Tags:

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากการเปลี่ยนผ่านไปยังโลกแห่ง IPv6 หากสำเร็จลงได้ จะนำฟีเจอร์สำคัญของระบบไอพีที่มีมาแต่ต้น คือ เครื่องทุกเครื่องสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายแบบใดๆ เพราะมีชั้นของไอพีครอบไว้ให้ทำงานเหมือนกันทั้งหมด

ด้วยแอดเดรสที่มีมากถึง 2^128 หมายเลขไอพีจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องแจกจ่ายอย่างจำกัดอีกต่อไป ตัวอย่างของการจำกัดการใช้งานไอพีทุกวันนี้ เช่น บริการบรอดแบนด์ตามบ้าน ที่จะจ่ายหมายเลขไอพีมาให้เพียงทีละหมายเลขเท่านั้น ทั้งที่ภายในบ้านมักมีอุปกรณ์เป็นจำนวนมากเชื่อมต่ออยู่พร้อมกัน

การเชื่อมต่อผ่าน NAT ทุกวันนี้ทำให้เราท์เตอร์ต้องเปลี่ยนหมายเลขไอพีทุกแพ็กเก็ตที่วิ่งผ่านรวมถึงต้องคำนวณค่า checksum ใหม่ในระดับ TCP กระบวนการเช่นนี้ทำให้อัตตราการกินพลังงานของเราท์เตอร์สูงขึ้น และต้องใช้ชิปที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้รองรับแบนด์วิดท์สูงๆ ในอนาคตเมื่อความเร็วในการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ระบบไฟเบอร์เข้าถึงบ้านที่ความเร็วอาจจะสูงถึง 1 กิกะบิตต่อวินาที ชิปประมวลผลเหล่านี้จะกลายเป็นคอขวดของระบบ

แต่ในระบบ IPv6 หมายเลขไอพีจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ routing prefix ที่ใช้ระบุผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยตอนนี้มีขนาดไม่เกิน 48 บิตแรกของหมายเลขไอพี, subnet id ขนาด 16 บิต สำหรับให้ผู้ให้บริการอินเทอร๋เน็ตจัดการการเราท์ภายใน, และอีก 64 บิตเรียกว่า interface identifier เป็นหมายเลขสำหรับระบบอินเทอร์เฟชบนเครื่องที่จะใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

ด้วยรูปแบบการใช้งานนี้ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์จะแจกหมายเลขไอพีขนาดวง /64 มายังบ้านของลูกค้าเพื่อให้เครือข่ายในบ้านจัดการหมายเลขไอพีกันเอง และทุกเครื่องในบ้านหรือสำนักงานจะมีหมายเลขไอพีเป็นของตัวเองทั้งหมด โดยหมายเลขไอพีของแต่ละเครื่องจะได้จากหมายเลข MAC ที่แจกจ่ายให้กับการ์ดแลนทุกการ์ดอยู่แล้ว กระบวนการนี้เป็นไปตามโปรโตคอล Stateless Address Autoconfiguration (SLAAC - RFC4862 )

No Description

กระบวนการแปลงหมายเลข MAC มาเป็นหมายเลขไอพีเรียกว่า modified EUI-64 เนื่องจากหมายเลข MAC มีความยาว 48 บิต จึงต้องแทรก FF:FE ลงไปตรงกลางเพื่อให้ครบ 64 บิต

การที่เครือข่ายสามารถมีเครื่องในเครือข่ายได้สูงสุดถึง 2^64 เครื่อง มีผลสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะการแจกหมายเลขไอพีให้กับอุปกรณ์ที่หลายหลายมากขึ้น ทุกวันนี้มีโครงการจำนวนมากออกแบบระบบไอพีสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็กมาก เช่น Contiki เป็นระบบปฎิบัติการโอเพนซอร์สสำหรับคอมพิวเตอร์ฝังตัว ที่ใช้โปรโตคอล 6LoWPAN ( RFC4944 ) โปรโตคอลเช่นนี้ทำให้คอมพิวเตอร์ฝังตัวที่มีแรมเพียง 8 กิโลไบต์ และราคาในระดับ 10 ดอลลาร์หรือ 300 บาท สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป

No Description

โมดูล CC2530 ของ Texas Instrument รองรับการเชื่อมต่อผ่านชั้น Datalink แบบ IEEE 802.15.4 สามารถติดตั้ง Contiki เพื่อรัน 6LoWPAN ได้ใน ราคาขายปลีกทั้งโมดูลเพียง 8 ดอลลาร์

6LoWPAN เป็นการสร้างชุดโปรโตคอลขึ้นให้เทียบเท่าการใช้งาน IPv6 พร้อมกับ ICMP, TCP, และ UDP ทั้งชุดผ่านการบีบอัดข้อมูล เพื่อให้ทำงานได้บนช่องทางการสื่อสารที่ขนาดเฟรมมีขนาดเพียง 127 ไบต์ของการเชื่อมต่อแบบ IEEE 802.15.4 (ถูกใช้งานใน Bluetooth) โดยเปิดให้มีการย่อข้อมูลให้มีขนาดเล็กลง และใช้ชั้น Datalink ของ IEEE 802.15.4 เป็นส่วนหนึ่งของการอ้างที่อยู่ในชั้นเครือข่ายเพื่อประหยัดพื้นที่ในเฟรม

No Description

การเชื่อมต่อเซ็นเซอร์และควบคุมการทำงานผ่านเครือข่าย Wi-Fi ( ภาพจากบริษัท NXP ผู้ผลิตชิปเราท์เตอร์สำหรับ 6LoWPAN)

แอพพลิเคชั่นที่จะเกิดได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น การจัดการระบบไฟฟ้า, ระบบเชื่อมควบคุมการเข้าออกสถานที่, เซ็นเซอร์สภาพแวดล้อม, หรือแอพพลิเคชั่นขนาดเล็กอื่นๆ จะสามารถวิ่งบนเครือข่ายไอพีเดียวกันได้ทั้งหมด เซิร์ฟเวอร์สำหรับการเก็บข้อมูลเหล่านี้สามารถเขียนเพียงครั้งเดียว แล้วให้ระบบเซ็นเซอร์ที่อาจจะมีความแตกต่างกันมากมายอิมพลีเมนต์ระบบไอพีแล้วเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ในภายหลัง ระบบการควบคุมคนเข้าออกอาคาร, ระบบป้องกันไฟไหม้, หรือระบบรักษาความปลอดภัยในระดับวิทยาเขตมหาวิทยาลัยที่มีหลายอาคาร อาจจะถูกรวบเข้าศูนย์กลางที่เซิร์ฟเวอร์เพียงตัวเดียว จากเดิมที่ระบบเหล่านี้มักใช้โปรโตคอลเฉพาะของตัวเองและไม่มีมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ในอินเทอร์เน็ต

แต่ภายใต้ความก้าวหน้าของการสื่อสาร ความกลัวถึงความปลอดภัยก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเปิดให้มีการเชื่อมถึงแบบจากปลายทางถึงปลายทาง (end-to-end) อาจจะทำให้แฮกเกอร์เข้าถึงเซ็นเซอร์ตัวตัวควบคุมระบบไฟฟ้าที่สำคัญได้ แต่ในความเป็นจริงแม้ทุกวันนี้เองแม้จะผ่าน NAT ปัญหาความปลอดภัยก็ยังคงมีอยู่ การคอนฟิกที่ผิดพลาด การเปิดไอพีของเกตเวย์ระบบเซ็นเซอร์ทำให้มีแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงระบบเหล่านั้นได้ ความปลอดภัยที่ถูกต้องจึงควรอาศัยการควบคุมสิทธิอย่างเหมาะสม การกรองหมายเลขไอพีที่เข้าถึงเครือข่ายได้ (access control list - ACL) และการเข้ารหัสข้อมูลเมื่อมีข้อมูลเป็นความลับ

อย่างไรก็ดีความกังวลในด้านความเป็นส่วนตัวเป็นความกังวลที่เราต้องระวัง จากการใช้หมายเลข MAC เป็นส่วนหนึ่งของหมายเลขไอพี หากมีการใช้งานอย่างกว้างขวางในอนาคตเป็นไปได้ว่าผู้ใช้จะถูกติดตามว่าใช้งานจากที่ใดบ้าง ผู้ใช้ที่ใช้งานผ่านบริการ VPN อาจจะถูกเปิดเผยว่าเป็นผู้ใช้คนเดียวกันกับการเชื่อมต่อโดยตรงเพราะหมายเลขอื่น มาตรฐานในส่วนนี้ IETF ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าให้มีมาตรฐาน RFC3041 ที่ระบุกระบวนการปกปิดหมายเลข MAC ของผู้ใช้ โดยทั้งวินโดวส์และลินุกซ์ก็ล้วนรองรับกระบวนการนี้แล้วทั้งสิ้น

การเชื่อมต่อในโลกไอพีที่มีหมายเลขแอดเดรสไม่จำกัด จะเปิดให้คอมพิวเตอร์ไม่ว่าใหญ่เล็ก เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบไอพีเดียวกันทั้งหมด มีความเป็นไปได้ที่เราท์เตอร์ในบ้านจะรองรับทั้ง Wi-Fi และ 6LoWPAN ไปพร้อมกัน เซ็นเซอร์ในบ้านจะสามารถรายงานสถานะของบ้านไปยังโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง หรือโทรศัพท์มือถือก็อาจจะสั่งปิดตรวจสอบสถานะต่างๆ ในบ้านได้โดยไม่ต้องการเซิร์ฟเวอร์ให้บริการตรงกลางเช่นทุกวันนี้ เมื่อถึงเวลานั้นอินเทอร์เน็ตจะกลับไปสู่ยุคเดิมที่ทุกเครื่องในอินเทอร์เน็ตสามารถกลับมาเชื่อมต่อกันได้อีกครั้ง

Get latest news from Blognone

Comments

By: dangsystem
iPhone Android Blackberry Windows
on 7 January 2013 - 11:59 #525972
dangsystem's picture

ต่อไปอุปกรณ์ที่ต่อเน็ตได้จะเหมือนอยู่วง LAN เดียวกัน อื่มมมมมมม

By: spiritstorm
iPhone Android Windows
on 7 January 2013 - 12:09 #525977 Reply to:525972
spiritstorm's picture

เล่นเกมสบายละ :D

By: inkirby
Contributor iPhone Android In Love
on 7 January 2013 - 12:31 #525992 Reply to:525977
inkirby's picture

ไม่เกี่ยวกันครับ =_=


Dream high, work hard.

By: hisoft
Contributor Windows Phone Windows
on 7 January 2013 - 14:32 #526044 Reply to:525992
hisoft's picture

เกี่ยวสิครับ PS Vita คนปวดหัวกับการพยายามทำ NAT Type 3 ให้กลายเป็น Type 2 แทบแย่ (forward port น่ะหล่ะครับ ถ้า Type 1 นั่นคือได้ IP จริงเข้าเครื่องเลย)

By: dangsystem
iPhone Android Blackberry Windows
on 7 January 2013 - 16:12 #526103 Reply to:525992
dangsystem's picture

offline ที่ไม่ได้มี SV ของผู้ให้บริการ และคนในวง Lan สร้างห้องกันเอง อย่าง counter RA2 ถ้าทำให้รองรับ IPV6 ผมว่าเกี่ยวน่ะ ถ้าเพื่อนรู้ IP ก็ จอยมาเลย

By: inkirby
Contributor iPhone Android In Love
on 7 January 2013 - 18:56 #526203 Reply to:526103
inkirby's picture

ลืมนึกถึงตรงนี้ไปครับ เพราะปกติผมใช้ VPN แทน


Dream high, work hard.

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 7 January 2013 - 20:09 #526226 Reply to:526103

กว่าจะบอก ip ไปครบ 555+

By: hydrojen
iPhone Red HatWindows
on 8 January 2013 - 11:53 #526505 Reply to:526226
hydrojen's picture

3 ปุ่มเทพเจ้าcontrol+ C,V

By: hisoft
Contributor Windows Phone Windows
on 8 January 2013 - 11:57 #526509 Reply to:526226
hisoft's picture

No-IP, DynDNS เถอะครับ จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานและผองเพื่อน

By: dangsystem
iPhone Android Blackberry Windows
on 8 January 2013 - 12:46 #526537 Reply to:526509
dangsystem's picture

จะเอาเป็นอาชีพเลยว่างั้น ห้าๆ แต่เกมบางเกมต้องการ IP ไม่รองรับ URL อะสิ แต่เอาจริงๆ ตอนนี้จะมีเกมไรลองรับ IPv6 บ้างน่ะ

By: tonhady
Red Hat Ubuntu
on 7 January 2013 - 12:33 #525993
tonhady's picture

ติดตามชมกันต่อไป - -

By: F16
iPhone Windows Phone Android In Love
on 7 January 2013 - 13:44 #526028

โลกมีไอพีไม่จำกัด..จะใช้หมดเมื่อไหร่ อยากรู้จัง

By: shinobi
iPhone
on 7 January 2013 - 16:17 #526113

โลกเราเคยมียุคที่ทุกเครื่องเชื่อมต่อกันด้วยเหรอครับ มันเกิดขึ้นเมื่อไร่

By: illusion
Contributor Android
on 7 January 2013 - 16:40 #526125 Reply to:526113
illusion's picture

"ทุกเครื่องใน internet เชื่อมต่อกันหมด" หมายถึงสมัยที่ยังแจก IPv4 ใช้กันฟุ่มเฟือย ให้ทุกเครื่อง ไม่ได้ต้องใช้อย่างจำกัดจำเขี่ยแถมผ่าน NAT แบบทุกวันนี้หรือเปล่าครับ

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 7 January 2013 - 17:19 #526147 Reply to:526113
lew's picture

"คอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต" ในยุคหนึ่งเคยเชื่อมถึงกันมากกว่าทุกวันนี้เยอะครับ

แต่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในยุคนั้นจะต่ออินเทอร์เน็ต


lewcpe.com , @wasonliw

By: angel13th
Android
on 8 January 2013 - 13:46 #526545 Reply to:526113
angel13th's picture

ถ้าจำไม่ผิด สมัยก่อนโน้น เครื่องในศูนย์คอมคณะผมเคยมี ip แท้ทุกเครื่องเลยครับ โดนยิง nuke จอฟ้าประจำ (ใครรู้จักนี่...)

แถมผมเคยไปทิ้ง trojan ไว้ พอกลับบ้านก็มาเปิดดูว่าเครื่องนั้นใครพิมพ์อะไรบ้าง บางทีก็แกล้งชาวบ้าน สลับปุ่ม mouse บ้าง พิมพ์แกล้งบ้าง ...เกรียนจริงๆ

By: gamegolf
iPhone Android Windows
on 9 January 2013 - 02:01 #526867 Reply to:526545

ผมเห็นของมหาลัยผมก็แท้ทุกเครื่องนะ หรือผมจำผิดหว่า = =

By: blueautumn
iPhone Windows Phone Windows
on 9 January 2013 - 10:19 #526926 Reply to:526867

คณะผมเป็นบ้างเครื่องเหมือนกัน เป็น lab คอมเล็กๆ ใช้เฉพาะในภาค

By: supaman
iPhone Android Windows
on 7 January 2013 - 17:28 #526154
supaman's picture

เหมือนเล่านิทานเลย จบที่ตอนเท่าไรครับ

By: picharnan
iPhone Windows Phone Android Red Hat
on 7 January 2013 - 18:40 #526186
picharnan's picture

ถ้าทำได้ก็จะมี Server วางที่บ้านซักที :)

By: viroth
Contributor Blackberry In Love
on 7 January 2013 - 23:00 #526305
viroth's picture

ดึงไฟล์ข้ามเครื่องกันเลยทีเดียว

By: sahassawas
Blackberry
on 8 January 2013 - 00:40 #526362
sahassawas's picture

192.168.xxx.xxx แค่นี้ก็พิมใส่ลำบากละ อย่าให้มันมากกว่านี้เลย ...ไม่ทันละสินะ - -'

By: tontpong
Contributor
on 8 January 2013 - 00:55 #526378

ตกลงว่าถ้าเอาคอมหรือแทบเลตไปใช้ข้ามจังหวัดข้ามประเทศ ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ให้บริการไปใช้เจ้าไหน ไง id ในระบบ IP จะยังเหมือนเดิมมั้ย.. หรือว่าจะได้ id ในระบบ IP ใหม่ เมื่อเปลี่ยนจุดเชื่อมต่อ

By: shinobi
iPhone
on 8 January 2013 - 01:05 #526382 Reply to:526378

น่าจะได้ ip เดิม ทุกเครื่องก็เหมือนมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นของตัวเอง แต่จะเอาอะไรอ้างอิงว่าเป็นเครื่องนั้นๆล่ะรอท่านอื่นตอบครับ อยากรู้เหมือนกัน

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 8 January 2013 - 01:20 #526387 Reply to:526382

เปลี่ยนผู้ให้บริการยังไงก็ต้องเปลี่ยน IP ครับ เพราะ prefix routing เปลี่ยน

แต่ที่เป็นไปได้คือการทำ roaming ระหว่าง wifi กับ 3G โดยยังได้ IP เดิม (ด้วยสารพัด wifi ของค่ายมือถือแต่ละค่ายในทุกวันนี้) ทำให้ระหว่างนั้น connection ไม่ขาดตอน คุย skype ได้ต่อเนื่องอะไรงี้

By: tontpong
Contributor
on 8 January 2013 - 12:45 #526535 Reply to:526387

ถ้าเปนงี้จิง คงวุ่นไม่น้อย.. ต้องมีตัวกลางคอยช่วย map ระหว่าง id เก่ากับใหม่อยู่ดีรึป่าว เช่นอาจมี id อีกชุดอย่าง DNS ที่ static กว่า ไม่งั้นเปลี่ยนจุดเชื่อมต่อที คงต้องไปไล่แก้ config ตามที่ต่างๆ กันมือหงิกเลย :?

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 8 January 2013 - 14:42 #526558 Reply to:526535
mr_tawan's picture

เอ ... อย่าเอา id ไปผูกกับ ip สิครับ ใช้แค่ตอน log ข้อมูลอย่างเดียวก็พอมั้ง ??


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: tontpong
Contributor
on 8 January 2013 - 18:06 #526654 Reply to:526558

ip มันไม่ผูกกับ id ได้ด้วยหรอ?

งืม ยังไม่สนเรื่อง id กับ ip ละกัน เผื่อผมจะงงไปเอง เอาเคสนี่แทน.. ถ้าจะดูกล้องวงจรปิดผ่านเนต ต้องทำไงบ้าง, แล้วถ้าจะระบุว่าให้เรียกดูได้จากแค่ คอม/มือถือ/แทบเลต ที่กำหนด ต้องทำไงบ้าง

By: lancaster
Contributor
on 9 January 2013 - 00:22 #526818 Reply to:526654

ถ้าจะทำแบบนั้น ไอพีต้นทาง(มือถือ)ต้องฟิกซ์ไว้ครับ ทำไม่ได้หรอก

ต้องใช้ authen เอาครับ ใส่รหัสอะไรก็ว่าไป วิธีเบสิคๆนี่แหละ

By: jane
Android Ubuntu
on 8 January 2013 - 23:47 #526798 Reply to:526378
jane's picture

Mobile IPv6

By: tontpong
Contributor
on 9 January 2013 - 03:38 #526884 Reply to:526798

ขอบคุณมากมายสำหรับ keyword คร้าบบบ ^/\^

อ่านคร่าวๆ เหมือนจะเปนส่วนขยายของ IPv6 อีกที .. en.wikipedia.org/wiki/Mobile_IP

ขอรบกวนถามต่อแบบยังไม่ได้คุ้ยเองเพิ่มเติม ว่าถ้าเช่นนี้แล้ว ระบบต่างๆ ที่บอกว่าพร้อมรองรับ IPv6 นั้น โดยมากคือรองรับ Mobile IPv6 ได้ด้วยแน่นอน หรือว่าต้องหารายละเอียดการ implement มาดูเพิ่มอีกที.. ขอขอบคุณล่วงหน้าครับผม :)

By: sthepakul
Contributor Android
on 8 January 2013 - 07:31 #526431
sthepakul's picture

ต่อไปถ้าอุปกรณ์ในบ้านมี IP เป็นของตัวเอง คงจะสุดยอดมาก ขับรถกลับบ้านก็สั่งให้แอร์เปิดไว้ก่อน สั่งเปิด-ปิดไฟ ไปซุปเปอร์ก็ดูของในตู้เย็นได้ง่ายๆ ว่ามีอะไรเหลืออยู่บ้าง

By: hisoft
Contributor Windows Phone Windows
on 8 January 2013 - 10:34 #526472 Reply to:526431
hisoft's picture

จริง ๆ ตอนนี้ก็ทำได้ครับ แค่ต้องมี server ศูนย์กลาง แล้วมันก็มีอยู่แล้วด้วย

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 8 January 2013 - 12:44 #526532 Reply to:526431
mr_tawan's picture

เจอเตาอบตัวละสองแสนสี่เข้าไป (ตกหน้าไปแล้ว) ... รอดูอีกสักสองสามปีก่อนละกัน


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: handtevada on 8 January 2013 - 15:52 #526580
handtevada's picture

อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้นเสียนี่กระไร :)

By: HaMoo on 8 January 2013 - 16:41 #526596
HaMoo's picture

จะดีใจหรือเครียดดี?

By: hisoft
Contributor Windows Phone Windows
on 8 January 2013 - 17:02 #526617 Reply to:526596
hisoft's picture

เครียดเรื่องอะไรล่ะครับ?

By: pasuth73
iPhone Windows Phone Android Ubuntu
on 8 January 2013 - 20:32 #526714

ต่อไปพาสเวิร์ดต่างๆ ใช้iPv6 ตัวเองครับ เพื่อป้องกันอาชญากรรม 5555+

By: saratlim
Contributor Android
on 8 January 2013 - 23:30 #526788 Reply to:526714
saratlim's picture

จดไว้กลางหน้าผากเลยเป็นทีเดียว


blog

By: coolll
Android
on 9 January 2013 - 12:16 #526993 Reply to:526714

555

By: Onewings
Windows
on 9 January 2013 - 17:11 #527150 Reply to:526714

ต่อไปฝังอุปกรณ์ติดตามตัวบนตัวคนใช้แทน Citizen ID Card เพื่อป้องกันอาชญากรรมแทน(แน่นนอนใช้ไฟฟ้าจากร่างกายคน และ ใช้ iPvXXX ในการระบุ)

By: deaware
iPhone Android Red Hat Ubuntu
on 8 January 2013 - 22:56 #526774
deaware's picture

ยุคของ internet of things ตอนนี้เทคโนโลยีสามารถทำได้แล้ว แต่ทางผู้ผลิตจะทำให้การตลาดออกมาแพร่หลายเมื่อไรเท่านั้นเองตอนนี้อนาคต อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างก็จะสามารถควบคุมได้ด้วย IP โดยตรง 6LowPan นี่เข้ามามีผลมากมายเลยครับ