Huawei ใช้ AI ตรวจสอบชนิดปลาในแม่น้ำในเขต Berlevåg ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์ โดย AI ควบคุมคำสั่งการทำงานของประตูกั้นทางปลา ไม่ให้ปลาแซลมอนพันธุ์ต่างถิ่นว่ายผ่านไปแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำต้นกำเนิดของแซลมอนแอตแลนติกซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่น
โครงการนี้มีที่มาจากความพยายามของ BJFF (Berlevåg Jeger-og Fiskerforening) ซึ่งเป็นสมาคมนายพรานและชาวประมงแห่ง Berlevåg ที่จะปกป้องปลาแซลมอนแอตแลนติกซึ่งอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากในปัจจุบันแซลมอนแปซิฟิกซึ่งเป็นแซลมอนพันธุ์ต่างถิ่นได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการแพร่พันธุ์มาจากทะเลขาวของรัสเซียและส่งผลให้แซลมอนแอตแลนติกมีจำนวนลดน้อยลง
สาเหตุเป็นเพราะแซลมอนแปซิฟิกนี้โตเร็วกว่าและขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าแซลมอนพันธุ์ท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังนำโรคต่างๆ มาให้แซลมอนแอตแลนติกด้วย เหตุนี้เองทาง BJFF จึงต้องการควบคุมปริมาณแซลมอนแปซิฟิกในแหล่งน้ำมิให้มีจำนวนมากเกินไป
กลไกหนึ่งของการควบคุมจำนวนแซลมอนแปซิฟิกก็คือการสกัดกั้นไม่ให้มันวางไข่ได้ โดยธรรมชาติแล้วแซลมอนแปซิฟิกและแซลมอนแอตแลนติกต่างก็ต้องว่ายทวนน้ำไปตามแม่น้ำเพื่อไปวางไข่แพร่พันธุ์บริเวณต้นน้ำ นั่นจึงเป็นที่มาของการผุดไอเดียวางประตูกั้นปลากลางแม่น้ำเพื่อทำการคัดกรองแซลมอนแปซิฟิกออกไป ซึ่งนั่นย่อมง่ายกว่าการไล่ควานหาและตามจับปลาพวกนี้กลางทะเลเปิด
ประตูกั้นทางปลาที่จะคอยดักปลาที่เป็นพันธุ์ต่างถิ่นไม่ให้ว่ายผ่านไปได้
ประตูกั้นทางปลานี้ถูกสร้างและนำไปติดตั้งในแม่น้ำ Storelva ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ปลาแซลมอนทั้งหลายจะต้องว่ายทวนน้ำจากทะเลเพื่อย้อนไปวางไข่ ประตูดังกล่าวมีกล้องวิดีโอที่จะบันทึกภาพปลาที่ว่ายผ่านประตู และ AI จะทำการวิเคราะห์ภาพเหล่านั้นเพื่อจำแนกว่าปลาที่กำลังว่ายมานั้นเป็นพันธุ์อะไร และการใช้ AI จุดนี้เองที่อาศัยเทคโนโลยีของ Huawei เข้ามาช่วย โดยนี่เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม TECH4ALL ซึ่งเป็นโครงการของ Huawei ทีจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการสนับสนุนองค์กรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม
การติดตั้งประตูกั้นทางปลาในแม่น้ำ
AI ของ Huawei สามารถวิเคราะห์ภาพจากกล้องเพื่อจำแนกปลาแซลมอนว่าเป็นพันธุ์แปซิฟิกหรือแอตแลนติกได้โดยมีความถูกต้องราว 91% หากมันวิเคราะห์ว่าปลาแซลมอนที่ว่ายผ่านประตูคือแซลมอนแอตแลนติกมันจะสั่งการให้ประตูเปิดออกเพื่อปล่อยให้ปลาว่ายผ่านไปได้ตามปกติ แต่หากมันวิเคราะห์ว่าปลาแซลมอนที่ว่ายผ่านมานั้นคือแซลมอนแปซิฟิก มันจะควบคุมประตูหลักให้ปิดกั้นปลาเอาไว้แล้วเปิดทางออกด้านข้างให้ปลาว่ายผ่านออกไป ซึ่งประตูด้านข้างนี้จะนำทางปลาไปสู่บ่อพักกักตัว โดยเจ้าหน้าที่จะมานำปลาแซลมอนแปซิฟิกในบ่อพักนี้ออกไปในภายหลัง
ตัวอย่างการวิเคราะห์พันธุ์ปลาโดยอาศัยภาพที่กล้องจับได้
โครงการนี้นอกเหนือจากให้ประโยชน์หลักในการคัดกรองเอาปลาแซลมอนแปซิฟิกออกไปจากแหล่งน้ำได้แล้ว มันยังช่วยให้ทีมงานได้ข้อมูลจำนวนพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ในแม่น้ำ Storelva ด้วย ซึ่งช่วยต่อยอดการศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์และการอพยพถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้ด้วย
ที่มา - New Atlas
Comments
ตามจับปลา?
นอกจากจะได้?
แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ประยุกต์ใช้งานได้ฉลาดมาก
เวลาอ่านอะไรแบบนี้ รู้สึกตลกร้ายถึงความ racist แปลกๆเป็นฝีมือมนุษย์เองที่เอาเค้ามา แล้วสุดท้ายก็กีดกันให้เค้าอยู่กันลำบาก 😅
ก็ฝีมือมนุษย์ทำระบบนิเวศเสีย พอจะแก้ไขให้กลับไปจุดสมดุลเดิมตามธรรมชาติ ดันโดนหาว่า racist อีก
ถึงได้บอกว่าเป็น ตลกร้ายใงครับลองคิดดูว่า ภรรยาตั้งท้อง แต่โดนห้ามไปโรงพยาบาลเพื่อทำคลอด ทั้งๆ สาเหตุที่ต้นตระกูลที่ต้องโดนย้ายถิ่นมาแถวนี้ ก็คือคนที่ห้ามเราไปโรงพยาบาลนี่แหละครับ
Whooshh Innovations ทำมาก่อนนานแล้ว ต่างกันตรงวิธีถ่ายภาพปลาที่ต้องอยู่ในร่องซึ่งถ่ายเป็นรายตัวไปเลย ไม่มีปลาตัวอื่นเล็ดรอดหรือสลับกันแน่นอน
หลังจากนำออกไปแล้วก็จะเป็นแซลมอนพันธุ์ซาซิมิ
งาน CSR :D
ขนาดปลายังแยกได้แล้วคนละทำไมจะแยกไม่ได้ 🤣
ไม่รู้ว่าปกติ ปลามันว่ายมาทีละตัวตลอดไหม ถ้ามันมาพร้อมกัน 2 ตัว คนละพันธ์กัน ประตูจะเปิดหรือปิดดีนะ