DARPA เดินหน้าพัฒนาวิธีเข้ารหัสข้อมูล ที่นำไปวิเคราะห์ได้แม้เข้ารหัสอยู่, อินเทลพัฒนาชิปเร่งความเร็ว
การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล กับการวิเคราะห์ข้อมูลดูเป็นแนวคิดที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง และต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น หากเลือกปกป้องข้อมูลด้วยการเข้ารหัส (encryption) ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้จนกว่าจะถอดรหัสออกมาทั้งหมด
ในทางเทคนิคแล้วมีแนวคิดที่เรียกว่า Fully Homomorphic Encryption (FHE) เป็นวิธีการเข้ารหัสแบบใหม่ ที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราห์-ประมวลผลต่อได้ (ทั้งๆ ที่ยังถูกเข้ารหัสอยู่และไม่รู้ว่าข้อมูลข้างในคืออะไร)
FHE เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ไม่ถูกนำมาใช้งานจริง เพราะต้องใช้พลังประมวลผลมหาศาล งานที่ใช้เวลาเพียงมิลลิวินาทีบนคอมพิวเตอร์ทั่วไป อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หากเข้ารหัสแบบ FHE
แต่เมื่อ FHE คือแนวทางแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวในระยะยาว ล่าสุด DARPA หน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (หน่วยเดียวกับที่คิดค้นอินเทอร์เน็ต) จึงเปิดตัวโครงการ Data Protection in Virtual Environments (DPRIVE) เพื่อหาวิธีประมวลผล FHE ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยใช้โซลูชันฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ทำงานด้วยกัน
โครงการ DPRIVE เลือกทีมวิจัยมา 4 ทีม ได้แก่ Duality Technologies, Galois, SRI International, Intel เพื่อพัฒนาโซลูชันระยะยาว ให้การประมวลผล FHE มีความเร็วใกล้เคียงกับ plaintext ในปัจจุบัน
บริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดย่อมเป็นอินเทล ที่ดึงไมโครซอฟท์เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านคลาวด์ ทดสอบโซลูชันนี้บน Azure ด้วย โดยทีมนักวิจัยของอินเทลจะพัฒนาชิปเฉพาะทาง ASIC ขึ้นมาใช้แทนซีพียูปกติ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่องานแบบ FHE
DARPA ไม่ได้ระบุระยะเวลาของโครงการ DPRIVE แต่ข้อมูลของอินเทลบอกว่าเป็นโครงการนานหลายปี (multiyear) และแบ่งงานออกเป็นหลายเฟส
Comments
มี use case ไหมนิ พยายามนึกยังไงก็นึกไม่ออก
นับคะแนนเลือกตั้งโดยไม่รู้ว่าใครโหวตให้ใครครับ
น่าจะเกิดตากการดึงข้อมูลแบบแอบๆ กับประตูหลัง (เช่น Dual_EC_DRBG) ค่อยๆโดนจับใด้
แต่ก็ยังมีแผนจะเป็นคนเสนอมาตรฐานพวกนี้เอง
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo