หนึ่งในคนที่น่าอิจฉาที่สุดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคงเป็น "พนักงาน NVIDIA" ที่ได้ค่าตอบแทนบางส่วนเป็นหุ้นของบริษัท เพราะมูลค่าหุ้นพุ่งทะยานฟ้าต่อเนื่อง (รอบ 2 ปีล่าสุดหุ้นขึ้นมาประมาณเกือบ 10 เท่า) แต่ชีวิตจริงของพนักงานอาจไม่ได้สวยหรูมากอย่างที่คิด
Bloomberg มีสัมภาษณ์พนักงานและอดีตพนักงานของ NVIDIA หลายคน ทุกคนพูดตรงกันว่างานหนัก พนักงานรายหนึ่งเล่าว่ามีความคาดหวังต่อพนักงานว่าต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ทำงานเลิกตี 1-2, พนักงานอีกรายบอกว่ามีประชุมทั้งวัน วันละ 7-10 ประชุม แต่พนักงานทุกคนก็บอกกับ Bloomberg ว่างานหนักก็ทนได้ เพราะค่าตอบแทนมันสูงจนปฏิเสธไม่ได้
พนักงานรายหนึ่งเล่าว่าพอเพื่อนร่วมงานเกือบทุกคนรวยกันหมด เราจึงเห็นพนักงานนั่งคุยกันว่าจะไปซื้อบ้านพักร้อนที่ไหนดี (คนที่มีความสุขที่สุดคงหนีไม่พ้นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในย่าน Palo Alto ใกล้สำนักงานใหญ่ NVIDIA ที่มีลูกค้าล้นหลาม และลูกค้าจำนวนไม่น้อยวางเงินดาวน์สูงถึง 40-60% ของราคาบ้าน) หรือการไปดูกีฬานัดสำคัญที่ค่าตั๋วแพงมากๆ อย่าง NBA หรือ NFL นัดชิงชนะเลิศ, รถยนต์หรูราคาแพงมีให้เห็นทั่วไปในลานจอดรถของบริษัท Bloomberg ยังโชว์ภาพ Lamborghini สีเขียวของพนักงานรายหนึ่ง เลือกโทนสีรถให้สอดคล้องกับสีประจำบริษัทด้วย
สถิติอัตราพนักงานลาออกของ NVIDIA อยู่ที่ 5.3% ในปี 2023 แต่พอเป็นปี 2024 ที่ราคาหุ้นร้อนระอุ อัตราลาออกลดลงเหลือ 2.7% ได้เอง ถ้าเทียบตัวเลขนี้กับค่าเฉลี่ยของบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ ที่อัตราลาออก 17.7% คงได้ข้อสรุปตรงกันว่า "เงินแก้ปัญหาได้" นั่นเอง
ที่มา - Bloomberg
ภาพจาก NVIDIA Career
Comments
Win Win ดีนะให้หุ้น ช่วยกันสร้าง ร่วมกันเป็นเจ้าของ รวยก็รวยด้วยกัน สำเร็จก็สำเร็จไปด้วยกัน
แตกต่างจากไทยบางที่ คาดหวังเยอะ แต่ผลตอบแทนพนง ให้น้อย คิดจะเอาเปรียบ พนง ให้ได้หมดทุกเม็ด
ประกาศวิสัยทัศน์แบบ
คนทำงานถือเป็นค่าใช้จ่าย บ.ต้องทำให้เยอะ รับเงินให้น้อย
บ. จะได้มีประสิทธิภาพมากๆ
พอกำไรก็ถือว่าเป็นฝีมือผู้บริหารและวิสัยทัศน์นักลงทุนแล้วก็เอามาเป็น โบนัสผู้บริหาร + ปันผลผู้ถือหุ้น หมด
พอเกิดวิกฤติ ก็อ้างว่าขาดสภาพคล่อง
ขอให้ พนง. เสียสละ ยอมโดน layoff หรือลดเงินเดือน
ผ่านวิกฤติก็ทำมึน ไม่ขึ้นกลับคืนให้ 😁
+100 สัจธรรม ลูกจ้าง,พนงเอกชน, มนุษย์เงินเดือนไทย
พล็อตนี้คุ้นมาก 🤣
ตปท ก็เหมือนกันคือไม่ใช่ทุกบริษัทจะมูลค่าหุ้นกระฉูดเหมือนNvidiaหุ้นในมือพนักงานเลยไม่ได้มูลค่าขนาดนั้นแต่ก็จำเป็นต้องwork hardเพื่อแข่งขันให้ได้ผมเข้าใจทั้งสองมุมนะทุกคนมีสิทธิ์เลือกถ้าคุณฝีมือเทพเหมือนพนักงานNvidiaก็ลาออกเลยไปหาที่ผลตอบแทนคุ้มกับการwork hard
อยากถามความคิดเห็นครับ คำว่า "ความคาดหวัง" ว่าพนักงานควรทำได้อันนี้หรือทำได้เท่านี้ เป็นเรื่องที่พนักงานควรตระหนักรู้ได้เองและควรนำไปคำนวณ KPI/ผลปฏิบัติงานปกติที่ไม่ใช่คะแนนพิเศษไหมครับ หากเนื้องานที่ทำได้ครบถ้วนตาม job description และหน้าที่แล้วส่วนตัวพอเจอคำนี้แล้วรู้สึกทริกเกอร์ เพราะที่ทำงานเก่าเอาคำว่า "ความคาดหวัง" มาคำนวณคะแนนทุกอย่าง แต่ตอนสั่งงานกลุ่มบอกว่าใครไม่ว่างไม่เป็นไร หรือใครไม่สะดวกไม่ต้องมาก็ได้ แล้วมาบอกที่หลังผ่านไปแล้วว่า "คาดหวังว่าเราที่เป็นซีเนียร์จะไป/ทำ.
แชร์ประสบการณ์ตรง ในฐานะคนที่ทั้งเจอหัวหน้าใช้ความคาดหวังเป็น KPI และมีลูกน้องที่ตัวผมเองใช้ความคาดหวังเป็น KPI ฮะ
ตอนผมเป็นลูกน้อง เจอหัวหน้าใช้ความคาดหวังเป็น KPI ประกอบกับการตัดเกรดแบบอิงกลุ่มตอนนั้นที่เป็นลูกน้องก็รู้สึกว่าทำไมหัวหน้าไม่เรียกรวมคุยเพื่อปรับ KPI ใหม่ และรู้สึกว่าการตัดเกรดอิงกลุ่ม+วิจารณญาณ ทำให้เกิด "ลูกรัก" และทำให้จ่ายโบนัสพนักงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ถึงเป้าจะได้โบนัสครับ
ตอนเป็นหัวหน้า ผมประเมินให้ลูกน้องคนหนึ่งที่อาวุโส และตำแหน่งสูงที่สุดในทีม เป็นคะแนนต่ำ เนื่องจากปฏิเสธงานที่มอบหมาย ผมก็โดนเค้าโทรมาต่อว่า ว่าทำไมประเมินให้ต่ำ ทั้ง ๆ ที่เค้าก็เป็น Sub-Leader แล้ว (KPI ไม่มีการระบุชัดเจนว่าตำแหน่งใด ต้องเป็น Leader ระดับใด)โดยผมยอมรับว่ามาจากการคาดหวังของผมเองว่าเค้าควรจะเป็น Team Leader ได้แล้ว และต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในฐานะพี่ใหญ่ของทีม เค้าจึงยังไม่พร้อมที่จะครองตำแหน่งนี้ครับ
ก็เป็นสองเรื่องที่ ใช้ "ความคาดหวัง" มาเป็นตัวปรับผลการประเมิน KPI ตามปกติที่ไม่ครอบคลุม (และไม่มีทางครอบคลุม) ครับ เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์นี้ในอดีตทำให้ผมต้องเข้มงวดกับการประเมินใด ๆ มากขึ้น และคิดในมุมกลับด้วยว่าลูกน้องจะรู้สึกอย่างไรในการประเมินแต่ละครั้ง
แต่จะใจดีเกินไปก็ไม่ได้ครับ
ที่ทำงานเก่าผม ความคาดหวังคือ คุณต้องทำแทนคนที่ตำแหน่งสูงกว่าได้ครับ
คือถ้าวัดด้วยมาตรวัดปรกติทุกคนทะลุปรอดหมดเพราะทำกันมานานมาก (6-7 ปีนี่ขั้นต่ำ) เลยต้องวางแบบนี้เพราะเค้าก็ไม่มีตำแหน่งให้ขึ้น คนที่อยู่ข้างบนเขาก็ไม่ยอมขึ้นกันน่ะครับ (ฮา)
ทำงานหนักมากเหมือนกันแฮะ
..: เรื่อยไป
Work life balance สมดุลได้ด้วยเงิน
ขยันถูกที่ก็คุ้มค่า
เจอเอาเงินอุดปากพอใจกันหมด ต่างกับอีลอนที่จะบีบให้พนักงานทำงานแบบขายวิญญาณแต่ดันเงินไม่ถึงเหมือนNVIDIA
ถ้าหุ้นร่วงทีวงแตกไหมนะ ขายหุ้นก็น่าจะยังขายไม่ได้ในเร็วๆ นี้
หุ้นจะขึ้นจะลงยังไงมันก็ยังมีค่าสูงอยู่ดีเหมือนเอาทองมาให้คุณแล้วอีกวันทองราคาตกมันก็ยังมีค่าอยู่ดีไม่ได้ตกจนกลายเป็นขยะ
ไม่ควรใส่ไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว
อย่างสมัยบริษัท ENRON ส่วนใหญ่ของพอร์ตลงทุนเพื่อเกษียณของพนักงานที่นั่นคือหุ้นของบริษัทแล้วมูลค่าหุ้นก็เหลือ 0 ......
ถึงช่วงเวลาที่ขายหุ้นบริษัทที่เราได้มา ควรขายเพื่อไปลงทุนใน Index Fund ดีกว่า