กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศฉบับที่ 4496 (พ.ศ. 2555) เรื่องข้อกำหนดการทำให้เนื้อหาเว็บสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ หรือ มอก.2565-2555 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 โดยอ้างอิงกับข้อกำหนด WCAG 2.0 ของ W3C มีจุดประสงค์ให้เนื้อหาของเว็บไซต์สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยทุกคน ซึ่งรวมถึงผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถรับสื่อข้อมูล ข่าวสาร การใช้บริการ ของเว็บไซต์ได้เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ผู้จัดทําเว็บสามารถเอามาตรฐานนี้มาใช้อ้างอิงเพื่อนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจัดทำเว็บไซต์ให้ผ่านข้อกำหนด และสามารถนำไปใช้เป็นข้อกำหนดคุณสมบัติในการจัดซื้อจัดจ้างได้
ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว จึงเป็นมาตรฐานไม่มีผลบังคับใช้ และยังไม่มีข้อปฏิบัติในการขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน
ที่มา - ราชกิจจานุเบกษา
ป.ล. ก่อนหน้านี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เคยออกแนวทางการพัฒนาเว็บที่ทุกคนเข้าถึงได้ (TWCAG) และถูกนำไปใช้อ้างอิงก่อนที่มาตรฐานนี้จะประกาศออกมาครับ
Comments
ต้องมีรายละเอยีดของตัวมาตรฐานหน่อยครับ เช่น ที่มาที่ไปว่าทำไม มอก. ถึงต้องมาออกประกาศฉบับนี้, มันมีผลใช้บังคับกับใครบ้าง, ทำตามแล้วมีประโยชน์อะไรบ้าง
ขอโทษที่ใช้เวลาหาข้อมูลไปนาน ได้ดำเนินแก้ไขครั้งแรกตามข้อคิดเห็นแล้วครับ
มอก. ย่อมาจาก "มาตรฐานอุตสาหกรรม" ออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ครับ
แก้ไข ขอชะลอการขึ้นหน้าข่าวชั่วคราว เนื่องจากยังไม่แน่ใจในเรื่องการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานว่าต้องขออนุญาตเหมือนมาตรฐานอื่นหรือไม่ ผมจะสอบถาม สมอ. วันนี้ก่อนครับ
ข่าวน่าสนใจมากครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
วันนี้ได้สอบถาม สมอ. ผ่านเจ้าหน้าที่ห้องสมุด สมอ. เรื่องว่าจะขอนำเครื่องหมาย มอก.2565-2555 นี้ มาใช้แสดงบนเว็บได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ได้ตอบว่ามาตรฐานนี้เพิ่งออกมา ยังไม่มีข้อปฏิบัติในการขออนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานดังกล่าว จำเป็นต้องขออีกสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ห้องสมุด สมอ. ที่ช่วยพยายามหาข้อมูล (ใช้เวลานานหลายนาที)
ส่วนเนื้อหาข่าว ผมได้แก้ไขเท่าที่คิดว่าน่าจะใช้ได้แล้วครับ
ป.ล. ตอนแรกโทรสายด่วน สมอ. แต่เจอระบบอัตโนมัติว่าปิดให้บริการ