iBeacon เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทแอปเปิล โดยอาศัยคลื่นความถี่และเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม ผสานกับแนวคิดในฝั่งของซอฟต์แวร์และการบอกพิกัดตำแหน่งในอาคาร ผลที่ได้คือเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการบอกตำแหน่งและส่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากเพียงแค่เปิดเครื่องและอนุญาตให้รับสัญญาณจากตัวอุปกรณ์เท่านั้น
บทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงเทคโนโลยี iBeacon โดยคร่าว และรูปแบบการใช้งาน การประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ในอนาคต
ที่มา แนวคิด และการทำงานของ iBeacon
ทุกวันนี้เวลาเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายสินค้าและบริการต่างๆ สิ่งที่เรามักจะคุ้นเคยสำหรับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ (และค่อนข้างจะทันสมัยสักหน่อย) คือการใช้สำหรับหาสินค้าตามชั้นวาง (shelf) ต่างๆ หรือไม่ก็รับข้อความสั้น (SMS) สำหรับโปรโมชันของร้านหรือบริเวณที่เราเดินเข้าไป (อย่างเช่นข้อความสั้น ประชาสัมพันธ์โปรโมชันสมาร์ทโฟน เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้กับงานขายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) หากทันสมัยอีกสักหน่อย คือให้ผู้ใช้ “เช็กอิน” (check-in) เมื่อถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อรับโปรโมชันหรือสิทธิพิเศษต่างๆ
แนวทางในลักษณะดังกล่าวนี้แม้จะปรากฏเป็นรูปร่างบ้างแล้ว แต่โดยส่วนมาก หากไม่ใช่อาศัยแนวทางของการกระจายข้อความผ่านข้อความสั้นในเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ (ที่อาจจะมีพื้นที่แคบได้ไปจนถึงกว้างมากตามความสามารถของเสาส่งสัญญาณ) ก็เป็นการระบุแต่เพียงตำแหน่งเฉยๆ ว่า สินค้าชิ้นนี้อยู่ที่ใด หรือการเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ แม้เป็นเรื่องค่อนข้างพบเห็นได้พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป ทำให้แนวทางในการใช้งานนี้ ค่อนข้างมีขีดจำกัดอยู่พอสมควร
คำถามที่สำคัญคือ แล้วจะมีเทคโนโลยีอะไร ตอบโจทย์ความไม่สมบูรณ์ หรือความไม่สะดวกในการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ที่ยังขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง? คำตอบอันหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “iBeacon”
iBeacon เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยการส่งข้อมูลและตำแหน่งภายในอาคาร โดยอาศัย Bluetooth 4.0 Low Energy เป็นฐานในการพัฒนา ควบคู่กับ Core Location APIs ในการหาตำแหน่งของผู้ใช้ เขตบริเวณ และอาศัยแนวทางนี้ในการส่งข้อมูลโปรโมชัน หรือตำแหน่งของสินค้าต่างๆ ไปให้กับผู้ใช้งานที่เปิดมือถือและฟังก์ชั่นการทำงานที่รองรับกับ iBeacon นั่นเอง ทั้งหมดนี้ดำเนินไปด้วยแนวทางที่ว่าจะต้องมีตัวรับสัญญาณ (ในที่นี้คือโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่รองรับ) และตัวกระจายสัญญาณ (ซึ่งเรียกว่า beacon) แนวคิดนี้คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “micro-location context” สำหรับโทรศัพท์ เมื่อเราเดินเข้า หรือออกจากบริเวณที่กำหนดนั่นเอง
สำหรับ beacon ในความหมายดั้งเดิมคือตัวบ่งบอกสัญญาณหรือสถานะต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในทะเลที่จะมีการบ่งบอกเขตพื้นที่หรือสภาพอากาศเป็นสัญญาณไฟ หรือหากเป็นในอดีตก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น การเตือนภัยข้าศึก เป็นต้น หรือหากจะเข้ามาใกล้ตัวหน่อยในปัจจุบันก็คงเป็นเช่น สัญญาณติดรถยนต์ต่างๆ (เช่น ไฟสำหรับรถบริการสาธารณะฉุกเฉินประเภทรถขนส่งผู้ป่วย รถตำรวจ เป็นต้น) แต่ในนัยของเทคโนโลยีที่พูดถึงในบทความนี้ beacon ย่อมหมายถึงตัวกระจายสัญญาณที่มีการระบุตำแหน่งเฉพาะที่ (ตัวอย่างเช่น ตัวกระจายสัญญาณในห้องหนึ่งๆ เป็นต้น)
แนวคิดของ iBeacon นั้นถูกแนะนำ (และอันที่จริงมีใช้งาน) มาตั้งแต่สมัย iOS 7 แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเต็มที่มากนัก ในงาน WWDC หรืองานประชุมนักพัฒนาประจำปีของแอปเปิลเมื่อปี 2556 (2013) ก็มีการพูดถึงอยู่ แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ SDK ตัวใหม่ และในคำอธิบายเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของแอปเปิลเอง ก็ยังมีไม่เยอะมาก อย่างเช่นใน support.apple.com เองก็กล่าวถึงอย่างสั้นๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่แปลว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่มีความสำคัญ เพราะใน iOS 8 ที่เพิ่งจะปล่อยให้นักพัฒนา (และตัวจริงสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในอีกไม่นานนี้) การปรากฏตัวของเทคโนโลยี iBeacon เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เว็บไซต์ AppleInsider ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานข่าวของแอปเปิล ได้เริ่มทดลองการใช้งานแล้ว ทั้งกับ Apple Store เอง หรือในร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks เอง ตลอดจนถึงบทความวิเคราะห์จาก Business Insider เอง ก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้อย่างมาก และมองว่ามันจะเป็นแนวทางใน ‘อนาคต’ ของแอปเปิลนับจากนี้ ที่จะกลายเป็นธุรกิจหลัก แทนที่ฮาร์ดแวร์ซึ่งเริ่มอิ่มตัว
สมมติสถานการณ์ตัวอย่างว่า ผมเดินเข้าร้านไวน์ ในปัจจุบันสิ่งที่ผมต้องทำ (และทำเป็นประจำ) คือการต้องสอบถามจากพนักงานว่าตำแหน่งชั้นของไวน์จากประเทศชิลีตั้งอยู่ตรงไหนของร้าน จากนั้นจึงสอบถามพนักงานว่ามีไวน์อะไรอยู่บ้าง และช่วงนี้มีโปรโมชันอะไรบ้าง แต่แนวทางของ iBeacon จะทำให้ผมมีเพียง iPhone หนึ่งเครื่อง ที่เปิด Bluetooth เอาไว้ เมื่อผมเดินเข้าร้าน โทรศัพท์มือถือสามารถแจ้งเตือนโปรโมชันไวน์ในเวลานั้นได้ทันที และสามารถบอกผมได้ทันทีว่า ชั้นไวน์ชิลีอยู่ตรงไหนของร้าน และมีไวน์ใหม่อะไรบ้างในเวลานี้
หรือหากว่าผมกำลังเล่นเกมอย่าง Ingress บน iPhone (อย่าลืมนะครับว่ามาแน่ๆ) ทุกวันนี้ปัญหาอันหนึ่งหากเดินเล่นในสวนเบญจสิริ คือความไม่แม่นของ GPS ในบางจุดที่มีอาคารสูงข้างเคียงรบกวน การเข้ามาของ iBeacon จะทำให้การระบุตำแหน่งในการเล่นเกม เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
เผื่ออาจจะยังไม่เห็นภาพ ลองดูวิดีโอจากหนึ่งในผู้ผลิต beacon ที่ชื่อว่า Estimote ดูครับ
เทคโนโลยีอย่าง iBeacon นี้ ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ในร่มอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่กลางแจ้งทั้งหลายด้วย (อย่างเช่นงานแฟร์ต่างๆ) เพราะ iBeacon ออกแบบมาสำหรับการระบุตำแหน่งที่ค่อนข้างละเอียดและแม่นยำ มากกว่าที่จะเป็นการระบุตำแหน่งตามธรรมดาแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วยังไม่ได้จำกัดเฉพาะบนแพลตฟอร์มของแอปเปิลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสามารถใช้บนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วยเช่นกัน
กระบวนการที่ iBeacon สามารถหาค่าความแม่นยำนั้น จะใช้ทั้งปัจจัยด้านตัวส่งสัญญาณวิทยุอื่น (ซึ่งมีอยู่แล้วใน Core Location APIs เช่น Wi-Fi หรือสัญญาณมือถือ) ผสมกับความเข้มของสัญญาณที่จับได้จากตัว beacon ที่กระจายสัญญาณออกมา คำนวณออกมาเป็นระยะห่างโดยคร่าว (ลองดูภาพด้านล่างประกอบ)
อย่างไรก็ตาม การใช้บนแพลตฟอร์มของแอปเปิล จะมีความสามารถเพิ่มในการทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ iOS สามารถทำตัวเป็น Beacon ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วในแง่ของความสามารถ การใช้ภายใต้ระบบแวดล้อม (ecosystem) เดียวกัน ย่อมทำให้ดึงประโยชน์มาใช้งานได้อย่างสูงสุด
ความแตกต่างระหว่าง NFC และ iBeacon
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือแนวคิดของ iBeacon มีความแตกต่างจาก NFC (Near Field Communication) อย่างชัดเจน ตรงที่ไม่ต้องเอาเครื่องไปแตะหรือเข้าใกล้กับตัวส่งสัญญาณ (ที่ทำเช่นนี้เพื่อเอาสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำกับตัวส่งสัญญาณให้เกิดพลังงาน แล้วส่งข้อมูลออกมาจากตัวส่งสัญญาณ) การที่ไม่ต้องแตะในแง่ทั่วไปนั้น เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ (ไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาแตะให้วุ่นวาย) เพราะเพียงแต่อยู่บริเวณที่กำหนด ก็สามารถรับทราบถึงข้อมูลแล้ว
หรือหากกล่าวในอีกมิติหนึ่ง NFC นั้นเป็นการส่งข้อมูลในระยะใกล้ๆ (เหมือนกับในอดีตเช่น IrDA หรือที่รู้จักกันในนาม อินฟราเรด) โดยระยะที่ “เห็นผล” (optimal range) ของ NFC นั้นอยู่ที่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร (ทางทฤษฎีที่ 20 เซนติเมตร) ซึ่งตรงกันข้ามกับ iBeacon ที่ส่งข้อมูลได้ไกลกว่า (เพราะใช้ Bluetooth) เช่น ข้ามห้อง เป็นต้น โดยในทางทฤษฎี Bluetooth จะใช้ระยะทางในการส่งข้อมูลต่างกัน แล้วแต่ ระดับชั้น (class) ของคลื่นความถี่ โดยไกลสุดได้ถึง 100 เมตร และใกล้ที่สุดประมาณ 1 เมตร แต่ปกติแล้ว อุปกรณ์อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือปกติจะใช้ที่ Class 2 ซึ่งอยู่ที่ 10 เมตร (ทั้งหมดต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง)
(ภาพการชำระเงินโดยใช้ NFC จาก MasterCard)
ในแง่นี้หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่าผมเดินไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และผมอยากทราบโปรโมชันลดราคาบัตรโดยสารจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ หากใช้ระบบ NFC สิ่งที่เกิดขึ้นคือผมต้องไปถึงสถานที่ซึ่งมีตัว NFC ติดอยู่ หยิบมือถือขึ้นมา แล้วนำไปแตะ ก่อนจะรู้ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะเสียเวลาประมาณ 3-5 นาที ต่อครั้ง และผมอาจจะต้องหยุดในบริเวณที่กำหนด (และแน่นอนว่าอาจจะมีผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมแบบเดียวกับผมอีกนับสิบหรือหลายร้อยราย)
ตรงกันข้าม หากผมใช้เทคโนโลยี iBeacon สิ่งที่ผมทำคือเพียงแค่เดินเข้าไปบริเวณที่กำหนด (อาจจะอยู่ระหว่างที่ผมกำลังยืนบนบันไดเลื่อน) มือถือแจ้งเตือน สิ่งที่ผมต้องทำมีเพียงแค่การหยิบอุปกรณ์ (อย่างเช่น มือถือ) ขึ้นมาอ่าน แล้วอาจจะทำรายการเพื่อขอรหัสส่วนลดก่อนที่จะเดินไปแสดงให้กับพนักงานได้ทันที ในแง่นี้ผมไม่ต้องเจอทั้งแถวคิวที่รอนาน และไม่ต้องเสียเวลาแตะเพื่อเรียกข้อมูลแต่อย่างใด
นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเป็นประเด็นเรื่องของการลงทุนด้วย สำหรับผู้ประกอบการ แม้ NFC Tag ในปัจจุบัน จะมีราคาที่ค่อนข้างต่ำต่อชิ้น (ประมาณ 20-40 บาท แล้วแต่คุณภาพ) แต่หากลองนึกว่าถ้าเป็นร้านจำหน่ายหนังสือ และมีความจำเป็นที่จะต้องติด NFC กับหนังสือเกือบทุกเล่ม หรือติดเพื่อให้พอกับบริเวณร้านที่มีขนาดใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนทั้งหมดจะสูงมาก
ในทางตรงกันข้าม หากใช้ iBeacon ที่ปัจจุบันเริ่มมีการจำหน่ายกันในราคาประมาณ 99 เหรียญ (ประมาณ 3,300 บาท) สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการลงทุนจะสูงในตอนแรก แต่เมื่อผ่านไป ความที่ไม่จำเป็นต้องติด beacon ให้กับสินค้าทุกชิ้น ผลก็คือต้นทุนที่ถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนของ NFC ที่ต้องจ่ายไปนั่นเอง
หากพิจารณาลึกลงไปในด้านเทคนิค NFC นั้นใช้วิธีการเขียนข้อมูลในรูปแบบที่คงทนและตายตัว (static) กล่าวก็คือ เมื่อเขียนข้อมูลลงไปแล้วข้อมูลก็จะอยู่ในแผงวงจรทันที (ซึ่งแก้ไขได้และไม่ได้ แล้วแต่การออกแบบ) ขณะที่ iBeacon เป็นการกระจายข้อมูลที่มีความเป็นพลวัต (dynamic) อยู่ตลอด กล่าวคือ ในกรณีอย่างเช่นของ PayPal Beacon (ซึ่งจะกล่าวต่อไปด้านล่าง) การทำงานจะเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมต่อเข้ากับพอร์ต USB ของเครื่องรับชำระเงิน หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงานตลอดเวลาด้วย (NFC เป็น RFID แบบหนึ่ง ที่อาศัยการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดพลังงานขึ้นมา)
แนวทางของ iBeacon สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากงาน WWDC เมื่อปี 2013 โดยแอปเปิลมองว่า วิธีการที่แบ่งปันข้อมูลหรือใช้ข้อมูลผ่าน NFC นั้น “ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด” โดยตอนแนะนำคุณสมบัติ AirDrop ของ iOS 7 นั้น Craig Federighi พูดเอาไว้ว่า
There's no need to wander around the room, bumping your phone.
ดังนั้น iBeacon จึงเป็นการสานต่อแนวคิดดังกล่าวที่ต่อยอดออกมาจาก AirDrop และมีความแตกต่างในเชิงวิธีคิดของ NFC เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้แปลว่าจะใช้ร่วมกันไม่ได้เสียทีเดียว เพราะในการใช้งานจริงอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น เมื่อต้องการรู้ข้อมูลลึกลงไปในสินค้าแต่ละชิ้น (ตัวอย่างเช่นอาหาร) การใช้ NFC ย่อมมีประโยชน์มากกว่า เพราะระบุได้เป็นสินค้ารายชิ้น เป็นต้น
ผู้ผลิตและใช้แนวทางแบบ iBeacon
ในปัจจุบันเองไม่ได้มีแต่เพียงแอปเปิลเท่านั้นที่เริ่มต้นทำแนวคิดในลักษณะนี้ เพราะ PayPal เอง ก็มีโซลูชั่นของการชำระเงินหรือการประชาสัมพันธ์ร้านในรูปแบบ Micro-location context เช่นกัน โดยเรียกว่า PayPal Beacon ซึ่งก็มีแนวคิดการทำงานที่คล้ายคลึงกัน (ลองดูวิดีโอจากตัวอย่างข้างล่าง)
แนวคิดของ PayPal Beacon แม้จะเน้นไปที่การชำระเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ในอีกมิติหนึ่ง ก็ทำงานลักษณะใกล้เคียงกับ iBeacon อย่างมาก อาจจะเรียกว่าแนวคิดใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นแล้วยังทำงานกับระบบจุดขาย (POS: Point of Sale) ได้หลากหลายระบบเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
นอกจาก PayPal ที่เลือกเดินเส้นทางของตัวเองแล้ว ยังมีผู้ผลิตอย่าง Estimote ที่ผลิตตัว beacon ซึ่งรองรับกับเทคโนโลยี iBeacon ออกมาจำหน่ายในราคา 99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นๆ จำนวนมาก ที่ทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมไปถึงผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Qualcomm ที่เปิดตัว Gimbal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันและรองรับเทคโนโลยี iBeacon ของแอปเปิลด้วยเช่นกัน
(ภาพหน้าตาของ Estimote โดย Tech Crunch)
โอกาสและแนวโน้มของ iBeacon
เมื่อ iBeacon ถูกพัฒนาขึ้นโดยแอปเปิลที่มีแพลตฟอร์มอย่าง iOS เป็นอาวุธอยู่ในมือ ประกอบกับบริการออนไลน์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการติดความสามารถ Touch ID เข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างระบบการชำระเงินและระบบการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป
ในบทความจาก Business Insider ที่เขียนโดย Jim Edwards ระบุอย่างชัดเจนว่า แนวทางของแอปเปิลที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ทั้งในแง่ของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ ย่อมทำให้ประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในระบบร้านค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด นั่นก็เพราะแนวทางในการชำระสินค้าแต่เดิมนั้น การยืนยันโดยที่ไม่มีระบบ Touch ID ทำให้การซื้อสินค้าดำเนินไปอย่างยากลำบาก (อย่างเช่น ต้องพิมพ์รหัสผ่านที่กำหนดไว้ ฯลฯ)
ในทางตรงข้าม เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Touch ID สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชำระเงินที่เปลี่ยนไป เพราะง่ายขึ้นและมีการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยขึ้น สำหรับ Jim จึงมองว่าการเกิดขึ้นของ Touch ID นั้น “ทำให้ iPhone กลายเป็นอุปกรณ์ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบในการชำระเงิน เพราะความปลอดภัยที่มีเกือบจะสมบูรณ์แบบ” (Because it makes your phone almost completely secure, the iPhone suddenly becomes an almost perfect mobile payments device.) ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับแนวทางล่าสุดของแอปเปิล ที่เปิดให้แอพจากนักพัฒนาภายนอก สามารถเรียกใช้ Touch ID APIs ได้ บน iOS 8 นั่นเอง
ลองกลับมาที่ตัวอย่างแรกสุด สมมติว่าผมต้องการจะซื้อไวน์ตัวหนึ่ง (ในที่นี้สมมติว่าเป็น Almaviva) จากชั้น ในรูปแบบเก่า ผมต้องหยิบขวดไวน์ ล้วงกระเป๋าเงินมาจ่าย หิ้วขวดไวน์ออกจากร้าน แต่หากใช้แนวทางแบบ iBeacon นั้น ผมเพียงแค่ยืนอยู่ตรงส่วนไหนก็ได้ของร้าน สั่งจ่ายเงินโดยใช้ลายนิ้วมือ แล้วเอาไปยื่นให้พนักงานดู หลังจากนั้นก็ใส่ถุง แล้วหิ้วกลับบ้านเท่านั้น โดยทั้งหมดใช้ Apple ID ในการชำระทันที หรือหากทันสมัยกว่านั้น ผมเพียงแค่สั่งชำระเงินไว้ก่อนเดินเข้าร้าน เมื่อใกล้ถึงบริเวณร้าน พนักงานก็เตรียมของเอาไว้ให้ผมสามารถหยิบไปจากเคาน์เตอร์ได้ทันทีนั่นเอง
แนวทางเช่นนี้หากมองในทางแนวคิดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมและการค้าขายไปโดยสิ้นเชิง และแน่นอนว่าย่อมสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้อย่างมหาศาลด้วยเช่นกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แนวทางเช่นนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไปในบางประเทศ เช่น ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี (สมาร์ทโฟนในปัจจุบันแม้จะมีราคาที่ถูกแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่มากพอในการเข้าถึงสำหรับทุกคน) หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม (เช่น การเน้นถามในลักษณะของการใช้เสียงกับตัวบุคคล มากกว่าที่จะสอบถามจากข้อมูลที่มีในหน้าจอ) เป็นต้น
อ้างอิง
- บทความจาก Business Insider ( 1 , 2 , 3 , 4 )
- บทความจาก The Strategy Web
- บทความจาก Get Elastic
- บทความจาก AppleInsider
- เอกสารจาก แอปเปิล
- บทความจาก Computerworld
- บทความจาก GigaOM
- เอกสารด้านสเปคจาก Bluetooth SIG
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- บทความ How do iBeacons work? โดย Adam Warski (บทความเชิงเทคนิค)
- Gimbal หนึ่งใน beacon จาก Qualcomm
- PayPal Beacon
- หน้าเว็บ iBeacon สำหรับนักพัฒนาของแอปเปิล
ป.ล. บทความชิ้นนี้ขออุทิศให้กับ สงวนวงศ์ ธนียวัน ยายอันเป็นที่รัก
Comments
เรียบร้อยครับ
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
ตกหล่น (อาจมีอีก) เคาเตอร์ -> เคาน์เตอร์
เรียบร้อยครับ งานนี้คงมีผิดอีกเยอะเพราะบทความยาวพอสมควร คงต้องรบกวนด้วยนะครับ ^_^
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
เช็คอิน => เช็กอิน
ปรากฎ => ปรากฏ
สินค้าชั้นนี้ ?
รถบริการสาธารณะฉุกเฉิน ?
นัยยะ => นัย
และเอียด => ละเอียด
มีความสามารถในการเพิ่ม ?
อินฟาเรด => อินฟราเรด
ทฤษฏี => ทฤษฎี
แป่งปัน => แบ่งปัน
โดนเรียกว่า => โดยเรียกว่า
ภานนอก => ภายนอก
เรียบร้อยครับ
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
อ่านแล้วรู้สึกเลยว่า Apple วางแผนเป็นระบบมาก ค่อยๆสร้างโครงสร้างธุรกิจที่ละนิดให้ผู้ใช้คุ้นเคยโดยไม่รู้ตัว
ขั้นแรกผูก Apple ID กับบัตรเครดิต จากนั้นส่ง Touch ID มา ตามด้วย iBeacon
ไม่รู้แผนต่อไปคืออะไร น่าติดตามจริงๆเรื่องนี้
ปล ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
เท่าที่เห็นทางออกของผู้ผลิตหลายราย คือทำตัวรับสัญญาณที่รับได้ทั้ง iBeacon และ NFC ในตัวเดียวกันครับ คือทำทั้งทีก็ทำเผื่อไว้ แล้วก็มีคนทำแอพหรือ Framework ที่ใช้ได้ทั้ง iBeacon (iOS) และใช้กับ NFC (Android) ซึ่งก็เป็นทางออกที่ดีนะ
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
ถ้า beacon สามารถหาตำแหน่ง นำมาใช้ขายสินค้าพวกเครื่องประดับ อัญมณี ที่เป็นโลหะขนาดเล็กได้ ก็ยอดเยี่ยมเลยครับ
บทความดีมากครับอ่านแล้วน่าติดตาม
บทความอ่านแล้วเข้าใจง่ายชวนติดตามดีครับ ก่อนหน้าไม่เคยสนใจเลยว่ามันคืออะไร รู้แค่มันเกี่ยวกับ location แต่พอมาอ่านบทความนี้ก็เข้าใจขึ้นเยอะเลยครับ
ดู video แล้ว รู้สึกเลยว่าเงินไหลออกได้อย่างง่ายดายจริงๆ //ขอบคุณสำหรับข่าวนะครับ
ผมมองว่ามันควรจะมาใช้งานประกอบกับ NFC และ 2D barcode ครับ ใช้งานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แต่ถ้า Android ไม่เล่นด้วยนี่ก็ลำบากอีก - -"
ตัว protocol นี่ Apple ไม่ได้กั๊กไว้ครับ ใช้ Android ทำได้โดยไม่ต้องรอ Google เพราะ Apple ใช้วิธี broadcase สัญญาณ bluetooth โดยแจก UUID, Major number, Minor number ออกมา เราก็เอาอะไรก็ได้ไปอ่านมัน อาจจะเป็นมือถือหรือ Raspberry Pi ก็ได้แล้วไปพัฒนาต่อยอดอีกที
SDK สำหรับ Android ก็มี 3rd party ทำออกมาครับ ส่วนตัวกระจาย iBeacon จะเป็นโทรศัพท์ก็ได้ ซื้ออุปกรณ์แบบใส่ถ่าน หรือใช้ Raspberry Pi ก็ได้ครับ ใครสนใจก็ลอง Google ดูครับ
ถ้า 3rd party ทำได้เลยแบบนี้ก็ดีครับ
ว่าทำไม่ไม่ยอมใส่ NFC มาให้สักทีมีดีกว่านี้เอง
แค่ผ่านหน้าร้านแล้วโปรโมชั่นร้านเด้งบอกนี่มันสุดยอดเลยนะ เป็นการสื่อสารที่ตรง และไวมากๆ แค่จินก็โดนใจเจ้าของร้านแล้วละ พื้นๆแต่นำมาประยุคใช้ได้อย่างน่าทึ่ง น่าสนใจมาก
ผมว่า NFC กับ iBeacon การใช้งานแตกต่างกันชัดเจนมาก NFC เป็นอะไรที่ใช้เมื่อต้องการการสื่อสารเฉพาะเจาะจง ซึ่งงานในจุดนี้ถ้าเอา iBeacon มาใช้จะทำงานได้ช้ากว่า สมมติถ้าต้องการจะจ่ายเงินกับร้านค้า ถ้าเป็น iBeacon เราจะรู้ได้ไงว่าต้องจ่ายกับ Beacon ตัวไหนต้องกดเลือกในมือถือหรือยังไงเสียเวลา NFC เหมาะกว่า แต่ยกมือถือมาแตะก็จบละ
เห็นด้วยครับ เอามาใช้ร่วมกันจะเติมเต็มการใช้งานได้สุดยอดกว่า
ที่เคยดู video ที่เขาวางคอนเซปต์ไว้ครับ
เช่นสมมติคุณจะซื้อกาแฟ starbuck คุณยังไปไม่ถึงร้าน คุณเปิด app สั่งกาแฟ จ่ายเงิน
คุณเดินเข้าร้าน starbuck พนักงานจะได้รับ order ทันทีที่คุณเดินเข้าร้านครับ
เพราะ iBeacon จะทำให้ทราบว่าคุณ ซึ่งได้สั่งกาแฟไว้ เดินเข้ามาในร้านสาขานั้นๆ และระบบจะส่งรายละเอียดจาก server เข้ามาที่สาขานั้นทันที
ไม่แน่ใจ เหมือนว่าตอนนี้ starbuck (เมืองนอก) จะทำแบบนี้ได้แล้ว (มั้ง)
ตรงนี้คือจุดที่น่าจะเอา 2D barcode หรือ NFC มาเสริมไงครับ แทนที่จะต้องหันโทรศัพท์ให้พนักงานดูหรือบอกพนักงานว่าเราคือคนทีสั่งแก้วนั้นๆ นะ ก็แค่ส่องหรือแตะ พนักงานก็หันไปหยิบมาให้
หันไปดู ไม่ต้องต้องเสียอะไรเพิ่ม แค่ใช้เวลาพนักงานนิดหน่อย
ใช้ NFC หรือ 2D Barcode สแกน ต้องลงระบบเพิ่มเข้าไปอีก ลงทุนอีก ใช้เวลาพนักงานพอๆ กัน
ต้องหันหน้าจอโทรศัพท์ให้คนอื่นดูนี่สำหรับผมถือว่าประสบการณ์ใช้งานติดลบครับ อันนี้แล้วแต่คนคิด
แต่ถ้าเป็น NFC, 2D Barcode นี่ทำได้ถึงเอาหุ่นยนต์หยิบของให้เลย
คหสต. เทคโนโลยีที่ดีสมัยนี้ต้องcross-platform และ universalครับเทคโนโลยีไหนที่อยู่แต่ในสนามหน้าบ้านส่วนตัว ก็รีบๆล้มเหลวไปซะ การพัฒนาจะได้ไม่fragmentเละเทะแบบนี้
ผมว่าคำว่าไม่ Fragment กับ Cross-platform หรือ Universal เนี่ยเหมือนจะสวนทางกันนะครับ คือผมคิดว่าเรื่อง Fragmentation จะเกิดก็เกิดได้แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานกลางที่สามารถทำให้แต่ละอุปกรณ์สามารถสื่อสารกันได้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะเรื่อง Cross-platform กับ Universal
http://en.wikipedia.org/wiki/IBeacon#Compatible_devices
ที่เป็นหมูสามชั้นรมควันนั่นเหรอครับ
Bacon
ผมทำโปรเจคเกี่ยวกับ iBeacon ทั้ง Android และ iOS อยู่iBeacon ใช้ Bluetooth 4.0 Low Energy (BLE)
iOS จะมี service นี้ให้เลย โดยให้ app ระบุ UUID (ต้องระบุ), major (optional), minor (optional)เมื่อ iOS แสกนเจอตามค่าที่ระบุไว้ ก็จะ notify มา app ได้
ตัวอย่าง app ของ iOS ชื่อ AirLocate https://developer.apple.com/library/ios/samplecode/AirLocate/Introduction/Intro.html
แต่ android จะไม่มี iBeacon service ตัว app ต้องทำ service เอง scan เอง ซึ่งถ้ามีหลาย ๆ app ต้องการใช้ hardware bluetooth พร้อม ๆ กันก็จะตีกันได้ ต้องออกแบบดี ๆ
SDK ของ android http://developer.android.com/guide/topics/connectivity/bluetooth-le.html
android สามารถทำเป็นตัวรับได้เท่านั้น แต่ iOS สามารถจำลองตัวเองเป็น iBeacon ได้ด้วยแต่ android มีข้อดีคือ สามารถเข้าถึงข้อมูลดิบได้ เช่น mac address สั่ง scan โดยไม่ต้องระบุ uuid ก็ได้
แนวทางหลักการกำหนด UUID, major, minor จะตั้งแบบนี้คือ
UUID เดียวกันทั้งโปรเจคmajor เลข 0-65535 ถ้าอยู่สาขาเดียวกัน ใช้เลขเดียวกัน
minor เลข 0-65535 เป็นเลข running ในสาขานั้น ๆ
เพราะว่าเวลากำหนด notification ของ iOS ต้องระบุ UUID ลงไปเลย ถ้าไม่ตั้ง UUID ให้ตรงกันก็จะ scan เจอไม่หมด
สำหรับ hardware iBeacon ในไทยก็เริ่มมีขายแล้ว
ถ้าสนใจลองดูที่ https://www.facebook.com/ibeaconthai [ของผมเอง]
ดีเลยครับ กำลังทำอยู่เหมือนกัน ขอถามหน่อยได้ไหมครับว่าเจอปัญหารึเปล่า
คือใน document บอกไว้ว่า iPhone จะ notify app เราแม้ว่า app จะถูก kill ไปแล้ว ผมลอง test ดูหลายๆ scenario ก็เจอปัญหาว่าถ้าออกจาก region ไปนานๆ แบบข้ามวัน พอกลับเข้ามา app จะไม่ detect iBeacon ต้องเปิด app ขึ้นมาใหม่ หรือบางครั้งถึงกับต้อง reboot iPhone เลย ผมลองหาใน Google ดูก็เห็นมีปัญหากันหลายคนเลย เจออะไรแบบนี้รึเปล่าครับ
iBeacon จะไม่ scan ตลอดเวลา เพราะการ scan ใช้พลังงานมาก
หากไม่มี app foreground เหลืออยู่แล้ว อัตราการ scan จะลดต่ำลงมาก ๆ
เท่าที่เคยจับเวลาดู จะใช้เวลาสูงสุดอยู่ที่ 15 นาทีต่อครั้ง ยังไงลองรอถึง 15 นาทีดูครับ
ผมรู้สึกว่าจะมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่าครับ ...สำหรับผมคงไม่มีปัญหาครับ แต่คนอเมริกันนั้นออกจะชอบฟ้องร้องในประเด็นความเป็นส่วนตัวมากครับ ...อาจจะต้องมีตัวสำหรับเปิดปิดความสามารถนี้ไว้ด้วยนะครับผมว่า
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
มีครับ ปิด bluetooth ไปเลยก็ได้ หรือไปปิด location service เฉพาะ app ตัวนั้นได้ครับ อยากให้มัน track ก็กลับไปเปิดใหม่ได้ตลอดเวลา
ในชีวิตจริง คนยังไม่คุ้นเคยกับการเปิด Bluetooth ทิ้งไว้ตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็น Low Energy ก็ตามเพราะ Battery คือจุดอ่อนของ Smart Phone
ผมไม่เคยปิดเลยครับ - -" เคยมีคนวัดจริงจังไหมครับว่ามันต่างกันเท่าไหร่
บางคนอาจจะมีอุปกรณ์ประเภท small talk, Speaker ฯลฯ ก็คงไม่แปลกที่จะเปิดทิ้งไว้ เพื่อใช้อุปกรณ์เหล่านั้น
หรือบางคนอาจจะปิดไม่เป็น หรือ ไม่รู้ว่ามันเปิดอยุ่สังเกตไหมครับว่า iPhone ตอนเปิดใช้งานครั้งแรก หรือ หลังจาก ลง firmware ใหม่
มันจะเปิด Bluetooth อัตโนมัติไว้เลย
ลอง survey กันไหมครับว่ามีคนเปิด bluetooth โดยไม่ใช้งานสักกี่คนจาก 100 คน
แต่ผมขอยกตัวอย่างที่ office ที่ผมทำงานอยู่ เราศึกษาและมีแผนจะเอา iBeacon มาใช้เราเดินสอบถามพนักงานทั้ง floor 200 กว่าคนว่า เปิด Bluetooth ไม่มีใครเปิดทิ้งไว้เฉยๆ สักคน
และทุกคนพูดว่าเปิดแล้ว สูบแบต
http://tips.thaiware.com/158-How-to-save-Battery-on-Android-Smartphone.html
http://www.mfa.ais.co.th/TipsDetail/35/34/
ผมว่าประเด็นหลักจริงๆ ที่ปิดกันเป็นส่วนมาก คือมีการบอกต่อๆ กันมาว่ามันสูบแบตนั่นล่ะครับ เลยสงสัยว่าจริงๆ แล้วเคยมีใครทดสอบแบบจริงจังรึเปล่าว่ามันใช้พลังงานเพิ่มจากปกติแค่ไหน
เดี๋ยวเอาไปตั้งเป็นโพลครับ
รู้ผลว่าฝั่งผมแพ้ตั้งแต่ยังไม่กดดูเลยครับ :D
จริงๆแล้ว สิ่งที่สูบแบตมากที่สุดคือ หน้าจอ ยิ่งใหญ่ ยิ่งสูบ
แต่ในการใช้งานเราต้องเปิดจอเพื่อใช้งานไม่ว่าจะ facebook, twitter, instagram etc.คนเลยถูกสะกดจิตหมู่ว่าอย่าเปิดใช้งานในสิ่งที่ไม่ได้ใช้
เช่น Bluetooth มักจะมาอันดับแรกๆ
เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก รอใช้อยู่ มาไวๆนะ