Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ซิป้าจับมือร่วมกับสถาบันการเงิน สนับสนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระยะเวลา 2 ปี เฉลี่ยวงเงิน 10,000 ล้านบาท หวังผู้ประกอบการเข้าโครงการค้ำประกัน 400 ราย

ปัญหาสำคัญที่ถือเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการไอซีทีในทุกยุคทุกสมัยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ การที่ไม่สามารถมีสานป่านที่ยาวเพียงพอที่จะประคับประคองในธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ เพราะแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ไม่เชื่อมั่น อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดออกมารับรองความเชื่อมั่นได้ ในอดีตที่ผ่านมาเราจึงเห็นธุรกิจใหม่ ๆ จำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดายแม้จะมีแนวโน้มเติบโตได้ก็ตาม และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า จึงได้ดำเนินการจัดการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไอซีทีขึ้นด้วยมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันทางการเงินชั้นนำของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไอซีทีสามารถเติบโตและเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายของรัฐ

สนับสนุนผู้ประกอบการให้เติบโตด้วยสิทธิประโยชน์

alt=

ชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี ผู้จัดการฝ่ายมาตรการส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้ากล่าวว่า แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ทางซิป้ามีมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการไอซีทีโดยแบ่งมาตรการส่งเสริมออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยร่วมมือกับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของ BOI ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไร ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ผู้ประกอบการจะมีเงินสดอยู่ในมือ ทำให้มีสภาพคล่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยทางซิป้าจะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกละเมิด โดยจะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะย่นจากระยะเวลาปกติที่จะใช้เวลา 1-2 เดือน พร้อมกับการจัดการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการที่เรียกว่าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และสุดท้ายที่จะดำเนินการคือการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นความคืบหน้าครั้งล่าสุดภายใต้ความร่วมมือระหว่างซิป้าและสถาบันการเงินพันธมิตรได้แก่ ธนาคารกสิกรไทยและเอสเอ็มอีแบงก์

ล่าสุดได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับทางธนาคารกสิกรไทย เพื่อคิดรูปแบบในการสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยครอบคลุมทั้งในส่วนของเรื่องการโอนสิทธิ์การรับเงิน สัญญาให้ทุน สัญญาร่วมทุน สัญญาจ้าง กล่าวคือ ผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถนำสัญญาไปกู้เงินกับกสิกรไทยได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็จะพิจารณาเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยใช้สัญญากับซิป้าเป็นตัวค้ำประกันโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์อย่างอื่น รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เรื่องการกู้เงินแบบ Clean Loan โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินประเภทนี้จะคิดในอัตราค่อนข้างสูง แต่โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ ทางซิป้าได้ส่วนลดในอัตราต่ำลงมา

รวมทั้งปัจจุบันทางซิป้ายังได้รับความอนุเคราะห์จาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการที่เรียกว่า Startup Innovation วงเงิน 10,000 ล้านบาท มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หรือผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งผู้จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ซอฟต์แวร์สามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้ ด้วยการแสดงตัวตน มีผลิตภัณฑ์ มีลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 ราย ในระยะเวลา 2 ปี และเป็นบริษัทคนไทย มีคนไทยถือหุ้นเกิน 51% โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sipa.or.th/th/services

สำหรับความกังวลกรณีหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ทางธนาคารกสิกรไทยจะมีกระบวนการคัดและตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการวิเคราะห์เครดิต ตรวจสอบเครดิตบูโร โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีหลายระดับ อาทิ ถ้าผู้ประกอบการรายใดมีสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์เป็นของตัวเองได้ทันที โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา จากผลสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 200 ราย และเชื่อว่าภายในปี 2560 นี้จะมีผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 400 ราย รวม 2 ปีจะมีผู้ประกอบการไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 600 ราย จากการดำเนินการให้ความสนับสนุนที่ทางซิป้าได้ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง

ธนาคารพร้อมสนับสนุน หากซิป้าแนะนำ

alt=

ด้าน ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และกระบวนการธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม และขาดสภาพคล่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาจจะต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาเขียนโปรแกรมให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งทางธนาคารก็ให้การสนับสนุนด้วย แต่ถ้าวงเงินกู้ของผู้ประกอบการมากกว่า 5 ล้านบาท แต่มีตัวเลขใช้ซอฟต์แวร์เพียงแค่ 30,000 บาท ซึ่งก็ต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลด้วย โดยจะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับซิป้า เพราะซิป้ามีประสบการณ์เรื่องซอฟต์แวร์จึงสามารถบอกได้ว่าสมเหตุผลหรือไม่ การสนับสนุนในปีแรก ๆ อาจจะได้ผลไม่มาก แต่เมื่อผ่านไปปีที่ 2 ปีที่ 3 เชื่อว่าโครงการก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และรัฐบาลให้การสนับสนุนอนุมัติงบประมาณให้ทุกปี ซึ่งก็จะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ราย ได้

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายมาตรการส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

Get latest news from Blognone

Comments

By: sthepakul
Contributor Android
on 31 January 2017 - 22:05 #967845
sthepakul's picture

หารเป็นต่อรายแล้วเยอะมาก 40 ล้าน หรือคร่าวๆ $1M เลยทีเดียว