ในงานแถลงข่าว Microsoft Dynamics ที่ประเทศสิงคโปร์ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ไมโครซอฟท์เชิญตัวแทนจากทีมรถแข่ง Lotus F1 (ที่ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรและสปอนเซอร์) มาเล่าเบื้องหลังระบบไอทีที่ทีม F1 ใช้กัน ซึ่งเป็นของแปลกที่หาฟังได้ยากครับ
งานนี้เราได้คุณ Thomas Mayerซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของทีม Lotus F1 (ชื่อเดิมคือ Benetton และ Renault) มาเล่ากระบวนการทำงานของทีม F1 ให้ฟังกันว่าเขาทำงานกันอย่างไร
คุณ Thomas Mayer, COO ของทีม Lotus F1 (คนขวามือในภาพ) เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าในมุมมองของคนทั่วไป ทีมรถแข่ง F1 เน้นไปที่ประสิทธิภาพของรถยนต์ และความสามารถของนักแข่งรถเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วทีม F1 ถือเป็นองค์กรที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี (ไม่ใช่เฉพาะไอที) สูงมาก ทั้งทีมมีคนทำงานมากกว่า 500 คน มากกว่าที่เราเห็นเวลาแข่งรถเยอะเลย
คุณ Mayer บอกว่ารูปแบบการทำงานของทีม F1 (ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล) จะคล้ายกับบริษัทในอุตสาหกรรมการบิน (aerospace) หรืออุตสาหกรรมอาวุธ (defense) ตรงที่ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทค ใช้เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ และต้องมีกระบวนการผลิต (manufacturing) ที่ทันสมัยเป็นอย่างมาก เพราะวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในรถแข่ง F1 ต้องน้ำหนักเบา มีความทนทานสูง ความแตกต่างของส่วนประกอบรถยนต์ย่อมมีผลต่ออันดับการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กร
ทีม F1 จึงถือเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ (material science) สูงมากแห่งหนึ่งของโลก และโค้ดของซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในก็สามารถแชร์ร่วมกับบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้ เพราะรูปแบบการทำงานคล้ายคลึงกัน
แต่จุดที่ทีม F1 ต่างจากอุตสาหกรรมการบินหรืออาวุธ คือความเร็วในการทำงาน (agility) เพราะรถแข่ง F1 แข่งกันบ่อยทุก 1-2 สัปดาห์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งฝั่งของฮาร์ดแวร์รถยนต์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุม จึงมีรอบการพัฒนาที่เร็วกว่ากันมากๆ เพราะชิ้นส่วนหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแข่งสนามนี้ อาจไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในสนามถัดไป ตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดของทีม F1 ที่บริษัทผลิตเครื่องบินหรืออาวุธไม่ต้องเจอ
กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทีม F1 ไม่ต่างอะไรกับบริษัทไฮเทคทั่วไป คือต้องมีฝ่ายวิจัย (R&D) ฝ่ายผลิต (production) และต้องมีระบบการดูแลหลังขาย (after sales service) แบบเดียวกับบริษัทไอที เพียงแต่ลูกค้าคือทีมแข่งขัน ซึ่งถือเป็นอีกส่วนงานในองค์กรเดียวกัน
ทางทีม Lotus F1 ที่คุณ Mayer ดูแลอยู่ มีรอบการพัฒนาต้นแบบ (prototyping) ผลิตภัณฑ์ทุก 2 สัปดาห์ เทคนิคสมัยใหม่อย่างการขึ้นรูปด้วย 3d printer จึงเข้ามาช่วยในการสร้างต้นแบบได้ดีมาก ทางทีมต้องออกแบบชิ้นส่วนใหม่ปีละ 50-100 ครั้ง คุณ Mayer บอกว่าการใช้ไอทีช่วยลดเวลาการทำงานลงได้มาก จากเดิมกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 รอบ (นับตั้งแต่ออกแบบ ทดสอบ deploy) อาจใช้เวลานาน 4 สัปดาห์ ก็สามารถลดลงเหลือ 1 สัปดาห์ได้ ตรงนี้ทีมไหนที่มีระบบไอทีดีกว่า ทำงานเร็วกว่า ก็จะได้เปรียบคู่แข่งมากกว่า
การวิจัยรถแข่งในปัจจุบันนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย รถแข่ง F1 หนึ่งคันมีเซ็นเซอร์มากกว่า 2,000 จุด (ส่วนใหญ่อยู่ในเครื่องยนต์) ตัวเลขทุกอย่างต้องตรวจวัดตลอดเวลา เช่น การวัดอุณหภูมิของพื้นสนามเพื่อเปลี่ยนยางให้เหมาะสม
เมื่อทางทีมต้องรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเซ็นเซอร์เหล่านี้ ย่อมไม่มีทางที่มนุษย์ธรรมดาจะวิเคราะห์ข้อมูลได้ทัน ทางออกคือใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย ตอนนี้ทางทีมเริ่มใช้เทคนิค machine learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์แล้ว
คุณ Mayer เล่าว่าในธุรกิจที่แข่งขันสูงแบบ F1 จะมีมุมมองที่ไม่เน้นการประหยัดเงินค่าพัฒนาระบบ เพราะเป้าหมายคือแข่งขันให้ชนะ แต่จะมีมุมมองว่าลงทุนไปแล้วต้องได้ผลลัพธ์กลับมาคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นในทีมซอฟต์แวร์ของ Lotus F1 จะมีตัวชี้วัดของการพัฒนาโค้ดเป็น "ระยะเวลาต่อรอบ" (lapse time) ว่าถ้าลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนนี้เพิ่มเข้ามา ในภาพรวมแล้วจะสามารถลด lapse time ของการแข่งขันลงได้กี่วินาที
สุดท้าย คุณ Mayer บอกว่าการนำระบบไอทีเข้ามาใช้งานยังช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เดิมทีทางทีมของเขาต้องแบกตู้แร็คเซิร์ฟเวอร์ไปตามสนามแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก แต่ช่วงหลังเขาสามารถรันงานบนคลาวด์ได้โดยตรง โดยเลือก provisioning ตัวโค้ดที่อยู่บนคลาวด์ไปไว้ที่ data center ที่ใกล้สนามแข่งมากที่สุดเพื่อลด latency
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการทำแบบนี้ได้ ทางสนามแข่งต้องมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานมากกว่า 1 สายเพื่อทำ redundancy เผื่อว่าเน็ตมีปัญหาระหว่างการแข่งขัน จะได้ยังต่อเชื่อมระบบได้ตลอด ซึ่งตอนนี้สนามแข่งส่วนใหญ่ยังมีเน็ตแค่ 1 สายเท่านั้น ทำให้หลายกรณียังต้องใช้วิธีแบกตู้แร็คไปเหมือนเดิม
ผมมีโอกาสเข้าไปดูในสนามแข่ง F1 ที่สิงคโปร์ด้วย พบว่าตรงข้างๆ ทีมมอนิเตอร์ที่นั่งอยู่ติดขอบสนาม มีตู้แร็คขนาดเล็กวางอยู่จริงๆ ครับ (หลุดกรอบในภาพออกไปนิดหน่อย) ส่วนใน pit หรืออู่ที่อยู่ด้านข้างสนาม ก็นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมากมายครับ (เผอิญว่าเขาไม่พาเข้าด้านในสุด เลยได้ดูแต่แบบไกลๆ)
หมายเหตุ: ทีม Lotus F1 ใช้ระบบ Dynamics ERP ของไมโครซอฟท์ และเป็นพาร์ทเนอร์กันหลายเรื่อง ดังจะเห็นว่าไมโครซอฟท์มีโฆษณา Xbox บนตัวถังรถ และดึงนักแข่งทีม F1 ไปเป็นพรีเซนเตอร์เกม Forza 6 ด้วย
Comments
ในมือคนรูปล่างสุด นี่มัน joypad xbox? ใหญ่มาก
มันคงเป็นพวงมาลัยรถ F1 แหละครับ
พวงมาลัยรถครับ หน้าตาแบบนี้จริงๆ
อ่าห์ อ่านข่าวนี้แล้วฟิน มีทั้งเรื่องรถ มีทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์
ถ้ามีพริตตี้ด้วยนะ จะเพอเฟกเลย ครม รถ คอม ผู้หญิง 555
ไหนคณะรัฐมนตรีอ่ะครับ
ขอบคุณครับ ชอบบทความนี้มากเลย
สิ่งที่คาใจมาก ๆ คือ ช่างเครื่องของ F1 ที่เห็นทำงานใน Cockpit เนี่ย เค้าเก่งด้านเครื่องยนต์มากกว่าช่างตามศูนย์รถทั่วไปรึเปล่า?
จะเอาอะไรมาวัดว่าเก่งกว่าล่ะครับ? ถ้าให้ไปซ่อมเครื่องรถบ้านช่างศูนย์ก็คงชำนาญกว่าแน่นอนเพราะซ่อมมาเยอะ แต่ถ้าให้ไปซ่อมเครื่อง F1 ช่างศูนย์คงได้แต่นั่งมองล่ะครับ เพราะต่างคนต่างมีความชำนาญกันคนละอย่าง
แล้วก็ Cockpit นี่หมายถึงที่นั่งคนขับในรถแข่งหรือว่าเครื่องบินครับ ต้องเรียกว่า Pit ที่หมายถึงพื้นที่ทำงานของแต่ละทีมในสนามแข่งรถ
เทียบกันไม่ได้ครับ ช่างศูนย์ทั่วไป อาจจะรวมถึงช่างที่เปิดร้านเอง = หมออายุรเวท ส่วน ช่างCockpit F1 = หมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ล่ะมั้งครับ
The Dream hacker..
อยากให้f1มาแข่งสนามบุรีรัมย์
เมืองไทยน่ามีแข่งบ้างนะครับ อยากทำทีม F1 ต้องใช้เงินเท่าไหร่กัน พันล้านน่าจะไม่พอใช่มะ
หลายพันล้านบาท และ FIA จำกัดงบประมาณสูงสุดทุกปีครับ (แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แคร์ทีมเล็กๆเลยแม้แต่น้อย อ่านต่อได้ที่ วิเคราะห์งบประมาณทีมแข่ง F1 ทำไมทีมเล็กถึงไม่อาจอยู่รอด )
ทุกวันนี้ F1 จืดไปแล้ว เพราะยัดเทอร์โบเข้ามา แต่ตัดรอบเครื่องยนต์แสบแก้วหู 20,000 rpm เหลือ 15,000 rpm แล้วยังไม่พอ ตัดลูกสูบลงเหลือแค่ 6 .....
สำหรับแฟนๆ F1 ทุกวันนี้ไปดู Le Mans (FIA WEC) กันแล้ว ใช้งบไม่มาก บ้างก็ว่าได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากกว่าใน F1 ด้วยซ้ำ
เกือบลืม ถ้ามาจัด F1 ที่ไทย ยังไงก็ไม่คุ้มครับ เฉพาะงบจัดรายการแข่งก็มหาศาลแล้ว
จริงนะ ใช้เครื่องเทอร์โบนี่เสียงดูไม่จืดจริงๆ ไปดู WEC ยังสนุกกว่า :v
ผมว่า LMP1 ที่ยัดระบบ Hybrid เข้ามาช่วงรอยต่อ F1 แบบ(เกือบ)พอดี๊พอดีทำให้ WEC บูมขึ้นมาเลย อีกอย่างคือทีมไหนอยากทำเครื่องยนต์อะไรก็ได้ คนที่เบื่อ f1 ก็หันมาดูกันเยอะเพราะเดี๋ยวนี้มันแทบจะ mainstream กันหมดแล้ว
F1 จะว่างไปตั้งแต่ยุค V6 Turbo มานี่ มันก็น่าจะถือเป็น Hybrid แล้วนะครับ แต่พลังไฟฟ้าจะเอามาใช้ตอนกดปุ่มตามใจคนขับ
แต่ก็จริงแหละครับที่ f1 มันดูเหมือนๆ กันไปหมดอาจต้องรอดูปี 2017 เห็นว่าจะมีการปรับกฎอีกมาก หน้าตารถก็จะเปลี่ยนไปด้วย
เครื่อง 1600 ซีซี แล้วยัดเทอร์โบเข้ามาช่วย สนามแรกๆที่ใช้เครื่องตัวนี้ เสียงจืดชืดมาก จนกระทั่งต้องประชุมกันให้ปรับเสียงเครื่องยนต์ให้ดังขึ้นอีก แต่ก็เทียบเครื่องตัวเก่าไม่ได้เลย
ผมไม่ใช่คอ F1 สรุปที่ F1 มันเพราะเสียงหรอครับ (ถึงว่าพวกแรงแต่เสียงในถนนไทยมีเยอะจัง)
มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งน่ะครับ ลองฟังในยูทูปก็ได้ ขนาดผมเริ่มดูยุคเครื่อง 3.0 L V10 ยังมีคนบอกเสียงสู้ยุค V12 ไมได้ส่วนตัวชอบยุค 2.4L V8 นะ ขนาดกำลังดี เสียงก็เร้าใจ เคยไปดูที่เซปังครั้งนึง วิ่งทางตรงเสียงดังมากๆ ถ้าไม่มีที่อุดหู หูหนวกแน่
ใช่เลยครับเครื่องตัวนี้กำลังดี 2.4 นี่แหละ
เอาแค่จะจัดยังยากเลยครับถึงที่บุรีรัมย์จะรองรับ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพิ่มเช่นระบบ Logistic เป็นต้น เพราะจำไม่ผิดส่งทางเครื่องบินทั้งนั้น ซึ่งสนามบินที่บุรีรัมย์ไม่รองรับแน่นอน แถมเฮียเนวินเคยเกริ่นไว้ว่าถ้าภาครัฐไม่เอาด้วยคงยากหละ จัดพวกเข้าถึงง่ายๆพวก Super GT WTCC ALMS WSBK หรืออนาคตอย่าง MotoGP จะคุ้มกวาหนะครับ
ลงทุนสูงมากครับ หลายพันล้านอาจจะเกือบหมื่นล้านด้วยซ้ำ ถ้าบางปียอดคนดูน้อย กำไรน้อยอาจถูกตัดจากปฏิทินแข่งก็ได้ ขนาดสนามประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างมอนซ่า (อิตาลี)ยังมีข่าวจะถูกตัดเลย บางครั้งหลายสนามในยุโรปก็ได้จัดปีเว้นปี
ปีนี้เอาใจช่วย McLaren honda แต่ผลงานย่ำแย่เหลือเกิน ที่สิงคโปร์ก็แข่งไม่จบทั้งคู่ รถมีปัญหา
เคยดูสารคดีสั้นๆ เรื่องนี้เหมือนกัน ทีมงานเยอะมากๆ จอคอมเยอะมากๆ
หยั่งกะห้องควบคุมยานอวกาศนาซ่า 555