ผ่านไปแล้วสำหรับงานสัมมนาเทคโนโลยีครั้งแรกของเว็บไซต์ Blognone หรืองาน Blognone Tomorrow และหนึ่งในบริษัทที่เข้ามาร่วมบรรยายคือ LINE ผู้มีอิทธิพลทางเทคโนโลยีของไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในไทย ด้วยตัวเลขผู้ใช้งานในไทยถึง 45 ล้านราย มีลูกค้าทั่วโลกถึง 200 ล้านราย และมีสำนักงานใหญ่ในหลายประเทศ
แต่ LINE สามารถแข่งกับตลาดโลกได้หรือยัง?
คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย บอกว่า LINE มีลูกค้าทั่วโลก แต่ประเทศที่เป็นผู้ใช้งานหลักหรือ core countries มี ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน เวียดนาม อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบขนาดบริษัท LINE กับบริษัทเทคโนโลยีอื่น LINE ยังเล็กมาก ในยุคที่การแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคำถามว่าเราจะแข่งกับเขาอย่างไร
เป็นตัวของตัวเอง
คุณอริยะ ให้ภาพรวมของ LINE ว่า LINE ในประเทศต่างๆ ไม่ใช่สาขาของ LINE ญี่ปุ่น แต่สามารถคิดเอง ทำเอง ลุยตลาดเองได้ เพราะ LINE แต่ละแห่งมีตัวตนไม่เหมือนกัน
LINE ประเทศไทยสามารถยืนด้วยตัวเองได้ แน่นอนว่ามีบางบริการที่ต้องพึ่งประเทศอื่น แต่การจัดการจะแตกต่างกันสิ้นเชิง นี่คือกลยุทธ์สำคัญ แทนที่จะนำบุคลากร วิศวกร ไปกระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เรากระจายออกไป
การใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญในไทย คนไทยยังใช้บัตรเครดิตไม่มาก ยังใช้จ่ายเงินสดกันเป็นส่วนใหญ่ และอีกข้อมูลสำคัญคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนใช้มือถือคือ 7 ดอลลาร์ ซึ่งไม่เยอะเลย ถ้าเราไปคาดหวังว่า เราจะทำบริการแล้วให้เขามาจ่ายค่า subscription แพงๆ ย่อมไม่รอด
ควรวิ่งเข้าหาผู้บริโภค ไม่ใช่ไปเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขา
คุณอริยะพูดถึงกลยุทธ์ของ LINE ว่า Hyper Localization เป็นจุดที่จะทำให้ธุรกิจชนะได้ ซึ่งถ้าจะแข่งได้ ธุรกิจต้องคล่องตัวก่อน สำนักงานในแต่ละท้องถิ่น ต้องลุยเอง คิดเอง ทำเอง
ตัวอย่างการเข้าหาคนไทยที่ LINE ทำคือ
- ลงทุนในบริษัทอื่นเพราะเป็นวิธีหนึ่งช่วยให้ LINE สามารถสร้างฟีเจอร์ใหม่โดยไม่ต้องพึ่งตัวเองอย่างเดียว และเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพมาทำงานกับ LINE ด้วย
- เข้าหาผู้บริโภคท้องถิ่นเช่น ตู้บุญเติม ที่คนใช้ LINE เติมเงินซื้อสติกเกอร์ได้ คุณอริยะ บอกว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในไทยคือ ตลาด pre-paid ใครทำ payment แล้วไม่เข้าใจจุดนี้ พลาดแน่ ควรวิ่งหาเขา ก่อนจะไปเปลี่ยนพฤติกรรมเขา นอกจากนี้ยังมีการซื้อสติกเกอร์ผ่านช่องทาง USSD ได้ นี่คือการเข้าใจพฤติกรรมคนไทยอย่างแท้จริง เพราะคนไทยในตลาด pre-paid ยังใช้ระบบนี้เติมเงินอยู่ทุกวัน
LINE ในไทยจึงพยายามเข้าหาผู้บริโภค มากกว่าที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขา เพราะตลาดใหญ่ในไทยอยู่ที่ pre-paid
- LINE MANบริการส่งของ อาหาร แทกซี่ ซึ่งที่มีแค่ในประเทศไทยที่เดียว และหากไปทำที่ประเทศอื่นอาจไม่เหมาะ แต่มันเหมาะกับประเทศไทย
- Rabbit LINE Payมี AIS และ Rabbit เป็นพันธมิตร คุณอริยะบอกเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมี 16 e-wallet และในระยะเวลา 2-3 ปี ก็จะมี e-wallet ที่หายไป หรือ มีการควบรวมกัน ซึ่งแนวโน้มจะเป็นอย่างหลังมากกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายผ่าน e-wallet ในไทยยังไม่แพร่หลาย เพราะคนยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ที่ไหน ดังนั้น ความท้าทายแรกคือ ทำอย่างไรให้เติมเงินได้ง่ายที่สุด
LINE ในระดับโลก คนอาจจะกลัว AI แต่ไม่กลัว Cony และ Brown
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา LINE จัดงาน LINE CONFERENCE 2018 และเปิดตัวลำโพงอัจฉริยะในคาแรกเตอร์ Minion ก่อนหน้านี้ยังมีลำโพงอัจฉริยะคาแรกเตอร์ที่ทุกคนหลงรักอย่างโดเรม่อน, Cony และ Brown ด้วย
คุณอริยะบอกว่า ตอนนี้คนมีความกังวลหลายอย่างเช่น ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย แต่ลำโพงอัจฉริยะของ LINE จะเข้าบ้านคนง่ายขึ้น เพราะคนอาจกังวลเรื่อง AI แอบดักข้อมูล แต่ไม่กลัว Cony และ Brown
การสร้าง AI หรือ Voice System ต้องเชื่อมต่อกับทุกระบบได้ ซึ่ง LINE มี ecosystem อยู่แล้ว จะสั่งอาหาร ซื้อของ ดูทีวี แต่จุดที่ AI ของ LINE ยังขาดคือ รองรับการสั่งงานภาษาไทย ตอนนี้รองรับแค่ภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งภาษาในเอเชีย เป็นภาษาที่ยากที่สุด ถ้าเจาะภาษาเอเชียได้ ก็ไปทั่วโลกได้แน่นอน
สรุป
LINE นับเป็นบริการที่มีฐานผู้ใช้งานแข็งแกร่งอย่างยิ่งในประเทศไทย บริการต่างๆ ที่ผ่านมามีหลายบริการที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูง ในงานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า LINE พยายามอย่างยิ่งที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้ใช้งานในท้องถิ่น ทั้งการปรับตัวตามพฤติกรรมการจ่ายเงิน หรือการเน้นรูปลักษณ์ที่เป็นมิตร ต่างกับบริษัทฝั่งตะวันตกที่ปัญญาประดิษฐ์มักไม่มีหน้าตา แนวทางของ LINE น่าจะเป็นบทเรียนให้กับบริษัทเทคโนโลยีอื่นที่ต้องการขยายตลาดในภูมิภาคนี้ในอนาคต
Comments
งั้นช่วยทำให้ Line@ ใช้สติ๊กเกอร์ของ Line ได้ด้วยเถอะ
แน่ใจแล้วหรือ? ที่นี่เมืองไทยนะ