Joylada หรือ จอยลดา คือแอพเขียนและอ่านนิยายจากค่าย Ookbee กำลังเป็นกระแสในทวิตเตอร์และได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่อชอบแฟนฟิกที่ใช้ตัวละครเป็นดารานักร้อง
Ookbee มีแพลตฟอร์มอ่านและเขียนนิยายอยู่แล้วคือ Storylog (Ookbee ถือหุ้นส่วนหนึ่ง) ที่เป็นนิยายทั่วไปและมีทุกแนว ให้ผู้ใช้เติมเหรียญให้คนเขียนหากอยากอ่านบทต่อๆ ไป และ ธัญวลัย ที่มีระบบเหรียญให้คนเขียนเช่นกัน แต่เนื้อหา 18+ เรียกได้ว่าใครอยากเขียนเนื้อหารุนแรงขึ้นมาหน่อยก็สามารถมาเขียนลงแอพธัญวลัยได้
กลับมาที่ Joylada เป็นนิยายรูปแบบแชท ผู้อ่านเพียงแต่กดอ่านหน้าจอแชทที่ตัวละครคุยกัน ส่วนความสนุกและความน่าติดตามของเนื้อหานั้นขึ้นอยู่กับทักษะผู้เขียนว่าจะแต่งเรื่องราวออกมาอย่างไร จะผูกเรื่องอย่างไรให้คนอ่านเห็นภาพเพราะทำได้แค่ให้ตัวละครคุยกันเท่านั้น
หน้าตาแอพ
หน้าแรกของแอพจะเป็นนิยายที่ระบบปักหมุดไว้ เลื่อนลงมาเป็นนิยายที่มีคนอ่านเยอะร้อยอันดับแรก จากนั้นก็เป็นนักเขียนยอดนิยมที่มีคนกดติดตามเยอะ และล่างสุดคือนิยายใหม่ที่อัพเดทเข้ามาในระบบ
ในการเลื่อนหาแนวนิยายที่ต้องการให้ปัดขวาไปเรื่อยๆ มีแบ่งเป็นหมวด ถนนสีชมพู (แนวรัก โรแมนติก) ทะเลสีเทา (ดราม่า เศร้า อกหัก) บ้านหรรษา (ตลก ขำๆ) ดินแดนมหัศจรรย์ (แฟนตาซี) สถานีอวกาศ (ไซไฟ อวกาศ ย้อนเวลา) เขตอาถรรพ์ (ผี ลี้ลับ สยองขวัญ) ลานฆาตกรรม (ฆาตกรรม สืบสวน สอบสวน)ฟีลกู๊ดคาเฟ่ (รู้สึกดี โลกสวย) ท่าเรือสีรุ้ง (Yaoi Yuri) และ โกดังแฟนคลับ (แฟนฟิก)
ส่วนหน้าตานิยาย ผู้ใช้ต้องกดตรงพื้นทีี่ว่างให้แชทขึ้นมาเรื่อยๆ การผูกเรื่องราว ตัวละครขึ้นอยู่กับทักษะผู้เขียนล้วนๆ
ผู้อ่านนิยมอ่านเรื่องแนวแฟนฟิกหรือนิยายที่ใช้ตัวละครเป็นดาราที่ชอบมาแต่งเป็นเรื่องราวควาามรักความสัมพันธ์มากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องรักโรแมนติก และเรื่องผีสยองขวัญ
ส่วนตัวผู้เขียนอ่านแต่ประเภทหลัง (ผี) ตัวนิยายแชทสามารถใส่รูปภาพเพิ่มอรรถรสได้ และเมืื่อเอานิ้วแตะตรงพื้นที่ว่างแชทรูปภาพจะปรากฏทันที อาจต้องระวังเรื่องอาการตกใจไว้เล็กน้อย
เลือกโหมดการอ่านและปรับความเร็วของแชทได้
ผู้ใช้งานแอพสามารถเป็นได้ทั้งผู้อ่านและผู้เขียน
ตัวแอพเปิดให้ผู้ใช้เป็นผู้เขียนนิยายและสร้างโปรไฟล์ให้ตนอื่นมาติดตาม รวมถึงคอมเม้นท์เกี่ยวกับนิยายนั้นๆ ได้ และสามารถสร้างนิยายใหม่ได้ง่ายด้วย โดยกดตรงปุ่มเขียนที่เป็นรูปดินสอก็สามารถเพิ่มนิยายใหม่ของเราได้ทันที โดยกำหนดชื่อเรื่อง ภาพที่ใช้ และแนวนิยาย (สามารถเลือกได้มากกว่า 1 ประเภท)
วิธีสร้างบบทสนทนาระหว่างตัวละคร ถือว่าใช้งานไม่ยาก คือกดสร้างตัวละคร พิมพ์สถานะหรือเนื้อหาที่จะให้ตัวละครคุยกัน สลับไปมาระหว่างตัวละครเรื่อยๆ เลือกตำแหน่งซ้ายขวาได้ และกดเพิ่มตัวละครได้ที่ปุ่มสีชมพูด้านล่างหน้าจอแชท
คนเขียนสามารถทำรายได้โดยอาศัยยอดอ่านหรือยอด joy
หน้าจอนิยายที่เห็นว่ามียอดจอยหลายล้าน ไม่ได้หมายถึงคนอ่านหลายล้านคน แต่หมายถึงจำนวนครั้งในการแตะให้นิยายแชทปรากฏขึ้นมา นั่นหมายถึงคนเขียนต้องเขียนเนื้อหาเร้าให้ผู้ใช้อยากกดดูข้อความต่อไปมากขึ้น คนเขียนที่มียอดจอยและยอดคนอ่านมากพอ ระบบจะแบ่งรายได้ให้โดยจะแสดงยอดเงินที่ได้รับบนหน้าโปรไฟล์ของตัวเอง ส่วนรายได้เอามาจากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม และถ้ารายได้ถึง 100 บาท ระบบจะโอนเข้าบัญชีผู้เขียน (ถ้าไม่ถึง 100 บาทก็จะยังไม่โอน)
สรุปการใช้งาน
ถือเป็นแอพที่เพลิดเพลินสนุกสนาน ดูดกลืนเวลามากแอพหนึ่ง (พบว่าคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น แต่งนิยายกันเก่งมากจริงๆ) ข้อดีคือเหมาะกับการใช้งานบนมือถือทั้งอ่านและเขียน เพราะเป็นหน้าจอแชท และเปิดให้ผู้ใช้สร้างนิยายเองได้ง่าย การใช้งานไม่ซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม Joylada มีข้อเสียใหญ่หลวงอย่างหนึ่งคือ ระบบไม่เตือนเมื่อนิยายของคนเขียนที่เราติดตามไว้อัพตอนใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตอนใหม่ที่กำลังรออยู่อัพแล้วหรือยัง ในขณะที่แอพอื่นอย่างเด็กดีมีการแจ้งเตือน และมีการใช้งานค้นหานิยายง่ายกว่า สามารถค้นหานิยายที่จบแล้วได้ นอกจากนี้ระบบล่มค่อนข้างบ่อย ผู้เขียนบางรายกดเข้าไปที่หน้าโปรไฟล์ตัวเอง จะเจอหน้าจอเปล่าบ่อยครั้ง (นิยายหาย ยอดจอย และยอดผู้ติดตามหาย) แต่หลังจากนั้นไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ
หากระบบแก้ปัญหาเรื่องแจ้งเตือน และระบบล่มได้ ก็จะถือว่าเป็นแอพที่ดีแอพหนึ่งเลย เพราะสามารถสร้างรายได้อีกทางให้คนเขียนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา
Comments
ล้ำจริงๆ เหมือนนั่งเผือกอ่านแชทที่โดนแคปมาแฉไอเดียถือว่าดีแต่ผมไม่ชอบเท่าไหร่
เพราะนิยายเป็นหนึ่งในสื่อที่ช่วยพัฒนาทักษะการอ่าน การจินตนาการ เป็นคลังคำศัพท์ สำนวน ได้ด้วยเพราะนิยายใหม่ๆที่วัยรุ่นเขียนพวก แจ่มใส ฯลฯ เน้นkaomojiแทนการใช้คำพรรณาเพื่อให้เห็นสีหน้าตัวละคร
ยิ่งคนไทยเราจะส่งข้อความกันแบบทีละประโยค ทีละคำ สั้นๆ ไม่พิมพ์ยาวๆ
ผมว่ามันทำให้ทักษะการเขียน+การอ่านจับใจความแย่ลง
มันมีผลถึงเวลาตอนทำงานด้วย ที่บางท่านอาจเคยเจอเด็กจบใหม่ส่งอีเมลล์งานส่งเป็นประโยคสั้นๆ สื่อความไม่ครบต้องส่งตอบไปตอบมาหลายรอบแทนที่จะพิมพ์ให้จบทีเดียว
+100
+1 รู้สึกประโยคมันสั้นไปนิดส์
มีเกมหนึ่งชื่อ Zarya-1 กำลังเล่นอยู่ มันก็แนวแชทแบบนี้แหละ (เปลี่ยนจากนิยายเป็นเกม) แต่แนวอวกาศและพรรณนาได้ดีด้วยเพราะนักบินอวกาศเวลาเจออะไรจะบรรยายให้ Control Center รับทราบ อยากจะบอกว่าทำได้ดีมาก และระทึกมาก (เพราะมันชวนจินตนาการเหลือเกิน)
"ไอเดีย" มาจากแอพ Seen ของ Polychroma Games สินะ
เหมือนนิยายเรื่อง แชทรักหนุ่มรถไฟ เลย
มันไม่มีทักษะในการเขียนเลย...มันเป็น(เหมือน) การแอบอ่านแชทคนอื่นแล้วจินตนาการไป
สำหรับเด็กแล้วมันคือ พื้นที่นึงที่จะได้แสดงความสามารถ ได้แชร์ให้คนอื่นได้อ่าน ได้พูดคุยกับคนอ่านตอบโต้กันได้ แถมยังได่ค่าขนมเล็กๆน้อยๆหลังเลิกเรียน รูปแบบของเนื้อเรื่องมันก็ขึ้นอยู่กับคนเขียนว่าจะนำเสนอรูปแบบไหน ไม่ได้เป็นแบบที่เห็นอยู่เสมอไป
ทีี่ => ที่
เมืื่อ => เมื่อ
ตนอื่น => คนอื่น
สร้างบบท => สร้างบท
รูป, ภาพประกอบ ละเมิดลิขสิทธิ์กันบานเลยทีนี้
my blog