แนวทางการพัฒนาแอปยุคใหม่ย้ายไปอยู่บนคอนเทนเนอร์ หรือแพลตฟอร์มคอนเทนเนอร์อย่าง Kubernetes แล้วแทบทั้งหมด แต่ในการใช้งานจริง องค์กรก็มักจะติดตั้ง Kubernetes ลงบนเครื่องที่จัดการโดยแพลตฟอร์ม virtualization อีกต่อหนึ่ง เพื่อให้สามารถจัดการเซิร์ฟเวอร์ในคลัสเตอร์ผ่านเครื่องมือต่างๆ นับจากการติดตั้ง, คอนฟิกค่าต่างๆ บนเครื่อง, ไปจนถึงการจัดการเครื่องในตลอดอายุการใช้งาน
Red Hat OpenShift เป็นดิสโทร Kubernetes ระดับองค์กรอันดับหนึ่งที่ เริ่มหันมารองรับการใช้งาน OpenShift on Bare Metal ตั้งแต่ เวอร์ชั่น 4.6 เป็นต้นมา ทำให้องค์กรที่ต้องการติดตั้ง OpenShift โดยไม่ต้องมีแพลตฟอร์ม virtualization ใดๆ มาคั่นกลางอีก สามารถติดได้โดยยังจัดการเซิร์ฟเวอร์ได้จากศูนย์กลาง กระบวนการติดตั้งเพิ่มโหนดเข้าคลัสเตอร์ทำได้อย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ ต้องการการคอนฟิกค่าตั้งต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คุณสุพรรณี อํานาจมงคล Solution Architect Manager ของ Red Hat ประเทศไทย ระบุว่ามุมมองของ Red Hat นั้นมุ่งไปเปิดทางให้องค์กรสามารถรันแอปพลิเคชั่นได้ทั้งบนคลาวด์ในในองค์กรของตัวเอง แต่ปีนี้ Red Hat พบว่าลูกค้าของบริษัทมีการย้ายแอปพลิเคชั่นมายังคอนเทนเนอร์มากแล้ว จึงหันมาเน้น OpenShift on Bare Metal ที่จะทำให้ลูกค้าประหยัดลง และได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น
การที่องค์กรย้ายโหลดงานมายัง OpenShift มากขึ้นทำให Red Hat พบว่าลูกค้ามักจะมี virtualization จัดการอยู่ตรงกลางก่อนถึงฮาร์ดแวร์ แต่ในความเป็นจริงเครื่องจำนวนมากกลับใช้สำหรับรัน OpenShift เพียงอย่างเดียว โดยทุกวันนี้อาจจะเห็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์เป็นเช่นนี้อยู่ 40-50 เครื่องก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก
คุณสุพรรณีเล่าถึงความได้เปรียบของการติดตั้ง OpenShift on Bare Metal ไว้ 6 ด้าน ได้แก่
- ประสิทธิภาพเนื่องจากไม่มีชั้น virtualization คั่นกลางแล้ว ประสิทธิภาพที่แอปพลิเคชั่นจะได้รับจากฮาร์ดแวร์จะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 15% ความหน่วง (latency) ในการรันต่ำลง ประสิทธิภาพที่ได้คาดเดาได้มากขึ้น และสามารถใช้ฟีเจอร์ real-time ของลินุกซ์ได้
- ความปลอดภัยการตัดแพลตฟอร์ม virtualization ออกช่วยลดจุดที่แฮกเกอร์จะใช้โจมตี (attack surface) ลง ขณะที่ OpenShift เองเพิ่มความสามารถในการดูแลความปลอดภัยคลัสเตอร์มากขึ้นเ้รื่อยๆ เช่น ระบบสแกนความปลอดภัยตาม CIS Benchmark
- เข้าถึงฟีเจอร์ฮาร์ดแวร์ได้เปิดทางสามารถรันแอปพลิเคชั่นที่ต้องการฟีเจอร์เฉพาะของฮาร์ดแวร์บางอย่าง เช่น ชิปกราฟิกที่มักใช้สำหรับงานด้านปัญญาประดิษฐ์ ฟีเจอร์ด้านนี้เป็นเหตุผลสำคัญให้บางองค์กรในไทยเริ่มใช้ OpenShift on Bare Metal แล้ว
- ค่าใช้จ่ายถูกลงนอกจากองค์กรจะไม่ต้องเสียค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์ virtualization แล้ว Red Hat ยังมีแนวทางคิดค่าไลเซนส์ของ OpenShift on Bare Metal ตามซ็อกเก็ตซีพียูแทนการนับตามคอร์ ทำให้ค่าไลเซนส์โดยรวมประหยัดลง ตัวเซิร์ฟเวอร์สามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ราคาถูกลง โดยมีเงื่อนไขเพียงว่าเซิร์ฟเวอร์ต้องผ่านการรับรองว่าใช้งานกับ RHEL ได้
- สมรรถภาพของระบบเพิ่มขึ้นสามารถรัน Pod บนแต่ละโหนดได้สูงถึง 500 Pod และแต่ละแอปพลิเคชั่นสามารถใช้ซีพียู 32 คอร์หรือมากกว่าได้
- แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นเนื่องจากเลเยอร์ซอฟต์แวร์ลดลง หากเกิดปัญหาขึ้นมาก็มักจะแก้ไขได้ง่ายขึ้นด้วย
การใช้จัดการโหลดงานทุกรูปแบบผ่าน API กลางน่าจะเป็นเรื่องแนวทางทั้งอุตสาหกรรมไอทีเห็นตรงกัน และที่ผ่านมาแพลตฟอร์ม virtualization ก็มี API ให้เครื่องมือภายนอกเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก ตัว OpenShift มี ฟีเจอร์ virtualization สามารถใช้จัดการโหลดงานที่ยังต้องรันในเซิร์ฟเวอร์แบบ virtual machine อยู่ โดยคุณสุพรรณี ระบุว่ามุมมองของ Red Hat คือในอนาคต Kubernetes นั้นจะสามารถจัดการโหลดงานทุกรูปแบบในองค์กร รวมถึงการจัดการ virtual machine ด้วย และหากต้องการใช้งานฟีเจอร์ virtualization นี้องค์กรก็แนะนำให้ใช้ OpenShift on Bare Metal มากกว่า
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมบน OpenShift Blog ได้ทั้ง การใช้งาน OpenShift on Bare Metal และฟีเจอร์ OpenShift virtualization
Comments
ทำไมต้อง virtualization ล่ะ ซื้อ bare metal 16cpu มา found เป้น worker node จบ