ญี่ปุ่นเตรียมย่นระยะเวลาอนุมัติการขอพักอาศัยในญี่ปุ่นระยะยาวให้กับวิศวกร IT จากเดิมที่ใช้เวลา 3 เดือนเหลือเดือนเดียว โดยจะเริ่มใช้ระบบใหม่ในเร็ว ๆ นี้
จากเดิมวิศวกรจากต่างประเทศจะต้องขออนุมัติอาศัยระยะยาวด้วยการส่งข้อมูลบริษัทผู้ว่าจ้างในญี่ปุ่น ประสบการณ์ทำงาน และทักษะด้านอาชีพให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นก่อนและรออนุมัตินานที่สุดถึง 3 เดือน
นอกจากนี้ ถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่นที่ยังไม่เคยจ้างชาวต่างชาติมาก่อนจะต้องรอรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบสถานะการเงินและรายละเอียดตำแหน่งงานอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อป้องกันการว่างงานของชาวต่างชาติจากการที่บริษัทล้มละลาย
ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ ให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างจากเทศบาลเข้ามาตรวจสอบบริษัทล่วงหน้า บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับการอนุญาตให้จ้างงานชาวต่างชาติได้ วิธีนี้จะช่วยย่นระยะเวลาการรออนุมัติให้สั้นลง และลดการขาดแคลนแรงงานในบริษัท
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจัดทำกรอบใหม่ในเขตพิเศษทางยุทธศาสตร์ 13 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นที่จะปรับใช้ระบบนี้จะทำแผนการรวมถึงกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะได้รับอนุญาตให้จ้างงานชาวต่างชาติ
ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นเผยว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นเป็นระยะยาวมีอยู่ราว 3,070,000 คนในช่วงสิ้นปีที่แล้ว นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนเกิน 3,000,000 คน
ที่มา - Nikkei Asia
Comments
เป็นประโยชน์ต่อผมสุด ๆ จะได้หางานเร็วขึ้นหน่อย 😂 กลัววีซ่านักเรียนหมดระหว่างหางานทำ 🤣
คนอื่นที่ทำงานกับนายญี่ปุ่นเป็นไงบ้างครับ…..ผมหลังจากมีนายญี่ปุ่น ก้ไม่เคยเข้าทำงานสายอีกเลย….(´°̥̥̥̥̥̥̥̥ω°̥̥̥̥̥̥̥̥`)
ได้ยินว่าช่วงนี้การแข่งขันสูงมากครับ 555
ญี่ปุ่นนี่ ถ้าเค้าไม่ชอบที่นี่จริงคงไม่มากันเท่าไหร่ ถ้ามาส่วนมากก็จะเป็นบ.ต่างชาติ รึการทำงานแบบต่างชาติไปเลยบ.ญี่ปุ่นจ๋านี่ ไม่จำเป็นจริงๆ หลายๆ คนคงไม่อยากเข้าเท่าไหร่ =w=;
//เข้าใจแหละว่าอนาคตคนขาดเยอะ ตอนนี้เลยอยากได้คนเยอะๆ แต่พี่แกก็ทำอะไรที่ก็ใช้เวลานานมาก พวกข้อจำกัดมากมายเหมือนไม่อยากให้มา รัฐบาลต่อไปจะดีขึ้นมั้ยก็ไม่รู้ 555
ขนาดบริษัทต่างชาติในญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมติดๆมาบ้างเลยครับ 555ผมบ่นไอทีที่ญี่ปุ่นประจำ เลิกงานนานแล้วกลับบ้านได้แล้ว
ทำไมเห็นคนทำงานในญี่ปุ่นหลายคนบ่นเรื่อง ญี่ปุ่นล้าหลังเรื่อง it มันน่าจะตรงข้ามไม่ใช่เหรอ
ซอฟแวร์สัญชาติญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่า Optimize ไม่ดีซะส่วนใหญ่