หลังจากที่เครือซีพีได้ก่อตั้งเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี “CPG Open Innovation Ecosystem Partner” ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดวิสัยทัศน์การยกระดับองค์กรสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company
วันนี้ Blognone มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.จอห์น เจียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อสอบถามและพูดคุย เกี่ยวกับเส้นทางที่จะมุ่งไปยังเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีของเครือซีพี ไปจนถึงมุมมองเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีความสำคัญต่อประเทศไทยในยุคดิจิทัล
“ไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจเดิมๆ แต่คือบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ”
ดร.จอห์น เจียง พูดถึงวิสัยทัศน์ของเครือซีพีที่นำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ว่าในอนาคต เมื่อผู้คนคิดถึงซีพี จะไม่ได้คิดถึงแค่กลุ่มธุรกิจแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่อยากให้ผู้คนเห็นซีพีเป็นบริษัทเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน โดยซีพีมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นบริษัท deep tech หรือการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่นำด้วยนวัตกรรมและการค้นคว้าที่ก้าวหน้า
(คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์)
เร่งสร้าง Innovation Ecosystem ในองค์กรมุ่งสู่ยุคดิจิทัล
ปัจจุบันองค์กรได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาบริษัทไปสู่เทคโนโลยียุคดิจิทัลในหลากหลายธุรกิจ โดยเครือซีพีได้เริ่มลงทุนในการค้นคว้าและวิจัย ทั้งด้านธุรกิจอาหาร เกษตรกรรม ไปจนถึงด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอีกหลายแขนง ทั้งด้าน Biotech, Foodtech, Cleantech, AI, Robotics & Automation, E-Commerce, Data Analytic, Data Security, Cloud Technology, และ Digital Media โดยทุกเทคโนโลยีจะเป็นการต่อยอดสู่ยุคดิจิทัลของหลากหลายธุรกิจที่เครือซีพีมีความเชี่ยวชาญ
ดร.เจียง เล่าว่าคุณศุภชัยและเครือซีพี มีการวางแผนงานการปรับปรุงองค์กรเพื่อมุ่งสู่ยุคดิจิทัลมายาวนาน ด้วยการสร้าง Innovation Ecosystem ในกลุ่มธุรกิจของเครือซีพี ทั้งการก่อตั้ง True Digital Park, CP University ที่เป็นบ่อเกิดแห่งองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรม S-Curve หรืออุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคตยุคดิจิทัลระยะยาวเช่น True Money, TrueID และอื่นๆ โดยจะเป็นการนำพาทุกหน่วยธุรกิจไปยังอนาคตยุคดิจิทัลอย่างพร้อมเพียง ผ่านโร้ดแมปเทคโนโลยีที่ชัดเจนร่วมกัน
ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งจากทั่วโลก
ดร.เจียง ได้ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจจากนี้จะต้องปรับตัวสู่รูปแบบที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ในขณะเดียวกันต้องมีการนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพราะฉะนั้นองค์กรค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมของซีพีจะไม่ได้อยู่แค่ในไทยเท่านั้น แต่จะกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็นคลังความรู้ที่สำคัญของทั้งฝั่งตะวันตก อย่างเช่นมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา อย่างภาคอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology Industrial Liaison Program – MIT ILP) มหาวิทยาลัยในอังกฤษอย่าง King’s College และ Oxford
ไปจนถึงฝั่งตะวันออกอย่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน Enterprise Singapore หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้เครือซีพียังมีเครือข่ายสตาร์ทอัพ นักลงทุน Venture Capital ด้านเทคโนโลยี ในหลากหลายธุรกิจ และหลากหลายประเทศ รวมไปถึงยังมีการประสานงานกับสถานทูตของประเทศต่างๆ เพื่อประสานงานด้านการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและการค้นคว้า ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสร้างเครือข่ายนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยจากทั้งโลกมาบรรจบกัน และนำพาองค์กร รวมถึงประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ความสำเร็จที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
ดร.เจียง พูดถึงความท้าทายของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งหลายๆ ครั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาจต้องใช้เวลายาวนาน มีการเตรียมการหลายอย่าง และเป็นการลงทุนกับอนาคตที่อาจไม่เห็นผลทันที ทำให้จุดที่สำคัญคือการรักษาสมดุลการพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยธุรกิจ ให้เริ่มต้นที่การพัฒนาที่จะสามารถเพิ่มพูนผลผลิต และส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะสั้นได้ด้วย ก่อนจะผลิดอกออกผลในระยะยาวอีกต่อหนึ่ง
(ดร.จอห์น เจียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เครือเจริญโภคภัณฑ์)
ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรของเครือซีพี ที่มีเป้าหมายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช โดยใช้เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ทนต่อโรคระบาด ทนต่อสภาพอากาศมากขึ้น ใช้น้ำน้อยลง และให้ผลผลิตมากขึ้น หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจอื่นๆ เช่นการนำปัญญาประดิษฐ์ มาใช้กับการจัดการร้านค้าของหน่วยธุรกิจค้าปลีก เช่นการจัดการตลาด การตั้งราคาที่เหมาะสม และการชูสินค้าที่จะเป็นสินค้าเด่นในร้านค้านั้นๆ โดยธุรกิจค้าปลีกจะมีการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้มากขึ้นโดยเน้นไปที่การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) เพื่อรุกอี-คอมเมิร์ซ ขยายตลาดสู่อาเซียน
ทั้งหมดนี้เป็นการนำการพัฒนาด้านเทคโนโลยี มาผสานกับเป้าหมายของหน่วยธุรกิจ จนออกมาเป็นผลสำเร็จ และผลกำไรของหน่วยธุรกิจ พร้อมไปกับเป็นการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานของบริษัทเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
อนาคตเทคโนโลยีของประเทศไทย ในมุมมองของเครือซีพี
ดร.เจียง ยังได้พูดถึงเทคโนโลยีที่คิดว่าน่าจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเทคโนโลยีที่ ดร.จอห์นมองว่าน่าจะมีความสำคัญในอนาคต มีดังนี้
- AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ ดร.เจียงระบุว่าคำว่า AI นั้นมีความหมายกว้าง โดยอาจมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หลากหลายแบบ ทั้ง Cognitive AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จำลองรูปแบบการคิดของสมองมนุษย์ เพื่อนำไปประมวลผลข้อมูลต่าง
- Blockchainเป็นอีกเทคโนโลยีที่จะนำมาซึ่งความปลอดภัย สร้างความโปร่งใส่ และสร้างความเชื่อใจในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ไปจนถึง Metaverse ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีที่ ดร.เจียง กล่าวว่าอาจจะเข้ามามีส่วนในเรื่องของธุรกิจค้าปลีก ทั้งการซื้อของออนไลน์ การจัดโปรโมชั่น และการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อสินค้ากับร้านค้าผ่านโลกเสมือนในอนาคต
- Robotics และ IoTดร.เจียงเชื่อว่าฮาร์ดแวร์ด้านหุ่นยนต์ และอุปกรณ์ Internet of Things เช่น เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาปฏิวัติหลากหลายหน่วยธุรกิจในเครือซีพี ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ค้าปลีก และการซ่อมบำรุง
- Multiomicsหรือเทคโนโลยีด้านชีวภาพหลากหลายแขนง น่าจะเป็นอีกสิ่งสำคัญเช่นกันในโลกยุคอนาคต ทั้งการวิจัยด้านจีโนม หรือการวิจัยด้านพันธุกรรม งานวิจัยด้านโปรตีนทดแทน ไปจนถึงการวิจัยด้านไมโครไบโอม หรือระบบนิเวศจุลชีพ ที่น่าจะเป็นอีกแขนงการวิจัยที่มีความสำคัญ โดยการวิจัยด้านระบบนิเวศจุลชีพนี้อาจนำไปสู่ความรู้ใหม่ในทั้งด้านการเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการแพทย์ได้อีกมาก
- เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อมดร.เจียงพูดถึงความต้องการใช้พลังงานที่น่าจะมีมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากจะทำให้ยั่งยืน ก็ต้องเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด หรือส่งผลดีกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอีกด้าน
เครือซีพีพร้อมมุ่งสู่อนาคตยุคหลังโควิดไปกับประเทศไทย
ดร.เจียง ระบุว่าการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม ไปจนถึงการจัดส่งสินค้าและบริการต่างๆ และทำให้ประชาชนมีความใส่ใจในด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีของเครือซีพี ก็ต้องก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
เครือซีพีเชื่อว่าการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ทั่วโลก การสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีในแขนงที่มีความสำคัญในอนาคตทั้งหมดที่กล่าวมานี้ น่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับหน่วยธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อแผนระยะยาวในการมุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำขององค์กรเอง รวมไปถึงเป็นการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
Comments
เอาระบบไปให้ true แก้ปัญหาบิลมั่วก่อนได้ไหม ยกเลิกบริการไปตั้งแต่สิ้นเดือนที่แล้วคืนของไปหมด แต่ยังมีบิลตามมาเก็บคืออะไร
ไม่เอาสิครับ เราไม่พูด เพราะบ่นไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นครับ ฮ่าๆ
ผมก็เจอเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็ยังกลัว ขนาดย้ายค่ายไปแล้วยังมีบิลมาเก็บเหมือนกัน