หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของ คุณสมโภชน์ อาหุนัยซีอีโอของบริษัท “พลังงานบริสุทธิ์” Energy Absolute (EA) กันมาในหลายด้าน บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกพลังงานทางเลือกในประเทศไทย ทั้งไบโอดีเซล แสงอาทิตย์ และพลังงานลม บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ของไทย (ปัจจุบันอยู่อันดับ 10 ของ อันดับมหาเศรษฐีไทยที่จัดโดย Forbes ประจำปี 2019 และ เศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 3 จากการจัดอันดับของวารสารการเงินการธนาคาร มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท)
แต่อีกบทบาทหนึ่งของคุณสมโภชน์คือ “วิศวกร” (จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และเขากำลังสร้าง “รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย” ในชื่อว่า MINE Mobility
นิตยสาร Bloomberg อาจยกย่องโปรเจคต์ของเขาว่า MINE คือ “Tesla of Thailand” แต่จริงๆ แล้วรถยนต์ไฟฟ้าของคุณสมโภชน์ มีเป้าหมายแตกต่างจาก Tesla อย่างสิ้นเชิง
เมื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงนี้ เราจะเห็นทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานจากน้ำมันมาสู่แบตเตอรี่ ผนวกกับเทคโนโลยีล้ำๆ อย่างรถยนต์ไร้คนขับ หรืออย่างน้อยก็ระบบช่วยขับขี่อัตโนมัติ อย่างที่ Tesla แสดงให้เห็นเป็นต้นแบบ
“เราต้องรู้สถานะของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน” คุณสมโภชน์ตอบคำถามนี้เมื่อมีคนถามขึ้นมาว่า MINE จะมีระบบช่วยขับขี่อัตโนมัติหรือไม่ “เอาพื้นฐานให้แน่นก่อนดีกว่า” นี่คือคำตอบเชิงปฏิเสธแบบกลายๆ ของเขา
ชื่อแบรนด์ MINE มีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะมาจากคำว่า “MIssion No Emission” หรือภารกิจในการผลักดันยานพาหนะที่ไม่ต้องปล่อยคาร์บอน แต่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้น้ำมัน เข้ามาสู่รถยนต์ไฟฟ้า นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมีอุปสรรคขวางกั้นเต็มไปหมด
แนวคิดของ Energy Absolute จึงเป็นการสร้าง ecosystem ที่พร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อในไทย อย่างที่เราเริ่มเห็นจุดชาร์จแบรนด์ EA Anywhere เริ่มโผล่ขึ้นมาตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน หรือห้างสรรพสินค้า
แนวคิดของ EA Anywhere นั้นชัดเจนว่าเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้าจากทุกค่าย และ MINE ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในแบรนด์เหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้รถยี่ห้อ MINE ก็ได้ ทาง EA ก็มีรายได้จากค่าชาร์จไฟ หรือถ้าใช้ MINE ก็ดี เพราะ EA ก็ได้ฐานลูกค้าเพิ่ม
ในขณะที่ Tesla เริ่มต้นจากการออกรถสปอร์ตราคาแพง (Roadster) แล้วไล่ลงมาผลิตรถยนต์ที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ แนวคิดของ MINE นั้นกลับกัน คือต้องการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกมากๆ (รุ่นแรกราคาเริ่มต้น 1.2 ล้านบาท) ระยะการวิ่งไม่ต้องไกลมาก (รุ่นแรก 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง) และเน้นการใช้ในเชิงพาณิชย์ก่อน เช่น ใช้เป็นรถแท็กซี่ หรือรถเช่า
คุณสมโภชน์มองว่า ด้วยต้นทุนพลังงานที่ถูกลงเรื่อยๆ เมื่อบวกกับการอุดหนุนจากนโยบายภาครัฐ และเครือข่ายจุดชาร์จของ EA เอง การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีต้นทุนรวมที่ถูกกว่ารถยนต์น้ำมันแบบดั้งเดิม หากแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ของ MINE แล้วลดต้นทุนลง เพิ่มรายได้ให้คนขับ หากราคาขายของรถยนต์ไฟฟ้าถูกมากพอ แล้วอะไรล่ะคือเหตุผลที่แท็กซี่จะไม่เปลี่ยนมาใช้ MINE
แนวคิดการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของ MINE ที่ถูกต้องถูกเวลา ทำให้ตอนนี้ MINE มีออเดอร์จากกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ 5 บริษัทแล้วจำนวน 3,500 คัน ในขณะที่คุณสมโภชน์ตั้งเป้ายอดขายในปีแรกไว้เพียง 5,000 คันเท่านั้น
“ผมยังไม่กล้าขายเยอะ รถยนต์รุ่นแรกต้องมีบั๊ก มีปัญหาแน่นอน ถือว่าเป็นการลองตลาด มีปัญหาเรายินดีเปลี่ยนให้”
แนวทางการออกแบบ MINE ก็ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่การแก้ปัญหาเรื่องซ่อมบำรุง ศูนย์บริการน้อยเป็นปกติสำหรับรถยนต์แบรนด์ใหม่ และความชำนาญของช่างยังไม่มาก ทางออกคือการเลือกใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานแบบเดียวกับที่ช่างไทยคุ้นเคย เพื่อลดภาระเรื่องการซ่อมบำรุงลงให้มากที่สุด
จุดเปลี่ยนเกมอีกประการของ MINE คือเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ ที่ EA เข้าไปลงทุนในบริษัท Amita Technologies ของไต้หวัน (ปัจจุบัน EA ถือหุ้นเกิน 70%) และกำลังเริ่มสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Gigafactory ลักษณะเดียวกับ Tesla แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทย
เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบ MINE เป็นอย่างไร มีอะไรที่ละเอียดลึกซึ้งลงไปกว่านั้น คุณสมโภชน์จะมาเล่าให้ฟังในฐานะ Keynote Speaker ของงาน Blognone Tomorrow 2019 วันที่ 9 กันยายน 2019 ซึ่งเราไม่ได้เชิญเขามาในฐานะนักการเงิน นักลงทุน หรือนักธุรกิจ แต่ขอให้มาพูดในฐานะ “วิศวกร”
ซื้อบัตรเข้างานในราคาถูกที่สุด พิเศษ Early Bird ขยายเวลา จากหมดวันที่ 8 สิงหา เป็น 15 สิงหาคมนี้ ซื้อได้จาก EventPop
Comments
ถ้าทำราคาใกล้ๆ กับรถ vios/city ได้นี่คงขายดีแน่ๆ อันนี้ยังรู้สึกว่ามันแพงไปหน่อยอยากรู้รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนได้แค่ไหน เพราะถ้าดันมากไปเดี๋ยวจ้าวใหญ่ดั้งเดิมในไทยอาจไม่พอใจอีก
ขนาดผลิตในไทยยังราคาไป 1.2m เลยเหรอเนี่ย แถมระยะทำการวิ่งได้แค่ในเมิองออกนอกเมืองหมดสิทธิ์ แต่เขาคงไม่เน้นขายรถน่าจะขายเซอวิสชาร์จมากกว่า
เห็นรถที่เอาไปโชว์ในงาน Motor Show เมื่อต้นปี ดูสภาพการประกอบแผงคอนโซลแล้ว 1.2 ล้านผมว่าแพงไปเยอะ ผมให้ 7-8 แสน คือการประกอบดูไม่ดีเลย แต่อาจเป็นเพราะเป็นรถประกอบมาตัวอย่างเพื่อโชว์รูปร่างเฉยๆ
ผมว่าเค้ารีบเปิดตัวไปหน่อย ทั้งๆที่ยังไม่พร้อม แม้แต่พร้อมขายก็ไม่พร้อมด้วยซ้ำตอนนัั้น ควรจะเปิดให้ดูแค่ด้านนอกก็พอ
ตอนแรกราคา 1.2M มันดูโอเค แต่หลังจากการมาของ MG ZS EV ในราคาเท่ากัน แต่ระยะวิ่งต่างกันเยอะแถม ZS EV ก็เป็นรุ่น global model ซึ่งไว้ใจในคุณภาพได้ในระดับหนึ่งเลย
ผมว่าไม่น่าจะเป็น MPV เลย น่าจะเปิดตัวด้วย SUV ที่รูปทรงสวยกว่า ใช้งานได้เอนกประสงค์น้องๆMPV
แถมได้ความสูงมาช่วยเพื่อไม่ต้องไปเจอคำถามว่าจะลุยน้ำได้แค่ไหน และราคา ควรจะทำราคาขายอยู่ในระดับเดียวกับที่ต่างประเทศเขาขายอยู่ หรือเอาง่ายๆก็คือไม่แพงกว่ารถน้ำมันในเซกเม้นท์เดียวกันมากนักและที่สำคัญสายป่านต้องยาว พอที่จะเลี้ยงคนซื้อช่วงแรกๆไปก่อน ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ถ้าทำไม่ได้ มีแววเจ๊งสูง
ในเนื้อข่าวเค้าตั้งใจไม่ขายคนทั่วไปก่อนน่ะครับ เน้นรถเช่า รถแท็กซี่ ซึ่งเป็น MPV ก็เหมาะสมดีแล้ว เน้นประโยชน์ใช้งานมากกว่ารูปทรง แล้วใช้งานกันในกรุงก่อน ซึ่งตรงตามความคิดผมเลยเหมือนกัน ว่ารถไฟฟ้า ณ ตอนนี้มันเหมาะกับทำแท็กซี่มากกว่าให้คนทั่วไปใช้งาน เพราะระยะวิ่งสั้น มีจุดชาร์จน้อย วิ่งได้แค่ในกรุง แถมราคาแพง เอามาจอดเฉยๆมันไม่คุ้ม ต้องเอามาวิ่งเยอะๆ แล้วค่าเชื้อเพลิงคือต้นทุนหลักของรถแท็กซี่ด้วย
แล้ว Fomm อ่ะครับ
MIssion => Mission
จะได้เป็น MINE ไงครับ
ถ้ามองในมุมมองนักธุรกิจก็คงต้องบอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องขายถูก น่าจะเพราะความต้องการมากแต่กำลังผลิตต่ำ ดูจาก ฟอม ราคาขนาดนั้นก็ยังขายได้อยู่
Product Benchmark ได้ระบดับรถรุ่นไหนครับนี่
คือผมก็ไม่คิดว่าเจ้านี้จะใกล้เคียง Tesla Of Thailand แต่อย่างใด
ลงแอพ EA Anywhere มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ไว้ดูสถานีชาร์จ เหมือนจะเยอะนะครับ แต่แทบทุกสถานีเป็น AC ชาร์จช้าทั้งนั้น DC มีอยู่ที่เดียว
เป็นบริษัทที่ทำรถขายเอง แถมมีสถานีชาร์จ ควรจะทำให้มันเป็น Fast Charge จะได้ convert คนง่ายหน่อย อันนี้ซื้อรถพี่เองก็ยังมีแต่ AC.
เข้าใจว่ารถมันยังไม่วางขาย แต่ใครจะซื้อถ้ายังไม่เห็นอนาคตเรื่องจุดชาร์จ
ถ้าหัว DC มันมีให้ใช้เมื่อไหร่ ด้วยโครงข่ายของ EA ที่มีตอนนี้มันจะน่าสนกว่านี้
เห็นด้วยเลยครับว่าควรจะเป็นหัวชาร์จเร็ว (100+++kwh)ส่วนหัวชาร์จช้า คนใช้รถไฟฟ้าควรมีเองที่บ้านอยู่แล้วอย่างน้อย 1 ตัว(7kwh)
ว่าแต่ ฟารใช้คำว่า ac dc กับคำว่า ชาร์จเร็ว ชาร์จช้า จะแตกต่างกันไหมครับคือ dc =ชาร์จเร็ว ac=ชาร์จช้า รึครับ
แล้ว ac แบบชาร์จเร็วมีไหมครับ
ที่ผมเข้าใจคือมันขึ้นอยู่กับ kW ที่รองรับน่ะครับ อย่าง AC มันได้อย่างเก่งก็ 22 kW แต่ DC มันได้ถึง 350 kW (ionity) เลยพูดง่ายๆว่า AC คือชาร์จช้า เพราะมันรองรับแค่นั้น (นี่ยังไม่รวมถึงระบบแปลงเป็น DC ในรถอีก ว่าจะรองรับแค่ไหน เห็นบางคันรับแค่ 7 kW)
ผมก็นึกว่า เอา AC -> Diode Bridge Rectifier -> Capacitor -> DC เสียอีกครับ :)
ปล. วงจรนี้ไม่น่าทนได้หลักกิโลวัตต์ 555
อารมณ์เหมือนกับว่า คนจะไม่ซื้อรถไฟฟ้าถ้าไม่มีจุดชาร์จ แต่ผู้ผลิตที่ชาร์จจะไม่เอามาลงถ้าไม่มีคนใช้
แต่อันนี้คือผู้ผลิตรถกับผู้ผลิตสถานีชาร์จคือเจ้าเดียวกัน อย่าง Tesla ก็สร้าง Supercharger แล้วเอามาเป็นจุดขาย
Audi, Porsche (VW) ก็สร้าง ionity แล้วเอามาเป็นจุดขายตั้งแต่ Porsche Taycan ยังไม่ออก
ที่ชาร์ทคุ้นๆ เหมือนมีแถวบ้าน แต่รถกินน้ำมันมาจอดขวางหมด
เป็นกำลังใจให้ครับ มองหารถไฟฟ้าอยู่เหมือนกัน ถ้าคนไทยทำได้ดี ก็พร้อมสนับสนุนครับ
อย่างน้อย ก็มีแบรนด์ไทยมาสองรายแล้วรัฐน่าจะต้องสนับสนุนนะ ไม่งั้น ระยะยาวรอดยาก
ตราบใดที่ภาครัฐยังเห็นว่าเป้าหมายของตัวเองมีแค่เลข GDP ประเทศเราก็จะเวียนอยู่แบบนี้แหละครับ