เกือบทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ที่ทุกวันนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ ไปเสียแล้ว โดยเว็บไซต์ The Next Web ได้นำเอามุมมองและทฤษฎีทางจิตวิทยามาอธิบายการเสพติดของผู้ใช้นี้ ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงเอามาแบ่งปันกันครับ
The Next Web อธิบายว่าเฟซบุ๊กได้กลายเป็น "ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์"ในลักษณะเดียวกับที่ร้านสะดวกซื้อเป็น เพียงแต่ไม่ใช่ในเชิงกายภาพ แต่เป็นความต้องการทางด้านจิตใจหรือจิตใต้สำนึกของเรา โดยความต้องการเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้
- การสร้าง "ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem)"
ความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจสามารถสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ด้วยการใส่ระดับการศึกษา งานอดิเรก สิ่งที่เราชอบและสนใจ ฯลฯ ลงในโปรไฟล์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถรื้อสร้างและควบคุมตัวตนของเราขึ้นมาได้เพียงปลายนิ้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจลึกๆ ของเราที่ได้เปิดเผยให้โลกได้รับรู้
นอกจากนั้นหากใครเข้ามาป่วนหรือทำลายความเชื่อมั่นในตัวตนของเรา เฟซบุ๊กก็เปิดโอกาสให้เราบล็อกคนเหล่านั้นได้ง่ายๆ เช่นกัน
- ความสามารถในการ "ควบคุมการสร้างความประทับใจ (Impression Management)"
สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถจัดการและควบคุมข้อมูล ที่จะมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์และตัวตนของตัวเอง ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการควบคุมนี้เองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการสนทนาหรือปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า ที่เราอาจหลุดคำพูดหรือท่าทางออกไปโดยไม่ทันยั้งคิด และทำลายภาพลักษณ์และความประทับใจในตัวเราลงได้ง่ายๆ
สื่อออนไลน์เช่นเฟซบุ๊กได้ทำลายข้อจำกัดตรงนี้ลงไป และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ในการไตร่ตรองและคิดข้อความในการสนทนาหรือสเตตัสก่อนที่จะกดส่ง รวมไปถึงทำลายความจำเป็นในการใช้ท่าทาง (อวจนภาษา) ในการสื่อสารลงไปด้วย
นอกจากนั้นกระบวนการสร้างความประทับใจยังอยู่ในลักษณะของรูปและข้อมูลโปรไฟล์ รวมไปถึงการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และโพสต์บ่อยๆ ขณะที่การกด like ผู้อื่นก็จัดอยู่ในการสร้างความประทับใจด้วยเช่นกัน
- เฟซบุ๊กทำให้ "กล้าเปิดเผยตัวตนมากขึ้น (enables our extrovert traits)"
กล่าวคือคนที่ชอบเปิดเผยตัวตน (extrovert) มักจะแสดงออกผ่านการโพสต์สเตตัส แชร์ลิงก์ หรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์อยู่เนืองๆ โดยพื้นที่ของเฟซบุ๊กจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อแสดงออกผ่านช่องทางข้างต้นไปแล้ว จะถูกมองว่าหลงตัวเอง (narcissistic) ลองนึกภาพในงานเลี้ยงดู หากมีคนๆ หนึ่งเดินเข้ามาแล้วเอารูปตัวเองมาอวดให้คนอื่นดู คงจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ แน่ๆ
เหล่านี้เองที่ได้ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นกิจวัตร เพราะเฟซบุ๊กได้สร้างความพึงพอใจในจิตใต้สำนึกโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ในแง่หนึ่งการแสดงออกและเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กอาจมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นมองเรา แต่ในอีกแง่ มันก็มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ที่เรามองตัวเองด้วยเช่นกัน
แล้วคุณล่ะ ติดเฟซบุ๊กขนาดไหน?
ที่มา - The Next Web
Comments
Facebook ซื้อ Instagram ไปเสริมทัพ 3 ข้อนี้ด้วยสินะ สินะ
ต่อไปต้องเรียกว่า Facebook ครองโลกไหมนะ?
"นอกจากนั้นหากใครเข้ามาป่วนหรือทำลายความเชื่อมั่นในตัวตนของเรา เฟซบุ๊กก็เปิดโอกาสให้เราบล็อกคนเหล่านั้นได้ง่ายๆ เช่นกัน"
ผมคิดอีกแบบ โดยปกติก็ไม่ค่อยมีใครเข้าไปป่วนหรอกครับ เพราะ Facebook เป็นการพูดในกลุ่มเพื่อนหรือคน Follow มากกว่า การโต้แย้งนำพาซึ่งการทะเลาะกับเพื่อนหรือคนติดตามทั้งหมดที่เห็นด้วย (ซึ่งต่างจากการโต้แย้งแบบเห็นหน้าที่ไม่มีพวกเยอะขนาดนั้น) ทำให้บางคนเลี่ยงแสดงความเห็นเพื่อที่จะต้องมาพิมพ์เถียงกับคนจำนวนมาก เหลือแต่คนคอมเมนต์ความเห็นดีๆ เป็นส่วนมาก ถ้าไม่ชอบก็อาจไม่แสดงความเห็น
พูดไปเรื่องไม่มีปุ่ม Dislike ก็น่าจะมีส่วนอยู่ ทำให้มองไม่เห็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจ
พวกเข้ามาป่วนน่าจะเป็นปัญหาด้านของ fan page มากกว่ามั้งครับ ซึ่งนั่นก็เป็นคนละกรณีกับการแสดงตัวตนแต่คนที่สร้าง fan page มา post รูปตัวเองเป็น net idol แล้วโดนป่วนก็จะเหมือนกรณีดาราปกติก็ต้องรับมือกับปัญหาแบบนั้นกันไป
ผมว่า มันเอาไว้สร้างภาพนะ
ช่วงนี้เริ่มใช้ facebook น้อยลงแล้วครับ
ช่วงแรกๆ อาทิตย์นึงเข้าไปดูที ตอนนั้นจะคุยกับใครก็จะใช้ MSN และก็อ่านข่าวจาก feedทุกวันนี้วันไหนถ้าถี่จัดๆ ก็ระดับ 10 นาทีครั้งเลย คุยกับกลุ่มเพื่อนก็ใช้ message (งานบ้าง คุยเล่นบ้าง) อ่านข่าวผ่านหน้า wall (สาระบ้าง บันเทิงบ้าง) แต่ก็อ่านจาก feedly ด้วย
อ่านเหตุผลทางจิตวิทยาตัวนี้แล้วรู้สึกเหมือนกำลังฟังคนวิเคราะห์หวยหลังถูกหวยกินหมาดๆ
สำหรับบ้านเรานะ... น่าจะเอาไว้ระบายอารมณ์มากที่สุด
ช่วงแรกๆ ก็สมัคร 2 แอคเคาต์ ใช้จริงสื่อสารกับเพื่อนๆ อันนึง กับเอาไว้เล่นเกมส์แฟลชบนเฟซบุ๊กอีกอันนึงช่วงต่อๆ มา ก็สมัครเพิ่มเป็น 3 แอคเคาต์ เอาไว้ระบาย เอาไว้ถล่มกันแยกสีเสื้อ แยกเหล่ากอ
แต่ช่วงนี้ น่าลบทิ้งไปกันหมดละมั๊ง เหลืออันเดียวกับเพื่อนล่าสุด ฮ่าๆๆๆๆๆ
ลืมไปข้อ คือ
ความอยากรู้อยากเห็น สอดรู้สอดเห็น (Suek Rueng Chao Bann)
ประทับใจในวงเล็บมากครับ 555
ปกติผมใช้ Facebook ในฐานะของ ข่าว, นิตยสาร, และเครื่องมือสื่อสาร เนื่องจากผมไม่ใช่คนชอบแบ่งปัน เลยไม่มีปัญหากับวิฐีชีวิตเท่าไหร่
ผมว่ามันเป็นพื้นที่ เอาไว้อวด กับสร้างภาพมากกว่าครับ
ผมละเป็นคนนึงที่ยังสงสัยว่า จะโชว์ จะไปบอกคนอื่นทำไม ว่าเราทำอะไร อยู่ที่ไหน รักใครมากขนาดไหน
อันนี้ความเห็นส่วนตัวผมนะครับ หลายๆท่านคงไม่ได้มองแง่ลบขนาดผม
ความต้องการพื้นฐานของ Maslow ไงครับ บางทีมนุษย์ก็ evil เยอะกว่าที่เราคิด
มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ครับ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับแต่คนที่ชอบอวด เรียกร้องความสนใจเกินพอดี มักไม่ยอมรับความจริง
มันก็เหมือนเว็บบอร์ด