เว็บไซต์ The Information รายงานข่าวแวดวงแอปเปิล อธิบายเหตุผลที่เราไม่เห็นความเคลื่อนไหวด้าน AI จากฝั่งแอปเปิล ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ Meta
สาเหตุหลักที่แอปเปิลไม่แสดงท่าทีชัดเจนเรื่อง AI เป็นเพราะมุมมองของแอปเปิลที่พยายามใช้ AI เพิ่มความสามารถในจุดต่างๆ ระดับเล็กๆ เช่น ตรวจจับการสัมผัสของฝ่ามือบน iPad, แต่งภาพบน iPhone, แนะนำแอพที่น่าสนใจบน App Store ซึ่งใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่เปลี่ยนโลกแบบที่ OpenAI ทำ
เรียกได้ว่าแอปเปิลมีแนวคิดที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมกว่าเพื่อนร่วมวงการรายอื่น สไตล์การทำงาน "ทุกอย่างต้องพร้อม" แบบแอปเปิล ทำให้แอปเปิลทนทานต่อข้อผิดพลาด ความมั่วของ AI แบบบริษัทอื่นๆ ไม่ได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Siri นั้นอิงกับสคริปต์คำตอบที่เขียนโดยมนุษย์ คัดกรองมาดีแล้ว ไม่ได้สร้างด้วย Generative AI และผู้บริหารของแอปเปิลก็ลังเลไม่กล้าดัน Siri ไปทางการใช้ LLM แบบที่นิยมในยุคนี้
การพัฒนาของ Siri ที่ล่าช้าทำให้หลายฝ่ายในแอปเปิลเองไม่พอใจ ถึงขั้นฝ่ายทำแว่น Mixed Reality อยากทำระบบผู้ช่วยส่วนตัว สั่งงานด้วยเสียงของตัวเองขึ้นมาแทนด้วยซ้ำ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ฉุดรั้งความสามารถด้าน AI ของแอปเปิลคือ แนวคิดของแอปเปิลที่พยายามประมวลผลทุกอย่างในเครื่อง ถึงแม้สร้างความเชื่อมั่นด้านความเป็นส่วนตัว แต่ข้อเสียคือเมื่อมาอยู่ในยุค LLM ที่ใหญ่จนต้องรันบนเซิร์ฟเวอร์แล้วส่งคำตอบกลับมา แอปเปิลก็ไม่พร้อมในเกมนี้
ในบทความยังพูดถึง John Giannandrea หัวหน้าฝ่าย AI ของแอปเปิลที่ย้ายมาจากกูเกิลในปี 2018 โดยเขาพยายามรวมทีม AI ที่กระจัดกระจายในบริษัทเข้าด้วยกัน
ที่มา - The Information , Ars Technica
Comments
ตอบผิดมา โดนคู่แข่งโจมตียับแน่
Apple น่าจะมีแค่โปรดักส์แบบสำเร็จถึงมือผู้ใช้เลย และมีแค่ไม่กี่อย่าง
ขนาด google ที่มีโปรดักส์หลายแนวและหลากหลาย ยังไม่กล้าให้ AI ตอบคำถาม เพราะถ้าผิดพลาดขึ้นมามันจะเสียหายหนัก
คิดว่าหากบริษัทใหญ่ๆหากจะลองทำ AI น่าจะต้องหลีกเลี่ยงความเชื่อมโยมกับบริษัทหลัก เช่น Siri AI อาจต้องเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น และให้ผู้ให้ใช้งานอย่างจำกัดเท่านั้นใช้แค่เป็นส่วนเสริมและ Apple ก็ไม่ต้องออกแอ๊คชั่นอะไรมาก อาจตั้งบริษัทแยกออกมาดูแลเรื่องนี้
Siri+ไม่มี build-in มากับเครื่อง แต่สามารถโหลดได้จาก Appstore และ Apple ไม่รับผิดชอบใดๆ ในการใช้งาน เพราะ publisher ไม่ใช่ Apple Inc. 😂
ถึงจะเคยทำสินค้าผิดพลาดมาหลายอย่าง แต่เรื่องนี้พลาดแล้วยาว
ผมว่าเรื่องตอบผิดนี่เรื่องใหญ่นะนอกจากในแง่ต้นทุนกับความคุ้มค่าแล้วยังมีเรื่องในแง่กฏหมายอีกคือตอนนี้คือเราวางใจได้แค่ไหนว่าว่าคำตอบที่ Generative AI ตอบมาเชื่อถือได้เพราะมันตอบแบบมั่นใจแม้จะตอบผิดและที่สำคัญคือถ้าการตอบผิดนั้นสร้างความเสียหายใครคือผู้รับผิดชอบ? แล้วถ้ามีการออกกฏหมายควบคุมเหล่า Generative AI พวกนี้จะออกมาในแบบที่ทำให้ไม่มีใครกล้าให้บริการเลยหรือปล่าว?
อย่างเช่นสุดท้ายแล้ว พรบ.คอมฯ ในมาตราเกี่ยวกับการนำเข้าช้อมูลเท็จจะโดนขยายมาสู่ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบหรือปล่าว?
หลายปีก่อนเคยมีดราม่าที่ญี่ปุ่น
บอกสิริว่า อยากฆ่าตัวตาย
สิริ แนะนำเว็บไซต์ฮาวทูมาให้
กล้าตัดรูหูฟังในไอโฟน กล้าตัดหัวชาร์จออกจากกล่อง พอเป็นเรื่อง AI ความ "courage" หายไปไหนหมด ลองโยกทีมงานอีกฝั่งมาช่วยก็ดีนะ
เค้ากล้าแต่ต้องบนฐานข้อมูลสิ
สองสิ่งนั้น ไม่ใช่กล้า อยากทำ แล้วจะทำเลย
กว่าจะตัดออกได้มันต้องศึกษาข้อมูลมาก่อนแล้ว ทั้งข้อมูลการตลาด ข้อมูลผู้ใช้
แล้วจึงตัดสินใจ บนพื้นฐานข้อมูลที่มั่นใจแล้วว่าน่าจะได้ประโยชน์(กับบริษัท)
สังเกตได้จากที่มีข่าวลือมาก่อนตั้งหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ทำซักที
จนมั่นใจชัวร์แล้วถึงทำ
ผมเห็นแอปเปิ้ลเป็นแบบนี้เสมอ ต้องมั่นใจ ถึงจะตัดสินใจใครจะว่าลอก ใครจะว่าตามก็ไม่สน ก็เลยมาทีหลังทุกที
ส่วนตัดสินใจทำ แล้วแป๊ก อันนั้นเป็นอีกเรื่องนะ5555
เพราะชูเรื่องความเป็นส่วมตัวมากๆ แล้วเอไอมันต้องมีข้อมูลมาเรียนรู้เยอะ จะทำจะเพ่ิมก็ลำบาก รอดูว่าจะหาทางออกยัไงง