Adobe ถือเป็นบริษัท Software as a Service (SaaS) ที่ประสบความสำเร็จ ทำรายได้สูงสุดทุกแทบทุกไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวครั้งสำคัญ เปลี่ยนโมเดลจากขายขาดโปรแกรมมาเป็นขาย Subscription มุ่งสู่บริษัท Cloud-based SaaS เต็มตัวมาตั้งแต่ยุคปี 2000 ต้นๆ ก่อนที่คลาวด์จะได้รับความนิยมในวงกว้างมากเท่าทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังจดจำภาพของ Adobe ในฐานะผู้สร้างโปรแกรมสายศิลปะ เจาะกลุ่มผู้ใช้งานฝั่งครีเอทีฟ แต่ Adobe ยุคปัจจุบันไปไกลกว่านั้นมากแล้ว ฉีกตัวเองออกมาสร้างโปรแกรมเจาะกลุ่มผู้ใช้งานฝั่งธุรกิจองค์กรด้วย คือการตลาด-บริการลูกค้า (Experience Cloud) และงานเอกสาร (Document Cloud) มาได้พักใหญ่แล้ว
บทความนี้ เรามาเจาะดูธุรกิจทั้งสามขาของ Adobe กัน
ธุรกิจหลักสามอย่างของ Adobe
Adobe แบ่งธุรกิจหลักของตัวเองเป็น 3 ส่วน โดยใช้ชื่อว่า Cloud ทั้งหมด ได้แก่ Creative Cloud (CC), Document Cloud (DC), Experience Cloud (ไม่มีตัวย่อ)
Creative Cloud
ทุกคนรู้จักโปรแกรมของ Adobe ในฝั่ง Creative Cloud จำพวก Photoshop, Illustrator, Premier Pro, Lightroom, InDesign ฯลฯ อยู่แล้ว โปรแกรมกลุ่มนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้งานบนพีซี แต่ในระยะหลัง Adobe ขยายการใช้งานจากบนพีซีไปยังมือถือและแท็บเล็ตด้วย รวมถึงขยายขอบเขตไปยังโปรแกรมชนิดใหม่ๆ ตามยุคสมัย กรณีสำคัญเช่น
- Photoshop, Illustrator ตัวเต็มบน iPad มีเครื่องมือใช้งานครบใกล้เคียงกับพีซี
- แอปพลิเคชั่นตัดต่อวิดีโอ Premier Rush เจาะมือสมัครเล่น
- แอปพลิเคชั่น Photoshop Camera แต่งรูปบนมือถือสไตล์ Pop Art
- Adobe Fresco ตัววาดรูปสมจริงบน iPad
- Adobe XD ตัวออกแบบ UI
- Project Aero เน้นงาน AR
จุดเด่นของโปรแกรมในชุด Creative Cloud คือการใช้ AI หรือที่ Adobe เรียกชื่อทางการค้าว่า Sensei ช่วยให้การทำงานเล็กๆ น้อยๆ ฉลาดขึ้น ทำได้เร็วขึ้น ลดเวลาการทำงานซ้ำซากของนักออกแบบ เช่น ไดคัท, แยกวัตถุออกจากพื้นหลัง, การแก้ไขเวกเตอร์ เป็นต้น
นอกจากขายโปรแกรมแล้ว Adobe ยังมีธุรกิจเสริมเป็นการขาย Assets ที่นักออกแบบสามารถนำไปใช้เพื่อการออกแบบได้ทันที คือ Adobe Stock เป็นบริการขาย subscription แยกรวมรูป, วิดีโอ, ไฟล์เสียง, เวกเตอร์, เทมเพลต,โลโก้ ฯลฯ ที่นักออกแบบสามารถเอาไปใช้ และยังเชื่อมต่อกับโปรแกรมออกแบบ Photoshop, Illustrator, Premier Pro, Lightroom, InDesign ได้ด้วย
และยังมี Adobe Behance พื้นที่ปล่อยของนักออกแบบ หรือเป็นเสมือนโซเชียลมีเดียของชุมชนนักออกแบบ ที่สามารถอัพโหลดผลงานตัวเองขึ้นบนเว็บไซต์ สร้างโปรไฟล์ให้คนอื่นกดติดตามได้ คอมเม้นผลงานและกดไลค์ได้ และยังมีช่องทางไลฟ์ให้นักออกแบบ แชร์เทคนิคและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ระหว่างกัน
เรียกได้ว่า Adobe พยายามทำตัวเป็น One Stop Services ของคนสายครีเอทีฟเลย
Document Cloud
Document Cloud เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2015 เป็นการรวมเอา Adobe Reader โปรแกรมอ่านเอกสาร PDF, Adobe Scan ตัวสแกนเอกสาร, Adobe Sign โปรแกรมเซ็นชื่อแบบดิจิทัลเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ โดยมีแกนกลางสำคัญคือ Acrobat DC สำหรับสร้างเอกสาร PDF และซิงค์ทุกอย่างบนคลาวด์
จุดเด่นของ Document Cloud ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงเอกสารในองค์กร ลดความยุ่งยากของการจัดเอกสารในรูปแบบกระดาษ และอำนวยความสะดวกเรื่องขั้นตอนเอกสาร (workflow) ที่ต้องอนุมัติกันเป็นลำดับขั้น ไม่ต้องมารอคอยลายเซ็นบนกระดาษเหมือนสมัยก่อน
Document Cloud เป็นบริการ subscription ที่ผนวกพื้นที่ซิงก์ข้อมูลบนคลาวด์มาให้เลย สำหรับลูกค้าทั่วไป มีให้เลือกสามระดับแพ็กเกจ ยิ่งแพงก็ยิ่งได้ความจุเยอะ และทำอะไรได้เยอะ เช่น แพ็กเกจสูงสุดได้สตอเรจ 100GB, แก้ไข PDF ได้, สร้างรหัสผ่านเพื่อป้องกันการเข้าถึง PDF ได้ เป็นต้น ส่วนลูกค้าองค์กรก็มีแพ็กเกจเฉพาะต่างหากที่มีฟีเจอร์ระดับองค์กรด้วย
Experience Cloud
Experience Cloud เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จับตลาดมาร์เกตติ้งเน้นการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าแก่กลุ่มองค์กร โดยในบรรดา 3 ธุรกิจหลักของ Adobe กลุ่มนี้ถือเป็นน้องใหม่ที่สุด ความท้าทายคือมาจับตลาดมาร์เกตติ้งทั้งๆ ที่มีคู่แข่งเต็มไปหมด แต่ถึงมาช้าก็กลับทำได้ดี มีรายได้ในแต่ละไตรมาสทะลุ 800 ล้านดอลลาร์
Experience Cloud ชื่อเดิมคือ Marketing Cloud เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2012 แล้วมา รีแบรนด์ใหม่ในปี 2017 ขยายกลุ่มโซลูชั่นให้กว้างขึ้น
กลุ่มบริการ Experience Cloud มาจากการเข้าซื้อบริษัทอื่นอย่างหนักหน่วงของ Adobe ตั้งแต่การเข้าซื้อ Omniture บริษัทวิเคราะห์การตลาดด้วยเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2009 และ TubeMogul ทำโฆษณาแบบวิดีโอ มูลค่ากว่า 540 ล้านดอลลาร์ในปี 2016, การเข้าซื้อ Magento ในราคา 1.68 พันล้านดอลลาร์ เพื่อคุณสมบัติด้านอีคอมเมิร์ซ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเสนอโซลูชั่นด้านการตลาดให้ครอบคลุม โดยตอนนี้ กลุ่ม Experience Cloud มี 4 ผลิตภัณฑ์แยกย่อยคือ
- Marketing Cloudดูงานการตลาดมีโซลูชั่นย่อยๆ คือ Adobe Experience Manager, Adobe Target, Adobe Campaign, Adobe Social และ Adobe Primetime ช่วยให้แบรนด์จัดการและเสนอแคมเปญต่อลูกค้า เพื่อสร้างการจดจำและภาพลักษณ์ที่ต่างจากแบรนด์อื่น
- Advertising Cloudเครื่องมือจัดการโฆษณาทางทีวีและสื่อดิจิทัล เพื่อให้การโฆษณาไปยังสื่อต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยลูกค้าสามารถซื้อโฆษณาบน Search, Social, Display, Video, TV, Audio ได้ทั้งหมดภายในแพลตฟอร์มเดียวซึ่งเชื่อมต่อกับ CRM ของบริษัทได้ มีรายงานเรียลไทม์บนแดชบอร์ด วิเคราะห์แต่ละแคมเปญโฆษณาที่ซื้อออกไปได้
- Analytics Cloudเป็นเอนจิ้นสำหรับการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งในพาร์ทนี้มีคู่แข่งรายใหญ่หลายรายทำ เช่น Google, SAP, Oracle
- Commerce Cloudแพลตฟอร์มจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่สุด เปิดตัวเมื่อปี 2019 เป็นโซลูชั่นจากการเข้ากิจการ Magento
จากรูปภาพด้านบนจะเห็นภาพรวมของ Experience Cloud ที่มี 4 ผลิตภัณฑ์หลัก แต่ละแอปพลิเคชั่นแตกย่อยออกไปอีกในบรรทัดที่สอง โดยมี Adobe Sensei ปัญญาประดิษฐ์เป็นแกนกลางสำคัญในการจัดการแอปพลิเคชั่น และช่วยจัดการประสบการณ์การทำงานของฝ่ายการตลาดให้จัดการข้อมูลลูกค้ามีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
Work From Home ดันธุรกิจ Adobe โต
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Adobe ขึ้นอยู่บนกับดิจิทัลและคลาวด์อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อบริษัทต้อง WFH กะทันหัน Adobe จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรเยอะ
จากปัจจัยโรคระบาดกระทบและคงอยู่นานแทบจะทั้งปี 2020 ทำให้หลายบริษัทพิจารณานโยบาย WFH ถาวร เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของ Adobe เติบโตขึ้นมาก อย่าง Document Cloud ถึงกับทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสล่าสุดด้วยในรายงานประกอบการไตรมาส 2/2020 Adobe อธิบายว่าการเปลี่ยนไปทำงานระยะไกลหรือ WFH นั้นทำให้ความต้องการเอกสารดิจิทัลเพิ่มขึ้น
- มีการใช้งานบนเว็บบริการ PDF เพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในไตรมาสต่อไตรมาส
- จำนวนเอกสารที่แชร์ใน Acrobat เพิ่มขึ้น 50% ทุกปี
- มีการใช้งานลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 175% นับตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ
- มีการติดตั้ง Acrobat Reader บนมือถือเพิ่มขึ้น 43%
จากตารางข้างต้น จะเห็นว่ารายได้ที่พุ่งเร็วสุด ยังคงเป็นฝั่งธุรกิจ Creative Cloud และ Document Cloud มีการเติบโตคงที่และเริ่มโตเร็วในไตรมาสที่ 3 ส่วนฝั่ง Experience Cloud แผ่วลง อาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจช่วงโรคระบาด ทำให้บริษัทลดงบการจัดการด้านการตลาดและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า แต่ในภาพรวมแล้ว Adobe ยังโตสูง ทำรายได้ new high ทุกไตรมาส แม้อยู่ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์เทคโนโลยี Adobe ในระยะยาว
จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นภาพรวมว่า Adobe ผสานทุกแอปพลิเคชั่นในสามบริการหลัก + สามารถด้าน AI (Adobe Sensei) + Content + Data และทั้งหมดตั้งอยู่บนคลาวด์ โดยตั้งอยู่บน 4 แผนการหลักซึ่ง CTO Adobe ระบุไว้ในส่วนหนึ่งของรายงานผลประกอบการในปี 2019 แต่ก็สะท้อนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ Adobe จะยึดไว้เป็นหลักในหารดำเนินธุรกิจต่อไปอีกในอนาคตคือ
- Escaping the Glassหรือการสร้างบริการและความสามารถใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจอ เช่น ต้องมาพร้อมการทำงานข้ามกันได้ แสดงผลเรียลไทม์
- Content Reimaginedเปลี่ยนวิธีสร้าง content มาสร้างบนคลาวด์, ทำตัวเป็น SaaS ของ content
- Real time dataการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจแบบเรียลไทม์
- Intelligence Everywhereหรือการนำ AI (Adobe Sensei) ไปอยู่ในทุกที่ ทุกแอปพลิเคชั่นทั้งสามบริการหลักของ Adobe
การสร้างบริการบนคลาวด์ผ่านโมเดล subscription, การขยายตัวเองไปบริการอื่นนอกเหนือจากธุรกิจออกแบบ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Adobe โตและยังแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังช่วยส่งให้ Adobe มีพลังอำนาจในการเข้าซื้อกิจการอื่นๆ มาต่อยอดบริการของตัวเองออกไปเรื่อยๆ กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ เข้าซื้อกิจการ Workfront ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านบริหารจัดการสำหรับงานด้านการตลาด ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ และในอนาคตก็มีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็น Adobe ไล่ซื้อกิจการใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดของเดิม และพัฒนา Sensei ให้ดีขึ้นไปอีก
Comments
เติบโตเยอะมากจริงๆ
บทความดีมาก
+1 เรียบเรียงดี แบ่งหัวข้อดี อ่านเข้าใจง่าย
หาร > การ
ไม่พูดถึงที่เคยซื้อ macromedia บริษัทคู่แข่งมาฆ่าทิ้งด้วยหรือครับ :p
ซื้อปี 2005 ต้องพูดเรื่องเมื่อ 15 ปีที่แล้ว?
เวลาเป็นข้อจำกัดเรื่องต้องพูดไม่ต้องพูดด้วยหรือครับ
ถ้าเป็นงั้นควรลบข้อความ "มุ่งสู่บริษัท Cloud-based SaaS เต็มตัวมาตั้งแต่ยุคปี 2000 ต้นๆ" ไหมครับ
งั้นต้องถามกลับว่า Adobe มีซื้อมา 52 บริษัท ซื้อตลอดเกือบทุกปี
ทำไมต้องพูดถึง Macromedia ที่เป็นดีลเก่ามากแล้วครับ มีความรักอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า หรือแค่หมั่นไส้เฉยๆ ไม่ได้มีเหตุผลอะไร
ดุจัง
อืม บางทีเขาก็แค่แซวเล่นๆ อะนะ จริงจังไปโม้ดด
ขนาดใส่ :P ต่อท้ายประโยคแล้วนะ เดี๋ยวนี้คนในเว็บนี้อารมณ์ร้อนกันจัง
ดูตาม https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_acquisitions_by_Adobe
ซื้อ Macromedia ใช้เงิน $3,573,000,000 ในปี 2005ซื้อ Omniture ใช้เงิน $1,800,000,000 ในปี 2009
ถ้าพูดถึงมีอะไรพิเศษหรือเปล่า ก็น่าจะเป็นตัวเลขการซื้อ Macromedia ใช้เงินเกือบ 2 เท่าของการซื้อ Omniture
และมีการกล่าวถึง Omniture (ไม่กล่าวถึง Macromedia)
ยกเว้นการซื้อนั้น ไม่มีผลกับการเติบโตของบริษัท ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Adobe ไม่อยากจะกล่าวถึง
คนที่ฆ่า flash จริงๆ น่าจะเป็น Apple นะครับ
ไม่ใช่แค่ flash นะครับ ยังมี Dreamweaver อีกตัวที่ adobe เอาไปนะครับ
Dreamweaver ก็ยังอยู่ดีกินดีอยู่ไม่ใช่เหรอครับ ?
ตอนนั้น macromedia มีชุดโปรแกรมตกแต่งภาพ ทำภาพอีลัส อะไรเหมือนของ adobe เลยครับ แต่รู้สึกที่ได้ไปต่อจะมีแต่ flash อันเดียว
ไม่ได้มีแค่ flash ครับ
ซื้อเดือนเดียวได้ไหมนี่ อยากได้ lightroom ทำรูปเวลาไปเที่ยวมา นานๆ ใช้ที
ก็มีนะครับ ใช้แค่เดือนเดียวก็มีแบบเดือนเดียว แต่เหมือนต้องซื้อคีย์ไป redeem เอา
ซื้อทางไหนอะครับ
กดซับ creative cloud (กดแบบหักทุกเดือนนะครับ) แล้วกดยกเลิกครับ
ุ้ถ้าสมัครแล้วยกเลิกบ่อยๆ adobe จะแบนเราไหมครับ ฮ่าๆ
Lightroom, Photoshop เดือนละสามร้อยดว่าบาท สมัครแล้วหรีหนึ่งเดือนด้วย เลิกใช้ก็กดยกเลิกเอา
เกรงใจ adobe เลย สมัครแล้วก็ยกเลิกบ่อยๆ งี้
ไม่ต้องเกรงใจนะครับ รู้สึกยกเลิกตอนไม่ครบปี มันจะคิดค่าปรับเอาเดือนที่เหลือหารครึ่งมั้ง สรุปใช้เดือนเดียวยกเลิกได้จ่าย 6 เดือนกว่าๆ
(ไม่แน่ใจว่า ยังเป็นแบบนี้อยู่รึเปล่า)
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
ต้องยอมรับว่า Adobe มองขาดที่ปรับมาใช้ Cloud ตั้งแต่ยุคแรกๆ ทำให้สามารถสร้างรายได้ด้วยบิสเนสโมเดลใหม่ๆได้เร็ว (แต่ที่ทำได้เร็วก็เพราะมีซอร์ฟแวร์ที่ค่อนข้างเจ๋งและเป็นเจ้าตลาดด้วยแหละ ลูกค้าต้องตามมาใช้)
..: เรื่อยไป
มีโซลูชันที่แทบจะไร้คู่แข่งแบบนี้ก็เป็นแบบนี้ล่ะนะ
หาร > การ