"หมอ กทม."แอปภายใต้โครงการ Smart OPD แอปเดียวใช้ได้กับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมครบทั้ง 11 แห่ง เพื่อความทั่วถึงและฉุกเฉิน รองรับให้บริการคนไข้นอกกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยจะใช้บริการได้ครบ 11 โรงพยาบาลภายในปลายเดือนมีนาคม 2565
แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ Smart OPD เพื่อให้บริการได้แบบเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส ลดการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการได้ผ่านสมาร์ทโฟน ครอบคลุมโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยนอกรวมกว่า 4 ล้านราย และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รวมทั้งรวบรวมความรู้ด้านสุขภาพจากแพทย์และบุคลากรจากสหสาขาวิชาชีพ
โรงพยาบาลจะเริ่มทยอยขึ้นจนครบ 11 โรงพยาบาล ได้แก่
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- โรงพยาบาลสิรินธร
- โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
- โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
- โรงพยาบาลคลองสามวา
- โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565
KBank จัดเทคโนโลยีช่วยพัฒนา หมอ กทม.
ขัตติยา อินทรวิชัยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนในการพัฒนาระบบบริการทางแพทย์ของกรุงเทพมหานคร สร้างแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในช่วงที่สังคมยังต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่าง ลดข้อจำกัดในระบบการดูแลสุขภาพในช่วงที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเตรียมความพร้อมหากวิกฤติเกิดขึ้นอีก โดยแอปฯ “หมอ กทม.” มุ่งพัฒนาใน 3 แกนหลัก
- การเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพและการรักษาได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การรักษาและการรับบริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การสร้างประสบการณ์ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว ผู้ใช้บริการสามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล
- การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางเงินต่างๆ ที่เลี่ยงสัมผัสเงินสด
สำหรับบริการใน หมอ กทม. ประกอบด้วย
- นัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบรายการนัดหมาย แจ้งเตือนการนัดหมาย และกดรับบัตรคิวในแอปฯ
- ตรวจสอบสิทธิการักษาพยาบาล อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
- ตรวจสอบสถานะคิวตรวจ แจ้งลำดับคิว และขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาล
- ลงทะเบียนตรวจรักษา บริการลงทะเบียนตรวจรักษาโรค จองวันเข้ารับการตรวจรักษาได้ง่าย ผ่านแอปฯ
- ประวัติการรักษา ตรวจสอบผลวินัจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้สะดวก โดยเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
- แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยฟีเจอร์แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแชร์โลเคชันเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์เอราวัณ
- ตรวจรักษาออนไลน์ บริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) โดยสามารถตรวจรักษา ติดตามอาการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวีดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน
Comments
ในกรุงเทพ มีโรงพยาบาลหลายสังกัด สธ. อว. กทม. แยกกันทำแอป เยี่ยมมมมม
กระจายเวอร์ ล้านแอพ เป็นงี้เพราะรัฐบาลไม่ทำเนาะ
อยากรู้ว่าบันทึกการรักษาก่อนหน้าที่เขียนลงกระดาษไว้ จะโดนนำมาเข้าระบบแล้วเปิดให้ดูผ่าน app ด้วยไหมนะ
That is the way things are.
คำว่า "แอปเดียว" จากภาครัฐไม่เคยมีอยู่จริง 555+