Tags:

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า การเกิดขึ้นของ "อุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ที่ต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้" (connected devices) ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต เครื่องอ่านอีบุ๊ก ทีวี เกมคอนโซล หรือแม้กระทั่งรถยนต์ ที่เชื่อมประสานร้อยเรียงกับเซิร์ฟเวอร์บนกลุ่มเมฆ กำลังทำให้นิยามของคำว่า "คอมพิวเตอร์" เปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ผมเลยอยากเขียนถึง "ประวัติศาสตร์บทใหม่" ของโลกไอทีที่กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง (จริงๆ อาจจะเริ่มไปแล้วด้วยซ้ำ)

งานเขียนชิ้นนี้จะไม่ลงรายละเอียดในระดับผลิตภัณฑ์ แต่จะมองภาพรวมว่ากำลังมีแนวโน้มใดก่อตัวขึ้นบ้าง และเรามีปัญหาอะไรรอคอยอยู่เบื้องหน้า

1. พีซียังไม่หายไปไหน

แม้ว่า "กระแส" ของอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ จะมาแรงมากแค่ไหน มันก็เป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ได้มาเบียดแย่งตลาดเก่ากับพีซี (ในที่นี้รวมถึงโน้ตบุ๊กและเน็ตบุ๊ก) ให้ตายจากเราไป ตลาดไอทีกำลังอยู่ในภาวะขยายตัว ยังมีที่ว่างพอสำหรับอุปกรณ์ทุกชนิดที่พิสูจน์แล้วว่าตอบโจทย์

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถประดิษฐ์วิธีการป้อนข้อมูลที่เหนือกว่า แม่นยำกว่า สะดวกกว่าคีย์บอร์ดได้ การใช้พีซีจะยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อไป

อย่างไรก็ตาม พีซีจะเริ่มสูญเสียภาวะความเป็นเจ้าตลาดหรือ dominant position จากเดิมที่ คอมพิวเตอร์คือพีซี ก็กลายเป็นว่าคอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ต่อเน็ตได้ งานบางอย่างที่ใช้อุปกรณ์อื่นแทนได้ ก็จะถูกโอนถ่ายมาทำบนอุปกรณ์อื่นๆ แทนบ้าง ทุกวันนี้ก็เห็นกันอยู่แล้วกับการท่องเว็บบนแท็บเล็ต หรือทวีตด้วยมือถือ

ผู้สร้างเนื้อหาหรือแอพพลิเคชันจะตีกรอบตัวเองเฉพาะพีซีไม่ได้อีกแล้ว เอาง่ายๆ ต่อจากนี้ไป คนทำเว็บจะต้องมองให้ทะลุกรอบเบราว์เซอร์บนพีซีแบบเดิม ไปยังการแสดงเว็บให้เหมาะกับจอขนาดอื่นๆ ทั้งแท็บเล็ต มือถือ ทีวี และเกมคอนโซล

2. เราจะอยู่ในโลกที่กระจัดกระจาย (fragmented world)

ต่อจากข้อแรก ยิ่งเรามีอุปกรณ์มากชนิดเท่าไร ภาระในการตอบสนองต่ออุปกรณ์เหล่านี้ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสร้างเว็บหรือแอพที่ใช้งานได้ดีเยี่ยมบนทุกแพลตฟอร์ม เจ้าของเนื้อหาหรือแอพพลิเคชันจะต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างฐานผู้ใช้ กับต้นทุนในการพัฒนาและดูแลรักษา

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ต่างๆ จะต้องต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างหนักหน่วง เพื่อรักษา "โมเมนตัม" ของตัวเองเอาไว้ แพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่างวินโดวส์พีซี หรืออุปกรณ์พกพาที่ใช้ iOS คงไม่มีปัญหามากนัก แต่แพลตฟอร์มระดับรองลงมาอย่างลินุกซ์พีซี, Chrome OS หรือ Windows Phone อาจจะเหนื่อยกันหน่อยถ้าอยากอยู่รอดต่อไปได้

หลังจากการต่อสู้ที่ว่า แพลตฟอร์มต่างๆ จะเริ่มควบรวมกันและลดจำนวนลง อันนี้เป็นธรรมชาติของวงการไอทีมาทุกยุคทุกสมัย (ถ้าอธิบายด้วยหลักทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ การมีจำนวนแพลตฟอร์มมาก ทำให้ต้นทุนในการรักษาทุกแพลตฟอร์มให้คงอยู่นั้นมากเกินไป) แพลตฟอร์มที่อ่อนแอจะบาดเจ็บล้มตาย ดังที่เคยเกิดมาแล้วกับ OS/2, BeOS, DreamCast และอื่นๆ

ตอนนี้แพลตฟอร์มที่เป็นไปได้สูงว่าจะอยู่ต่อไปได้คือ วินโดวส์/พีซี, Mac/iOS ที่จะหลอมรวมกันมากขึ้นเรื่อยๆ และ Android/Mobile ถ้ามองว่าตลาดมีพื้นที่ได้สำหรับผู้เล่นประมาณ 5 ราย ก็แปลว่าที่ว่างที่เหลือมีไม่เยอะเท่าไรนัก

3. โซลูชันในการพัฒนาแบบข้ามแพลตฟอร์ม

ด้วยภาวะ fragmentation ของแพลตฟอร์มแบบนี้ จะเป็นโอกาสให้คนที่สามารถสร้างเครื่องมือในการถ่ายทอดเนื้อหาแบบข้ามแพลตฟอร์มกันได้ (ในอดีต Java เคยพยายามมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ)

ผมคิดว่า ณ ตอนนี้มีตัวเลือกที่เข้าข่ายเพียง 2 อย่าง คือ

  1. Web runtime - มองว่าเบราว์เซอร์เป็นรันไทม์ แล้วทำทุกอย่างเป็นเว็บแอพพลิเคชัน เทคโนโลยีอย่าง HTML5 และ JavaScript Engine จะทำลายข้อจำกัดของเว็บแบบเดิมๆ ลงไป ส่วนรันไทม์ตัวสำคัญคงหนีไม่พ้น WebKit ที่จะไปอยู่ทุกหนทุกแห่ง
  2. Flash/AIR - ช่วง 2-3 ปีข้างหน้าคงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Adobe ว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมของตัวเองได้แค่ไหน ต้องเอา Flash/AIR ไปลงให้มากแพลตฟอร์มที่สุด ด้วยประสิทธิภาพที่ยอมรับได้

เครื่องมือทั้งสองอย่างไม่ได้มีตลาดซ้อนทับกันทั้งหมด น่าจะอยู่ต่อไปได้ทั้งคู่ ในฐานะทางเลือกราคาถูกในการพัฒนาแอพพลิเคชันให้ใช้ได้บนอุปกรณ์มากชนิด (อนาคตอันใกล้ เราคงมีวิธีการที่ดีกว่านี้สำหรับการแสดงผลเนื้อหาเดียวกันบนอุปกรณ์ต่างกัน เช่นเดียวกับที่ CMS เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คล้ายๆ กันนี้)

ส่วนเครื่องมือที่ผูกกับแพลตฟอร์ม เช่น Objective-C หรือ Silverlight ก็คงมีชีวิตผูกกับแพลตฟอร์มของตัวเอง ถ้าแพลตฟอร์มใหญ่จริงก็คงอยู่ต่อไปได้ไม่มีปัญหาอะไร

4. เครือข่ายและก้อนเมฆ อำนาจในการควบคุมข้อมูล

พลังของเครือข่ายและเทคโนโลยีด้าน cloud computing จะผลักดันให้เรานำข้อมูลไปเก็บบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น การแบ็คอัพ การเข้าถึงข้อมูล ต้นทุนในการเก็บข้อมูล ฯลฯ แต่ก็จะสร้างปัญหาใหม่อีกหลายอย่างเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง "อำนาจในการควบคุม" ข้อมูล เช่น

  • ความเป็นส่วนตัว: ผู้ให้บริการจะแอบดูข้อมูลของเราหรือไม่ เอาข้อมูลไปให้คนอื่นหรือเปล่า
  • การเข้าถึงข้อมูล: ประเด็นอย่าง net neutrality เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะเข้าถึงข้อมูลของเราได้ครบถ้วน แต่ถ้าจ่ายเพิ่มอาจจะโหลดได้เร็วกว่าปกติ? นอกจากนี้เรื่องของ availability ก็สำคัญ ปัญหา Facebook/Twitter/Skype ล่มก็เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เห็นชัดอยู่แล้ว
  • การถือครองข้อมูล: ข้อมูลยังเป็นของเราหรือไม่ ถ้าอยากสั่งลบข้อมูลบางอย่าง จะทำได้ดั่งใจแค่ไหน ผู้ให้บริการจะปิดกิจการหนีหรือเปล่า

นอกจากระดับอินเทอร์เน็ตแล้ว การแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับ personal network ก็น่าสนใจเช่นกัน เช่น ถ้าผมมีมือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก ฯลฯ รวมกันทั้งหมด 10 ชิ้นในบ้านเดียวกัน วิธีที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างอุปกรณ์เหล่านี้คืออะไรกันแน่ เราควรเก็บทุกอย่างไว้บนอินเทอร์เน็ตภายนอกบ้าน แล้วส่งกลับไปมาทุกครั้งอย่างนั้นหรือ? หรือเราควรมีเซิร์ฟเวอร์กลางในบ้าน? หรือจะใช้การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ ad hoc ระหว่างอุปกรณ์แต่ละชิ้น? ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่จะต้องตอบกันในเร็วๆ นี้

5. วิธีใหม่ๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์

เราใช้คีย์บอร์ดและเมาส์กันมานานหลายสิบปี แต่ 3-4 ปีให้หลังนี้ วิธีการปฏิสัมพันธ์ (interaction) กับคอมพิวเตอร์แบบใหม่ๆ เริ่มปรากฎให้เห็นในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้นิ้วสัมผัส (สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, Nintendo DS), motion control (Wii/PlayStation Move), การสั่งงานด้วยเสียง (Voice Actions บน Android), body gesture (Kinect) กล้องถ่ายภาพ (พวก augmented reality ต่างๆ)

เทคโนโลยีเหล่านี้อาจใช้งานได้สำหรับงานเฉพาะของตัวเอง (เช่น การเล่นเกมด้วย Kinect หรือสั่งให้ค้นหาข้อมูลด้วย Voice Actions) แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องขึ้นไปท้าทายกับเมาส์และคีย์บอร์ดว่าจะสามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่

เทคโนโลยีบางอย่างเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับภาษา เช่น Voice Actions หรือการใช้คีย์บอร์ดบนจอสัมผัส ซึ่ง จะมีปัญหากับภาษาไทยแน่นอน

นี่อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะประดิษฐ์วิธีการป้อนข้อมูลภาษาไทยแบบใหม่ๆ (เช่น คีย์บอร์ดภาษาไทยของ BlackBerry หรือคีย์บอร์ดจอสัมผัสอย่าง TSwipe) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้านภาษาให้ก้าวตามกระแสโลกให้ทัน (เช่น ซอฟต์คีย์บอร์ด QWERTY บน WP7 หรือ Voice Actions ที่รองรับภาษาไทย)

6. Location

ผมคิดว่า location จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโลกไซเบอร์ ให้กลับมา "ซ้อนทับ" กับโลกความเป็นจริงทางกายภาพอีกครั้ง ทุกวันนี้บริการอย่าง Foursquare ก็เริ่มแสดงให้เราเห็นแล้วว่ามันมีศักยภาพขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม กว่า location จะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานหลายอย่างให้ได้เสียก่อน

  • ความง่ายและแม่นยำในการระบุพิกัด: ทุกวันนี้การหาพิกัดผ่านมือถือยังยุ่งยากเกินไป เช่น ต้องเปิด GPS ก่อน, ประเทศไทยมีอาคารในร่มเยอะ GPS จับสัญญาณไม่ได้, ข้อมูลสถานที่ยังมีน้อยและไม่ครบถ้วน ฯลฯ
  • ความเป็นส่วนตัว: ผู้ใช้จะสะดวกใจมากน้อยแค่ไหนในการเปิดเผยพิกัดของตัวเอง
  • ความปลอดภัย: ทุกวันนี้เริ่มมีปัญหาอาชญากรรมจาก location บ้างแล้ว ถ้าไม่สามารถสร้างหลักประกันความปลอดภัยได้ ก็ไม่มีใครกล้าใช้จริงจัง
  • บริการที่คู่ควร: อะไรคือแรงจูงใจที่เราควรเปิดเผยพิกัดของตนเอง แค่เพียงจะได้ badge หรือส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ นั้นยังไม่น่าจะพอ

7. Economy of Scale การผูกขาดด้วยขนาด

วงการไอทีมีลักษณะเฉพาะอยู่อย่างหนึ่งคือ winner takes (nearly) all ผู้ชนะในศึกใดๆ จะเติบใหญ่จนครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด (ตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้คือไมโครซอฟท์ในตลาด OS หรือกูเกิลในตลาด search)

พอมาเป็นโลกในยุค cloud คุณลักษณะเฉพาะนี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น

ด้านหนึ่ง เมื่อบริการออนไลน์ของเราเริ่มบูม ผู้ใช้เพิ่มจำนวนขึ้น แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มีปัญหาเรื่องโหลดของเซิร์ฟเวอร์ตามมา และถ้าเรามีผู้ใช้ระดับสิบล้านคน ร้อยล้านคน ค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน แรงคน ย่อมเพิ่มสูงตามไปด้วย เมื่อค่าใช้จ่ายนี้เพิ่มสูงขึ้นไปยังระดับที่บริษัทธรรมดาไม่สามารถรับไหว ก็จะบีบให้ผู้เล่นในตลาดเหลือเพียงแค่ "รายใหญ่" เท่านั้น

ขนาดเว็บไซต์วิดีโอ "รายใหญ่" อย่าง YouTube เอง ยังไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพัง ถ้าไม่มีกูเกิลช่วยชดเชยค่าแบนด์วิธให้ ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มของกูเกิล YouTube ก็คงอยู่ไม่ได้มาถึงขนาดนี้

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือบริการอีเมลขององค์กร ผู้ให้บริการรายเล็กต้องล้มหายตายจากไปมาก เมื่อเจอกับคู่แข่งอย่าง Google Apps ที่รุกเข้ามาด้วยฟีเจอร์ที่เหนือกว่า อัพไทม์ที่ดีกว่า ในราคาที่เท่ากันหรืออาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ

นอกจากค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ อีกมาก เช่น ค่าวิจัย ค่าออกแบบ ต้นทุนทางสังคมที่ใช้ดึงดูดวิศวกรระดับหัวให้มาร่วมงานด้วย ฯลฯ ยังไงเสีย HTC หรือ LG ก็ย่อมมีกองทัพวิศวกรที่เหนือกว่า Welcomm หรือ i-Mobile อย่างเทียบไม่ติด แต่กลับแข่งขันในตลาดเดียวกัน

ที่กูเกิล (และบริษัทระดับเดียวกันอย่างไมโครซอฟท์หรือแอปเปิล) ทำแบบนี้ได้ ก็เพราะ economy of scale ที่เกิดจากความใหญ่ของบริษัทเอง ช่วยกดให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำลงมากๆ ท้ายที่สุดแล้วบริษัทเล็กจะแข่งไม่ได้ และบริษัทขนาดใหญ่ก็จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ จากการผูกขาดด้วยขนาดและการควบรวม

แน่นอนว่ามีบริษัทอย่าง Facebook หรือ Twitter ที่อาศัยช่องว่างทางการตลาดเติบโตขึ้นมาได้ แต่ก็มีบริษัทไม่ดังอีกจำนวนมากกว่ามากที่ล้มหายตายจากไป คำถามก็คือบริษัทไทยจะอยู่ได้อย่างไร ยามที่โลกาภิวัฒน์และอินเทอร์เน็ต บีบให้เราต้องแข่งกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างนี้

8. โมเดลธุรกิจแบบใหม่ กับกระบวนการจ่ายเงินแบบเดิม?

การเกิดขึ้นของอุปกรณ์แบบใหม่ๆ บริการแบบใหม่ๆ ย่อมทำให้เกิดโมเดลการทำเงินแบบใหม่ๆ ตามไปด้วย ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จก็อย่างเช่น ระบบโฆษณาของกูเกิล, การขายแอพของแอปเปิล, การเก็บค่าสมาชิกของ Netflix และ Xbox Live, การขายหนังสือผ่าน Whispernet

ปี 2011 นี้เราจะพบเห็นการทดลองโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการขายนิตยสารออนไลน์ผ่านแท็บเล็ต, การจ่ายเงินเพื่อซื้อ "ทวีต" ที่โดดเด่น, การขายไอเทมในเกมบน social network ฯลฯ ซึ่งก็จะมีทั้งวิธีที่เวิร์คและต้องม้วนเสื่อกลับไป

แต่ "รากฐาน" ที่คอยสนับสนุนโมเดลธุรกิจแบบนี้ ก็คือระบบการจ่ายเงิน (payment system) ที่คล่องตัวและปลอดภัย

สังคมตะวันตกไม่มีปัญหานี้เพราะคุ้นเคยกับบัตรเครดิต ในขณะที่สังคมออนไลน์ไทยก็เจอปัญหาเรื้อรัง "ลูกค้าไม่มีบัตรเครดิต" ทำให้การจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการออนไลน์ไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะมีคนเคยลองวิธีการจ่ายเงินแบบใหม่ๆ เช่น Paysbuy หรือการจ่ายเงินผ่านบัตรเติมเงินมือถือ แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างมันกลับไม่ประสบความสำเร็จ และกลับมาตายรังที่การโอนเงินผ่านธนาคาร วิธีพื้นฐานที่อาจจะไม่สะดวกอยู่บ้างแต่ตอบโจทย์ของคนหมู่มาก

คำถามคือ วิธีการจ่ายเงินแบบนี้จะยังใช้ได้กับโมเดลธุรกิจแบบใหม่ๆ หรือเปล่า? ผมสามารถ "โอนเงินผ่านธนาคาร" เพื่อซื้อแมกกาซีนบน iPad ได้ไหม?

ในอีกไม่ช้า เราจะเห็นการทดลองวิธีการจ่ายเงินแบบใหม่ๆ อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลงบิลค่ามือถือรายเดือน หรือจ่ายผ่านมือถือระบบ NFC แบบในญี่ปุ่น ซึ่ง Nexus S และกูเกิลพยายามจะทำอยู่

ถ้าเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การทำเงินจากบริการออนไลน์แบบใหม่ๆ ก็จะยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะคนชั้นกลางที่มีบัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่งจะกระทบชิ่งมายังผู้ให้บริการของไทยที่เติบโตไม่ได้เพราะฐานลูกค้าไม่มากพอ

9. ปัญหาเรื่อง "พรมแดน" ระหว่างประเทศ

หนังสือ Revolutionary Wealth ของ Alvin Toffler เขียนไว้ว่า วงการหรืออุตสาหกรรมแต่ละแห่ง เดินหน้าด้วยความเร็วไม่เท่ากัน และเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างวงการ ปัญหาก็จะตามมา เช่น ภาคธุรกิจเคลื่อนตัวเร็วจนกลไกภาคราชการออกกฎระเบียบตามไม่ทัน ผู้บริโภคก็จะถูกเอาเปรียบ เป็นต้น

ถ้ามองเฉพาะภายในภาคธุรกิจเอง อุตสาหกรรมแต่ละอย่างก็มีจังหวะเร็วช้าที่แตกต่างเช่นกัน

ธุรกิจออนไลน์นั้นวิ่งเร็วที่สุด บริการอย่าง Gmail หรือ Facebook ให้บริการคนทั้งโลกพร้อมกัน ได้ฟีเจอร์ใหม่พร้อมกัน แต่ธุรกิจไอทีอื่นๆ อาจจะวิ่งได้ไม่เร็วขนาดนั้น ที่สำคัญคือจังหวะความเร็วของแต่ละประเทศนั้นต่างกันเสียด้วย

นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยดาวน์โหลด iTunes ได้ แต่กลับไม่สามารถซื้อหนังหรือเพลงจาก iTunes ได้ เพราะว่าอุตสาหกรรมเพลงไม่ได้เดินจังหวะเดียวกับอุตสาหกรรมออนไลน์ การขายเพลงมีกระบวนการด้านสัญญา ด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งต้องเจรจากันอีกวุ่นวาย

นี่เป็นเหตุผลเดียวกับที่ Google Voice ใช้งานนอกสหรัฐลำบาก แม้ว่ามันจะรวมมาในมือถือ Android ที่ขายทั่วโลก เหตุผลก็คือ Google Voice เกี่ยวข้องกับวงการโทรคมนาคม ที่ต้องผ่านการกำกับดูแล ออกใบอนุญาต ทำให้ "จังหวะ" การเดินก้าวตาม Android ไม่ทัน

เราจะเจอปัญหา "จังหวะและพรมแดนไม่ซิงก์กัน" มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราต้องพึ่งพิงบริการไอทีจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะสหรัฐ) มากขึ้นทุกวัน แต่จิ๊กซอส่วนประกอบอื่นๆ กลับติดขัดปัญหาในด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องไอที

ตรงนี้เป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส คนที่มองเห็นช่องว่างเหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จจากการสร้างบริการสอดแทรกเข้ามาได้ (แต่ด้วยปัจจัยจากข้อ 7 และ 8 ก็อาจจะทำได้ลำบากอยู่บ้าง)

10. อุปกรณ์ใหม่ พฤติกรรมการใช้งานแบบใหม่ ปัญหาสังคมแบบใหม่

เป็นเรื่องปกติของสังคม เมื่อเจอวิธีการทำงาน วิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแบบใหม่ๆ ก็จะเจอปัญหาใหม่ตามมา เราเคยเจอกรณีลักษระนี้มาแล้วจาก IRC และ Camfrog ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะเจอกับ Facebook, Foursquare หรือ FaceTime อีก

ปัญหาทางสังคมชุดใหม่ๆ ก็จะครอบคลุมทุกโดเมน ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดเทคโนโลยี (โฆษณา Disconnect to Connect ของดีแทค) ช่องว่างดิจิทัลที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ (คนกลุ่มนึงมี iPhone 4 รุ่นล่าสุด ในขณะที่คนที่เข้าไม่ถึงก็ยังเข้าไม่ถึงเหมือนเดิม) การรู้เท่าทันเทคโนโลยี (คนส่วนหนึ่งทวีตแบบติดพิกัดโดยไม่รู้ตัว) การควบคุมและเซ็นเซอร์โดยรัฐ (อันนี้คงไม่ต้องอธิบายมั้ง) ความเป็นส่วนตัว (คลิปหลุดทั้งหลาย) ฯลฯ

ผมคงไม่ต้องลงรายละเอียดตรงนี้มากเดี๋ยวจะเบื่อกันหมด แต่ข้อสรุปก็คือเราต้องเตรียมรับมือปัญหาเหล่านี้ ถ้าหากต้องการให้อุตสาหกรรมไอทีก้าวต่อไปในสังคมไทยที่ "คิดอะไรไม่ออกก็โทษเทคโนโลยี"

สรุป

ด้านเทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา เราใช้เทคโนโลยีเดียวกับโลก แต่ด้านอื่นๆ ของเราอาจก้าวตามไม่ทันโลก

สรุปปัญหาที่พอมองเห็นและพยากรณ์ได้อีกรอบ

  • อุปกรณ์ใหม่ๆ มากมาย คำถามคือจะใช้อะไร ควรเลือกข้างไหน มีวิธีไหนให้มันทำงานร่วมกันได้บ้าง
  • ข้อมูลจะไปอยู่บนเน็ตหมด สร้างอำนาจต่อรองให้กับคนดูแลข้อมูล และคนคุมท่อส่งข้อมูล
  • การผูกขาดด้วยขนาดของผู้ให้บริการไอทีรายใหญ่จากต่างประเทศ จนผู้ให้บริการในประเทศแข่งขันไม่ได้
  • ปัญหาเรื่องพรมแดนหรือพื้นที่การให้บริการ ที่อาจมาไม่ถึงเมืองไทย
  • ระบบการจ่ายเงินที่ยังไม่พัฒนา
  • วิธีการป้อนข้อมูลภาษาไทยบนอุปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ที่ต้องวิ่งตามแก้ไขกันอีกแล้ว
  • ปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์หรือบริการแบบใหม่ๆ

สวัสดีปีใหม่ 2011 และยินดีต้อนรับเข้าสู่ "ประวัติศาสตร์บทใหม่ของโลกไอที" ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: tana
Contributor Symbian Windows
on 1 January 2011 - 10:35 #246656
tana's picture

สนุกมาก เขียนให้อ่านได้อย่างไม่น่าเบื่อเลยครับ

By: Fzo
Contributor Android
on 1 January 2011 - 11:07 #246662
Fzo's picture

อยากให้รายการแบไต๋ เอารายงานนี้ไปทำต่ออีกที


WE ARE THE 99%

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 1 January 2011 - 15:49 #246698 Reply to:246662
mr_tawan's picture

แต่เขาอาจจะยึด content เป็นของตัวเองไปเลยเนี่ยสิ ... น่ากลัว


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: khajochi
Writer iPhone In Love
on 4 January 2011 - 15:59 #247347 Reply to:246698
khajochi's picture

+1 ใช่เลย บางทีก็ไม่ให้เครดิตต้นทาง T_T


แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com

By: wirachat
iPhone
on 1 January 2011 - 11:15 #246663
wirachat's picture

เป็นบทความที่ดีมากๆครับ และก็อ่านแล้วก็สนุกดี ขอบคุณครับ

By: yiam
Android Symbian Windows
on 1 January 2011 - 11:39 #246665

ขอบคุณครับ เป็นบทความรับปีใหม่ที่มีประโยชน์มากๆครับ

By: porple on 1 January 2011 - 12:00 #246667

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณ MK ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

By: 9rockky
Android In Love
on 1 January 2011 - 12:06 #246668

เป็นบทความที่ดีมากครับ

By: FlySky
iPhone Android Ubuntu
on 1 January 2011 - 12:30 #246675
FlySky's picture
  1. คอมพิวเตอร์ไม่ล้มหายตายจากไปไหนง่ายๆ เพียงแต่ผู้ใช้จะเลือกใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ตามการใช้งานมากขึ้น (task-oriented) เช่น จะพิมพ์รายงานที่ทำงานหรือที่บ้าน ก็เปิดคอม เปิดแอพพลิเคชั่น แล้วก็ใช้ คีย์บอร์ด ถ้าจะแค่ตอบเมลล์สั้นๆ ก็ตอบจากไอโฟน จะดูหนังบนเครื่องบิน ก็งัดไอแพดออกมาใช้ ต่างจากเมื่อก่อน ที่อะไรๆ ก็เปิดคอมอย่างเดียว

ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆก็ต้องคิดหนักกว่าเดิม
ใช่ว่า จะผลิตอุปกรณ์อย่างเดียว ที่ทำได้ทุกอย่าง..แล้วจะมีคนซื้อ..​แล้วจะมีคนใช้ผู้ใช้เองก็ต้องฉลาดเลือกมากขึ้น เลือกที่จะซื้ออุปกรณ์ที่ใช้งานได้อย่างที่ต้องการ ประหยัดเวลา ใช้งานง่าย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
คำถามแรกที่ควรจะตอบตัวเองให้ได้คือ ..ไอ้ที่กำลังจะซื้อเนี่ยจะเอาไปใช้ทำอะไร..

  1. เหตุผลที่ระบบการจ่ายเงินออนไลน์ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา แพร่หลายมากกว่าในไทยมากนั้น เป็นเพราะว่า ผู้ใช้มีทางเลือกที่จะใช้ บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต หรือ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้ยังสามารถผูกบัญชีธนาคาร กับบริการ หลายๆอย่าง เช่น paypal จะจ่ายบิลค่าโทรศัพท์ หรือ ค่ารายเดือนบัตรเครดิต

การขอบัตรเดบิตก็ง่ายแสนง่าย แค่มีบัญชีในธนาคารนั้นๆ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอะไรทั้งสิ้นส่วนบัตรเครดิต แค่มีรายได้ขั้นต่ำ ยิ่งถ้าเงินเดือน หรือค่าจ้าง ฝากตรงเข้าบัญชีทุกๆเดือน คุณจะได้รับ จดหมายเชิญชวนจากหลายๆ ธนาคาร ให้สมัครบัตรเครดิตอย่างง่ายดาย

บทความเขียนได้น่าอ่านมากค่ะ

By: tekkasit
Contributor Android WindowsIn Love
on 1 January 2011 - 17:48 #246712 Reply to:246675
tekkasit's picture

จริงบ้านเรามีบัตรเดบิตมาตั้งนานแล้วนะ แต่ทำไม ผมรู้สึกว่ามันไม่ดังก็ไม่รู้ ตอนนี้ก็มีแต่คนโทรมาทำบัตรเครดิต ไม่มีปรี่มาขอให้ทำบัตรเดบิต

หรือมันอยู่ที่ค่านิยมของคนไทย อดออมน้อย ไม่มีเงินเก็บในธนาคาร?

By: FlySky
iPhone Android Ubuntu
on 1 January 2011 - 21:52 #246759 Reply to:246712
FlySky's picture

เห็นด้วยค่ะ คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่า การมีบัตรเดบิตมันจะดีตรงไหน เค้าไม่เห็นการใช้ประโยชน์จากบัตร บวกกับในไทย ถ้าจะใช้บัตรเดบิตก็มีพวกค่าธรรมเนียมรายปีอีก ส่วนใหญ่ก็เลยมีแค่บัตรเอทีเอ็ม ที่เค้ารู้แน่ๆว่าใช้งานกดเงินสดได้จริงๆ

ดูแล้วเหมือนจะติดขัดเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับบัตรมากกว่า ถ้าจะทำธุรกรรมออนไลน์ จริงๆ ใช้เลขบัตรเดบิตก็ได้แต่มันก็จริง ที่อาจจะเป็นเพราะค่านิยมที่จะใช้บัตรเครดิตใช้เงินในอนาคต ดีกว่าควักเงินออกจากกระเป๋าตัวเอง

By: joomla
iPhone Ubuntu
on 1 January 2011 - 23:55 #246780 Reply to:246759
joomla's picture

เกือบทุกธนาคารบังคับให้ทำบัตรเดบิตหมดแล้วครับ โดยเฉพาะ BBL, SCB, KBANK

By: chayaninw
Writer MEconomics Android In Love
on 2 January 2011 - 04:36 #246798 Reply to:246759
chayaninw's picture

ผมเข้าใจตอนแรกๆ ที่มีบัตรเดบิตเข้ามาในไทย จะไม่ใช่บัตรแบบวีซ่าเดบิตน่ะครับ (เหมือนในอเมริกาเหนือที่บัตรเดบิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็นบัตรเดบิตธรรมดา ไม่มีวีซ่าเดบิตให้ใช้ ส่วนหนึ่งคงเพราะการเปิดบัตรเครดิตเป็นเรื่องง่าย) ซึ่งบัตรพวกนี้จะไม่สามารถใช้ได้กว้างขวางแบบบัตรเครดิต ต่างจากปัจจุบันที่เป็น Visa ทำให้สามารถใช้ได้เหมือนเป็นบัตรเครดิต (ยกเว้นที่หักเงินเลย ไม่ได้เป็นเครดิต)

ปัจจุบัน ธนาคารใหญ่ๆ จะไม่ค่อยออกบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแล้ว อย่างผมใช้ KBank กับ BBL ขั้นต่ำก็เป็นวีซ่าเดบิต ส่วน BAY ที่ดูตอนนี้ก็ตั้งค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มกับเดบิตเท่ากัน

(แต่ถ้าพูดถึงเรื่องจ่ายเงินออนไลน์แล้ว โซลูชั่นที่ผมชอบมากคือ K-Web Shopping Card ครับ)

By: jirayu
Contributor Windows Phone Blackberry Symbian
on 2 January 2011 - 15:59 #246874 Reply to:246798

+1

ตอนได้ยินเรื่อง Debit แรกๆ ก็ได้ยินว่ามีเยอะเหมือนกัน ที่เอาไปจ่ายเป็น visa ไม่ได้ แต่ตอนที่ผมเปิดทีแรกเป็น Be 1st มีตรา visa หราอยู่บนบัตร ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าใช้ได้แน่นอน


By: iStyle
Contributor iPhone Android Symbian
on 2 January 2011 - 19:28 #246898 Reply to:246712
iStyle's picture

บัตรเดบิตผมใช้แทนบัตรเครดิตไม่ได้น่ะครับ..
เซงมาก-*-
(คือไม่มีเงินเดือนที่จะทำบัครเครดิต แต่มีเงินในธนาคารให้หักจากเดบิต แต่เทคโนโลยีไม่รับ..)


May the Force Close be with you. || @nuttyi

By: chayaninw
Writer MEconomics Android In Love
on 3 January 2011 - 09:37 #246979 Reply to:246898
chayaninw's picture

ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ลองติดต่อที่ธนาคารดูน่าจะมีทางออกอยู่นะครับ บางทีบัตรเดบิต ที่ธนาคารจะกันเอาไว้ โดยที่สามารถไปเปิดให้ใช้จ่ายออนไลน์ได้

อย่างของกสิกร อ่านในเว็บบอกไว้ว่า ถ้าจะเอาบัตรไปจ่ายออนไลน์ ให้เอาบัตรไปเปิดบริการที่ตู้ ATM ก็จะใช้ได้ ( ลิงก์ ) ธนาคารอื่นก็น่าจะทำได้คล้ายๆ กัน

หรือถ้าธนาคารที่ใช้อยู่ไม่มีทางไหนที่จะใช้ได้เลยจริงๆ แล้วจำเป็นต้องใช้ ผมว่าก็คงต้องลองพิจารณาเรื่องใช้บริการของธนาคารอื่นครับ

By: porple on 3 January 2011 - 12:59 #247003 Reply to:246712

บัตรเดบิตในอเมริกา สามารถเบิกเกินวงเงินได้ แต่ในไทยทำไม่ได้
ส่วนบัตรเดบิตในยุโรป ร้านค้าจะอยากรับมากกว่ารับเครดิต
แต่ในสายตาของคนทำงานแบงค์บอกว่า บัตรเดบิตอันตรายกว่า
เพราะถ้าหายไป แล้วโดนเอาไปรูด เงินจะโดนตัดออกจากบัญชีไปเลย
ไม่เหมือนบัตรเครดิต ที่จะมีการส่งยืนยันยอดมาให้เราดูก่อน ถ้ามียอดใช้จ่ายผิดปกติ พนงจะโทรมาถามทันที
แต่เราชอบบัตรเดบิตมากกว่า
ไม่ชอบบัตรเครดิตตรงที่มันชอบทำเคมเปญมากระตุ้นให้เราใช้เงิน
ใช้วงเงินเท่านี้จะมีแต้มสะสมเท่าไหร่ เราว่ามันไม่เวิร์คถ้าอยากจะออมตังค์อ่ะนะ

By: bahamutkung
Contributor Android WindowsIn Love
on 3 January 2011 - 17:44 #247060 Reply to:247003
bahamutkung's picture

+1 ให้กับ "ไม่ชอบบัตรเครดิตตรงที่ชอบกระตุ้นให้เราใช้เงิน"


"With the first link, the chain is forged. The first speech censured, the first thought forbidden, the first freedom denied, chains us all irrevocably."

By: paulie1308
iPhone
on 1 January 2011 - 12:59 #246687

เยี่ยมมากเลยครับ บทความนี้ อ่านสนุกได้สาระ

By: platalay
iPhone Windows Phone Android Windows
on 1 January 2011 - 14:12 #246692

ผู้สร้างเนื้อหาหรือแอพพลิเคชันจะตีกรอบตัวเองเฉพาะพีซีไม่ได้อีกแล้ว เอาง่ายๆ ต่อจากนี้ไป คนทำเว็บจะต้องมองให้ทะลุกรอบเบราว์เซอร์บนพีซีแบบเดิม ไปยังการแสดงเว็บให้เหมาะกับจอขนาดอื่นๆ ทั้งแท็บเล็ต มือถือ ทีวี และเกมคอนโซล

คนทำมองครับ แต่ที่ไม่สนคือคนจ้าง

  1. โมเดลธุรกิจแบบใหม่ กับกระบวนการจ่ายเงินแบบเดิม?

อันนี้ผมอยากรู้ของจีน ว่าจีนเค้าเก็บค่าใช้บริการยังไง แล้วจำนวนคนที่สามารถจ่ายได้ง่ายกับจำนวนประชากร ต่างกันแค่ไหน

By: Lovelyja
Contributor Android
on 4 January 2011 - 14:16 #247310 Reply to:246692
  • แต่ที่ไม่สนคือคนจ้าง

+10 สุดซึ้ง

By: gd_ab
Contributor Android Ubuntu Windows
on 5 January 2011 - 09:52 #247575 Reply to:246692
gd_ab's picture

สนใจเรื่อง payment นะครับ อย่างของ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี เค้าทำกันยังไงมีโมเดลอื่นนอกจากบัตรเครดิตอะไรบ้าง อย่างเช่น

  • บัตรเติมเงินเกม, iTunes Gift card, บัตรเติมเงินมือถือ ผมว่าน่าจะมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในเมืองไทยสูง
  • NFC น่าจะเป็นเทรนด์ที่มาแรง แต่จะเวิร์คสำหรับเมืองไทยรึเปล่าต้องมาดูกันอีกที
By: b0ner
iPhone Android Ubuntu
on 1 January 2011 - 15:06 #246696
b0ner's picture

สังคมไทยที่ "คิดอะไรไม่ออกก็โทษเทคโนโลยี"

....อืมมมม....

By: manaeeee on 1 January 2011 - 15:35 #246697

นอกเรื่องนิดนึงนะครับ อยากอ่าน สามก๊ก ของวงการ IT อ่ะครับ ที่ คุณ mk บอกว่าจะเขียน

By: mk
Founder Android
on 1 January 2011 - 16:53 #246701 Reply to:246697
mk's picture

ยังไม่ค่อยพร้อมครับ ขอรวบรวมข้อมูลต่ออีกหน่อย ขออภัยที่ล่าช้า

By: manaeeee on 1 January 2011 - 17:08 #246704 Reply to:246701

ครับผม ไม่เป็นไรครับ

By: dmitry
iPhone Windows
on 1 January 2011 - 17:08 #246702

ขอขอบคุณมากครับ ทบความน่าสนใจมาก คุณmkเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านนี้จริงๆ เขียนได้ครอบคลุมประเด็นต่างๆมากมาย ทั้งนี้ผมมีคำถามอยู่จุดหนึ่งครับ

ตอนนี้แพลตฟอร์มที่เป็นไปได้สูงว่าจะอยู่ต่อไปได้คือ วินโดวส์/พีซี, Mac/iOS ที่จะหลอมรวมกันมากขึ้นเรื่อยๆ และ Android/Mobile

ที่ผมเข้าใจ เป็นดังนั้นครับ Windows/PC Windowsเป็นOSที่กินตลาดPCส่วนใหญ่อยู่ Mac/iOS ผมเข้าใจว่ามาจากAppleเหมือนกัน แต่หลอมกันยังไงครับ นึกภาพไม่ออก Android/Mobile androidน่าจะเจาะตลาดmobileได้ดี เพราะใช้กับอุปกรณ์ทั้งราคาไม่สูงจนไปถึงระดับflagship

ผมไม่ค่อยเข้าใจความสัมพันธ์ของการหลอมรวมกันเท่าไร รบกวนคุณmkด้วยอธิบายเป็นคู่ๆเพิ่มได้ไหมครับ

By: mk
Founder Android
on 1 January 2011 - 18:38 #246716 Reply to:246702
mk's picture

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Mac OS X Tiger ครับ

By: dmitry
iPhone Windows
on 1 January 2011 - 20:58 #246740 Reply to:246716

พอบอกว่า Mac OS X Tiger ผมเข้าใจทันทีเลย ขอบคุณมากครับรบกวนขอตัวอย่างของทางMicrosoftกับGoogleด้วยจะได้ไหมครับ

By: peeraphat
iPhone
on 3 January 2011 - 14:24 #247015 Reply to:246716

น่าจะเป็น Lion มากกว่าหรือเปล่า

By: mk
Founder Android
on 3 January 2011 - 21:24 #247105 Reply to:247015
mk's picture

โอ้ใช่ครับผมพิมพ์ผิด แหะๆ (แล้วข้างบนเขาเข้าใจตรงกันหรือเปล่าหว่า?)

By: kraivit on 1 January 2011 - 19:46 #246726

like

By: HMage
Android Windows
on 1 January 2011 - 22:59 #246772

หัวข้อ ข้ามแพลตฟอร์ม มีอีกตัวที่น่าติดตามครับ Unity 3Dhttp://unity3d.com/

เป็นเกมเอนจินที่เค้าโฆษณาว่าเปิดได้ทั้ง Windows, Mac, Web Browser, iPhone หรือแม้กระทั่ง Wiiและผมก็เริ่มเห็นเกมออกมาหลายเกมแล้วบน iPhone กับบนเว็บ แน่นอนว่ามีบางเกมอยู่ใน Facebook ด้วย

By: joomla
iPhone Ubuntu
on 1 January 2011 - 23:57 #246781
joomla's picture

ปีใหม่นี้ mk ได้รับคำชมอื้อเลย ผิดกับปลายปีที่ผ่านมาเยอะ :>

By: mk
Founder Android
on 2 January 2011 - 10:28 #246819 Reply to:246781
mk's picture

ปลายปีที่ผ่านมามีอะไรเหรอครับ?

By: pawoot.com
Writer Android
on 2 January 2011 - 00:10 #246785
pawoot.com's picture

เยี่ยมมากครับ มารค์ อ่านแล้วกระฉับ มองเห็นอนาคตวงการเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ ครับ


Pawoot.com

By: pb98
iPhone Android
on 2 January 2011 - 11:20 #246826

+1

By: TAXZe
iPhone Android Ubuntu Windows
on 2 January 2011 - 12:39 #246838

ตื่นมาก็เอา iphone4 รีโมทเข้าเซิฟ เชคอะไรกิ๊กๆก๊อกๆ

ก่อนที่จะอาบน้ำเสร็จแล้วค่อยเปิดคอมซะอีก - -"

By: boonkhao
Contributor iPhone Blackberry Ubuntu
on 2 January 2011 - 12:49 #246840
boonkhao's picture

linux จะอยู่รอดหรือเปล่าผมไม่รู้ รู้แต่ว่าผมก็ใช้ ubuntu เหมือนคุณ mk

By: mk
Founder Android
on 2 January 2011 - 18:05 #246892 Reply to:246840
mk's picture

มันขึ้นกับว่าเรานับอะไรเป็น Linux ครับ Android, webOS, Chrome OS พวกนี้นับหรือเปล่า

By: Ton-Or
Contributor Android Cyberbeing Red Hat
on 2 January 2011 - 23:26 #246946 Reply to:246892
Ton-Or's picture

ถ้าถามผมนับหมดเลยเหะ - -'
สำหรับคำถามที่ว่า OS ที่กล่าวมา ข้างบน นั่น
ถ้ามีใครมาถามผมว่ามันเป็น Linux หรือเปล่า ผมจะตอบว่าใช่ นะ


Ton-Or

By: diewland
Android Windows
on 3 January 2011 - 01:31 #246961
diewland's picture

รู้สึกเหมือนได้รีเฟรชรับปีใหม่ขอบคุณมากครับ

By: iamgotzaa
iPhone
on 3 January 2011 - 09:47 #246983
iamgotzaa's picture

Western Digital ผมก็เซ็งแย่อ่ะจิ จะไปขายใครดีหนอ

By: iStyle
Contributor iPhone Android Symbian
on 3 January 2011 - 14:40 #247017 Reply to:246983
iStyle's picture

ขาย บ.ใหญ่ๆ


May the Force Close be with you. || @nuttyi

By: Songfondue
iPhone
on 3 January 2011 - 22:46 #247116

"คนที่มองเห็นช่องว่างเหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จจากการสร้างบริการสอดแทรกเข้ามาได้ (แต่ด้วยปัจจัยจากข้อ 7 และ 8 ก็อาจจะทำได้ลำบากอยู่บ้าง)"

ขอบคุณสำหรับบทความครับ แต่แอบเศร้าเล็กน้อยเมื่ออ่านถึงตรงนี้

By: BreMen
iPhone Windows Phone Android
on 4 January 2011 - 02:31 #247155
BreMen's picture

เพิ่งลงมาจากดอย ไปชาร์จแบตมา อ่านแล้วเหมือนสรุปข่าวที่ผ่านมา ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ทำให้เข้าใจภาพรวมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ขอบคุณสำหรับบทความนี้ครับ

By: salifa
iPhone Windows Phone Android Ubuntu
on 4 January 2011 - 08:33 #247178

เป็นบทความที่ดีมากครับ อ่านแล้วได้ความรู้ เหมาะที่เป็นผู้นำของ ข่าว IT ของประเทศไทยจริงๆ

By: khajochi
Writer iPhone In Love
on 4 January 2011 - 11:07 #247227
khajochi's picture

ในฐานะที่เขียนบทความไอทีมา ต้องบอกว่าบทความลักษณะนี้จะเขียนไม่ได้เลยถ้าไม่ได้มีประสบการณ์จริง อ่านข่าวสารรอบด้าน และเคยสัมผัสกับปัญหาจริงๆ ที่เกิด ซึ่งนักข่าวไอทีหลายคนยังขาดสิ่งนี้อยู่

บทความดีมากครับ

+1


แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com

By: TakeshiBoy on 11 January 2011 - 23:49 #249322 Reply to:247227
TakeshiBoy's picture

+1

By: pongcx on 4 January 2011 - 12:22 #247267

เป็นบทความที่ดีมากจริงๆครับ

By: gd_ab
Contributor Android Ubuntu Windows
on 5 January 2011 - 09:53 #247576
gd_ab's picture

ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ- เหมือนอ่านวิเคราะห์เศรษฐกิจเลย -

By: vittee
Android Red Hat Ubuntu Windows
on 6 January 2011 - 10:40 #247966
vittee's picture

+1M ให้เลยครับ ชัดเจนจริงๆ

By: kuhome009 on 17 January 2011 - 22:47 #251076
kuhome009's picture

อันนี้เป้นบทความแปลใช่มั้ยครับ? รู้สึกเคยผ่านตา ละม้ายกับเป็น 1 ในข้อสอบภาษาอักกฤษของศูนย์คอมฯ หรือเปล่าครับ