- เทคโนโลยีเกาะติดศึกษาเชิงลึกการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือ
- นำ 5G เชื่อมต่อ IoT และ Machine Leaning สร้างความต่างเพิ่มความแม่นยำเพาะปลูก
- แก้ปัญหาความยากจนเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อากาศหนาวเย็น
ดีแทค ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา และเนคเทค สวทช. คิดค้นโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะกรณีศึกษาเห็ดหลินจือ นำเทคโนโลยี 5G คลื่น 700 MHz พร้อม IoT และ Machine Leaning ตอบโจทย์เพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวเลขตัวเดียวสำเร็จ พร้อมนำองค์ความรู้มาพัฒนาการทำเกษตรแม่นยำ เก็บดาต้าปัจจัยแวดล้อม ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สู่การควบคุมโรงเรือน ตั้งทุกค่า คำนวณเหมาะสมสภาพแวดล้อมเพาะปลูก ดึงธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติร่วมทดสอบและวิจัย เตรียมเผยแพร่องค์ความรู้ต่อเกษตรกรในพื้นที่หนาวเย็น ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
เห็ดหลินจือมีคุณภาพทางโภชนาการและยาสูงมาก โดยเห็ดหลินจืออบแห้งมีมูลค่าประมาณกิโลกรัมละ 2,000 บาท และสำหรับสปอร์เห็ดหลินจือมีมูลค่าสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ 20,000 บาท สามารถเพาะได้ดีในอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในฤดูหนาวเลขตัวเดียว ซึ่งภาคเหนือของไทยระหว่างเดือน พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ อุณหภูมิในฤดูหนาวอาจจะลดลงอยู่ที่ 7-10 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่สามารถเพาะเห็ดหลินจือได้ ดังนั้น ถ้าคิดค้นวิธีการเพาะปลูกในอากาศหนาวดังกล่าวได้จะสามารถถ่ายทอดความรู้และพัฒนาให้กับเกษตรกรไทย
ดีแทค-มูลนิธิชัยพัฒนา-เนคเทค จึงได้ร่วมมือทดลองเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาว ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ด้วยเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ร่วมกับ IoT ซึ่งจะมีการเก็บดาต้าภาพถ่าย ขนาด รูปร่าง สี ตลอดช่วงการเจริญเติบโตด้วยระบบกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง รวบรวมเป็นฐานข้อมูลและใช้โปรแกรมวิเคราะห์ภาพ ที่จะพัฒนาการเพาะเห็ดหลินจือได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งคาดการณ์สภาพแวดล้อม ปรับสภาพความเหมาะสม อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสง และยังอัปเดตชุดข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจัดการได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อพัฒนาการเกษตรที่จะมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
อนุตรา วรรณวิโรจน์ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “การพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาสู่แนวคิดแผนการพัฒนาโครงการฯ นำเทคโนโลยีเข้าในปรับใช้ในการเกษตรในหลากหลายมิติ เช่น การจัดการผลิตพืช การใช้พลังงาน และการตลาด เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายทางการเกษตรในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งหรือ IoT จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในโรงเรือนและนำมาซึ่งความต่อเนื่องของผลผลิต”
ประเทศ ตันกุรานันท์รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เรานำความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G ที่สร้างความแตกต่างและมีความแม่นยำสูงใช้ในการศึกษาเชิงลึกการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือ โดยดีแทคมีส่วนร่วมออกแบบและวางแผนติดตั้งระบบเซนเซอร์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงการติดตั้งและดูแลเสาสัญญาณเพื่อขยายพื้นที่การสัญญาณเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนโครงสร้างระบบฐานข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยเพาะปลูก ตลอดจนจัดทำแอปพลิเคชันแสดงผลภาพถ่ายหน้าจอมือถือ เพื่อให้สะดวกในการดูแลและบริหารจัดการ”
“ดีแทคนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นในการเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภาพทางการผลิต นอกจากนี้ ยังคาดหวังในผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรที่ยากจน โดยนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชผลในโรงเรือนที่มีมูลค่าสูงอย่างเห็ดหลินจือ ที่ตลาดมีความต้องการสูง เป็นการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์คุณภาพชีวิต สร้างรายได้และกำไรให้เกษตรกร” นายประเทศ กล่าว
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวได้ดำเนินมาสู่โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 3 พร้อมการนำเทคโนโลยี 5G สู่การควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดหลินจือในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้เห็ดหลินจือออกดอก และสามารถดักสปอร์ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของตลาดได้สำเร็จ ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นของโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะในการพิชิตโจทย์ความท้าทายอันเกิดจากธรรมชาติ
ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวเสริมว่า จากผลการศึกษาในระยะที่ 1 และ 2 ทางคณะทำงานเห็นสมควรให้ทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการก่อน โดยเนคเทค ได้ติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ และระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตร ได้แก่ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสง โดยทำการรับ-ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปยัง IoT Cloud Platform เพื่อติดตาม ควบคุมสั่งการระบบต่าง ๆ ภายในโรงเรือน ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมถึงนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาใช้วิเคราะห์จำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ และทดสอบปัจจัยต่างๆ ภายในตู้ควบคุมหรือ Growth Chamber ขนาด 100 ก้อน พบว่าเราได้ข้อมูลสำคัญที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมตามความต้องการ และโรงเรือนขนาดเล็กขนาด 400-500 ก้อน เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ ซึ่งจะขยายความรับผิดชอบนี้ให้แก่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand ภายใต้กำกับดูแลของ สวทช. ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เข้าร่วมในการศึกษาวิจัยให้ได้ข้อมูลปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตของเห็ดหลินจือนอกฤดูกาลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับปรับปรุงกระบวนการสู่การดำเนินงานโครงการในระยะที่ 3 ให้หมาะสมมากยิ่งขึ้น และการใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน อย่างเช่น AI ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่เกษตรกรเพื่อช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในระยะยาว
“สำหรับโครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต ภายใต้ความท้าทายในยุคดิจิทัล ที่ข้อมูลถือเป็นหัวใจ AI เป็นสมองช่วยคิดวิเคราะห์ เครือข่าย (Network) เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการส่งผ่านข้อมูล ดังนั้น การได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างมูลนิธิชัยพัฒนาและดีแทคจะทำให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของเนคเทคที่ต้องการเป็นฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ”
Comments
Kinda stretch
ดีนะไม่เอา Blockchain มาผูกเพิ่มอีกอันนึง
[S]
(ซ้ำอีกแล้ว)
[S]
ขอสอบถามนะครับ ตกลงตอนนี้บทบาท user blognone เป็นอย่างไรนะครับ หลัง ๆ มานี้เหมือนเป็นลงข่าว PR จากบริษัทภายนอก มากกว่าข่าว รายงานพิเศษ ข่าวจากทาง blognone ที่เคยเป็นเมื่อ 3 ปีก่อนครับ
บล็อก: wannaphong.com และ Python 3
ผมว่าข่าว PR ก็มีตามปรกตินะครับ ถือว่าเป็นข่าวสารรูปแบบนึง
แต่บทความตัวนี้มันว่ามันดูการจัดวางและการใช้คำพูดแปลกๆนะครับ และเหมือนจะไม่ได้ใส่ที่มาด้วย
ผมเข้าใจละ พอไปดู post ที่เป็น user Blognone ดูแล้วเป็นลักษณะ PR จริงๆด้วย เหมือน copy มาแปะ และบาง post ก็ tag เป็น Press Release
ความเห็นผมคือไม่มีปัญหากับข่าว PR นะ แต่พอ(หลงเข้ามาอ่านเพราะไม่รู้ว่าเป็น PR) อ่านแล้วมันอ่านยาก วกไปวนมาและสุดท้ายก็จะงงๆ ว่าทำไม Blognone เขียนบทความแบบนี้นะ เพราะปรกติบทความ Blognone จะดูดีอ่านง่าย และสรุปใจความได้ดี อะไรแบบนั้นมากกว่า
ผมมองว่าข่าว PR ยังน้อยกว่าข่าวทั่วไปอยู่นะครับ แต่ก็มากขึ้นจริงแล้วมาในรูปแบบเนียนโฆษณา คือจริงๆ มันก็คือโฆษณานั่นแหละแต่ไม่บอกตรงๆ ว่านี่โฆษณานะจ๊ะ คนอ่านต้องพิจารณาเอาเองเป็นกันแบบนี้แทบจะทุกเว็บข่าว
อ่านคร่าวๆนึกว่าเอาคลื่น 5G มายิงใส่เห็ดให้โต
ไม่ต้อง 5G ก็ทำได้น๊า 555
คิดว่าพัฒนาให้เห็ดเติบโดด้วยคลื่น 5G
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
ตรงหัวข้อ "ในฤดูหนาวเลขตัวเดียวสำเร็จด้วย.." อ่านแล้วงงๆ น่าจะเป็น "ในฤดูหนาวอุณภูมิต่ากว่า 10 องศา..." ส่วนตัวคิดว่าอุณภูมิมีทศนิยมนะครับ
อ่านหัวข่าวตอนแรกนึกว่าคลื่น 5G ช่วยให้เห็ดเติบโตได้ดีซะอีก ฮ่าๆ
"นอกจากจะเพาะเชื้อ COVID ได้แล้ว ยังเพาะเห็ดได้ด้วย ... สุดยอดเลยคลื่น 5G" -- ทรัมป์ไม่ได้กล่าว
อันนี้หน้าข่าวไม่ควรสีขาวนะผมว่า
ฤดูหนาวเลขตัวเดียว นี่ทำผมงงจนต้องเข้ามาอ่านเลยครับ
น่าจะใช้อุณหภูมิเลขตัวเดียวแบบที่ dtac ใช้นะครับ