Dell ทำตลาดโน้ตบุ๊กในหลายซีรี่ส์ แบ่งออกเป็นสองประเภทคือสำหรับผู้ใช้ทั่วไป และผู้ใช้องค์กร โดยตลาดผู้ใช้ทั่วไปคือ Inspiron ต่อมาเป็นซีรี่ส์ XPS ที่โฟกัสกับความหรูหรา และยังมีซีรี่ส์ G กับแบรนด์ Alienware ที่จับตลาดเกมเมอร์
ทางฝั่งธุรกิจก็มีหลายซีรี่ส์ คือ Vostro สำหรับ SME, Latitude ที่ถือเป็นมาตรฐานของฝั่งองค์กร, Precision สำหรับงานที่ต้องใช้ประสิทธิภาพสูง และยังมี XPS สำหรับลูกค้าองค์กรเช่นกัน
สำหรับ Latitude จะแบ่งได้เป็น 3 รุ่นใหญ่ๆ คือ Latitude 3xxx, 5xxx และ 7xxx เรียงจากราคาถูกไปแพง โดยในรีวิวชิ้นนี้จะพาไปรู้จักกับ Dell Latitude 7400 2-in-1 ที่จัดเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปของซีรี่ส์ Latitude
เมื่อได้ชื่อว่าเป็นรุ่นท็อป Latitude 7400 2-in-1 ก็จัดเต็มด้านวัสดุ และหน้าตาที่บอกได้ว่าใครเห็นก็บอกว่าสวย โดยบอดี้ทำจากอะลูมิเนียมดูหรูหรา รอบๆ คีย์บอร์ดใช้ CNC ตัดให้ลึกลงไปและเหมือนจะเป็นการยิงทรายให้กลายเป็นผิวด้านตัดกับพื้นผิวส่วนอื่น
เริ่มกันที่สเปกก่อน โดยเครื่องที่ได้รับมารีวิว มีสเปกดังนี้
- ซีพียู Intel Core i7-8665U ควอดคอร์ 1.9GHz (Turbo Boost ได้สูงสุด 4.8GHz)
- แรม 8GB (บัดกรีติดบอร์ด อัพเกรดภายหลังไม่ได้)
- SSD Toshiba NVMe 128GB (KBG30ZMS128G) ซึ่งน่าเสียดายที่ใส่เป็น M.2 2230 มา ไม่ใช่ 2280 แบบที่นิยมในตลาด ทำให้การอัพเกรดในอนาคตอาจลำบากสักหน่อยเนื่องจากมีตัวเลือกน้อย
- หน้าจอ 14 นิ้ว ความละเอียด 1920x1080 ครอบด้วยกระจก Gorilla Glass 5 และรองรับปากกา Dell Active Pen
- แบตเตอรี่ 4 cell ขนาด 52 Whr
- น้ำหนัก 1.36 กิโลกรัม
คีย์บอร์ดไม่มีอะไรพิสดารนัก สิ่งที่ส่วนตัวผมเน้นคือการมีปุ่ม Home, End, Page Up, Page Down แยก ไม่รวมกับปุ่มอื่น ซึ่ง Dell ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง แต่ยังมีประเด็นนิดนึงเพราะการจะเปิดใช้ปุ่มเหล่านี้ต้องยอมให้ปุ่ม F1-F12 สลับเป็นปุ่มฟังก์ชันเป็นหลัก กล่าวคือเราถูกบังคับให้ปุ่ม F1 เป็นปุ่มปิดเสียง (Mute) หากต้องการกด Home แบบไม่กด Fn และกลับกันคือหากต้องการใช้ F1 แบบไม่กด Fn ก็ต้องยอมให้ชุดปุ่ม Home ไปผูกกับปุ่ม Fn แทน
สำหรับสัมผัสการพิมพ์ ต้องบอกว่าอยู่ในขั้น "ดีมาก" เพราะ travel distance ไม่ตื้น เหมือนโน้ตบุ๊กที่พยายามทำให้บาง อีกทั้งปุ่มก็เด้งกลับแบบให้ความรู้สึกหนักแน่น (firm) ในขณะที่คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กสายองค์กรรุ่นล่างสุดอย่าง Latitude 3490 ที่ผมเคยลองกลับเข้าขั้นแย่มาก คือปุ่มตื้นมาก และก๊อกแก๊กสุดๆ แต่ปัจจุบันมีรุ่นใหม่ออกมาแล้วเป็น Latitude 3400 ซึ่งผมยังไม่เคยจับเครื่องจริง
ส่วนพอร์ตที่ให้มาก็ไม่ผิดหวัง เพราะมีให้ครบในบอดี้บางขนาดนี้ ฝั่งซ้ายมี USB-C สองพอร์ต รองรับ Thunderbolt 3, DisplayPort และชาร์จได้ตามมาตรฐาน USB Power Delivery ทั้งสองพอร์ต ต่อมาเป็น HDMI 1.4 ขนาดเต็ม และสุดท้ายเป็น USB-A 3.1 Gen1 ที่รองรับฟีเจอร์ Power Share คือเสียบชาร์จมือถือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ได้แม้ปิดเครื่อง นอกจากนี้ยังสามารถเลือกออปชันใส่ตัวอ่าน smart card ได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ Dell สายธุรกิจไม่เคยตัดออกเลยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ฝั่งขวามีแจ็คหูฟัง, ช่องเสียบการ์ด microSD, ช่องใส่ไมโครซิม แต่เครื่องที่ได้รับมารีวิวไม่ได้มีฟีเจอร์นี้ เลยเป็นตัวอุดไว้เฉยๆ ต่อมาเป็น USB-A 3.1 Gen1 รองรับ Power Share เช่นกัน ส่วนตรงมุมเครื่องเป็นช่องใส่สายล็อกกันขโมย
ด้านบนของจอมีกล้องหน้าพร้อมอินฟราเรด รองรับการปลดล็อกเครื่องด้วยใบหน้า (Windows Hello) ช่วยให้เข้าใช้งานเครื่องได้เร็วและสะดวกขึ้น
ด้านหน้าเครื่องมีเพียงไฟ LED สีขาวสำหรับบอกสถานะการชาร์จ โดยเมื่อเสียบสายชาร์จไฟจะติด และดับลงเมื่อชาร์จเต็ม นอกจากนี้หากเครื่องอยู่โหมด sleep มาหลายชั่วโมงจนแบตใกล้หมดก็จะมีไฟสีส้มติดขึ้นมาให้ด้วย ถือว่าค่อนข้างมีประโยชน์เพราะเราอาจวางทิ้งไว้โดยไม่รู้ว่าแบตจะหมด และอาจหยิบไปทำงานในวันรุ่งขึ้นโดยไม่ได้ชาร์จเตรียมไว้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้ไฟตรงนี้ติดเวลาเครื่องเปิดหรือ sleep อยู่ด้วย เพราะสิ่งที่ผมเจอคือหากพับจอไว้เราจะไม่รู้เลยว่าเครื่องเปิดอยู่ หรือ sleep อยู่ ทำให้เวลาเครื่อง wake ขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจ (เช่นขยับเมาส์) อาจทำเปิดเครื่องทิ้งจนแบตหมดได้ ถ้ามีไฟเหมือนหลังจอ ThinkPad คงจะดีไม่น้อย
ด้านหลังเครื่องมีช่องระบายลมร้อนจำนวน 8 ช่อง จัดว่าเป็นตำแหน่งที่ดีมากสำหรับโน้ตบุ๊ก 2-in-1 เพราะหากไว้ด้านข้างเครื่องก็จะเป่ามือเราได้เวลาพับจอไปด้านหลังและใช้เป็นแท็บเล็ต
อะแดปเตอร์ที่ติดมาให้กำลังไฟสูงถึง 90 วัตต์ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจุดประสงค์ที่ให้อะแดปเตอร์ไฟแรงขนาดนี้เพื่ออะไร โดยโน้ตบุ๊กที่ชาร์จผ่าน USB-C ทั่วไปมักต้องการไฟราว 45 วัตต์ หรือพวก MacBook Pro 13 นิ้วจะอยู่ที่ราว 60 วัตต์เท่านั้น
ผมลองใช้อะแดปเตอร์ PD ของมือถือที่จ่ายไฟได้ 18 วัตต์มาต่อเข้า เจอข้อความเตือนว่าไฟไม่พอและให้ใช้อะแดปเตอร์อย่างต่ำ 27 วัตต์ และเมื่อลองนำอะแดปเตอร์ขนาด 30 วัตต์มาต่อก็เจอข้อความว่าจะชาร์จช้าหรือในบางกรณีอาจดึงไฟจากแบตเตอรี่ร่วมด้วย และให้ใช้อะแดปเตอร์ 45 วัตต์ ซึ่งผมไม่ได้ทดลองต่อ เลยขออนุมานเองว่าในการใช้งานทั่วไป ควรใช้อะแดปเตอร์ PD อย่างต่ำ 45 ถึง 60 วัตต์ หากไม่สะดวกพกอะแดปเตอร์ 90 วัตต์ที่มากับเครื่อง เพราะมีขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดี การชาร์จแบตจาก 3% ถึง 80% ด้วยอะแดปเตอร์ 90 วัตต์ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น และแน่นอนว่าความดีงามของการชาร์จผ่าน USB-C คือเราเอาสายชาร์จมาเสียบชาร์จมือถือหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับ USB-PD ได้ทันที
ด้วยความที่เป็น 2-in-1 หมายความว่าจะกางจอได้ 180 องศาราบไปกับโต๊ะ หรือพับไปด้านหลังได้ เพื่อใช้งานในโหมดแท็บเลตสำหรับจดบันทึก หรือโหมดเต็นท์สำหรับดูหนัง
ประเด็นที่ผมพบเมื่อใช้งานแบบแท็บเลตคือขอบเครื่องบริเวณที่พักมือ (palmrest) จะนาบลงกับโต๊ะเลยตรงๆ เพราะไม่มีแถบยางมารองเหมือนโน้ตบุ๊ก 2-in-1 รุ่นอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เป็นรอยได้ คาดว่าเพราะต้องการทำเครื่องให้สวยที่สุด ไม่ให้มีอะไรมาขัดหูขัดตา เลยต้องแลกกับความ practical กันไป
น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ Dell ประเทศไทยไม่ได้ให้ปากกา Active Pen มาด้วย การรีวิวนี้จึงอาจไม่เห็นภาพรวมเท่าที่ควรว่าประโยชน์จริงๆ ของโน้ตบุ๊กแบบ 2-in-1 เป็นอย่างไร
ในด้านการใช้งาน ผมได้ใช้ Latitude 7400 2-in-1 ในการทำงานจริงอยู่ราว 2 สัปดาห์ โดยรวมใช้งานได้ดี ประสิทธิภาพโดยรวมดี จอภาพให้สีที่แม่นยำ และพบว่าเครื่องมันสวยมากจนตกเป็นเป้าสายตาของคนในออฟฟิศแทบจะตลอดเวลา เรียกว่าหิ้วเข้าประชุมเมื่อไร คนนั่งใกล้ๆ จะทักทันทีว่าโน้ตบุ๊กสวย (ตัดสินเองนะครับว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสีย)
อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังพบจุดที่ค่อนข้างน่ารำคาญและคิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องกล่าวถึง นั่นคือโน้ตบุ๊กเครื่องนี้มีอาการ "sleep ไม่ลง" อยู่บ่อยครั้ง เช่นผมพับจอลงไปเป็นนาทีแล้วแต่พัดลมยังทำงานอยู่ แถมการที่ไม่มีไฟบอกสถานะนอกเครื่องก็ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมัน sleep หรือยัง สุดท้ายก็ต้องเปิดจอกลับขึ้นมาดู
นอกจากนี้ยังเจออาการ "ตื่นกลางอากาศ" อยู่บ้าง เช่น sleep แล้วแต่เราขยับเมาส์ไร้สายที่ต่อ USB receiver ค้างไว้ แต่จังหวะนั้นเราเก็บโน้ตบุ๊กเข้ากระเป๋าแล้ว กลายเป็นโน้ตบุ๊กอบลมร้อนอยู่ในกระเป๋าหลายชั่วโมง แบตเตอรี่ลดไปครึ่งหนึ่งก็เจอมาแล้ว แต่อาการนี้น่าจะแก้ไขได้เองโดยการปิดไม่ให้เมาส์ปลุกเครื่องขึ้นมาได้
โปรแกรมที่บันเดิลมากับเครื่องมีเพียงไม่กี่ตัว เช่น
Dell Power Managerใช้ดูสถานะแบตเตอรี่ พร้อมปรับอัตราการชาร์จไฟได้เพื่อถนอมแบต
Dell Command Updateใช้อัพเดตไดรเวอร์ต่างๆ
Dell ExpressSign-inเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ หากเปิดใช้งานไว้แล้วเราลุกออกจากหน้าเครื่องนานเท่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 1 นาที เครื่องจะล็อกหน้าจอให้อัตโนมัติ และกลับกันคือพอเรากลับมาหน้าเครื่อง มันก็จะเปิดหน้าจอและสแกนหน้าเราให้พร้อมใช้เครื่องต่อได้เลย
ไดรเวอร์เสียง Waves MaxxAudioอันนี้เป็นตัวเจ้าปัญหา เพราะกินแรมเยอะมากตลอดเวลาตั้งแต่เปิดเครื่องใหม่ๆ ผมลองรีบูตเครื่องแล้วเปิด Task Manager ทันทีก็เจอมันอยู่อันดับหนึ่งเลย กินแรม 305MB
สำหรับประสิทธิภาพของ SSD ผมได้ลองทดสอบด้วยโปรแกรมยอดนิยมสองตัวคือ AS-SSD กับ CrystalDiskMark 6.0 พบว่าประสิทธิภาพของ SSD Toshiba ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะทำความเร็วเขียนแบบ sequential ได้ไม่ถึง 200 MB/s ผิดธรรมชาติของ SSD แบบ PCIe NVMe อย่างมาก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรถึงทดสอบได้แค่นี้ อย่างไรก็ตามในการใช้งานปกติไม่รู้สึกว่าช้าอะไร
สรุป
Dell Latitude 7400 2-in-1 เป็นโน้ตบุ๊กสายธุรกิจที่เน้นความหรูหรา ใช้วัสดุดี การใช้งานโดยรวมดีแต่ยังมีปัญหาเรื่องการ sleep อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งน่าจะแก้ไขได้ด้วยการอัพเดต BIOS และไดรเวอร์ต่างๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ และหากเบาลงกว่านี้อีกนิดก็จะดีมาก
คุณภาพการประกอบเครื่องอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แน่นหนา มีเสียงกรอบแกรบเล็กน้อยบริเวณ palmrest ฝั่งขวา
อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงราวห้าถึงหกหมื่นบาท และในราคานี้ก็มีตัวเลือกอื่นอีกหลายรุ่นซึ่งคุณภาพคงไม่ด้อยไปกว่ากันสักเท่าใด (เรียกว่าพอเป็นรุ่นท็อป แต่ละเจ้าก็พยายามกันเต็มที่) ทำให้การตัดสินใจซื้อต้องเปรียบเทียบกันดีๆ เช่น Lenovo ThinkPad X1 Carbon Gen 7 ก็ทำออกมาได้ดีทีเดียวและน้ำหนักเบากว่าแต่วัสดุดูไม่พรีเมียมเท่า หรือจะเป็น Microsoft Surface Pro 7/Surface Laptop 3 ที่กำลังจะวางขายในประเทศไทยก็เบากว่าเช่นกันแต่ Dell Latitude 7400 2-in-1 มีพอร์ตเชื่อมต่อที่เยอะกว่ามาก
Comments
U ( Ultra-low-Processing ) Processor หรู อืม...
หรูสำหรับผมไม่จำเป็นต้องเน้นแรง แต่รูปร่างดูไม่หรูเท่าไรอยู่ดี
ประสิทธิภาพ CPU มันเกี่ยวกับความหรูไม่หรูด้วยหรอ ผมว่าวัดกันที่วัสดุนะส่วนตัวผมว่าดูหรูหราแล้ว
ของหรูมันเป็นเรื่องของจิตใจ มันเกี่ยวข้องกับความสวยงาม ผิวสัมผัส อุณหภูมิพื้นผิว ความมันวาว สิ่งที่จับต้อง และสัมผัสได้ ถือไปทางไหนก็มีคนหันมอง กลุ่่มลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้ไปนั่ง Coding หรือตัดต่อกราฟฟิกหรอก ส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องประชุม ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการนำเสนอ และทำงานเล็กๆ น้อย ส่วนความแรงมีผลน้อยมากนะ เพราะความแรงมักมาคู่กับความร้อน ซึ่ง Notebook หรูๆ ไม่มีใครยากได้ผิวสัมผัสร้อนๆ หรอก อยากได้ผิวสัมผัสเย็นๆ ของโลหะมากกว่า
Series นี้เน้นระดับ Business ถ้าหรูไป XPS
SSD ให้มาน้อยมาก
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
keyboard layout ดูเหมือน notebook ราคา 9000 บาทเลยของดีมีไม่ยอมรักษา หลัง E6410 ทำ keyboard ได้เกินบรรยายมากๆ
เกลียดมากครับ M.2 2230 ถึงจะเห็นมีใช้หลายรุ่นแล้ว แต่ ไม่น่าทำแบบนั้นเลยมัน upgrade ลำบากอ่ะ