ถึงตอนนี้ ‘ชาวเน็ต’ อย่างเรา คงจะคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งออนไลน์ เริ่มคุ้นชินกับการจับจ่ายสินค้าและบริการ ผ่านตัวกลางรายต่างๆ อันเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่เราคุ้น-ชินตา ทั้ง PayPal, 2C2P หรือระบบตัดบัตรเครดิตหลากหลายเจ้า
ทว่า ผู้ประกอบการที่อาจไม่ได้มีแค่การจำหน่ายสินค้าแบบจับต้องได้ แต่เป็นการขายในโมเดลอื่นๆ อาจยังผวากับการผูกตัวเองเข้ากับบริการตัวกลางเหล่านั้น ทั้งความยุ่งยากในการผูกเว็บไซต์ตัวเองกับระบบตัดบัตร, การจมอยู่ในวังวนโค้ดนับพันบรรทัดเพียงแค่อยากได้ระบบจ่ายเงินแบบทันสมัย หรือแม้กระทั่งการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นสุดโหด “Stripe” จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยไอเดียง่ายๆ ที่ขอนำเสนอในครั้งนี้
สู่แนวคิดช่วยแก้ปัญหาผู้คน
Stripe คือระบบตัวกลางที่ไว้ใช้รับเงินจากลูกค้าผ่านบัตรเครดิต เช่นเดียวกับ Paypal เพียงแต่ว่ามาในมาดที่ง่ายกว่า เพียงแค่คัดลอกโค้ดซึ่งเชื่อมต่อกับระบบของ Stripe ผ่าน API ไปแปะตามตำแหน่งต่างๆ ของหน้าเว็บไซต์หรือหน้าแอพที่ต้องการเก็บเงินก่อนเข้ารับบริการหรือเพื่อซื้อสินค้า เท่านี้ก็เรียบร้อย และไม่ใช่ว่าจะรองรับแค่ผู้ค้ารายเล็ก แต่ยังยืดหยุ่นให้สอดรับกับทุกขนาดธุรกิจด้วย
กลไกการใช้งาน
Stripe สามารถพ่น API ออกมาให้ทำงานได้กับภาษาที่ใช้กันในแวดวงโปรแกรมมิ่ง อาทิ curl, Ruby, Python, PHP, Java, Node และ Go ซึ่งเหล่านักพัฒนาสามารถหยิบเครื่องมือเหล่านี้ไปสวมเข้ากับแอพหรือเว็บไซต์ของตนได้ทันที จากนั้นจึงเชื่อมกับแอคเคานต์ Stripe ของผู้ใช้ ซึ่งเป็นประดุจกระเป๋าสตางค์นับยอดเงินเข้าออก
ตัวอย่างโค้ดในหน้าเว็บ ที่ Stripe ชวนให้คัดลอกไปลองใช้ดู
ความสะดวกอีกประการกับฝั่งผู้ใช้ อย่างฟอร์มกรอกข้อมูลบัตรเครดิต ที่ Stripe ได้เตรียม “Checkout” ไว้เป็นฟอร์มสำเร็จรูปไว้ผู้ใช้กรอกอีเมล, หมายเลขบัตร ตลอดจนเบอร์โทรศัพท์ กรอกเลข OTP และกดจ่ายได้ในหน้าจอเดียว (ฟังก์ชั่นนี้ PayPal ต้องอัพเกรดเป็นรุ่น Pro พ่วงค่าใช้จ่ายอีกเดือนละ 30 เหรียญ) ไม่ต้อง redirect ไปยังหน้าอื่น ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้กังวลหากธุรกรรมมีปัญหาระหว่างทาง โดยยังมีระบบความปลอดภัยที่ทัดเทียมกัน Stripe จะไม่มีการส่งเลขบัตรเครดิตมายังเซิร์ฟเวอร์ของผู้ค้า แต่จะใช้สคริปต์ Stripe.js ทำธุรกรรมกับบัตรผ่านเซิร์ฟเวอร์ของ Stripe เองโดยตรง
ซึ่งฟอร์มดังกล่าวสามารถปรับแต่งได้ตามสินค้าที่จะจำหน่าย สามารถกำหนดให้ทดลองใช้ก่อนกี่วัน, จำหน่ายเป็นรูปแบบสมาชิกรายเดือน (subscription) หรือให้กรอกจำนวนเงินเป็นการบริจาคก็ได้ พร้อมทำงานกับปลั๊กอินอื่นๆ เชิงเก็บข้อมูล สื่อสาร และดูพฤติกรรมลูกค้าได้อีกทาง
เรื่องค่าใช้จ่ายที่ Stripe จะขอเก็บจากแต่ละธุรกรรมที่มียอดเงินผ่านไปมา ขอเรียบเรียงและเปรียบเทียบกับ PayPal ด้วยตารางต่อไปนี้ครับ (เพื่อตัวเลขกลมๆ ขอเสนอเป็นหน่วยเหรียญสหรัฐฯ และเทียบจากเรตของฝั่งอเมริกาเช่นกัน เพราะ Stripe ยังไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศไทย ณ เวลาที่กำลังเขียนงานชิ้นนี้)
ดูแล้วเงื่อนไขการคิดราคาของ Stripe นั้นดูง่ายกว่า PayPal อยู่พอสมควร แต่สื่อบางที่ก็วิเคราะห์ไว้ว่าหากสิ่งของที่จะขายมีราคาไม่สูงนัก (microtransaction) ด้าน PayPal จะมีคิดค่าธรรมเนียมเบากว่า Stripe คือถ้ายอดชำระต่ำกว่า 4 USD นั้น PayPal จะคิดแค่ 0.5%+0.5 USD เท่านั้น
บัดนี้ Stripe รองรับบัตรเครดิตชั้นนำรายต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง Visa, MasterCard, AMEX, JCB และรองรับสกุลเงินกว่า 100 สกุล ซึ่งในนั้นมีสกุลบาทไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลอื่นด้วยค่าธรรมเนียมบวกเข้าไป 2% จากอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น และโอนออกไปยังบัญชีคนขายด้วยค่าธรรมเนียม 25 เซนต์ (ประมาณ 8.18 บาท) ต่อครั้ง
ณ เวลาที่กำลังเขียนงานชิ้นนี้ Stripe รองรับการทำธุรกรรมของธุรกิจออนไลน์ในโลกแล้ว 18 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นเบต้า และยังไม่รองรับประเทศไทย แต่รองรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจากบัตรเครดิตแล้วทั่วโลก
เบื้องหลัง และตัวตั้งตัวตี
เบื้องหลังของ Stripe เกิดจากไอเดียของ Patrick Collison (26) และ John Collison (24) สองพี่น้องชาวไอร์แลนด์ ที่ริเริ่มเขียนโค้ดบรรทัดแรกกันในปี 2009 ด้วยปณิธานที่จะลดความยุ่งยากของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต อยากให้ระบบนี้เป็นเหมือน ‘กล่องดำ’ ที่นำไป embed ลงตรงไหนก็ได้เหมือนคลิปวิดีโอบนหน้าบล็อก ไปๆ มาๆ ไอเดียนี้ก็เกิดขึ้นจริงพร้อมแรงหนุนลูกใหญ่จากคนในซิลิคอนวัลเลย์
Patrick และ John Collison พี่น้องผู้ก่อตั้ง Stripe -- ภาพจาก WSJ
ก้าวสู่การเติบโต เหมือนมาริโอ้ได้เห็ด
เมื่อไอเดียขายได้ ก็มีผู้ขายสินค้าและบริการหลายรายจากหลากหลายอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เริ่มใช้ Stripe เป็นตัวกลางในการตัดบัตรเครดิต อาทิ Kickstarter, Twitter, Shopify, TED, Reddit, Foursquare, dribble และแท็กซี่แนวคิดใหม่อย่าง Lyft (คู่แข่ง Uber) เป็นต้น ยังไม่รวมถึงการได้รับทุนสนับสนุนกว่า 140 ล้านเหรียญ (ประมาณ 4.6 พันล้านบาท) จากกลุ่มนักลงทุนที่ชื่อคุ้นหูอย่าง Sequoia Capital, Andressen Horowitz, Peter Thiel หรือกระทั่ง Elon Musk แห่ง PayPal ก็ร่วมลงขันกับสตาร์ตอัพรายนี้ ทำให้ตอนนี้มีการคาดการณ์ถึงมูลค่าของสตาร์ตอัพรายนี้อยู่ที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญแล้ว
ล่าสุด Stripe ได้ร่วมเป็นหนึ่งพาร์ทเนอร์กับบริการ Apple Pay อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้แอพบนระบบ iOS ได้ใช้งานตัดเงินจากบัตรผู้ใช้ผ่านระบบของสองพี่น้องผู้นี้ และ Stripe ยังสามารถเปิดดีลร่วมพัฒนาระบบธุรกรรมการเงินกับ AliPay ยักษ์ใหญ่ในเครือ Alibaba จากจีน ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยกำลังบุคลากรเพียงแค่ราว 160 คน เพิ่มจาก 90 คนเมื่อต้นปีกลาย ในสำนักงานที่ซาน ฟรานซิสโก แต่ดูเหมือนว่าเจ้าของยังไม่คิดถึงเรื่องการนำพาตัวเองสู่ตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ในตอนนี้
ก้าวต่อไปของการจับจ่ายบนโลกออนไลน์ยังสดใส จากความเห็นของ IDC ที่ระบุผ่าน Bloomberg เมื่อเดือนกันยายน ปี 2014 ไว้ว่า Stripe จะไม่โตแค่บนออนไลน์เท่านั้น แต่สำหรับการจับจ่ายตามร้านค้าทั่วไปก็ยังโตได้ หากผู้คนนิยมการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนของตนเองแทนการใช้เงินสดหรือพกบัตรเครดิต และขยายความไปต่อถึงการเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินใน Twitter ซึ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เริ่มจริงจังกับการขายของมากขึ้นเรื่อยๆ
Patrick Collison ทิ้งท้ายไว้ในบทสัมภาษณ์เดียวกันนี้ ว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ยังไม่ถึง 10% ของสิ่งที่ต้องการ นั่นคือการสร้างแพลตฟอร์มให้หน่วยธุรกิจต่างๆ นำไปปรับใช้ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่เราต้องดูกันต่อไป...”
อ้างอิง
- เว็บไซต์ของบริษัท
- บทความ ‘Stripe, an E-Commerce Start-Up, Raises $70 Million’ จากบล็อก เซ็กชั่น Bits ใน The New York Times
- บทความ ‘Stripe Lands Apple in Quest for $720 Billion in Payments’ ใน BloombergBusiness
- บทความ ‘The Internet Needs a Better Way to Handle Money. This Startup Has the Key’ ใน WIRED
- บทความ ‘Stripe’s Valuation Rises to $3.6 Billion With $70 Million Round’ ใน Wall Street Journal
- บทความ ‘Stripe vs PayPal: Who should you choose?’ ใน Memberful
- บทความ ‘PayPal or Stripe: Which payment processor should you use’ ใน Torquemag.io
Comments
เคยใช้ใน HumbleBundle ก็ง่ายดีนะครับ มี 2-factor authentication ด้วย ปลอดภัยดีพอสมควรเลย
ว้าว ชอบแหะ API ดูคลีนมากๆ น่าใช้ อินเตอร์เฟชก็ดูยืดหยุ่นดีนะ ดูมีแววพัฒนาได้ไกล เกิดมาในยุค Web Development เฟื่องฟูพอดี จะทำอะไรก็ดูง่ายกว่า
Paypal อยู่มานานแล้ว องค์กรใหญ่ จะแก้ไขปรับเปลี่ยน หรือทำอะไรก็เชื่องช้ากว่า
ของไทยก็ omise.co ลักษณะเดียวกันเป๊ะเลย
ยังไม่เข้าไทยใช่ไหมครับตอนนี้
มาริโอ้ได้เห็ด 555