เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วตอนที่ Sony เปิดตัวและวางขาย PS3 ใหม่ๆ พวกเขาบอกว่านี่คือเครื่องคอนโซลที่แรง ทรงพลัง เปี่ยมประสิทธิภาพการประมวลผล ราวกับคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งก็ไม่ปาน พี่ท่านถึงขนาดท้าให้ เอา Linux มาลงบน PS3 ก็ยังได้ ซึ่งก็แน่นอนว่าทำได้จริง
เรื่องราวไปถึงขนาด กองทัพอากาศยังยอมรับในความแรงด้วยการสั่งซื้อ PS3 ไปใช้กับงานด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แล้วจู่ๆ Sony ก็ปล่อยเฟิร์มแวร์ออกมาในปี 2010 ตัดความสามารถในการรันระบบปฏิบัติการอื่นใดนอกเหนือจากเฟิร์มแวร์ดั้งเดิม ออกด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ผลก็คือนับแต่นั้น PS3 จึงรัน Linux ไม่ได้อีกต่อไป (ถ้าไม่ใช่ว่ามีใคร ตั้งใจแฮคมัน )
ถ้าเรื่องราวมันมีอยู่แค่นี้ ก็จะเป็นแค่การขุดเอาข่าวเก่าๆ ของ Blognone มาย้อนเล่ากันให้อ่านเป็นสีสัน แต่อันที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะจากเหตุที่ Sony ยกเลิกความสามารถในการรัน Linux จึงเกิดมีการฟ้องร้องกัน มีโจทก์ 5 รายที่ร่วมกันฟ้อง Sony ด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัทญี่ปุ่นผิดคำสัญญาที่โฆษณาเครื่่องคอนโซลแล้วมาตัดความสามารถออกในภายหลัง
ผลของการพิจารณาคดีที่เพิ่งออกมาไม่นานมานี้ หลังการสู้รบในชั้นศาลที่ยืดเยื้อ ฝ่ายผู้ผลิตเครื่องเกมยินยอมพร้อมใจควักเงิน 3.75 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติข้อพิพาท
ไคลแมกซ์ของข่าวนี้ก็คือ เงิน 3.75 ล้านดอลลาร์ไปไหนบ้าง?
- 1 ใน 3 ของเงินที่ Sony ยอมจ่าย ตกเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานหนักของเหล่าทนาย
- โจทก์ 5 คนที่ชนะคดี ต่างได้รับเงินชดเชยกันคนละ 3,500 ดอลลาร์ (ถึงเอาเงินไปซื้อเครื่อง PS4 แล้ว ก็ยังเหลือพอซื้อเกมมาเล่นได้อีกเพียบ)
- หน่วยงานไกล่เกลี่ยคดีได้รับเงินราว 300,000-400,000 ดอลลาร์
- ที่เหลือคือเงินที่กันเอาไว้จ่ายชดเชยให้ลูกค้า PS3 คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมฟ้อง
เนื่องจากคดีนี้มีผลบังคับใช้แค่ในสหรัฐอเมริกา และครอบคลุมเฉพาะคนที่ซื้อ PS3 รุ่นที่ Sony โวเรื่องลง Linux ได้เท่านั้น (รุ่นอ้วนนั่นเอง) โดยจำกัดการจ่ายเงินชดเชยเฉพาะผู้ที่ซื้อเครื่อง PS3 ผ่านตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเวลา 1 พฤศจิกายน 2006 ถึง 1 เมษายน 2010 เท่านั้น โดยคนที่ต้องการรับเงินชดเชย 65 ดอลลาร์สามารถ ยื่นคำร้องได้ทางออนไลน์
การเปิดรับคำร้องขอรับเงินชดเชยนี้ก็มีอะไรน่าสนใจเช่นกัน แม้ว่าตัวเลขที่ถูกอ้างถึงเรื่องจำนวนเครื่อง PS3 ที่น่าจะเข้าข่ายเกี่ยวพันกับคำตัดสินนี้มีถึง 10 ล้านเครื่อง แต่ผลจากการยุติคดีระบุว่า Sony จะจ่ายเงินให้ผู้ที่ยื่นคำร้องคนละ ไม่เกิน 65 ดอลลาร์เท่านั้น ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งต้องหารเงินกัน
คนที่จะมีสิทธิ์เคลมเงินได้จริงต้องยืนยันเรื่องผู้จัดจำหน่ายและเวลาที่ตนเองซื้อเครื่องมา ที่สำคัญคือต้องยื่นคำร้องทันภายใน 15 เมษายนนี้ด้วย และจากที่มีคนเข้าเกณฑ์ได้รับเงินจัดการยื่นคำร้องมาก่อนหน้านี้แล้วราว 11,300 คน หากมีคนยื่นคำร้องอีกเกิน 20,000 คน ก็น่าจะได้เงินกันคนละไม่ถึง 65 ดอลลาร์แล้ว และก็มีแต่จะต้องหารเงินกันได้คนละน้อยๆ ลงไปเรื่อย
ที่มา - CNET
Comments
ฝ่ายผู้ผลิตเครื่องเกมยินยอมพร้อมใจควักเงิน 3.75 "ล้านดอลลาร์" เพื่อยุติข้อพิพาทไคลแมกซ์ของข่าวนี้ก็คือ เงิน 3.75 "ล้านบาท"ไปไหนบ้าง?
พิมพ์ผิดครับ ขอโทษที
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
รู้สึกเหมือนเล่าข่าวไปหน่อย แต่ก็แปลกไปอีกแบบครับ เข้าใจง่ายดี
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ผมชอบแบบนี้นะ เล่าข่าวไม่ต้องทางการ แต่ทำให้เข้าใจง่าย
คิดซะว่าเป็นการเขียนอีกสไตล์ที่มีให้อ่านก็ได้ครับ อ่านสนุกไปอีกแบบ
ฮา คนฟ้องได้เงินน้อยสุด
$3500 เป็นผมนี่ยินดีอย่างยิ่งเลย ซื้อ PS4 pro, TV 4K แล้วยังเหลือประกอบคอมแรงๆ ได้อีก
ใฃ้ประกอบโปรไฟล์ได้อยู่นะครับ ว่าเคยร้องเรียนบริษัทยักษ์ใหญ่แล้วชนะ
เครื่องหิ้ว...อด