จากข่าว Open Source Initiative หรือ OSI ออกมาให้นิยามของ AI โอเพนซอร์สว่า ต้องมีเงื่อนไขใด บ้าง ซึ่งผลคือนิยามนั้นทำให้โมเดล AI ที่ผู้พัฒนาเผยแพร่บอกว่าเป็นโอเพนซอร์สยอดนิยมหลายตัว ไม่เข้าข่าย ซึ่ง รวมทั้ง Llama ของ Meta ด้วย
Faith Eischen โฆษกของ Meta ชี้แจงว่าบริษัทเห็นด้วยกับ OSI ที่ทำงานร่วมกันเป็นพาร์ตเนอร์มาตลอดในหลายประเด็น แต่กับนิยาม AI โอเพนซอร์สนี้บริษัทไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีนิยามเดียวที่สามารถใช้ได้ สำหรับโลกของ AI ที่มีความซับซ้อนสูง และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้อาจเป็นประเด็นใหญ่ได้ในอนาคต เพราะที่ผ่านมานิยามว่าอะไรเป็นโอเพนซอร์สของ OSI ถูกใช้อ้างอิงเมื่อมีคดีทางกฎหมาย และความชัดเจนนี้ช่วยให้นักพัฒนาที่ต้องการนำโครงการโอเพนซอร์สไปพัฒนาต่อมั่นใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่ง Clément Delangue ซีอีโอ Hugging Face ก็ออกมาสนับสนุนนิยามของ OSI ว่าช่วยทำให้กรอบต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น
เงื่อนไขที่ทำให้ Llama ของ Meta ไม่เข้านิยามของ OSI คือ โมเดล AI นั้นต้องให้รายละเอียดข้อมูลที่นำมาฝึกเพียงพอ (Training Data) แม้ไม่ต้องแชร์ข้อมูลออกมา ซึ่งเป็นประเด็นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เพราะมักไม่เปิดเผยว่าใช้ข้อมูลจากแหล่งใดบ้างในการฝึก
ที่มา: The Verge
Comments
ไม่เปิดเผย = ไม่ open