ข่าวเล็กๆ ของงาน CES 2014 ที่น่าสนใจไม่น้อยครับ เรื่องต้องย้อนเยอะหน่อยคือสินค้าไอทีทั้งหลายทั้งปวงนี่มีส่วนประกอบที่เป็น "แร่ธาตุ" อย่าง tungsten, cassiterite, wolframite, coltan หรือทอง ซึ่งปัจจุบันหายากและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และจุดมีแร่เหล่านี้ก็มักเป็นภูมิภาคที่ยังไม่ค่อยพัฒนาทางเศรษฐกิจมากอย่างแอฟริกากลาง
เมื่อการขุดแร่เหล่านี้มาขายกลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาล สิ่งที่ตามมาคือสงครามและความขัดแย้งในพื้นที่เหล่านั้นจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (เรียกว่า conflict mineral, ลักษณะเดียวกันกับ blood diamond ) ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงเรียกร้องให้อุตสาหกรรมไอทีพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้
อินเทลในฐานะผู้นำด้านการผลิตชิปจึงประกาศว่า ตอนนี้บริษัทปรับกระบวนการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่หมดแล้ว โดยจะไม่ใช้แร่ธาตุจากภูมิภาคที่มีความขัดแย้งเรื่องนี้ โดยซีอีโอ Brian Krzanich บอกว่ากระบวนการนี้ไม่ง่าย และบริษัทพยายามทำเรื่องนี้มา 4 ปี ตอนนี้สามารถตรวจสอบได้หมดว่าแร่ธาตุที่ใช้มาจากเหมืองแห่งใดบ้าง
ที่มา - Ars Technica
Comments
ผมว่ามีค่าเท่าเดิมครับ Intel ไปใช้แหล่งที่ไม่ขัดแย้งก็เท่ากับบีบให้กลุ่มที่ใช้จากแหล่งนั้นอยู่แล้วไปหาใช้แหล่งที่ขัดแย้งแทนในส่วนที่ขาดหายจาก Intel เข้าไปแย่งมา ตราบไดความต้องการมากกว่าหรือไกล้เคียงกับซัพพลายผมว่าใช้แหล่งไหนให้ผลทางอ้อมเท่าเดิม
อันนี้ต้องมองในมุมมองโลกสวยนะครับ คือผู้ผลิตทุกรายต้องไปใช้แหล่งแร่ที่ไม่เกิดความขัดแย้ง (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) จะเป็นการบีบให้เหมืองแร่ที่มีความขัดแย้งต้องรีบจัดการให้ความขัดแย้งนั้นหายไป แต่ที่เกิดผลดีต่อ Intel แน่ๆคือภาพลักษณ์องค์กรครับ
ไม่จริงเสมอไปครับ อุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้แร่เหล่านี้เท่านั้น แต่แร่อื่นหรือวัตถุดิบอื่นแพงกว่าจะถูกบีบจากตลาด ให้ต้องไปใช้วัตถุดิบอื่นเมื่อแร่ในตลาดราคาสูงขึ้น
กระบวนการนำแร่ออกจากจากแหล่งแที่ดินขัดแย้งเหล่านีต้องผ่านนายหน้าหลายชั้น (ในทางทฤษฎีอินเทลไม่เคยยอมรับว่าใช้แร่จากแหล่งเหล่านี้ แค่ "ตรวจสอบที่มาไม่ได้") อุตสาหกรรมขนาดเล็กรายอื่นที่ไม่มีกำลังและความต้องการที่สูงพอ ก็ไม่คุ้มที่จะหนีไปใช้แร่จากแหล่งเหล่านี้ทุกราย เพราะค่าใช้จ่ายรายทางที่สูงเกินไป
การบอกว่ามันบีบให้รายอื่นไปใช้แทนน่าจะจริงครับ แต่ถ้าบอกว่าเท่าเดิมเลยคงไม่จริง
lewcpe.com , @wasonliw
ประเด็นอยู่ที่ Intel แก้ปัญหาเฉพาะตัวได้แล้ว คนอื่นไม่สนใจ