อันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์โลก TOP500 ประจำรอบเดือนมิถุนายน 2022 (จัดปีละ 2 ครั้งทุกเดือนมิถุนายนและพฤศจิกายน) มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือมีแชมป์ใหม่ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Frontier ของห้องวิจัย Oak Ridge National Laboratory (ORNL) ของสหรัฐ แถมยังเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่มีสมรรถนะ 1.102 Exaflop/s ทะลุกำแพง Exaflop ได้เป็นครั้งแรก
Frontier เป็นหนึ่งในซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ 3 เครื่องของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2019 (อีกสองเครื่องคือ Aurora และ El Capitan ซึ่งยังไม่เสร็จ) ทั้งสามเครื่องพัฒนาโดยบริษัท Cray ( ปัจจุบันคือ HPE ) โดยมีแนวทางเทคโนโลยีแตกต่างกันไป
เครื่อง Frontier เลือกใช้แนวทาง AMD ล้วน ซีพียูเป็น AMD Epyc 64C และตัวเร่งประมวลผลเป็น AMD Instinct MI250x เชื่อมต่อกันด้วยระบบเครือข่าย HPE Slingshot, มีจำนวนคอร์รวมทั้งระบบ 8,730,112 คอร์ สมรรถนะ 1.1 Exaflop ทำให้แรงกว่าอันดับสองประมาณ 2.5 เท่า และแรงกว่าอันดับ 2-8 รวมกัน
อันดับสองคือ แชมป์เก่า Fugaku ของญี่ปุ่นที่ครองแชมป์มานานครบ 2 ปีพอดี ใช้ซีพียู Arm Fujitsu A64FX สมรรถนะ 442 Petaflop/s
อันดับสามเป็นเครื่องใหม่ที่เข้ามาติดชาร์ทคือ LUMI ของฟินแลนด์ ใช้แพลตฟอร์ม HPE Cray Ex 235a เดียวกับเครื่อง Frontier (เป็น AMD Eypc+Instinct เหมือนกัน) แต่จำนวนคอร์รวมน้อยกว่าคือประมาณ 1.1 ล้านคอร์ สมรรถนะอยู่ที่ 151 Petaflop/s
อันดับสี่คือ แชมป์เก่ายุคก่อน Summit ที่สร้างโดย IBM และเป็นของศูนย์วิจัย Oak Ridge National Laboratory เช่นกัน ซีพียูสถาปัตยกรรม Power มีสมรรถนะ 148 Petaflop/s ส่วนที่เหลือดูได้จาก TOP500
ทำเนียบซูเปอร์คอมพิวเตอร์คอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดในโลกยังน่าจะเปลี่ยนอีกหลายครั้งในรอบ 1-2 ปีข้างหน้า เพราะกระทรวงพลังงานสหรัฐยังมีเครื่องอยู่ในคิวอีก 2 เครื่องคือ Aurora ใช้เทคโนโลยีฝั่งอินเทลล้วน มีกำหนดเสร็จปลายปี 2022 และ El Capitan ใช้เทคโนโลยีฝั่งเอเอ็มดี ทั้งสองเครื่องมีเป้าหมายสมรรถนะที่ราว 2 Exaflop/s
Comments
เสียดาย Frontier ยังไม่มีผล HPCG ระหว่างนี้ Fugaku เลยครองอันดับหนึ่งไปก่อนส่วน Green500 นี่ Frontier TDS (1 rack ของ Frontier) ได้อันดับหนึ่ง ส่วน Frontier ตัวเต็มได้อันดับสอง กลายเป็นยิ่ง scale แล้วยิ่งกินไฟแฮะ
"แรงกว่าอันดับสองประมาณ 2.5 เท่า และแรงกว่าอันดับ 2-8 รวมกัน" อ่านแล้วนึกว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม
1986 M13 ผ่าน Gigaflop/s
1996 ASCI RED ผ่าน Teraflop/s
2008 IBM Roadrunner ผ่าน Petaflop/s
2022 Frontier ผ่าน Exaflop/s
G ไป T 10 ปี
T ไป P 12 ปีP ไป E 14 ปี
ดูแล้ว zettaflop นี่น่าจะปี 2038 เลย
"กาก สู้ควอนตั้มไม่ได้หรอก" - อ่ะ คิดแทนไอ้คนที่สแปมเม้นต์ให้แระ 😑
5555
WE ARE THE 99%
ดีไม่บอกว่าสู้ไอโพนไม่ได้หรอก
นอกจากภาคการศึกษาและวิจัยแล้ว มีภาคธุรกิจตัวไหนมั้ยครับที่ใช้บริการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใน daily work หรือแบบที่ใช้งานประจำเป็นช่วงๆแบบถี่ๆหน่อย
..: เรื่อยไป
น่าจะเป็นส่วนของการแพทย์ที่ทำเรื่องวิจัยนั่นหละครับที่ใช้บ่อยสุด พวกวิจัยโครงสร้างโปรตีน โควิด เป็นต้น ก็ใช้การประมวลผลหนักๆ เหมือนกัน
งานส่วนอื่น อาจเป็นพวกงานวิศวกรรม, CAD, งานประมวลผลจำลองขนาดใหญ่, งานประมวลผล Virtual Reality ที่ซับซ้อน หรือแม้แต่พวก Hypervisor เยอะๆ ก็อาจใช้เครื่องพวกนี้ได้พอสมควรอยู่นะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว