IBM เป็นบริษัทไอทีสายองค์กรที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจที่สุดในรอบปีนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายอย่าง ตั้งแต่ การควบกิจการ Red Hat ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของ IBM ในตลาดคลาวด์ มาสู่ การแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ Arvind Krishna
ต้องยอมรับว่า IBM ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในตลาด public cloud ที่มีผู้เล่น 3 รายใหญ่ AWS, Azure, Google Cloud แต่บริษัทก็ยังไม่ถอดใจ และเดินหน้าลุยในตลาดคลาวด์ต่อไป โดยซีอีโอ Arvind Krishna ก็ประกาศไว้ว่าจะใช้ hybrid cloud และ AI เป็นผลิตภัณฑ์หัวหอกของ IBM ในอนาคตหลังจากนี้
Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และรองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนถึงทิศทางของ IBM ในยุคซื้อ Red Hat โดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทย
คุณปฐมา เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ก่อนกลับไปทำงานกับไมโครซอฟท์บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา และ ตัดสินใจย้ายกลับมาไทยแบบถาวร ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ IBM Thailand ในช่วงปลายปี 2018
IBM Cloud ยังมีจุดเด่นที่คู่แข่งไม่มี
คุณปฐมายอมรับว่าตลาดคลาวด์ทั่วโลกถูกครอบครองโดยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย แต่ก็ระบุว่า IBM Cloud มีจุดเด่นที่ทำให้บริการของตัวเองแตกต่างจากคู่แข่ง (key differentiators) แบ่งได้ออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1) ค่าใช้จ่าย
เหตุผลหลักในการใช้คลาวด์คือความยืดหยุ่น แต่คนที่ย้ายมาใช้คลาวด์มักประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าถ่ายโอนข้อมูล (data transfer) เข้า-ออกจากคลาวด์ ซึ่งหลายคนไม่ได้คำนวณงบประมาณตรงนี้ไว้ แถมบางครั้งค่าข้อมูลอาจสูงถึง 30% ของค่าคลาวด์ทั้งหมดด้วยซ้ำ
IBM มองเห็นถึงปัญหาตรงนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วจึง ประกาศ ว่าทราฟฟิกขาเข้า (inbound data transfer) จะฟรีทั้งหมด และทราฟฟิกขาออก (outbound data) จะให้ฟรีสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบ Bare Metal คิดเป็นปริมาณ 5TB ต่อเดือน (ถ้าอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐได้ 20TB ต่อเดือน ในเอเชียเป็น 5TB) ช่วยให้ลูกค้าประหยัดงบประมาณตรงนี้ลงได้มาก เมื่อเทียบกับคลาวด์คู่แข่งแล้ว ปริมาณข้อมูลขาออก 5TB ราคาประมาณ 400-600 ดอลลาร์ต่อเดือน
ส่วนทราฟฟิกระหว่างศูนย์ข้อมูลของ IBM ทั่วโลกที่วิ่งผ่าน private network ของ IBM เองจะฟรีทั้งหมด สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีศูนย์ข้อมูลกระจายอยู่หลายประเทศ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกมากเช่นกัน
นอกจากค่าใช้จ่ายด้านทราฟฟิก IBM ก็พยายามลดค่าบริการด้านอื่นๆ หากทำได้ เช่น บริการ managed OpenShift ที่มีบนคลาวด์แทบทุกเจ้า แต่ IBM ไม่คิดเงินค่ารัน master node ในขณะที่คู่แข่งคิดเงินเต็ม เป็นต้น
2) ความปลอดภัย
ผู้ให้บริการด้านไอทีทุกเจ้าพูดถึงความปลอดภัยทั้งนั้น แต่เนื่องจากลูกค้าของ IBM อยู่ในธุรกิจที่ถูกกำกับดูแลอย่างหนัก (เช่น สายการเงิน) ด้านความปลอดภัยจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ
ตัวอย่างบริการด้านความปลอดภัยของ IBM คือ Cloud Hyper Protect Crypto Services ที่ช่วยเก็บรักษาคีย์เข้ารหัสที่ระดับฮาร์ดแวร์เฉพาะ (hardware security module หรือ HSM) ซึ่ง IBM เป็นรายเดียวในอุตสาหกรรมไอที ที่มีฮาร์ดแวร์ความปลอดภัยผ่านมาตรฐานความปลอดภัย FIPS 140-2 Level 4 ของรัฐบาลสหรัฐ (รายอื่นได้มากที่สุดที่ Level 3)
บริการอีกตัวที่น่าสนใจคือ Cloud Data Shield ซึ่งเป็นการรันคอนเทนเนอร์ในพื้นที่ปลอดภัยของหน่วยความจำ (secure enclave) เพื่อป้องกันการเจาะเข้ามาดึงข้อมูลจากหน่วยความจำโดยตรง
3) ความเปิดกว้าง
IBM Cloud เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เปิดกว้าง ไม่ผูกติดกับผู้ขายรายหนึ่งรายใด แกนหลักของ IBM Cloud ในปัจจุบันคือ Red Hat OpenShift ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Kubernetes ที่โอเพนซอร์สอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีโอเพนซอร์สตัวอื่นด้วย เช่น
- บริการแบบ serverless ที่ใช้ Knative
- IBM Schematics บริการ Infrastructure as Code ใช้ Terraform
บริการตัวใหม่ล่าสุดของ IBM คือ Cloud Satellite ซึ่งเป็นการนำบริการจากคลาวด์ของ IBM ไปรันแบบ on-premise เพื่อให้ได้ hybrid cloud ที่มีความสามารถเหมือนกันทุกที่ (ลักษณะเดียวกับ AWS Outpost หรือ Azure Arc ) ก็รันอยู่บน OpenShift และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สตัวอื่นๆ อย่าง Istio หรือ Razee
วิดีโอแนะนำ IBM Cloud Satellite ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานะเป็นรุ่นทดสอบ
ทิศทางของ IBM หลังซื้อกิจการ Red Hat
คุณปฐมายังเล่าถึงทิศทางของ IBM หลังควบกิจการ Red Hat เสร็จสมบูรณ์ ว่าอยากให้มองว่า IBM เป็นพาร์ทเนอร์เชิงยุทธศาสตร์กับ Red Hat แต่ยังแยกกันบริหารเพื่อความคล่องตัว ทั้งสองบริษัททำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะด้านงานขายและการทำตลาด มีทีมเฉพาะที่เรียกว่า synergy team ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ในแง่ผลิตภัณฑ์ IBM Cloud เป็นคลาวด์เจ้าแรกที่รองรับ OpenShift เวอร์ชัน 4.3 ก่อนคนอื่น และตอนนี้ซอฟต์แวร์ของ IBM เองถูกพัฒนาเข้าสู่ยุคคอนเทนเนอร์ รองรับ OpenShift อย่างเต็มที่ ใช้ชื่อทำตลาดว่า IBM Cloud Pak สามารถรันบนคลาวด์ยี่ห้อไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคลาวด์ของ IBM แต่ IBM เป็นคนจัดชุดซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรม
คุณปฐมาเล่าว่าในไทยตอนนี้มีลูกค้าองค์กรที่ใช้งาน Red Hat OpenShift แล้ว โดยมาจากกลุ่มธนาคารที่เป็นฐานลูกค้าของ IBM มายาวนาน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐกำลังลองทำ government blockchain อยู่ด้วย
คำแนะนำต่อองค์กรไทยยุคคลาวด์
คุณปฐมาบอกว่าจากที่มีประสบการณ์สาย enterprise มายาวนาน (นับตั้งแต่อยู่กับไมโครซอฟท์) ยังไม่เห็นลูกค้าองค์กรรายใดย้ายงาน 100% ขึ้นมาอยู่บนคลาวด์ ดังนั้นงานที่รันแบบ on premise ยังคงมีอยู่เสมอ และไม่ใช่งานทุกประเภทจะเหมาะสำหรับคลาวด์ ทั้งในแง่เทคนิค (ยังไม่ถูก modernized ให้เป็นคอนเทนเนอร์) หรือในแง่ค่าใช้จ่ายที่การรันแบบ on premise อาจถูกกว่า
ดังนั้นองค์กรใดที่ต้องการย้ายขึ้นคลาวด์คงต้องดูความเหมาะสมเป็นกรณีไป ซึ่ง IBM มีความเชี่ยวชาญตรงนี้ เพราะนอกจากความรู้ทางเทคนิคแล้ว ยังเข้าใจเรื่องกฎระเบียบ (regulation) ของแต่ละอุตสาหกรรม สามารถแยกแยะได้ว่างานแบบไหนติดขัดกฎระเบียบข้อใด ควรนำมาอยู่บนคลาวด์หรือไม่
กรณีศึกษาที่ดีคือ Bank of America หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจย้ายระบบ core banking ขึ้นคลาวด์ไปเรียบร้อยแล้ว การย้ายระบบแบบนี้มักมีความซับซ้อนสูงเพราะติดกฎระเบียบด้านการเงิน แต่เนื่องจาก IBM เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงมีบริการที่เรียกว่า Financial Services Public Cloud ที่เตรียมไว้รอลูกค้าฝั่งธนาคารอยู่แล้ว เตรียมเรื่องความปลอดภัย, regulation, compliance มาให้เสร็จสรรพ ช่วยลดระยะเวลาและอุปสรรคลงไปได้มาก
ส่วนลูกค้าองค์กรในไทย แม้ย้ายขึ้นคลาวด์กันไปเยอะแล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้ย้ายระบบสำคัญๆ (mission critical) ขึ้นคลาวด์กันมากนัก พอมาเจอปัญหา COVID-19 ที่ทำให้คนเข้าไปยังสำนักงานได้ยาก จึงเป็นตัวเร่งให้องค์กรเริ่มย้ายระบบ mission critical ขึ้นคลาวด์กันเร็วขึ้น
พอตัดสินใจย้ายมาคลาวด์แล้ว ปัญหาที่พบบ่อยกลับไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะองค์กรไทยโดยเฉพาะสายธนาคาร มักทดลองใช้คลาวด์หลายๆ ตัวเพื่อลองผิดลองถูกหรือเอาไว้เปรียบเทียบกัน แต่พอต้องย้ายงานสำคัญๆ ที่ต้องใช้ปริมาณทรัพยากรมากๆ การใช้คลาวด์หลายยี่ห้อจะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เริ่มบีบให้องค์กรต้องเลือกว่าจะใช้คลาวด์รายใดรายหนึ่งไปเลย
Comments
จริง ๆ IBM ควรเป็นผู้นำ Cloudแต่ทำไมเริ่มช้าจัง
อยากให้ Cloud แต่ละเจ้าพิจารณามาเปิด Zone Server ที่ไทยบ้าง
มี Huawei Cloud มาแล้วเจ้านึงครับ
ดูมาตราฐานการใช้กฎหมายในไทยแล้ว เค้าคงเปิดรอบๆ ไทยแทนแหละครับ