ ที่อาจจะมาแบ่งปันกัน สนับสนุนให้พนักงานเสนอไอเดียหรือทดลองทำ Digital Lab บนหัวข้อหรือปัญหาที่น่าสนใจ หรือบางเรื่องก็เป็นการค้นหาทางนำเอากระบวนการใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่มาทดลองทำ เพื่อค้นหาคำตอบให้กับโจทย์ของลูกค้า เรามีเงินสนับสนุนให้น้องๆ ที่อยากทำ Proof-of-concept ปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ได้ลองค้นคว้าและทดลอง เพื่อให้ตอบโจทย์ของทีม DX ที่ท้าทายตัวเองเสมอว่าจะนำเทคโนโลยีมาเป็นโซลูชันที่แก้ปัญหาธุรกิจให้กับลูกค้าให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร
Q : บทบาทที่ท้าทายของ DX ด้าน Digital Transformation เป็นอย่างไรบ้าง
ปกรณ์ :ภารกิจด้าน Digital Transformation ปกติแล้วจะเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มาก กระบวนการนี้จะเข้าไปแตะทุกภาคส่วนภายในองค์กร ในฐานะที่บลูบิคเป็นผู้ให้บริการ เราต้องเตรียมความพร้อมไปช่วยธุรกิจให้สู้รบปรบมือกับการแข่งขันที่ใช้เทคโนโลยีมาสู้กัน ในส่วนของทีม DX จะเข้าไปมีบทบาทเข้มข้นในส่วนสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง เช่น การยกระดับแผนกงานด้านไอทีของธุรกิจต่างๆ ที่เคยเป็นหน่วยงานเชิงรับ ให้เริ่มเป็นส่วนงานที่สร้างรายได้หรือสามารถสร้างและดูแลระบบ Digital ให้กับฝ่ายธุรกิจขององค์กรได้ หรือเข้าไปช่วยลดเวลาในการออกแบบและพัฒนาระบบขนาดใหญ่ แบบนี้เป็นต้น
ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยว่าบริษัทส่วนใหญ่จะมีแผนกไอทีไว้เพียงดูแลและอัปเกรดระบบอำนวยความสะดวกรายวันให้แผนกต่างๆ หรือเข้ามาแก้ไขเมื่อระบบปฏิบัติการขัดข้อง แต่เมื่อธุรกิจเข้าสู่มิติของการแข่งขันที่หนักหน่วง แผนกไอทีต้องยกระดับบทบาทของตัวเองมาเป็นส่วนสร้างรายได้ หรือช่วยฝ่ายธุรกิจในการสร้างและดูแลช่องทางการสร้างรายได้โดยตรง กลายเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในยุคที่ช่องทางการขายโยกย้ายสู่โลกดิจิทัลหมด
ด้วยความจำเป็นที่ว่ามา ถ้าเปรียบเทียบได้กับช่วงที่เศรษฐกิจกำลังดี จะเห็นว่ามีการสร้างตึก สร้างอาคารใหม่อยู่ทุกๆ วัน ทีม DX จะเข้าไปช่วยออกแบบอาคารหลังใหม่ให้กับองค์กรต่างๆ ช่วยสำรวจและให้คำแนะนำในการเตรียมโครงสร้างและสถาปัตยกรรมต่างๆ เข้าไปช่วยชี้ให้เห็นช่องว่างที่ยังขาดไปว่ามีอะไรบ้าง จัดทำโปรแกรม Reskill ไปช่วยเป็น Extended Team หากพบว่าปริมาณงานล้นมือมากเกินไป หรือแม้กระทั่งอาจช่วยเปิดแผนกใหม่ให้เป็น Dual Track ช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนการทำ Transformation ในฝั่งเทคโนโลยีให้เร็วมากขึ้น
เราเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมๆ ให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าบลูบิคจะขับเคลื่อนด้วยคลื่นลูกใหม่เป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างความไว้วางใจจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง จากการส่งมอบบริการที่สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจหลายประเภทที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ การเติบโตที่รวดเร็วทำให้เรายังต้องขยายทีมเปิดรับคนทำงานที่มี Growth Mindset เข้ามาเสริมความพร้อมให้เป้าหมายเป็นธุรกิจระดับนานาชาติด้วย เราต้องการยกระดับตัวเองและงานด้านเซอร์วิสนี้ให้สามารถเข้าไปแข่งขันกระทบไหล่กับผู้เล่นต่างชาติระดับภูมิภาคได้ ในวันนี้เราก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะเราคิดว่า DX ต้องสามารถรองรับความต้องการของตลาดด้านบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะบางอย่างในอนาคตได้ด้วย โดยเฉพาะในด้านของ AI และด้าน Cyber Security
Q : มุมมองต่อบลูบิคจากสายตาคนภายนอก
ปกรณ์ :สิ่งที่เป็นเสียงสะท้อนผ่านลูกค้ากลับมาหาเราเสมอ คือ ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็น Tech Partner นะ ไม่ใช่แค่ซัพพลายเออร์ที่ทำตามใบสั่ง แต่เป็นทีมที่พร้อมทำงานร่วมกัน มุมมองนี้ตรงกับเป้าหมายที่เราอยากเป็นคือ เป็นการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกับลูกค้าเสมือนเป็นทีมเดียวกันเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ตั้งใจส่งมอบระบบที่มีคุณภาพ วางโซลูชันเพื่อช่วยเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่ม หรือใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาที่เดิมลูกค้าอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้นตออยู่ที่ไหน ที่ผ่านมาเคยมีกรณีแบบนี้บ่อยๆ ที่ลูกค้าไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร เช่น ลูกค้าพบว่าระบบขัดข้อง หรือ ล่มบ่อยๆ ทีมบลูบิคจะเข้าไปค้นหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข และส่วนใหญ่ลูกค้าจะบอกให้เราเข้าไปช่วยสร้างระบบใหม่ที่ลูกค้าพอใจให้ต่อ
เรามองว่าเทคโนโลยี สุดท้ายก็เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ประโยชน์และสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ บลูบิคทำงานหนักแทนลูกค้าในเรื่องการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม เหมาะกับรูปแบบ และกลยุทธ์ธุรกิจที่วางไว้ในอีก 3-5 ปี เปรียบเทียบเป็นภาพคือ เราเหมือนสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญในการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้างบ้านให้รวดเร็วและรองรับการต่อเติมของบ้านในอนาคต แม้วันนี้ลูกค้าอาจอยากได้บ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น แต่ด้วยระบบที่เราวางไว้ให้ หากวันหนึ่งเขาอยากต่อเติมเป็นตึกสูงขึ้นไป ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ทำต่อไปได้อย่างมั่นคง เพราะเราจะไม่ยอมให้การลงทุนของลูกค้าต้องสูญเปล่า แต่ต้องเอาไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
ขณะเดียวกัน ทีมยังรับฟังความคิดจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงบริการ รวมถึงกล้าแนะนำสิ่งที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะด้วยการทำงานที่ไม่เน้นทำตามใบสั่งเหมือนรับผลิตของจากโรงงาน ในกรณีที่พบว่ากระบวนการบางอย่างไม่เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า เราจึงกล้านำเสนอหรือโต้แย้งด้วยเหตุผลและข้อมูล หรือหากจำเป็นก็พร้อมชี้แจงผ่านการเตรียมข้อมูลด้วยวิธีต่างๆ แม้ว่าในความเป็นจริง การทำงานตามใบสั่งนั้นง่ายกว่า แค่รับเงินแล้วจบโครงการไป แต่เป็นธรรมชาติของทุกคนในบลูบิคที่จะไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือลูกค้าไม่ได้ประโยชน์เหล่านี้
จากอดีตในวันที่ก่อตั้งเรามีพนักงานชุดเริ่มแรกเพียง 5 คน แต่เราเชื่อว่าเป็นโชคดีที่ลูกค้าให้โอกาสได้แสดงฝีมือ และคิดว่าพวกเขาคงรับรู้คุณค่าและความตั้งใจผ่านผลงานของเรา ที่ทั้งทุ่มเทความคิดและทำให้แบบเกินมูลค่าโครงการตลอด ทำให้เราได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าเพิ่มขึ้น ดูได้จาก
การขยายพนักงานแบบก้าวกระโดดทุกปี เฉพาะทีม DX มีจำนวนกว่า 70-80 คนในปัจจุบัน และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 200 คนให้ได้ หลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
Q : มองว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำงาน
ปกรณ์ :ผมให้ความสำคัญกับทัศนคติที่พร้อมเติบโต (Growth Mindset) มากที่สุด เพราะจะผลักดันการเติบโตของตัวพนักงานเองและทีมทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะงานที่บลูบิคได้รับมาไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นโจทย์ที่ในองค์กรลูกค้ายังแก้ไม่ได้ หรือเป็นโจทย์ยากที่ทีมลูกค้าไม่มีทรัพยากรพอที่จะแก้ให้ทันภายในกรอบเวลา จึงต้องการให้บลูบิคเข้าไปช่วย บางคนมองว่าอยากเข้าไปทำให้องค์กรแนว Tech Startup เพราะท้าทาย อยากจะขอให้ลองกลับมาให้โอกาสงานแบบนี้ที่บลูบิคดูบ้าง เพราะเป็นงานที่ท้าทายกว่าเยอะ
เพราะปัญหาที่เรากำลังแก้ให้กับลูกค้าไม่เคยมีแค่มิติด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว เราได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกับทีมที่เก่งๆ ลูกค้าเก่งๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะฝึกกันในห้องเรียนหรือจากการอ่านหนังสือได้ ส่วนทักษะด้านดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ และที่บลูบิคเองก็มีโปรแกรมฝึกอบรม ส่งเสริมการศึกษา และเปิดโอกาสให้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำสม่ำเสมออยู่แล้ว นอกเหนือจากความรู้เชิงเทคนิค สิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่จะได้เรียนรู้คือทักษะการทำงานร่วมกับ Multicultural Team ซึ่งเราสามารถเรียนรู้แนวคิดจากเพื่อนร่วมงานที่อยู่แผนกอื่นๆ ได้ เพราะความเป็น End-to-end Service ของบลูบิค
นอกจากนี้ เราให้ความสำคัญกับการต่อยอดโอกาสในการทำงานต่างๆ ให้สามารถพัฒนาเป็น Career ของแต่ละคนได้ในอนาคต ด้วยโครงสร้างของเราที่มีตำแหน่งงานครอบจักรวาลเลย ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายสายงาน ก็จะได้รับโอกาสผ่าน Job Rotation Program แบบไม่ต้องไปเสี่ยงหางานใหม่ หรือพนักงานใหม่อาจมีช่วงให้ทดลองแต่ละตำแหน่งเพื่อค้นหาความชอบ เช่น จากที่ทำเรื่อง AI อาจจะข้ามไปจับงานด้านบล็อกเชนซึ่งเป็นแผนกใหม่ที่เราเพิ่งตั้งขึ้นมาก็ได้ หรือ อาจข้ามจากสายเทคโนโลยีจัดๆ ไปทำงาน IT Consulting เลยก็ได้เช่นกัน
อีกข้อได้เปรียบคือการขยายธุรกิจผ่านโครงการร่วมทุนใหม่ตลอดเวลา ทำให้พนักงานมีตัวเลือกมากขึ้นในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างการเติบโตใน Career ของตัวเอง เช่น การร่วมทุนกับ บริษัท ปตท.
น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท Orbit Digital ในปีนี้ คนที่มีความสนใจเฉพาะเรื่อง Retail Technology หรือ Retail Innovation ก็มีทางเลือกให้เข้าไปปฏิบัติงาน เจอโจทย์จริง และยังเริ่มขยับขยายบริการไปต่างประเทศโดยมีโครงการร่วมกับที่ปรึกษาระดับโลก เช่น มีโครงการพัฒนาระบบเกี่ยวกับ Blockchain ที่อินโดนีเซียที่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่พร้อมรับความท้าทายและได้ฝึกตัวเองในการทำงานระดับนานาชาติ
แม้ว่าจะเป็นธุรกิจของไทย แต่มาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ก็อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ที่สำคัญคือระบบการเลื่อนขั้นที่ไม่ยึดติดกับความอาวุโส แต่ให้ค่าตอบแทนที่ขับเคลื่อนด้วยความสามารถของแต่ละคนเป็นหลักจริงๆ
Q : วัฒนธรรมการทำงานที่บลูบิคเป็นอย่างไร
ปกรณ์ :เราให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องใหญ่ เริ่มจาก ทำงานเน้นผลลัพธ์และความสำเร็จของงาน ไม่ใช่แค่งานเสร็จ การปลูกฝังการเป็นนักแก้ปัญหาและนักพัฒนาเพื่อสร้างอิมแพ็ค ไม่พอใจและหยุดอยู่กับสิ่งเดิมๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีมทั้งภายในองค์กรและกับลูกค้า กล้าที่จะพูดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สร้างคุณค่าและมีความภูมิใจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับงานที่ทำ
ด้วย Mindset ของการเป็นบริษัทคอนซัลต์ เราจึงมีระบบโค้ชชิ่งที่มีรุ่นพี่คอยสอนคอยช่วยดูแล ให้คำปรึกษาด้านการทำงานและเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงาน บรรยากาศการทำงานที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อให้ Performance ของทีมออกมาดีที่สุด ภายใต้พื้นฐานการแข่งขันที่เป็น Fair Game ที่ไม่ได้แข่งกับเพื่อนร่วมงาน แต่แข่งกับตัวเองในการสร้างผลลัพธ์ ส่วนการพัฒนาทักษะของบุคลากร เราเน้นการฝึกให้บุคลากรมีทั้ง Hard Skill คือความรู้เชิงเทคนิคที่แข็งแรง และมี Soft Skill ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างครบถ้วน นอกจากนี้กระบวนการพัฒนาบุคลากรให้มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจ มีอิสระในการคิดและทำงานที่หลากหลาย เช่น มีทักษะด้านการสื่อสาร การวางโครงสร้างของงาน การนำเสนอผลงาน เพราะเราตั้งใจสร้างองค์กรที่มี Autonomy และ Agile ไม่ได้เป็น Hierarchy แบบสมัยก่อน ให้เป็นรูปแบบองค์กรที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่จริงๆ
ประสบการณ์ทำงานธุรกิจคอนซัลต์ที่มากกว่าเรื่องเทคนิค
หลังจากเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายอาชีพของตัวเองมาไม่ต่ำกว่าสิบปี “เอ้ - ราชรินทร์ ทวนทอง”และ “เว้ง - นวพล งามวรโรจน์สกุล”เข้ามาร่วมทีมกับบลูบิคในตำแหน่ง Digital Excellence and Delivery Manager ในปีที่ผ่านมา ซึ่งด้วยการทำงานกับบริษัทอื่นๆ และยังเคยริเริ่มธุรกิจของตัวเอง ทำให้ทั้งสองเห็นมุมมองเปรียบเทียบที่เป็นข้อได้เปรียบของการทำงานปัจจุบันอย่างชัดเจน
Q : สิ่งที่ได้จากทำงานด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรประเภทคอนซัลต์
เว้ง :Developer ในบริษัทซอฟต์แวร์อาจเขียนโปรแกรมตามสั่งโดยไม่ต้องรู้จุดหมายปลายทาง แต่ที่บลูบิคทุกคนต้องรู้เลยว่าทำโปรเจกต์ A เพื่ออะไร จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้เท่าไร เคยมีคำพูดตลกร้ายว่าอาชีพเขียนโปรแกรมตามสั่งนี้เหมือนกรรมกร แต่ที่บลูบิคจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะเราเปิดโอกาสรับฟัง ถ้าใครมีไอเดียก็นำเสนอมาได้ตลอด
การได้ทำงานร่วมกับแผนกต่างๆ ที่หลากหลาย จากการที่บริษัทให้บริการแบบ End-to-end อย่างเช่นในทีม DX เราก็ไม่ได้มีแต่ Developer แต่มี Consultant ที่ต้องวิเคราะห์ในมุมธุรกิจด้วย สิ่งเหล่านี้เปิดโลกของคนทำงานให้กว้างกว่าความรู้เชิงเทคนิค เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับลูกค้า ช่วยสร้างประสบการณ์ ความรู้จากกรณีศึกษาจริง และนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกการให้คำปรึกษา นอกจากข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่จะแนะนำให้กับแต่ละธุรกิจนั้นคืออะไร
การทำงานที่นี่สอนให้เราเรียนรู้แบบก้าวกระโดด เพราะได้นำประสบการณ์มาเสนอข้อมูลที่ทั้งเป็นจริงและถูกต้องเหมาะสมด้วย ทุกโปรเจกต์ที่เรารับผิดชอบจึงเหมือนลูกรัก เพราะมันมีคุณค่า เรารู้จุดหมายปลายทางว่าจะเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้แน่นอน ไม่เหมือนการทำงานตามคำสั่งของลูกค้าอย่างเดียว
เอ้ :การทำงานของเราไม่ได้ช่วยเหลือแต่ธุรกิจเท่านั้น แต่ช่วยแก้ไขปัญหาภาพกว้างให้กับผู้ใช้งานทั่วไปด้วย อย่างประสบการณ์ทำงานในช่วงโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดคือ มันเข้ามาเร่งความต้องการใช้เทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น ลูกค้าธุรกิจต้องปรับตัวด้านการให้บริการแบบ Contactless ต้องพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันทำธุรกรรมผ่านมือถือมากขึ้นและทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเบื้องหลังเหล่านั้นคือการทำงานของเราที่ส่งมอบไปเป็นประสบการณ์ใช้
งานของลูกค้า มีปลายทางคือความสะดวกสบายของผู้ใช้ เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้จริง ช่วยลดความเสี่ยงในการออกไปทำธุรกรรมด้วยตัวเอง เป็นทั้งการตอบโจทย์ลูกค้าและสร้างคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้น
งานในบริษัททั่วไปเราอาจต้องโฟกัสแต่เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว เมื่อมาอยู่ที่นี่ต้องให้ความสำคัญกับด้านธุรกิจด้วย ทันทีที่มีเทคโนโลยีใหม่อะไรเข้ามา เมื่อเราฟังความต้องการและเข้าใจความต้องการลูกค้าภาคธุรกิจแล้ว ก็ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เหมาะสม ชี้แจงให้ลูกค้าเห็นประโยชน์และพร้อมรับการปรับเปลี่ยน เป็นการทำงานในระดับความซับซ้อนที่มากขึ้น ทำให้ต้องแอคทีฟเรียนรู้ตลอดเวลา
โจทย์ใหม่ท้าทายการเปลี่ยนผ่าน
“ประสบการณ์ดีที่สุด คือเมื่อเห็นผลงานของเราเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คนได้จริง เช่น ระบบดิจิทัลด้าน Self-service ที่เปลี่ยนจากกระดาษมาสู่แอปพลิเคชัน สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้ นี่เป็นความแตกต่างที่เรารู้สึกได้เมื่อมาร่วมงานกับ บลูบิค”
“แมค - ภูมัย ชายเขียว”Digital Excellence and Delivery Manager ในฐานะ Frontend Lead สะท้อนถึงความประทับใจส่วนตัว นับตั้งแต่เข้ามาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกเมื่อปี 2013 จนในวันนี้ทั้งเขา และ “อาท - พุฒิพงศ์ สถิตย์พัฒนพงศา”Digital Excellence and Delivery Manager ผู้ทำหน้าที่ Backend Lead ถือเป็นเบื้องหลังของการช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้บริโภค และย้อนกลับมาเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่ดีขึ้น
Q : ความท้าทายที่ได้รับจากการทำงานกับธุรกิจคอนซัลต์
แมค :นับตั้งแต่ได้รับการชักชวนจากคุณโป้ง (ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี) ให้มาเริ่มงานในช่วงตั้งบริษัทด้วยกัน บริษัทมีเป้าหมายแต่แรกว่าจะต้องเป็นธุรกิจชั้นแนวหน้า ต้องชักชวนคนเก่งมาทำงานด้วยกัน สิ่งแรกที่เราค้นพบคือ ความท้าทายตัวเอง เพราะงานที่เราต้องเข้าไปทำคือการเปลี่ยนแปลงระบบ ต้องอัปเดตเทคโนโลยีต่อเนื่อง มีของใหม่มาให้ใช้ตลอดเวลา โดยจะมีเวลาให้ศึกษาในกรอบสั้นแค่สองเดือนสำหรับเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนปัจจุบันนี้ทีมเราก็ขยายตัว และเข้าใกล้เป้าหมายในวันแรกแล้ว
เสน่ห์ของงานด้านนี้คือ เป็นงานที่สนุกเพราะมีความยากเข้ามาท้าทายความสามารถ เนื้องานที่หลากหลาย ทำให้ไม่จำเจ มีของใหม่ให้เรียนรู้ได้เรื่อยๆ ด้วยโลกของเทคโนโลยีที่ไปเร็วกว่าเดิม ยิ่งท้าทายก็ยิ่งมีความน่าสนใจ บรรยากาศในการทำงานของเราจึงกระตือรือร้น มีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เป็นการทำงานที่จริงจัง แต่ทุกคนไม่ได้ต่างคนต่างทำแบบตัวคนเดียว แต่ให้คำปรึกษาใกล้ชิดเหมือนพี่น้อง แม้จะมีความกดดันจากงานบ้าง แต่ใช่การเค้นเพื่อเอาผลลัพธ์อย่างเดียว แต่มีการซัพพอร์ตกันด้วย บรรยากาศจึงเหมาะกับคนที่มีใจรักการขวนขวายหาความรู้ และมีเวทีให้ทดลองสิ่งใหม่ตลอดเวลา ขณะที่รุ่นน้องเองเมื่อมีความคิดเห็น สามารถแบ่งปันหรือสะท้อนความคิดได้ทันที
สมัยที่เพิ่งก่อตั้งธุรกิจใหม่ และทีมเรายังมีแค่สองคน ก็มีความสนุกตื่นเต้นเหมือนได้ไปแข่ง Hackathon อยู่ตลอดเวลา แต่พอทีมงานเริ่มขยายใหญ่ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นความรู้สึกดีของการมีทีมเวิร์คที่ช่วยกันสร้างผลงาน ได้ช่วยกันจัดตั้งระบบการทำงานและเฟรมเวิร์คต่างๆ และตัวเราเองได้ถ่ายทอดและฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้มีบทบาทมากขึ้นด้วย หากเปรียบเทียบกับงานฟรีแลนซ์ สิ่งที่คนทำงานในองค์กรได้มากกว่าคือบรรยากาศการทำงานเป็นทีมแบบนี้ รวมถึงโอกาสที่จะพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา และโครงการขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนที่ปกติงานลักษณะนี้จะไม่มีโอกาสได้ทำถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์
อาท :พอเปลี่ยนจากการเป็นฟรีแลนซ์มาทำงานร่วมกับบลูบิค เราพบทันทีว่า สเกลงานคนละระดับกับที่เคยทำมา เช่น เราเจอโปรเจกต์ท้าทายคือ ลูกค้าที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ การมาอยู่ที่นี่ทำให้ต้องอัปเดตตัวเองอยู่ตลอด เรียนรู้การเขียนภาษาใหม่ๆ ให้เราต้องเข้าไปทำความรู้จัก ไม่ใช่ในมิติแค่เข้าใจ แต่ต้องรู้ลึกซึ้งเพื่อเอาไปช่วยวางรากฐานสร้างแพลตฟอร์มให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ วันนี้ในฐานะผู้นำทีม Backend เรายังต้องกระตุ้นให้น้องในทีมขยันเรียนรู้ตลอด ส่งเสริมให้เขามีความตั้งใจพัฒนาตัวเองไม่หยุด เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ความรู้ที่เราเรียนมา ปีหน้าอาจไม่ใช่เวลาของมันอีกแล้ว อีกเรื่องคือเราสอนน้องให้สนใจในเรื่องของการเขียนโค้ดให้มีคุณภาพ เป็นคุณภาพที่ออกมาจากภายในจริงๆ เราสอนน้องตลอดว่าอย่าเขียนโค้ดให้คนอื่นลำบากเพราะงานฝั่ง Backend เป็นงานที่คนอื่นรับรู้ได้ยากอยู่แล้ว และจะรับรู้ว่ามีคุณภาพหรือ
ไม่เมื่อระบบช้าหรือล่ม บางครั้งเราจะเห็นว่าระบบดีหรือไม่ก็เมื่อเรามารู้ว่าระบบรองรับการใช้งานไม่ได้
วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เปิดกว้างมาก ทั้งการทำงานภายในทีมที่ใกล้ชิดแบบพี่น้อง หากพร้อมเปิดใจนำปัญหาขึ้นมาพูดคุย ก็จะไม่มีเส้นแบ่งกั้นอาวุโส ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรากับลูกน้องในทีม แต่เรากับผู้บริหารระดับสูง หรือพนักงานทั่วไปกับผู้บริหารระดับสูงก็เข้าถึงกันได้ง่าย ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้เรียนรู้แบบข้ามสายสำหรับคนที่ต้องการค้นหาความชอบหรือความถนัด
จากที่เคยทำงานฟรีแลนซ์อยู่กับทีมสตาร์ทอัพมาแล้ว เราถึงเห็นมาก่อนว่า ถ้าคนรุ่นใหม่สนใจไปทางสตาร์ทอัพ แต่หากไม่มีเครือข่ายมากพอก็คงเป็นไปได้ยากมาก แต่ถ้าเลือกทำงานกับองค์กรที่น่าสนใจ นอกจากจะสนุก ท้าทาย และมีค่าตอบแทนที่ไม่แพ้ที่ไหนแล้ว ยังจะได้เรียนรู้ภาษาใหม่ มีของใหม่ให้เรียนรู้ตลอดเวลา แต่เป็นการศึกษาในแบบที่มีเวลาให้ มีเครื่องไม้เครื่องมือและคำแนะนำพร้อมสนับสนุน
Comments
Ipo ไปแล้วจ่ายค่าตัวแพงขึ้นมั้ย