ผู้ติดตาม Tesla ช่วงหลังอาจไม่ทราบว่าในยุคแรก Elon Musk ได้เขียน "Master Plan" หรือแผนระยะยาวของบริษัท Tesla ไว้ 2 ตอน ซึ่งตอนแรกเขียนไว้เกือบ 20 ปีแล้ว ส่วนตอนที่สองเขียนเมื่อกลางปี 2016 และล่าสุดที่งาน Investor Day เช้าวันนี้ได้กล่าวถึงตอนที่สาม
ผมจะสรุปแผนตอนที่หนึ่งและสองให้คร่าวๆ ดังนี้
แผนตอนที่ 1
- ผลิตรถยนต์จำนวนน้อยๆ และขายแพง (Tesla Roadster รุ่นแรกสุดปี 2008)
- ใช้เงินที่ได้จากข้อ 1 มาพัฒนารถยนต์ที่จะขายได้มากขึ้น และราคาถูกลง (Tesla Model S, Model X)
- ใช้เงินที่ได้จากข้อ 2 มาพัฒนารถยนต์ที่จะผลิตได้จำนวนมาก และคนส่วนใหญ่สามารถซื้อได้ (Tesla Model 3)
- ให้บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (SolarCity)
แผนตอนที่ 2
- รวมบริษัท Tesla และ SolarCity เข้าด้วยกันเพื่อให้บริการด้านการผลิตและจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ครบวงจร
- ขยายบริษัทไปทำรถภาคอุตสาหกรรม (Tesla Semi)
- ทำรถยนต์ไร้คนขับ (Autopilot/Full-Self Driving)
- ปล่อยรถยนต์ออกไปวิ่งรับงานเพื่อสร้างรายได้ให้เจ้าของตอนที่ไม่ได้ใช้รถ (Robotaxi)
หากสนใจอ่านรายละเอียดเต็มๆ เราเคยลงบทความอธิบายแผนทั้ง 2 ตอนไว้แล้ว ( แผนตอนที่ 1 , แผนตอนที่ 2 )
สำหรับแผนตอนที่ 3 Elon ได้ขึ้นเวทีร่วมกับ Drew Baglino ผู้บริหารด้านระบบขับเคลื่อนและวิศวกรรมพลังงานของ Tesla (เขาอยู่ที่ Tesla มานานถึง 17 ปีแล้ว) อธิบายว่าปัจจุบันพลังงานที่ใช้ในโลก 80% มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเชื้อเพลิงก็เปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้งานได้เพียง 1 ใน 3 นอกนั้นกลายเป็นความร้อนทิ้งไป ซึ่งการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วเปลี่ยนไปสู่ยุคพลังงานที่ยั่งยืนนั้นทำได้จริง และ Elon ย้ำว่าเศรษฐกิจพลังงานไฟฟ้า (Electrified Economy) จะต้องทำเหมืองน้อยกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่มากกว่า โดยแผนนี้แบ่งออกเป็น 5 ขั้นดังนี้
1. เปลี่ยนการจ่ายไฟฟ้ามาใช้แหล่งพลังงานยั่งยืน
การเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานยั่งยืนคือการใช้ระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าราว 24 ล้านล้านวัตต์ชั่วโมง (24 TWh) รวมไปถึงการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมให้ได้ราว 10 ล้านล้านวัตต์ (10 TW) ใช้เงินลงทุนราว 0.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากทำได้ จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปได้ราว 35% เลยทีเดียว
2. เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า
การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องผลิตแบตเตอรี่และระบบจัดเก็บพลังงานให้ได้ราว 115 ล้านล้านวัตต์ชั่วโมง, ต้องผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมให้ได้ 4 ล้านล้านวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากทำได้จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีก 21%
นอกจากนี้ยังประเมินว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าของทั้งโลกจะมีรถยนต์ราคาแพง (แบบ Model S, X) ราว 40 ล้านคัน, รถยนต์กลางๆ (Model 3, Y) 380 ล้านคัน, หัวลากรถบรรทุก 20 ล้านคัน, รถอเนกประสงค์ (Cybertruck) 300 ล้านคัน และรถในยุคถัดไปอีก 700 ล้านคัน
ทั้งสองคนเปรียบเทียบให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla Model 3 ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า Toyota Corolla ถึง 4 เท่า หรือยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อน Model 3 ให้ได้ 1 ไมล์นั้นเท่าๆ กับพลังงานที่ใช้ต้มน้ำ 1 หม้อเท่านั้นเอง
3. บ้านเรือน, ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนไปใช้ฮีทปั๊ม
บ้านเรือนในเมืองหนาวต้องมีฮีทเตอร์ที่ปกติมักจะใช้ก๊าซในการเปลี่ยนเป็นความร้อน รวมไปถึงโรงงานต่างๆ ที่ต้องใช้ความร้อนในการผลิต ต้องเปลี่ยนมาใช้ฮีทปั๊มหรือปั๊มความร้อนแทน เนื่องจากมันใช้ไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงฮีทปั๊มไม่ได้เปลี่ยนพลังงานเป็นความร้อนโดยตรง แต่ใช้การนำอากาศภายนอกเข้ามาแยกความร้อนออก จากนั้นก็ผ่านคอมเพรสเซอร์ให้ร้อนยิ่งขึ้นก่อนจะนำไปใช้งานต่อ เช่นให้ความอบอุ่น หรือต้มน้ำ ส่วนอากาศเย็นที่แยกออกก็นำไปใช้งานอื่นได้อีก
หากทำขั้นนี้ได้ โลกจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีก 22%
4. เปลี่ยนเครื่องจักรที่สร้างความร้อนสูงไปใช้ไฟฟ้า และใช้ไฮโดรเจนแทนถ่านหิน
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรผลิตความร้อนสูงมากๆ (มากกว่า 400 องศาเซลเซียส) ก็ต้องหาวิธีเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแต่ปัญหาคือลมและแสงอาทิตย์ไม่ได้มีตลอดจึงต้องทำระบบกักเก็บความร้อนไว้ด้วยเพื่อให้มีพลังงานใช้ตลอดเวลา ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กก็สามารถใช้ไฮโดรเจนสีเขียว ( Green Hydrogen ) ซึ่งเป็นไฮโดรเจนที่สร้างจากพลังงานหมุนเวียนอีกที มาแทนถ่านหินในขั้นตอนการถลุงเหล็กในสภาพของแข็ง (Direct Reduction Process)
หากทำได้จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 17%
5. เปลี่ยนเรือและเครื่องบินไปใช้พลังงานยั่งยืน
Elon Musk กล่าวว่าการเปลี่ยนเรือและเครื่องบินไปใช้ไฟฟ้านั้นทำได้ แต่ไม่ใช่แค่เอาเครื่องออกแล้วยัดแบตเตอรี่เข้าไป แต่ต้องออกแบบใหม่หมด เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องออกแบบใหม่ให้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถ ไม่ใช่แค่สลับเอาเครื่องออก ส่วนเครื่องบินระยะสั้นก็แน่นอนว่าทำได้ง่ายกว่า แต่เครื่องบินทางไกลก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
หากทำได้จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 5 %
เมื่อรวมตัวเลขของทั้ง 5 ขั้นเข้าด้วยกัน โลกเราจะสามารถเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทั้งหมด กล่าวคือต้องผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์กับลมให้ได้มากขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบัน, ผลิตแบตเตอรี่มากขึ้น 29 เท่าจากปัจจุบัน และผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 11 เท่าจากปัจจุบัน หากทำได้ตามนี้ภายในปี 2030 โลกเราจะอยู่ด้วยพลังงานยั่งยืนได้ภายในปี 2050
ส่วนการทำเหมืองปัจจุบันมีการขุดแร่ออกมาปีละ 68,000 ตัน ใช้ไปในการเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 18,000 ตัน แต่หากเราอยู่ในยุคเศรษฐกิจพลังงานไฟฟ้าจะเหลือส่วนนี้เพียง 4,000 ตันต่อปีเท่านั้น
ภาพแสดงการขุดแร่ออกมาจากโลกในปัจจุบัน
ภาพแสดงการขุดแร่ออกมาจากโลก เพื่อไปใช้เป็นพลังงานยั่งยืน
สรุปคือ Tesla พยายามบอกว่าการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ทำได้ แต่ยังถูกกว่าการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย โดยใช้เงินลงทุนราว 10% ของมูลค่า GDP ของทั้งโลก และใช้พื้นที่ตั้งโซลาร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลมน้อยกว่า 0.2% ของพื้นดินในโลก สำหรับใครที่คิดว่าข้อมูลนี้ดูเป็นภาพกว้างมากๆ ก็รออีกสักนิด เพราะ Elon Musk บอกว่าจะปล่อย whitepaper ออกมาให้อ่านกันอย่างละเอียดหลังจากนี้
สุดท้าย Elon Musk กล่าวสรุปว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดเกิดจากการคำนวณและหลักการทางฟิสิกส์ ไม่ได้มโนขึ้นมาเอง และโลกนี้จะเปลี่ยนไปสู่ยุคพลังงานยั่งยืนอย่างแน่นอน และจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราด้วย
ที่มา - YouTube: Tesla Investor Day (นาที 31:18 ถึง 58:03)
Comments
เห็นด้วยเรื่องฮีทปั๊ม ผมบ่นอยู่ว่าคนเราทำความเย็นนี่ใช้ระบบถ่ายเทความร้อน พอจะทำความร้อนกลับใช้ระบบเสกขึ้นมาตรงๆ 😢
พอคิดถึงเรื่องนี่ทำไม่ไม่มีใครทำตู้เย็นที่ทำน้ำร้อนได้ในตัวความร้อนที่ผลิตมาถูกทิ้งไปเฉยๆน่าจะมีคนสนใจบ้างแหละเพราะตามบ้านก็ต้องใช้น้ำร้อนอยู่แล้ว
ใช่ครับ
เพื่อนผมเคยทำถังน้ำใหญ่ๆแบนๆรับแดดติดบนดาดฟ้า แล้วต่อระบบน้ำมาอาบแทนน้ำอุ่น
สรุปใช้ได้ไม่นานเลิก เพราะร้อนไป -..-
ต้องใช้ก็อกผสมน้ำแหละครับ 😅
เหมือนผมเคยเห็นช่อง LTT เอาความร้อนจากการระบายความร้อนของ solar cells ไปให้ความร้อนสระว่ายน้ำ
อันนี้คือดีมากเลยอะ เหมือนตรงส่วนการสร้างนวัตกรรมคือที่ๆ แกควรยืนอยู่มากกว่า เพราะดูเท่มาก
ตัดภาพมาที่ออฟฟิศ twitter
5555 อย่างปั่น
เอ้ยแต่แกกก็สร้างนวัตกรรมให้ทวิตเตอร์อยู่นะ เปิดไอเดียหาตังรัวๆ 5555+
ตอนนี้ Twitter เริ่มโหลดรูปไม่ขึ้นละ
แล้วโลกหลังจากนี้พวกขยะจากแบต จากแผงโซล่า จะยังไงกันหว่า recycle แค่ไหนกัน จะเหมือนกาก nuclear ไหมนะ
อาาจะรวมกันแล้วยิงผ่านจรวดสู่กาแลคซี่แอนโดรเมด้าก็ได้นะครัฟ
Tesla ก็พยายามทำ แบตที่ recycle ให้ได้มากที่สุดอยู่ครับ แถมลดการใช้แร่บางอย่างที่เป็นพิษด้วยครับ
ส่วน solar panels ตอนนี้เห็นว่าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ราว ๆ 75% ของแผง อนาคตก็คงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนใครถ้าซื้อ solar ตอนนี้ก็ถือว่าเป็น pioneer ช่วยสนับสนุน เอาเงินไปวิจัยต่อยอดต่อไป
แบตยังใช้ได้อีกนานเลยครับ รถเสื่อมแล้วยังเอามาใช้เป็น Home Power Bank ได้อีกกว่าจะไปรีไซเคิลก็อาจะหลายสิบปีครับ แถมแร่ยังมีราคาพอที่จะรีไซเคิลแล้วยังกำไรอยู่
ส่วนโซลาร์เซลล์ก็อายุราว 25 ปี อายุในการใช้งานได้ยาวนานกว่าน้ำมันเยอะครับ เราขุดน้ำมันมาเผาทิ้งสร้างมลภาวะเยอะแยะ แค่แผงโซลาร์เซลล์ผมว่าคุ้มกว่าเยอะครับ
เชื้อเพลิงจากจรวด SpaceX สร้างโลกร้อนมั๊ยครับ
นักวิทย์เคย ถกเรื่องนี้ว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดรูโหว่โอโซนด้วยหรือเปล่า
ชอบการออกแบบ slide presentation ของ tesla นะ มันดูเป็นตัวของตัวเองดี
+1 ปกติเห็นแต่สไตล์ appleๆ
เห็นด้วยแต่เรื่องเรื่องเรือบรรทุกสินค้า คิดว่าน่าจะมีความจำเป็นในอันดับหลังๆเทียบกับอย่างอื่น รายนั้นมีงานวิจัยมาว่า carbon footprint ของเรือนี่น้อยมากๆ
แต่ถ้าจะมาทางรักโลกจริงๆต้องดันที่ระบบขนส่งสาธารณะไหมอะ หรือลดความจำเป็นด้านการเดินทางด้วยการให้ทำงาน WFH ไปเลย แต่ก็ไม่ถูกใจแกอีก
ผมว่าเรือบรรทุกสินค้า เหมาะมากๆ เลยนะ
เพราะอยู่กลางมหาสมุทรตากแดดเต็มๆเป็นสัปดาห์-เดือน
ได้ไฟเยอะแน่นอน
ผมห่วงเวลาเจออุปสรรคกลางทะเล พายุ คลื่น ถ้าพึ่งไฟฟ้าสะอาดอย่างเดียว คงไม่ดี ต้องมีสำรองบ้าง
อนาคตอาจจะเดินทางในท่อ แต่ต้นทุนการขุดยังสูงอยู่ อย่างรถไฟใต้ดินบ้านเราค่าขุดเมตรละ 1 ล้านบาท (ต้องการแหล่งอ้างอิง)
ยังคงสงสัยนะ ว่าการขโมยพลังงานจลมาจากระบบนิเวศอย่างเช่นพลังงานลม หรือการทำฟาร์มโซล่าขนาดใหญ่ที่สะท้อนแสง ไม่ได้มีผลเสียอะไรจริงๆ
ถ้าเรามี
ที่ว่ามามันก็คงง่ายน่ะนะครับ