เพื่อให้เป็นการสอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานสะอาดประเภทอื่นให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ให้น้อยลง วุฒิสภาของฝรั่งเศสจึงได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ลานจอดรถที่มีขนาดจอดรถได้ตั้งแต่ 80 คันขึ้นไปต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
สำหรับลานจอดรถขนาด 80-400 คันจะต้องติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปี 2023 ส่วนลาดจอดรถขนาดใหญ่กว่านั้นจะต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จเร็วยิ่งขึ้นภายในช่วงเวลาไม่เกิน 3 ปีนับจากช่วงเวลาเดียวกัน โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะต้องครอบคลุมพื้นที่ขนาดอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของลานจอดรถนั้น
เป้าหมายของการออกกฎหมายใหม่นี้เน้นไปที่ลานจอดรถกลางแจ้งบริเวณริมทางหลวงต่างๆ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสหวังไว้ว่าแผงโซลาร์เซลล์จากลานจอดรถทั่วประเทศนี้จะช่วยกันผลิตไฟได้มากถึง 11 GW เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 10 โรง
อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้มีข้อยกเว้นให้ลานจอดรถกลางแจ้งบางแห่งที่เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- มีข้อขัดข้องทางเทคนิคในเรื่องความปลอดภัยในการใช้ลานจอดรถและต่อระบบไฟฟ้าเอง
- การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
- การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีผลลบในแง่การทำลายภูมิสถาปัตย์
- ลานจอดรถกลางแจ้งนั้นมีต้นไม้ให้ร่มเงาปกคลุมพื้นที่อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
- ลานจอดรถบรรทุก
- การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ "ไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลทางการเงินในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้" (เป็นข้อความที่กำกวมและตีความได้กว้าง แต่โดยพื้นฐานอาจหมายถึงการเว้นช่องว่างของกฎหมายไว้เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทางการเงินแก่เจ้าของลานจอดรถในระดับที่เกินรับไหว)
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่ากฎหมายใหม่นี้จะมาพร้อมมาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่เจ้าของพื้นที่จอดรถที่โดนบังคับใช้กฎหมายหรือไม่
นอกเหนือจากการออกกฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลานจอดรถแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยังเล็งที่จะสร้างฟาร์มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ตามพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ข้างทางด่วน, รางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตรต่างๆ ทั้งนี้สำหรับการรถไฟของฝรั่งเศส (SNCF) เองนั้นก็มีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กินพื้นที่รวม 1 ล้านตารางเมตรเพื่อลดค่าใช้จ่ายพลังงานให้ได้ 1 ใน 4 ภายในปี 2030 อยู่แล้ว
ที่มาภาพ: Tony Webster , CC BY-SA 2.0
ที่มา - Engadget
Comments
กำกวมก็กำกวมจริงๆ
ขนาดฝรั่งเศสพลังงานส่วนใหญ่มาจากนิวเคลียร์
แสดงว่ากำลังจะเปลี่ยนถ่ายแหล่งพลังงาน
solar cell ตอนหมดอายุนี่ recycle ได้แค่ไหนนี่
เห็นว่า สวทช ทำได้แล้ว ผมว่าก็ไม่ไกลนะครับ