จากการมาถึงของเกม RoV หรือ Realm of Valor เกม MOBA บนมือถือที่ตอนนี้ติดงอมแงมกันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งผลให้กระแสของ eSports ในประเทศไทยบูมขึ้นมาเป็นพลุแตก และ เริ่มมีคนให้ความสนใจรับชมการแข่งขัน eSports กันมากขึ้น
ทว่า หนึ่งในสิ่งที่หลายคนยังมีข้อสงสัยกันอยู่ ว่าทำไมบางทีมที่แพ้ไปแล้วยังมีสิทธิ์กลับมาแข่งขันต่อ จนพลิกกลับมาเป็นแชมป์ได้ในที่สุด ดังนั้น วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเรื่องนี้ผ่านการทำความรู้จักฟอร์แมตการแข่งขันที่เรียกว่า Double Elimination ซึ่งเป็นรูปแบบยอดนิยมสำหรับการแข่งขัน eSports
Double Elimination - แพ้สองครั้งถึงกลับบ้าน
ทั่วไปแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับระบบแพ้คัดออก หรือ Single Elimination จากการแข่งขันกีฬาทั่วๆ ไป เช่น รอบตัดเชือกของฟุตบอลโลก ที่การแพ้เพียงครั้งเดียวจะถือว่าตกรอบทันที แต่ระบบ Double Elimination ที่มักเจอใน eSports ต้องแพ้สองครั้งถึงจะตกรอบ
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างการประกบคู่ของ Arena of Valor World Cup 2018 ประกอบคำอธิบาย
ระบบ Double Elimination จะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 สาย คือ สายบน หรือ สายผู้ชนะ (Upper Bracket / Winner's Bracket) ในกรอบ สีแดงหรือ สายล่าง หรือ สายผู้แพ้ (Lower Bracket / Loser's Bracket) ในกรอบ สีน้ำเงิน
รูปแบบการแข่งขันจะประกบคู่แข่งกันไปเรื่อยๆ เหมือนการแข่งแบบแพ้คัดออกทั่วไป แต่จุดที่แตกต่างคือ
- ทีมที่แพ้ในการแข่งขันสายบนจะยังไม่ออกจากการแข่งขันในทันที แต่จะต้องลงไปเล่นในสายล่างแทน
- ทีมที่แพ้ในการแข่งขันสายล่างจะต้องออกจากการแข่งขันไป
- คู่ชิงชนะเลิศของทัวร์นาเมนต์คือการเจอกันระหว่าง ผู้ชนะจากสายบน และ ผู้ชนะจากสายล่าง
ตัวอย่าง
ไทย: ไทยเริ่มต้นที่สายบน เอาชนะไต้หวันและเกาหลีใต้มาได้ จึงเข้าชิงชนะเลิศในฐานะผู้ชนะจากสายบน
เกาหลีใต้: เกาหลีใต้เริ่มต้นที่สายบน เอาชนะจีนได้ แต่แพ้ไทย จึงต้องตกลงไปแข่งขันต่อที่สายล่าง ซึ่งเกาหลีใต้สามารถเอาชนะไต้หวันมาได้ จึงเข้าชิงชนะเลิศด้วยในฐานะของผู้ชนะจากสายล่าง
ข้อได้เปรียบของการอยู่สายบน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า ทีมผู้ชนะจากสายบนที่ชนะมาตลอดแต่แพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ก็เท่ากับว่าหมดสิทธิ์แก้ตัวเลย เท่ากับพวกเขาแพ้ครั้งเดียวแล้วตกรอบเลยสิ?
จริงๆ แล้ว การเป็นผู้ชนะจากสายบนนั้นมีข้อได้เปรียบบางประการอยู่ดังต่อไปนี้
- มีจำนวนแมตช์ที่ต้องเล่นน้อยกว่าผู้ชนะจากสายล่าง 1 นัด ทำให้มีเวลาพักและศึกษาคู่แข่งมากกว่า รวมถึงไม่ต้องเจอความกดดันของการเล่นในสายล่างที่หากแพ้ต้องออกจากการแข่งขันทันที
- ในบางทัวร์นาเมนต์ ทีมผู้ชนะจากสายบนจะได้แต้มต่อในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เช่น หากแข่งขันกันแบบชนะจาก 3 ใน 5 ทีมผู้ชนะจากสายบนอาจจะได้แต้มต่อในการแข่ง ขึ้นนำอีกทีมด้วยสกอร์ 1-0 เลย
- ในบางทัวร์นาเมนต์ ในรอบชิงชนะเลิศ ผู้ชนะจากสายล่างต้องเอาชนะผู้ชนะจากสายบน 2 รอบ จึงจะถือว่าชนะการแข่งขัน ในขณะที่ผู้ชนะจากสายบน หากเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเพียงรอบเดียวจะถือว่าเป็นแชมป์ทันที (รูปแบบนี้มักจะพบในการแข่งขันเกมไฟท์ติ้ง)
ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่สายบน
ไม่จำเป็นเสมอไปที่ทุกการแข่งขันทุกทีมต้องเริ่มต้นการแข่งขันที่สายบน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของทัวร์นาเมนต์ตามที่ผู้จัดกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ทัวร์นาเมนต์ The International 2018 ของ Dota 2
จากภาพ จะเห็นได้ว่า บางทีมจะเริ่มต้นการแข่งขันที่สายบน (กรอบสีแดง) หรือ สายล่าง (กรอบสีน้ำเงิน) ซึ่งตัวตัดสินว่าทีมใดจะได้อยู่ที่สายไหน มาจากลำดับในรอบแบ่งกลุ่มที่มีการแข่งขันกันก่อนหน้านี้นั่นเอง
ข้อดี-ข้อเสีย ของ Double Elimination
ข้อดี: เปิดโอกาสให้ทีมพลาดได้หนึ่งครั้ง ทำให้ทีมสามารถแก้ตัวได้ในการแข่งขัน รวมถึง เปิดโอกาสให้แฟนๆ ได้ตามเชียร์ทีมที่ตัวเองชอบได้มากขึ้น และ ช่วยแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น ทีมใหญ่สองทีมเจอกันในรอบแรก ซึ่งหากใช้การแพ้คัดออก จะต้องมีทีมใดทีมหนึ่งกลับบ้านตั้งแต่รอบแรก
ข้อเสีย: ใช้ระยะเวลาในการจัดการแข่งขันมากกว่าระบบแพ้คัดออกธรรมดาถึงสองเท่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อของใช้จ่ายของผู้จัดการแข่งขันทั้งในเรื่องค่าเช่าสถานที่หรือการบริหารจัดการต่างๆ
Comments
ระบบแบบ Double Elimination ทำให้ทีมที่เป็นแชมป์คือเก่งจริงๆ ในทัวร์นั้นๆ ไม่ต้องลุ้นโชคดีจับสลากเจอสายอ่อนแต่ ROV ที่ผ่านมา งงมาก ทีมสายบนไม่ได้แต้มต่อ ได้แค่มีสิทธิ์เลือก pick ก่อน แค่เนี้ย?
ใช่ๆ ของเราไม่แพ้สักรอบ แต่มาแพ้รอบชิง กับเกาหลีที่แพ้แล้วได้แก้ตัวจนมา เจอกับไทยรอบชิงได้
พอเราแพ้ก็คือเกาหลีชนะเลย ไม่มีให้แก้ตัว ก็พอเข้าใจว่าแบบ double คือเพื่อให้เจอกันหมด
แต่คนที่ไม่แพ้เลย แล้วอยู่ๆมาแพ้รอบชิงรอบเดียว คือไม่ได้แก้ตัวหรืออะไรเลย เสียเปรียบโครตๆอะ
TI8 ก็ไม่มีแต้มต่อ แต่ทีมที่อยู่สายล่างต้องเจอ bo1 ในรอบแรก เมื่อเข้าไปชิงทีมที่มาจากสายล่างต้องชิงตัวแทนสายล่างก่อน แล้วไปชิงรอบสุดท้ายต่อเลยในวันเดียว แต่ทีมสายบนนั่งพักรอชิงอย่างเดียว
RoV จำนวนทีมน้อย สายเลยสั้น สายบนเลยดูเสียเปรียบดู TI สายยาวกว่า จะเห็นชัดว่าสายบนดีกว่าเยอะ
อย่างใน dota2 มันก็แข่งแบบนี้มาหลายปีแล้วนี่ครับ สายบนก็รอชิงอย่างเดียว ส่วนสายล่างก็ต้องไปสู้กันอีกรอบ เทพสายล่างในทัวร์นาเมนต์ก็มีให้เห็นเยอะแยะ ที่มันดังเพราะคนไทยพึ่งเข้ามาดูเกมการแข่งหรือเปล่า
ยิ่งแข่งเยอะ พวกสายฟลุ๊คยิ่งมีโอกาสน้อย เพราะค่าเฉลี่ยมาตรฐานทำให้ยืนระยะไม่ได้ คนที่ชนะคือเก่งจริง
ตัวอย่างสายบน-ล่างของ RoV นี่ดูยังแปลกๆอ่ะครับว่าทีมแค่นี้จะทำ 2 สายทำไม แถมไม่มี seed ในสายล่างอีก แบบนี้ก็เท่ากับว่าทุกๆทีมมีโอกาสแก้ตัว 2 รอบจริงๆ แบบนี้สู้ทำเป็นพีรมิดไปเลยดีกว่าในความเห็นผม หรือจริงๆคือเค้าต้องการยืดเวลาแข่ง ?ลองดูตัวอย่างข้างล่างของ DotA 2 สิครับ มี seed สายล่างกับสายบนแยกกัน คนสายล่างไม่มีโอกาสแก้ตัว คนสายบนมีโอกาสแก้ตัว 1 รอบ ยกเว้นคนที่ชนะจนเข้ารอบชิงที่ไม่มีโอกาสแก้ตัว แต่แข่งน้อยกว่าเย้อออออออออออ
อย่าง ROV ที่เป็นข้อกังขากัน ในความเห็นผม แชมป์มีโอกาสแก้ตัว 1 ครั้ง (จริงๆมีหลายคนบอกมาว่า 2 ครั้งด้วยซ้ำ เพราะในนัดชิงถ้าเล่นกัน 5 เกมก็แพ้ไปแล้วนี่เล่น 7 เกมเลยกลับมาได้ เหมือนได้แก้ตัว 2 ครั้ง) แต่รองแชมป์ไม่มีโอกาสแก้ตัวเลย คิดว่าแค่นี้ก็จัดว่าไม่แฟร์แล้วนะครับ
ที่ผมงงคือรอบชิงไม่มีแต้มต่อ แบบนี้ทีมเต็งแชมป์ก็มีโอกาสมากกว่าเพราะถึงแพ้ตกไปสายล่าง แต่ถ้ากลับมาชิงได้ก็เริ่มต้นเท่ากันใหม่
ผมคุ้นๆว่า Ti ปีก่อนๆ ก็มีแต้มต่อ แต่ทำไมปีนี้ไม่มีแต้มต่อ
TI ที่มีแต้มต่อมีแค่ TI 1 ครั้งเดียวนะครับ หลังจากนั้นไม่เคยมีแต้มต่อครับ
ขอบคุณครับ
จะเรียกอะไรก็ได้ แต่อย่าเรียก Double Elimination ได้ไหม ในเมื่อหลักการมันไม่ใช่