เมื่อปีที่แล้ว Blognone เคยรีวิว HP EliteBook x360 1030 G2 โน้ตบุ๊กระดับท็อปในสายธุรกิจของ HP
มาปีนี้ HP ออกรุ่นใหม่ในรุ่น HP EliteBook x360 1030 G3 ที่ยังคงไว้ซึ่งฟีเจอร์อย่างหน้าจอระบบสัมผัส, พับจอได้, มีปากกาเขียนบนหน้าจอ, การล็อกอินด้วยสแกนลายนิ้วมือ ฯลฯ ในภาพรวมถือว่ามีความโดดเด่นตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงฟีเจอร์ที่ครบครัน สีของรุ่นจะมีเพียงสีเดียว คือ สีเงิน
สเปก
HP EliteBook x360 1030 G3 ที่ได้มารีวิวเป็นรุ่นรองท็อป สเปกมีดังนี้
- หน้าจอ IPS ระบบสัมผัสขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด FHD (1920 x1080 พิกเซล) กระจก Gorilla Glass 4
- น้ำหนักตัวเครื่อง 1.25 กิโลกรัม
- Windows 10 Pro
- ซีพียู Intel Core 8th Gen i5-8250
- จีพียู Intel HD Graphic 620
- แรม 8GB, SSD 256GB
- รองรับ LTE มีช่องใส่ Nano SIM
- มีสแกนลายนิ้วมือ และกล้องหน้า IR Camera รองรับ Windows Hello
ราคาในรุ่นนี้ตามหน้าเว็บ HP Store Thailand อยู่ที่ 58,590 บาท ส่วนรุ่นท็อปสุดเป็น Core i7-8550U ราคา 69,990 บาท
ดีไซน์
HP EliteBook x360 1030 G3 ถือเป็นโน้ตบุ๊กสายธุรกิจแบบพับจอได้ (convertible) ซึ่งปัจจุบันโน้ตบุ๊กในลักษณะนี้มีผู้ผลิตหลายรายพัฒนาออกมามากขึ้น อาทิ Dell XPS 13 2-in-1, Lenovo YOGA 730 หรือ Microsoft Surface Book 2 เป็นต้น
HP EliteBook x360 1030 G3 ยังคงเอกลักษณ์ของความเรียบง่าย เช่นเดียวกับรุ่นก่อนหน้า ตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียม สีเงิน มีความหรูหรา พรีเมียม น้ำหนัก 1.25 กิโลกรัม เบากว่ารุ่น G2 ที่มีน้ำหนัก 1.28 กิโลกรัม และขนาดเล็กลง อาจจะดูคล้ายกับ MacBook อยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าตัวเครื่องไม่ใหญ่ พกติดกระเป๋าเพื่อใช้ไปใช้งานตามนอกสถานที่ได้ง่าย
HP EliteBook x360 1030 G3 เป็นโน้ตบุ๊กแบบ 2-in-1 ขนาดหน้าจอ 13.3 นิ้ว แม้จะเจอแสงมากก็ไม่เกิดเงาสะท้อน ไม่รบกวนสายตาขณะใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถพับจอได้ 360 องศา รองรับการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ เช่น กางเป็นทรงเต็นท์สำหรับดูหนัง หรือพับเป็นแท็บเล็ต ใช้คู่กับปากกา HP Active Pen สำหรับวาดภาพหรือจดบันทึกงานก็ได้ เป็นต้น ส่วนของลำโพงเป็น Bang & Olufsen ที่ขับเสียงออกมาได้ดี
การพับจอได้แบบ 360 องศานี้ ตัวข้อพับใช้โลหะเป็นวัสดุหลัก เพื่อความแข็งแรง ทนทาน เพื่อการพับจอทำได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าจอจะหลุดออกมาง่าย
พอร์ตการเชื่อมต่อในรุ่นนี้ถือว่าให้มาค่อนข้างเยอะพอสมควร เริ่มที่ฝั่งซ้ายประกอบไปด้วย USB 3.1, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร, ปุ่มพาวเวอร์, ช่องเสียบซิม ประเภท Nano SIM
ขณะที่ฝั่งขวาประกอบไปด้วยพอร์ต HDMI, USB Type-C รองรับ Thunderbolt จำนวน 2 พอร์ต, USB 3.1 สำหรับชาร์จ และปุ่มปรับระดับเสียง
จะเห็นได้ว่า HP EliteBook x360 1030 G3 จะติดตั้งปุ่มพาวเวอร์กับปุ่มปรับระดับเสียงไว้ที่ขอบด้านข้าง ก็เพื่อให้การใช้งานในโหมดแท็บเล็ตทำได้ง่าย ไม่ต้องพลิกคีย์บอร์ดเพื่อกดปุ่มดังกล่าวเมื่อต้องการใช้งาน แต่ที่ขาดหายไป คือ ช่องเสียบ microSD ซึ่งเคยมีอยู่ในรุ่น G2
คีย์บอร์ดและทัชแพด
คีย์บอร์ดเป็นไปตามมาตรฐานโน้ตบุ๊กทั่วไป เป็นแบบเรียบ ปุ่มฟังก์ชันมีมาให้ครบถ้วน ระยะเว้นระหว่างปุ่มไม่ชิดกันเกินไป ทำให้การพิมพ์ทำได้ง่าย และการยุบตัวของปุ่มไม่ลึก อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และมีไฟ backlight ในตัว
ส่วนทัชแพดเป็นแบบไร้ปุ่มขนาดใหญ่ รองรับ NFC ในตัว ขนาดของทัชแพดก็กว้างพอที่จะใช้นิ้วเลื่อนเคอร์เซอร์หรือกดได้อย่างสะดวก การตอบสนองทำได้รวดเร็ว
นอกจากนี้ถัดจากทัชแพดไปทางขวาเล็กน้อยจะเป็นปุ่มสแกนลายนิ้วมืออยู่มุมบนขวา โดยจากที่ทดลองใช้จริงรู้สึกว่าการบันทึกลายนิ้วมือจะค่อนข้างติดยากไปนิด ไม่ง่ายเท่าบันทึกลายนิ้วมือบนสมาร์ทโฟน แต่ในส่วนการใช้สแกนเพื่อล็อกอินนับว่าทำได้รวดเร็ว ไม่ถึง 1 วินาทีก็ปลดล็อกเข้าสู่หน้าเดสก์ทอปได้แล้ว
การใช้งาน และแบตเตอรี่
จากที่ใช้งาน HP EliteBook x360 1030 G3 โดยส่วนตัวถือว่าน่าประทับใจ เครื่องทำงานเงียบ ร้อนช้า ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ แบตเตอรี่ที่รู้สึกได้ว่าอึดพอสมควร เพราะจากที่ชาร์จจนเต็ม และนำออกไปใช้งานนอกบ้านแบบไม่พกอแดปเตอร์ ทั้งพิมพ์งาน, ดู YouTube, เช็กอีเมล ราวๆ 4-5 ชั่วโมง แบตเตอรี่ยังเหลือพอที่จะต่อไปได้อีกอย่างน้อยๆ 5-6 ชั่วโมง
การทดสอบของเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น (NotebookCheck) ระบุว่าอยู่ได้เกิน 10 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับรุ่น x360 1030 G2
ปากกา HP Active Pen
ใน HP EliteBook x360 1030 G3 ยังคงมีปากกา HP Active Pen ที่เป็นอุปกรณ์เสริมมาให้ด้วย ใช้เทคโนโลยีของ Wacom เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth มีแม่เหล็กที่สามารถยึดติดกับตัวเครื่องได้ โดยไม่ต้องอาศัยช่องเก็บปากกาเพิ่มเติม
สรุป
HP EliteBook x360 1030 G3 ถือเป็นโน้ตบุ๊กสายธุรกิจที่ครบครันรุ่นหนึ่งเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่ดีไซน์ที่หรูหรา พรีเมียม, งานประกอบแน่นหนา แข็งแรง, สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ด้วยการพับจอ, เครื่องทำงานเงียบและร้อนช้า และยังมาพร้อมสแกนลายนิ้วมือที่ช่วยให้การเข้าหน้าเดสก์ทอปทำได้สะดวกและรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นตัวเครื่องที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่พอร์ตที่ให้มาก็ถือว่าเยอะพอสมควร แถมยังมีลำโพง Bang & Olufsen ในโน้ตบุ๊กสายธุรกิจรุ่นนี้ด้วย
ส่วนข้อด้อยอื่นๆ ก็คงต้องยอมรับว่าเรื่องของราคาที่ค่อนข้างแรง เกินครึ่งแสน คนทั่วไปอาจจะต้องคิดหนักพอสมควร
Comments
เต้นท์ => เต็นท์
เช็ค => เช็ก