ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ที่เรียกได้ว่ายังไม่สิ้นสุดลงเสียทีเดียว ทำให้ความบันเทิงในบ้านกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม และแทบจะเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตคนหลายๆ คนไปเลย ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังและซีรีส์บนบริการสตรีมมิ่ง จากแผ่น Blu-ray หรือการเล่นเกมบนคอนโซล
Xiaomi TV Q1E เป็นสมาร์ททีวีรัน Android 10 อีกรุ่นจาก Xiaomi ที่ตอบโจทย์ในด้านฟีเจอร์การใช้งานค่อนข้างครบ ทั้งหน้าจอ 4K ที่รองรับมาตรฐานสี DCI-P3 ถึง 97% และรองรับมาตรฐาน HDR หลักๆ ครบทุกแบบ ทั้ง HDR10+, Dolby Vision และ HLG รวมถึงรองรับเสียงแบบ Dolby Audio และ DTS-HD
ส่วนการใช้งานจริงจะเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ Blognone จะมาลองรีวิวให้ได้ชมกัน ต้องบอกไว้ก่อนว่ารีวิวนี้อาจไม่ได้ลงลึกถึงขั้นมีการเทียบสี คาลิเบรตสี รวมถึงผู้เขียนไม่มีเครื่องเล่นแผ่น Blu-ray 4K หรือคอนโซลเน็กซ์เจ็น การรีวิวจะอิงจากการใข้งานหลักในการรับชมคอนเทนต์ Dolby Vision บนบริการสตรีมมิ่งเช่น Netflix และคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube
Disclaimer: เครื่อง Xiaomi TV Q1E ได้รับการสนับสนุนจาก Xiaomi ประเทศไทย
สเปกของ Xiaomi TV Q1E
- หน้าจอ 4K QLED แสดงผลสี DCI-P3 ได้ 97% สว่างสูงสุด 1000 nits
- อัตรารีเฟรช 60Hz มี MEMC เทคโนโลยีแทรกเฟรมแสดงผลให้ลื่นไหลขึ้น
- รองรับ Dolby Vision, HDR10+, HDR10, HLG
- ระบบเสียง Dolby Audio, DTS HD
- ชิปประมวลผล MediaTek 9611
- แรม 2GB
- หน่วยความจำภายใน 32GB
- พอร์ตเชื่อมต่อ HDMI 2.0 สามพอร์ต, ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม., พอร์ตสายแลน, พอร์ต Optical Digital Audio, พอร์ต AV Composite (สามสี), USB 2.0 สองพอร์ต และช่องเสียบสายอากาศระบบ DVB-T2/C, DVB-S2
- รองรับ WiFi 5GHz, Bluetooth 5.0
- รัน Android TV 10
- มี Chromecast ในตัว
- ใช้งาน Google Assistant บนทีวีได้
QLED คืออะไร?
หลายคนอาจจะสงสัยว่า QLED คืออะไร ต่างกับทีวี LED ทั่วไปหรือไม่ แล้วดีเท่า OLED หรือเปล่า คงต้องอธิบายก่อนว่าทีวี LED ทั่วไป ใช้การส่องแสงจากหลอด LED ผ่านฟิลเตอร์สี เพื่อแสดงผลเป็นสีบนจอออกมา แต่สีที่ผ่านฟิลเตอร์มาก็ยังไม่บริสุทธ์นัก เนื่องจากสเปกทรัมของแสงสีขาวที่ส่องออกมาอาจเข้าไปปน ทำให้สีไม่สดเท่าที่ควร
เทคโนโลยี QLED คือการนำสารเรืองแสง Quantum Dot ซึ่งมีขนาดอนุภาคเล็กระดับนาโนเมตร ที่แต่ละขนาดอนุภาคจะแสดงสีแตกต่างกันแบบตายตัวเมื่อถูกแสงส่องผ่าน ทำให้แสดงสีเมื่อมีแสงผ่านได้บริสุทธ์ขึ้นภาพที่ได้จึงมีสีสันสดใสขึ้น และสว่างกว่าจอ LED ทั่วไป
อย่างไรก็ตามเม็ดพิกเซลของ QLED ก็ยังไม่สามารถเปล่งแสงสีได้ด้วยตัวเองแบบจอ OLED ทำให้การแสดงผลสีต่างๆ ยังไม่ดีเท่า และสีดำก็ยังไม่สนิทเท่า การเปิดปิดแสงยังขึ้นอยู่กับจำนวนการแบ่งโซนของไฟ LED บนหน้าจอว่ามีการแบ่งโซนเยอะแค่ไหน แต่ก็มีข้อดีเหมือน LED ตรงที่ไม่เสี่ยงต่อการ burn-in หรือเกิดอาการภาพค้าง เมื่อเปิดภาพเดิมค้างไว้แบบ OLED เรียกได้ว่าให้สีสดกว่า LED ทั่วไป แต่ก็ยังไม่เท่า OLED
ดีไซน์ Xiaomi TV Q1E
Xiaomi TV Q1E มีขนาดเดียวเท่านั้นคือขนาด 55 นิ้ว หน้าจอขอบสีเงินแบบบาง ขอบด้านล่างมีโลโก้ Xiaomi มีไฟสำหรับแสดงสถานะการใช้งาน Google Assistant บอก และมีสวิตช์สำหรับเปิดปิดไมโครโฟน เพื่อความเป็นส่วนตัว
ดีไซน์โดยรวมสวยงามแบบสมาร์ททีวีสมัยใหม่ทั่วไป ขาตั้งเป็นแบบขาเหล็กสองข้างซ้ายขวา อาจจะต้องระวังเรื่องการเป็นรอยบนเฟอร์นิเจอร์เล็กน้อย ส่วนรีโมตเป็นแบบบลูทูธ ไม่ต้องหามุมกดแบบอินฟราเรด ใส่ถ่าน AAA สองก้อน รูปแบบตัวเครื่องและรีโมทเหมือนกับ Xiaomi P1 ที่ออกมาก่อนหน้านี้
พอร์ตเชื่อมต่อ
พอร์ตเชื่อมต่อจะอยู่ด้านหลังมีด้านล่างและด้านข้าง ให้มาค่อนข้างครบครัน ด้านล่างมีพอร์ต LAN ที่ด้านซ้ายสุด ถัดมาเป็นกับพอร์ต Digital Audio Out และยังมีพอร์ต AV Composite แบบสายสามสีมาให้ด้วย ใครที่เป็นคอเครื่องเกมคอนโซล หรือเครื่องเล่นแผ่นยุคเก่าที่ยังใช้สายสามสีอยู่ ก็สามารถนำมาเสียบใช้ได้ สุดท้ายด้านขวาสุดเป็นช่องเสียบสายอากาศ
สำหรับพอร์ตด้านข้าง เป็นช่องเสียบ USB สองช่อง พอร์ต HDMI 2.0 สองพอร์ต และ HDMI 2.1 พอร์ตเดียว รองรับระบบ eARC หรือระบบ Enhanced Audio Return Channel คือพอร์ต HDMI 2 ตรงกลาง จุดนี้น่าเสียดายเล็กน้อยที่ Xiaomi Q1E แสดงผล 4K ได้สูงสุดแค่ 60Hz แม้ปัจจุบันยังไม่มีปัญหา แต่สำหรับเกมเมอร์ ความถี่แค่ 60Hz อาจไม่เพียงพอในอนาคต
การใช้งาน
ทีวี Xiaomi ในบางประเภท จะมี UI ชื่อ PatchWall ครอบมาบน Android TV อีกที แต่ระบบนี้ยังไม่รองรับการใช้งานในบ้านเรา ฉะนั้นหน้าตาของ UI จึงเหมือนกับ Android TV ทั่วไป แต่การใช้งานพบว่าในบางครั้งที่กดตั้งค่าไปพร้อมกับการดูคอนเทนต์ 4K HDR ไปด้วย เครื่องจะมีอาการตอบสนองช้าเล็กน้อย คาดว่ามาจากชิป MediaTek 9611 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกับการดูคอนเทนต์ปกติมากนัก
Google Assistant ปิดมาเป็นค่าเริ่มต้น สามารถเปิดการตั้งค่าได้ใน Device Preferences ส่วนการใช้งานจะคล้ายกับสมาร์ทสปีกเกอร์ทั่วไป แค่พูด Ok, Google หน้าจอก็จะเด้ง UI ของ Google Assistant ขึ้นมาให้เราสั่งการ และเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทโฮม Google Home ได้ปกติ
เมื่อเปิด Netflix จะสามารถรับชมภาพยนตร์ที่ใช้ระบบ Dolby Vision ได้ ลำโพงเป็นแบบ 30W ในตัวเครื่อง พร้อมทวีตเตอร์คู่ คุณภาพเสียงอยู่ในระดับพอใช้ ไม่โดดเด่น แต่เมื่อต่อ Soundbar ผ่านพอร์ต Digital Output สามารถเล่นเสียง Dolby 5.1 บน Netflix ได้ โดยสามารถเข้าไปปรับแต่งการส่งสัญญาณเสียงได้ในการตั้งค่า Digital Output ว่าจะใช้เป็นแบบ PCM, Passthrough หรือ Dolby Digital
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ Dolby Vision บน Netflix
สำหรับ YouTube การรับชมคอนเทนต์ HDR ยังรองรับแค่ HDR10 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ YouTube เอง แต่ภาพที่ได้ก็ยังมีสีสันสดใสกว่าแบบรู้สึกได้ เมื่อเทียบกับทีวี 4K LED ทั่วไปเครื่องเก่าของผู้เขียน
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube
ภาพตัวอย่างคอนเทนต์ HDR10 บน YouTube
ข้อเสีย
ข้อจำกัดของเครื่องอาจจะเป็นเรื่อง UI และการตั้งค่า ที่อาจจะมีช้าหรือค้างบ้าง หากรับชมคอนเทนต์แล้วปรับตั้งค่าไปด้วย อีกข้อจำกัดคือหน้าจอที่เป็นแบบ 60Hz แม้สีสันจะสดใส ความสว่างโดดเด่น แต่สำหรับเกมเมอร์ที่อยากได้ภาพลื่นไหลบนอัตรารีเฟรชที่สูงกว่า อาจจะไม่พอใจในส่วนนี้
อีกหนึ่งเรื่องคือหน้าจอยังสะท้อนแสงในห้องมากพอสมควร แม้ความสว่างของจอจะอยู่ที่ 1000 nits สำหรับคอนเทนต์ HDR แต่ถ้าคอนเทนต์ที่ดูส่วนใหญ่ เป็นคอนเทนต์ธรรมดา หรือไม่สว่างมากนัก อาจต้องจัดวางทีวีให้อยู่ในมุมที่ไม่สะท้อนหลอดไฟในห้อง หรือหรี่ไฟเมื่อต้องการรับชม
สรุป
Xiaomi TV Q1E ถือได้ว่าเป็นทีวี QLED ขนาด 55 นิ้ว ที่ให้ฟีเจอร์รับชมคอนเทนต์มาแบบครบครัน ทั้งการรองรับ HDR มาตรฐานต่างๆ และมาตรฐานเสียง Dolby Audio และ DTS HD ส่วนข้อจำกัดบางด้าน ยังถือว่าพอรับได้ในระดับราคา 19,990 บาท
แม้ Samsung QLED กับหรือ LG Nano Cell (Nano Cell เป็นเทคโนโลยีฟิล์มเคลือบฟิลเตอร์สีของ LG ช่วยเรื่องสีสดคล้าย Quantum Dot) จะมีรุ่นที่ราคาใกล้เคียงกันบ้าง แต่ทีวีของ Samsung ก็จะรัน Tizen OS ส่วน LG ก็รัน WebOS ทำให้ Xiaomi ที่รัน Android TV มีข้อได้เปรียบด้านการรองรับแอปต่างๆ ถ้าจะมีคู่แข่งก็คงเป็น Sony ที่ราคาก็จะขยับไปอีกระดับ
นอกจากนี้ทีวี QLED, Nano Cell รุ่นเริ่มต้นบางรุ่นที่ก็ยังไม่รองรับ HDR แบบ Dolby Vision อีกด้วย ทำให้ Xiaomi Q1E เป็นทีวีที่ค่อนข้างครบครันในระดับราคานี้ และน่าจะถูกใจสายดูคอนเทนต์ที่ชอบภาพสีสันสดใสมากกว่าทีวี LED แบบเดิมๆ
Comments
ไม่รู้ปรับปรุงคุณภาพจอรึยังไป lg ถูกกว่า ใช้งานง่ายกว่าดีกว่า
เหมือนยังไม่แก้ bug profile สีแฮะ สีแดงยังเพี้ยนออกไปทางชมพูอยู่ = =
อยากซื้อจอ oled มาเบิร์นเล่นมากกว่า
ไป tcl ได้ android tv 11
ชอบรีโมทของ TCL มากครับ ไม่รู้ยี่ห้ออื่นทำได้มั้ย แต่รีโมท ใช้เสียงได้นี่ สวรรค์มากสำหรับคนใช้ Google assistant ถนัดๆ
ของ LG ครับ เสียงได้ ชี้แบบพอยเตอร์ได้ ใช้แล้วจะลืมยี่ห้ออื่นเลย
LG มาตายตรงไม่ใช้ Android TV อย่างเดียว
ขึ้นอยกับ life style ด้วยแหละ ถ้าไม่ได้สตรีมหนังจากคอม หรือ nas กับดูทีวีแบบ iptvก็ไม่จำเป็นต้องใช้ android นะ เพราะ บริการสตรีมมิ่งจ่ายตังใหญ่ๆ ก็มีครบแล้ว
ไม่กล้าซื้อแบรนด์นี้อีกเลย เครื่องก่อน P1 Bug เรื่องการปรับแสงที่ลดแสงไม่ได้ และเรื่องเปลี่ยนช่องด้วยปุ่มขึ้นลง ตั้งแต่เปิดตัวจนถีงวันนี้ยังไม่มี update OS มาแก้เลย
Ooh
ของผมก็เป็นลดแสงไม่ได้ ต้องรีสตาตถึงหาย
และอื่น ๆ อีกมากมายตามสไตล์ Xiaomi
HDMI input บางทีก็ปรับเป็น 30hz ต้องถอดเสียบใหม่บางทีสีก็เพี้ยน ๆ กับจอคอม เหมือนปรับการแสดงผลเป็น chroma 422
ยังไม่นับเรื่องกินไฟทั้งที่เสียบไว้เฉย ๆ ปิดจอ (ประมาณ30วัต) เข้าใจว่าแอนดรอยต้อง standby ตลอดเวลา แต่ 30วัตต์มันก็เยอะไปมั้ย
พวกเกมเก่ามันอัตราส่วนแบบจอเก่า ๆ ที่ 4:3 นี่สิเอามาเล่นจอแบบนี้มันแปลกๆ สาย Retro คงต้องไปจอเก่ายุค 90 เหมือนเดิม
จอยุคนี้ส่วนใหญ่มันก็ 16:9 หมดแล้วนะครับ ถ้าเอาของเก่ามาเล่น ปรับตั้งค่าจอให้รักษา Scale สัดส่วนภาพเข้ามาให้ Fit จอหรือ 4:3 แบบดั้งเดิมดีกว่านะครับ
อันนนับเป็นโฆษณาได้ไหมครับ? พาดหัวแบบคุ้มจนเหลือเชื่ออันนี้รู้สึกเยอะไปนิดนึง
เห็นมีเขียน Disclaimer ไว้แล้วครับ
แต่ปกติ Feature blog มันจะสีเหลืองน่ะครับ นี่เลยก้ำกึ่งๆ
ชอบผู้เขียนตรงที่บอก ข้อเสียก็คือข้อเสีย ไม่เหมือนหลายๆ ที่ทำเป็นเลี่ยงคำใช้ว่า ข้อสังเกต ผมเห็นแล้ว ทุเรศ มาก ขอโทษนะครับที่ใช้คำหยาบ
รอ flash sale ใน Shopee/Lazada
ใช้จอคอมของ Mi อยู่ ถูกกว่าจอ Dell ที่มีอยู่สเปคพอ ๆ กันร่วมครึ่งนึง พอมาใช้จริงก็ตามราคานั่นแหละ สเปคที่เวอร์วังไม่ได้บอกว่าใช้งานจริงจะดีแค่ไหน