ASUS เปิดตัวสินค้ากลุ่มเมนบอร์ดและการ์ดจอซีรีส์ BTF (Back-to-The-Future) ที่เสนอแนวทางดีไซน์แบบใหม่ ไม่มีสายเคเบิลมาให้เห็นเกะกะภายในเคสพีซี (hidden-connector)
แนวทางของ BTF ไม่ใช่ตัดสายเคเบิลทิ้งไปทั้งหมด แต่ปรับให้พอร์ตเชื่อมต่อสายไฟไปอยู่ตำแหน่งใต้บอร์ดแทน (ดูภาพประกอบ) เพื่อให้สายเคเบิลไม่พันเกะกะทับกับชิ้นส่วนการ์ดจอต่างๆ ที่เสียบลงด้านหน้าบอร์ด
บอร์ดตระกูล BTF สองรุ่นแรกที่เปิดตัวและวางขายคือ ROG Maximus Z790 Hero BTF ที่ใช้ดีไซน์สะอาดตาแต่ก็ยังดูโฉบเฉี่ยว กับ TUF Gaming Z790-BTF WiFi ที่เน้นโทนสีขาว สว่าง สะอาด บอร์ดทั้งสองรุ่นใช้ชิปเซ็ต Z790 ของอินเทล และรองรับ Wi-Fi 7 ในตัว
ASUS ยังนำเสนอตัวอย่างพีซีที่ใช้ระบบ BTF ทั้งชุดคือบอร์ดและเคส ออกมาเป็นพีซีเกมมิ่งรุ่น TUF Gaming B760M-BTF WiFi D4 ที่แสดงให้เห็นชิ้นส่วนภายในเป็นระเบียบเรียบร้อย (ยกเว้นสายพาวเวอร์ของการ์ดจอ เพราะกินไฟเยอะเกินการจ่ายไฟของ PCIe ต้องต่อตรงจากพาวเวอร์ซัพพลาย) ตามภาพ
แต่ถ้าอยากไปสุดทางจริงๆ ASUS ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Advanced BTF เป็นบอร์ดที่สล็อตจ่ายไฟการ์ดจอมีกำลังสูงเป็นพิเศษ (PCIe high-power connector กำลังไฟสูงสุด 600W) เพื่อให้เสียบการ์ดจอแล้วกำลังไฟเพียงพอ ไม่ต้องไปต่อสายเคเบิลเพิ่ม บอร์ดตัวนี้จำเป็นต้องใช้ร่วมกับการ์ดจอรุ่นพิเศษที่ระบุว่าเป็น BTF ซึ่ง ASUS เพิ่งออก ROG Strix GeForce RTX 4090 BTF Edition และ ASUS TUF Gaming GeForce RTX 4070 Ti SUPER BTF White Edition มาขายด้วยพร้อมกัน
ASUS บอกว่าแนวทางดีไซน์ BTF มีผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์จำนวนมากเข้าร่วม (โดยเฉพาะผู้ผลิตเคส) และจะทยอยเปิดตัวสินค้าตระกูล BTF ตามมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ที่ระบุชื่อแบรนด์ได้แก่ Aerocool, be quiet!, Cooler Master, Corsair, Inwin, Lian Li, Phanteks, Silverstone, Thermaltake แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทอื่นๆ (เช่น การ์ดจอยี่ห้ออื่น) จะเข้าร่วมหรือไม่ก็คงต้องตามดูกันต่อไป
ที่มา - ASUS , Videocardz
Comments
คุ้นๆ เคยทำไปรอบหนึงแล้วเปล่าก่อนหน้า
เข้าใจว่าคราวก่อนน่าจะเปิดตัวต้นแบบหรือคอนเซปต์ พอเห็นเสียงตอบรับออกมาดีก็ไปเจรจาร่วมมือกับเจ้าอื่นและทำเป็นผลิตภัณฑ์จริงมาเปิดตัวงานนี้ครับ
มาถูกทางแล้ว T^T ดีจริงๆ
ສະບາຍດີ :)
ขอแค่ Gigabyte / MSI ด้วยอีกสองสามเจ้า เข้าร่วมมาตรฐานจ่ายไฟ ก็ครอบคลุมเกือบทั้งตลาดแล้วมั้งครับ แต่ดีนะครับ สวยดี
สวยขึ้นแต่ถอดยากไม่เอานะ เห็นช่อง 30-pin motherboard ละงึดใจ
เปลี่ยนพวกสายสวิตซ์เปิด,รีเซทกันก่อนมั้ย...
เห็นที่ทำเจ้าแรกคือ MSI รึเปล่า แต่ถ้ามีเจ้าใหญ่อย่าง asus มาร่วมด้วยคงผลักดันกลายเป็นมาตรฐานได้ในไม่ช้า
ถ้ามองข้อดีสำคัญเลยคือไม่ต้องไปยุ่งกับไอ้สายไฟ 12vhpwr อะไรนั่นด้วย สายไฟบ้าอะไรออกแบบมาได้ถูกหลักฟิสิกส์ดีจริง ๆ ไฟแรงขึ้นแต่สายเล็กลง
แต่ถ้าจะเอาให้สะดวกจริงมันควรจะพับเอียงไปอีก 90 องศา ให้สายมันแนบไปกับหลังบอร์ดได้ หรืออาจจะติดปัญหาทางเทคนิค?
เข้าใจว่าการตั้งฉากกับบอร์ดน่าจะดีกับการเสียบ/ถอดมากกว่าครับ แล้วดูจากการที่ไม่มีการเรียงซ้อนกันในแนวนอนเลยน่าจะตั้งใจให้หัวของสายทำเป็น 90° อยู่แล้วด้วย
ที่ผมกังวลคือถ้าเกิดเหตุการณ์เหมือน 12VHPWR ขึ้นมาอีก แต่เป็นกับ Advanced BTF motherboard ความเสียหายมันจะหนักกว่า เพราะเดิมมันแค่ GPU กับสาย (หรือหัวต่อ) ที่เสียหาย แต่อันนี้มันคือ GPU กับ motherboard ที่เสียหายครับ
อันนั้นก็ใช่ครับ 😂
แต่ 12VHPWR นี่เค้าว่ากันว่าพลาดเพราะการติดตั้ง ถ้าเป็นบอร์ดนี่ไม่น่าจะพลาดได้ (มั้ยนะ)
ปรากฎว่าติดตั้งแล้วห้อยเพราะไม่มีเสาค้ำ กับมีฝุ่นหรือลายนิ้วมือเกาะหน้า contact เลยไหม้ orz
อยากให้มันมี slot PCIe ของตัวบอร์ดเองเสียบกับที่เคสเลย แล้วก็ลากมาเป็นที่เสียบการ์ดจอแนวตั้งแยกออกมา power ก็เป็น slot แบบนี้แต่เอาสาย power เสียบกับเคส ตัวบอร์ดก็ไม่ต้องรับ power ของการ์ดจอด้วย
ToDo:
ผมว่าจะโทษคนใช้งานก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะหัว 6+2 ที่ใช้กันอยู่ ถึงมันจะถูกกำหนดให้จ่ายไฟได้ไม่เกิน 150 watt แต่จริงๆ มันถูกออกแบบให้จ่ายไฟได้เยอะกว่านั้นมาก (เหมือนเคยอ่านมาว่ามันถูกออกแบบให้จ่ายไฟได้ถึง 250 watt) มันเลยไม่ค่อยเจอปัญหาหัวไหม้ ถึงแม้จะเสียบไม่แน่นตามที่ควรจะเป็นก็ตาม ส่วนหัว 12VHPWR มันถูกกำหนดให้จ่ายไฟได้ไม่เกิน 600 watt แต่มันไม่ได้ถูกออกแบบไว้ให้จ่ายไฟได้เยอะแบบที่หัว 6+2 ทำได้ (ในลักษณะของ ที่กำหนดไว้ : ที่ทำได้จริง) แถมหัวมีขนาดเล็กกว่าเดิมอีก เลยกลายเป็นว่าถ้าพลาดเสียบหัวไม่แน่น หรืองอสายใกล้หัวเกินไปก็มีโอกาสที่จะไหม้ได้ครับ
TLDR; หัว 6+2 มันถูกออกแบบโดยคำนึงถึง foolproof ส่วนหัว 12VHPWR มันถูกออกแบบโดยไม่คำนึงถึง foolproof ครับ
ใช่ครับ ผมเลยว่า Advanced BTF นี่น่าจะค่อนข้าง foolproof กว่ามากแล้วแต่ขั้วสัมผัสมันดูน้อยจัง 🥺
สวยดี
..: เรื่อยไป
ลงเคสแล้ว เหมือนรถสิบล้อแต่งซิ่งวิ่งกลางคืน วิบวับๆ