มือถือในสาย ZenFone ของ ASUS เป็นที่รู้จักกันดีจากการเปิดตัวครั้งแรก ซึ่ง Asus พยายามสร้างมือถือตลาดกลางในราคาตลาดล่าง
จนเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ASUS ได้ เปิดตัว ZenFone 3 พร้อมกันถึงสามรุ่น (หรืออาจนับได้สี่รุ่น เพราะ ZenFone 3 ตัวล่างสุดมีสองขนาดจอ)
ผมได้มีโอกาสใช้ ZenFone 3 มาเป็นเวลาประมาณสองวัน จึงนำมาเขียนรีวิวให้อ่านครับ
ตัวเครื่อง
ASUS ออกแบบ ZenFone ใหม่โดยเปลี่ยนจากตัวเครื่องพลาสติก เป็นตัวเครื่องกระจก พร้อมขอบ (bezel) โลหะ
ZenFone เลือกที่จะใส่ปุ่มหลักของแอนดรอยด์มาเป็นปุ่ม capacitive (แทนที่จะใช้ปุ่มบนจอ) ทั้งสามปุ่มไม่มีไฟตอนกลางคืน ผู้ใช้ที่เพิ่งใช้อาจยังไม่ชิน
ด้านขวามีปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง และปุ่มล็อกหน้าจอโทรศัพท์ (ซึ่งการจัดปุ่มไว้ด้านขวา ทำให้ต้องใช้มือซ้ายกดปุ่มลดเสียงเป็นชัตเตอร์กล้อง)
ด้านซ้ายเว้นว่าง มีเพียงถาดใส่ซิม (ที่ใส่ได้สองซิม) และ MicroSD Card (ซึ่งแชร์ช่องกับซิมที่สอง)
ข้อสังเกตคือช่องใส่ซิมแรกเป็นช่อง Micro SIM แต่ช่องที่สองเป็น Nano SIM ผู้ที่ต้องการใส่ทั้งซิมการ์ดและ MicroSD อาจจะต้องหาตัวแปลงมาแปลงขนาดซิมครับ
ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง 3.5mm มาตรฐาน
ด้านล่างเป็น USB Type C ไมโครโฟน และลำโพง
ด้านหลังเป็นกล้อง พร้อม laser focus, แฟลชทูโทน และที่อ่านลายนิ้วมือ
โดยรวมงานประกอบถือว่าน่าประทับใจ ยกเว้นเสียแต่ปุ่มด้านข้างยังดูก๊อกแก๊ก กล้องปูดในระดับที่นูนขึ้นมามาก และผมสังเกตว่าตะแกรงของลำโพงโทรศัพท์ไม่ขนานกับตัวขอบนอก (เป็นความเรื่องมากส่วนตัว)
การใช้งาน
ซอฟต์แวร์
ZenFone 3 มาพร้อมกับ ZenUI ซึ่ง ASUS ปรับแต่งมาให้กับมือถือของตัวเอง ส่วนตัวไม่ชอบมากเท่าไหร่
เป็นที่แน่นอนว่า ASUS ติดตั้งแอปมาให้ค่อนข้างมาก (เช่น Facebook, Kindle และเกมอีกสองเกม) แต่ดีที่ผู้ที่ใช้สามารถถอนการติดตั้งได้
ผู้ที่นิยมชมชอบ Pure Android (ผมเป็นหนึ่งในนั้น) หรือนิยมชมชอบ Material Design แบบที่ Google ใส่มาใน Pure Android (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน) อาจจะขัดใจอยู่นิดหน่อยครับ
ที่อ่านลายนิ้วมือ
ส่วนตัวที่อ่านลายนิ้วมือข้างหลังตอบสนองค่อนข้างเร็ว เสียดายที่ผมไม่มีอุปกรณ์รุ่นที่มีเครื่องอ่านลายนิ้วมือให้ทดสอบด้วย
หนึ่งประเด็นที่ควรนึกถึงคือ การวางที่อ่านลายนิ้วมือไว้ข้างหลังทำให้การอ่านลายนิ้วมืออ่านจากด้านข้างของนิ้วเป็นส่วนใหญ่ หากสแกนนิ้วมือไม่ตรงจุด อาจทำให้การอ่านลายนิ้วมือไม่ราบรื่นทุกครั้ง
กล้อง
ZenFone ชูจุดเด่นเรื่องกล้องตั้งแต่ ZenFone ตัวแรก และใน ZenFone 3 นี้ Asus ใส่กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อมกันสั่นสี่แกนและแฟลชสองสี
แอปกล้องของ Asus อาจมองได้ว่า “รก” เพราะ ASUS พยายามใส่ฟังก์ชั่นให้ได้มากที่สุด รวมถึงกล้องแบบ Manual (ปรับ focus เองได้)
ภาพถ่ายโดยรวมถือว่าน่าประทับใจในมุมมองส่วนตัว แต่ขอให้ผู้อ่านพิจารณากันได้ครับ
ภาพถ่ายจากกล้องโหมดออโต้
ภาพถ่ายกลางคืน
ภาพถ่ายโหมดแสงน้อย
ZenFone มีโหมดแสงน้อย ซึ่งจะทำการใช้เซนเซอร์รวมแสง ขนาดภาพจะเหลือ 3 ล้านพิกเซล แต่แลกกับแสงที่สว่างขึ้นและนอยส์ที่น้อยลงครับ
โหมด Super resolution
จะทำการถ่ายหลายภาพต่อเนื่องกันแล้วมารวมเป็นภาพขนาด 64 ล้านพิกเซล
เนื่องจากไฟล์ใหญ่มาก ดังนั้นไฟล์ต้นฉบับ อยู่ที่ Google Drive ครับ
ประเด็นอื่นๆ
- GPS ค่อนข้างทำงานได้ดี จับได้ไวและแม่น (GPS Test) บอกว่าแม่นในระดับ 4-5 เมตร
- แบตเตอรี่อยู่ในเกณฑ์โอเค ไม่ได้แย่แต่ก็ไม่ได้ดีจนต้องพูดถึง
- ที่อ่านลายนิ้วมือจะมาพร้อมตัวเลือกแตะสองครั้งเพื่อเปิดกล้อง ผมโดนที่อ่านโดยไม่ได้ตั้งใจติดๆ กัน และกล้องเด้งขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจบ่อยมาก
- หน้าจอ 5.5” อาจใหญ่ไปสำหรับบางท่าน ซึ่งหน้าจอ 5.3” อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
สรุป
โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างโอเคกับมือถือสเปกระดับนี้ แต่คำถามที่ต้องถามก็คือ ราคาของมือถือตระกูล ZenFone ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารุ่นแรกอย่างพอตัว ยังทำให้ตัว ZenFone นั้น “คุ้มราคา” อยู่หรือไม่
หากผู้อ่านยินดีกับราคานี้ นั่นก็อาจทำให้ ZenFone เป็นหนึ่งในมือถือที่ตอบโจทย์หลายๆ การใช้งานได้ไม่ยากครับ
Comments
สวยมากครับ
ยกเว้นเสียปุ่ม ?
ละโพง => ลำโพง
รุ่นอ่านที่มีเครื่องอ่าน ?
ราบลื่น => ราบรื่น
ขนาก => ขนาด
ขอบคุณครับ O_o
Blog | Twitter
ภาพดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นครับ ไม่เร่งสีเร่งวุ้นจนเพี้ยนแบบสมัย Zenfone 5
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
อยากดูข้อมูล CPU-Z ได้ไหมครับ
ตัวนี้ 8,990 ใช่ไหมครับ
ไม่ใช่ครับ ตัวนี้ zenfone 3 5.5 ze552kl 14990 บาท
สวยที่สุดคือขอบข้างเครื่อง ยกเว้นปุ่มสีเงินๆ นั่น ทำให้มันดูกลายเป็นมือถือจีนถูกๆ ไปเลย เสียดาย..
รอราคาลง