ข่าวใหญ่วันนี้คงหนีไม่พ้น AIS ประกาศเสนอซื้อ 3BB ด้วยมูลค่ารวม 3.2 หมื่นล้านบาท ถึงแม้กระบวนการทั้งหมดยังต้องรอการอนุมัติจาก กสทช. และมีโอกาสที่จะไม่ผ่าน (เหมือนดีล True/Dtac) แต่ดีลนี้ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และทิศทางการควบรวมให้เหลือผู้เล่นน้อยรายลง (consolidation) เช่นกัน
บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ดีล AIS เสนอซื้อ 3BB เพื่อประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งในมุมของธุรกิจบรอดแบนด์ และผลกระทบต่อสงครามใหญ่ระหว่าง AIS และ True
โครงสร้างตลาดบรอดแบนด์ในประเทศไทย
หากดูตัวเลขล่าสุดจาก กสทช. ( รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาส 3/2564 ซึ่งอาจค่อนข้างเก่าไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่มีตัวเลขที่ใหม่กว่านี้) ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในไทย มีผู้เล่นรายใหญ่ 4 เจ้า คิดตามส่วนแบ่งตลาดดังนี้
- True (TICC)ส่วนแบ่งตลาด 35.57%
- 3BBส่วนแบ่งตลาด 28.30%
- TOT/NTส่วนแบ่งตลาด 19.92%
- AIS Fibre (AWN)ส่วนแบ่งตลาด 13.09%
ตลาดในภาพรวมมีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วง work from home ระหว่างปี 2563-2564 ผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นคืออันดับสาม NT และอันดับสี่ AIS ในขณะที่อันดับหนึ่ง True และอันดับสอง 3BB มีส่วนแบ่งตลาดลดลง
AIS Fibre เติบโตสูง แต่เริ่มทีหลังสุด ลูกค้าน้อยที่สุด
ถ้าเราดูเฉพาะธุรกิจของ AIS Fibre จะเห็นว่าฐานลูกค้าเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง work from home โดยมีลูกค้าเพิ่มจาก 1 ล้านรายใน Q4/2019 มาเป็น 1.86 ล้านรายใน Q1/2022 เท่ากับว่าโตเกือบเท่าตัวในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีกว่า
กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2020 มีลูกค้าเพิ่ม 3 แสนราย โต 34% - AIS
กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2021 มีลูกค้าเพิ่ม 4.35 แสนราย - AIS
การเติบโตของลูกค้า AIS Fibre ถือว่าน่าประทับใจ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว ฐานลูกค้าของ True เองก็เติบโตเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดคือ 4.7 ล้านราย (Q1/2022) ถือว่ามากกว่า AIS ประมาณ 2.6 เท่า ทำให้ไม่ว่า AIS จะเติบโตเร็วแค่ไหน ถ้าดูจากฐานลูกค้ายังอยู่อันดับ 4 ของตลาดอยู่เช่นเดิม และยังอยู่ห่างจากผู้นำตลาดคือ True อีกมาก
สาเหตุหลักที่ AIS ตามหลัง True ในตลาดบรอดแบนด์ ย่อมมาจาก AIS เข้ามาในตลาดนี้เป็นรายสุดท้าย ( เปิดตัวครั้งแรกปี 2558 ปัจจุบันอายุประมาณ 6 ปี) ในขณะที่ผู้เล่นทั้ง 3 รายคือ True, TOT/NT, 3BB เข้าสู่ตลาดมาตั้งแต่ยุค ADSL แล้ว และลูกค้าในตลาดบรอดแบนด์มีข้อจำกัดในการย้ายค่ายมากกว่าฝั่งมือถือมาก (เช่น ข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้บริการ หรืออาคารคอนโดที่อาศัยไม่รองรับค่ายอื่น)
กราฟแสดงอัตราการเติบโตปี 2021 ของ True Online - True
สงครามชิงตลาดไฟเบอร์ สะท้อนการแข่งขันภาพใหญ่ AIS vs True
ในแง่ของขนาดธุรกิจ จำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ย่อมเป็นรองลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่มาก (สเกลหลักล้าน vs หลักสิบล้าน) แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับสองแล้วในปัจจุบัน
AIS เองก็แสดงท่าทีมาตลอดว่าต้องการกระจายธุรกิจของตัวเอง จากที่อิงโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว ให้ขยายมาสู่ธุรกิจอื่นๆ อีก 2 ธุรกิจด้วยคือ บรอดแบนด์ และธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร หากดู ตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุด (1/2565) ของ AIS จะเห็นว่าบรอดแบนด์เป็นธุรกิจอันดับ 2 ของบริษัท แม้ยังตามหลังธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ราว 10 กว่าเท่าก็ตาม
นอกจากนี้ ในยุคที่บริการเป็น convergence ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังสามารถขายพ่วง (bundling of services) กับบริการบรอดแบนด์และบริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อดึงดูดลูกค้าได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
ดังที่เราเห็นได้จากการออกโปรโมชั่นข้ามบริการกัน ทั่งฝั่งของ AIS Mobile + AIS Fibre + AIS Play และฝั่งของ True Mobile + True Online + True Visions/True ID
บริษัทที่สามารถทำแบบนี้ได้มีเพียง AIS และ True เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีของครบทั้ง 3 บริการ
เมื่อธุรกิจบรอดแบนด์เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านการพ่วงโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า AIS ย่อมอยากผลักดันตลาดบรอดแบนด์แบบสุดตัว แต่เมื่อการเติบโตด้วยตัวเอง (organic growth) ยังไม่สามารถทำให้ AIS ขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับ Top 3 ในตลาดได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจบรอดแบนด์ที่ขยายฐานลูกค้าได้ไม่เร็วนัก
ทางออกจึงเหลือการเติบโตผ่านการซื้อและควบกิจการ (merger & acquisition) ซึ่งในตลาดมีผู้เล่นเพียง 2 รายคือ 3BB และ TOT/NT นั่นเอง
การที่ TOT/NT เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 100% ทำให้ตัวเลือกที่เด่นชัดมีเพียง 3BB รายเดียว
โครงสร้างธุรกิจของ 3BB และ JAS
ธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB เป็นของกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มหาชน หรือ JAS ซึ่งอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคมมายาวนาน ตัวเลขผู้ใช้งานอยู่ที่ราว 2.42 ล้านราย และ 3BB ยังมีธุรกิจใกล้เคียงคือ Giga TV ที่เป็นบริการความบันเทิงออนไลน์แบบ IPTV มีฐานลูกค้าราว 3.81 แสนราย
หากเรานำตัวเลข 2.42 ล้านรายของ 3BB มาบวกกับ 1.86 ล้านรายของ AIS Fibre จะได้ฐานลูกค้าราว 4.28 ล้านราย ขึ้นมาใกล้เคียงกับ True Online ขึ้นมาก แม้ยังตามหลังอยู่ก็ตาม ตรงนี้คงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ AIS อยากซื้อธุรกิจของ 3BB เพื่อเอาฐานลูกค้านั่นเอง
หากเราจินตนาการว่า AIS ซื้อสำเร็จ ได้รับการอนุมัติ สิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นคงเป็นการทำโปรโมชั่นร่วมระหว่างลูกค้า 3BB กับบริการมือถือของ AIS ส่วนการผนวกโครงข่ายไฟเบอร์เข้าด้วยกันอาจต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เรียกว่าฝั่งการตลาดทำได้ทันที แต่ฝั่งเทคนิคคงตามมาทีหลัง
ที่มา - Jasmine International (Q1/2022)
หาก AIS อยากซื้อ เราก็ต้องมาดูกันว่าฝั่ง JAS อยากขายด้วยหรือไม่ ปัจจุบันบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มหาชน มีธุรกิจหลักด้วยกัน 3 กลุ่มคือ บรอดแบนด์, ธุรกิจโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีและขุดเหมืองคริปโต และธุรกิจอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์
รายได้ส่วนใหญ่ของ JAS ประมาณ 92% (ไตรมาส 1/2022) มาจากฝั่งบรอดแบนด์ 3BB ส่วนรายได้อีก 7% มาจากธุรกิจวงจรเช่าและคริปโต
นอกจากนี้ JAS ยังแยกความเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ของตัวเองเป็นกองทุน JASIF เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนภายนอกมาสร้างโครงข่ายไฟเบอร์เพิ่ม แล้วให้ 3BB มาเช่าโครงข่ายไฟเบอร์อีกที (3BB เป็นผู้ดำเนินงาน) ปัจจุบันกลุ่ม JAS ถือหุ้นอยู่ 19% ใน JASIF ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นรายย่อย
การซื้อกิจการรอบนี้ AIS จึงซื้อทั้งบริษัทที่ดำเนินการให้บริการบรอดแบนด์ยี่ห้อ 3BB (บริษัท TTTBB) และซื้อหุ้นทั้งหมดของ JAS ในกองทุน JASIF (19% ของกองทุน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์
การซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้ JAS แทบไม่เหลือธุรกิจอื่นอีกมากนัก (เหลือเพียงวงจรเช่าและเหมืองบิทคอยน์) โดยธุรกิจบรอดแบนด์มีรายได้ไตรมาสละ 4,614 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอื่นมีรายได้ 349 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2022) ทั้งนี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นของ JAS ที่นำโดยนายพิชญ์ โพธารามิก ยังมีธุรกิจด้านสื่อเครือ Mono ที่ในทางนิติบุคคลถือเป็นคนละบริษัทกัน (แต่มีผู้ถือหุ้นหลักชุดเดียวกัน)
ตัวธุรกิจของ JAS นั้นยังมีกำไรมาตลอด และอนาคตภายหน้าก็น่าจะไปได้เรื่อยๆ ในฐานะผู้ให้บริการบรอดแบนด์อันดับ 2 โดยที่ไม่ต้องมีธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนรายอื่น แต่ถ้า AIS ให้ราคาที่ดีพอ ก็ไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ JAS จะตอบรับคำเสนอซื้อ
ภาพสะท้อนธุรกิจโทรคมนาคมยุคควบรวม และดีล dtac/True
การซื้อบริการ 3BB ของ AIS จะส่งผลให้ธุรกิจบรอดแบนด์มีผู้เล่นรายใหญ่ลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 ราย (เบอร์ 4 ซื้อเบอร์ 2 ของตลาด) ย่อมทำให้การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ลดลง
แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ธุรกิจบรอดแบนด์มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างแนบแน่น การวิเคราะห์ดีลนี้จึงต้องมองไปถึงภาพใหญ่ของการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมในภาพรวมด้วย
เพราะในตลาดใหญ่อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่เอง ก็มีประเด็นการควบรวมระหว่าง dtac และ True ค้างอยู่ ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ลงจาก 3 รายเหลือ 2 รายเช่นกัน (NT มีบทบาทพอสมควรในตลาดบรอดแบนด์ แต่ในตลาดมือถือก็แทบไม่มีตัวตน) ดีล AIS/3BB ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับดีล dtac/True
ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายของ กสทช. และประเทศไทยในภาพรวมว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในระยะยาว เส้นแบ่งระหว่างการอนุมัติให้ควบรวมธุรกิจควรอยู่ตรงไหน ประเทศไทยควรเลือกแนวทางใดระหว่างการรักษาจำนวนผู้เล่นเพื่อรักษาระดับการแข่งขัน หรือการส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหญ่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลเปิดเผย: ผู้เขียนเป็นอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้านเทคโนโลยี ของ กสทช. บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นในนามส่วนตัว
Comments
The rise of Duopoly?
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
จากที่เราเกือบได้มี 3 เจ้าที่มีครบ 3 บริการ
- AIS Mobile + AIS Fibre + AIS Play- True Mobile + True Online + True Visions/True ID
- JAS Mobile + 3BB + Giga TV
และ 4 เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (เราจะไม่นับ NT กันจริงๆ เหรอ)
ตอนนี้คือลุ้นอนาคตกันว่าจะเหลือ 2 เจ้าที่มีครบ 3 บริการ และ 2 เครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว 🙄
dtac นะจะแทน JAS Mobile นะเพราะมี Package เน็ตบ้าน + มือถือคู่กัน JAS Mobile ก็ไม่มีให้ใช้จริง แถมจริงๆ Relationship ระหว่าง 3BB และ dtac ก็ดีกว่า (ในอดีตก็เคยมีกับ AIS อย่าง AIS x 3BB WiFi แต่ตอนนี้มี dtac x 3BB WiFi แทน)
น่าสนใจที่ DTAC น่าจะควบรวมกับ 3BB เป็นผู้เล่นที่มีบริการครบเป็นรายที่ 3 นะ แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะ DTAC ไม่สู้มานานแล้ว ประมูลคลื่นก็ไม่สู้ ขยายเครือข่ายก็ช้ามาก เหมือนไม่อยากลงทุนอะไรมากอีกแล้ว หรืออาจจะเพราะหาเงินทุนมาไม่ได้ ไม่เหมือนทรู ที่กู้เงินมาลงทุนสู้อยู่ แม้จะต้องเสียดอกเบี้ยเยอะ ก็คงพยายามสู้ แต่ระยะยาวไม่รู้จะทำกำไรมาให้ทันดอกเบี้ยจ่ายตอนไหน
ผมใช้คำว่าเกือบได้มีเพราะช่วงที่ JAS ไปถล่มประมูลคลื่นน่ะครับ สุดท้ายไม่มีตังค์จ่ายแถมไม่โดนอะไร คนรับกรรมค่าประมูลแพงกันถ้วนหน้า
+1 ฟัง 96.5 แบบผ่านๆ ก็ได้ยินเรื่องมีผู้บริหารในนี้มีข่าวลบเรื่องปั่นข่าวปั่นหุ้นปั่นแมงเม้ามาตลอด ผมว่า AIS ก็น่าจะแอบกลัวอยู่ในใจว่ามีอะไรซ่อนอยู่แน่ๆ ส่วน Dtac ผมว่าคงไม่กล้าหรอก 5555555
ถ้านับแค่บริการ NT ก็มีครบนะครับNT(TOT) fibre, mobile ก็มี ซิมNT(2100/2300), NT IPTV(TOTIPTV เดิม)
แต่กล่องทีวี เหมือนจะเป็นอีกบ.นึงทำร่วมกันกับNT(TOT)ไม่แน่ใจเรื่องสัญญาหรือความเป็นเจ้าของ แต่ข้อดีคือดูย้อนได้มั๊ง แต่เสียค่าบริการเพิ่มเดือนละร้อย(คล้ายๆโมเดลของ AIS playbox)
ข้อเสียคือไม่มีโปรหวือหวา แต่เป็นค่ายที่โปรพื้นฐานเริ่มต้นถูกสุด คือ 290 บาท 300/300M สมัครเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องย้ายค่ายหรือต้องโทรไปง้อขอโปรพิเศษ(ค่ายอื่นๆก็มีแต่เหมือนเป็นโปรลับบ้าง ต้องย้ายค่ายบ้าง)
ข้อเสียข้อใหญ่สุด ตจว.ต้องติดต่อวันและเวลาราชการเท่านั้น(กทม.ยังมีเปิดวันเสาร์ครึ่งวัน)
ผมมี NT TOT อยู่หากเปิดโหมด 4G โทรติดยาก และติดช้า บางครั้งก็ไม่ติด แต่ถ้าเปิดโหมด 3G ไม่มีปัญหา
ถ้าเจอ 4G 2300 TDD ก็ลำบากล่ะครับ ช้า latency สูง
ต้องพยายามเกาะ 2100 เป็นหลักเลย
หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง
ทำไมสามก๊ก ขงเบ้งถึงเลือกเป็นสามไม่ใช่สอง เพราะถ้าสอง เมื่อสู้กันจนเลือดท่วมมันจะมีฝ่ายหนึ่งขอเข้าเจรจาแล้วฮั๊วกันแบ่งเค้กเพื่อลดความเสียหายจากการต่อสู้ แต่ถ้ามีฝ่ายที่สามมันจะมีฝ่ายที่สร้างความกังวลทำให้การฮั๊วไม่สมบูรณ์ มันก็เหมือนดูดีในตอนแรกแหล่ะการมีแค่สอง แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจไม่มีใครสู้กันจนเสียหายหรอก เป็นเรื่องปรกติของธุรกิจที่เขาจะสมยอมกันในท้ายสุด แต่เรื่องไม่ปรกติคือผู้กำกับดูแลนี่แหล่ะ
ใช่ครับ ถ้า กสทช ยอมนี่เท่ากับไม่รู้จะมีเหน่วยงานนี้ไว้ทำไม และถ้ายังมีหน่วยงานกำกับ แบบไม่รู้อะไรแบบนี้ยังไงก็ต้องควบเพื่อความอยู่รอดครับ
https://www.bangkokbiznews.com/tech/999942 < เหตุผลที่โทรคมไทยจะอยู่ไม่ได้
เห็นด้วยค่ะ
AWN -> 3BB
:-)
Symphony กับ UIH น้อยใจแล้วนะครับ 😢
ส่วนตัวเป็นลูกค้าของ TOT มีโปรลับถูกๆไว้สู้กับค่ายใหญ่ๆอยู่นะ ของ่ายไม่เล่นตัวดี แต่พอควบมาเป็น NT แล้ว ทั้ง TOT และ C Internet ไม่รู้ยังจะทำตลาดแยกกันอยู่รึเปล่า
แอบแปลกใจที่ internet บ้าน true เติบโตด้วยเพราะรอบตัว เห็นแต่คนย้ายไป 3BB ไม่ก็ AIS
ใจนึงก็อยากให้ AIS ซื้อสำเร็จ True จะได้พัฒนาบ้างแต่ก็กลัวจะกลายเป็นราคาพุ่งขึ้นไป จากการผูกขาด
ps. พนักงานที่มาแก้ปัญหา internet ของ true บ่นว่า ถ้าจะติดต่อส่วนกลาง รบกวนบอกเขาทีนะครับ ว่าให้อุปกรณ์พนักงานบ้าง notebook ก็ไม่มีให้ อุปกรณ์ตรวจเช็คอะไรก็ไม่มี ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว 😅
True มาเป็นแพคเกจครับ คนเลยใช้แบบลูกขลุกขลัก ต่อจานได้เน็ตได้เบอร์มือถือ เปิดเบอร์ใหม่ได้จานได้เน็ต
เคยเจอช่างหน้างาน นานแล้ว แต่ค่ายอื่นนะครับ notebook ที่เขาเอามาเทสนี่เก่าและช้าแภมตัวเครื่องก็หนาๆ ตอนเทสสปีดผ่านสาย บอกพอร์ทแลนเครื่องได้แค่ 100 Mbps งี้ ลูกค้าต้องเทสเองถึงได้มากกว่า 100 ฮ่าๆ จริงเครื่องที่เอาเทสโชว์ลูกค้าดูนี่น่าจะเป็นเครื่องอ้างอิงได้ แบบดีหน่อย ไม่งั้นลูกค้าโวยได้ว่าความเร็วไม่ถึงงี้
เปลี่ยนผ่านจากยุคที่มีการแข่งขันแบบเสรี มาเป็นสมยอมกันแบบเสรีต่อไปค่าโทร ค่าเน็ต ก็เหมือนค่าไฟ ลับหลังจะปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องทนจ่ายไป
เกี่ยวไรกับที่ CP แย่งลิซ่าไปมั้ยนะ 🤣
Ooh
แค้นเรื่อง Lisa กับ HBO มั้งฮะ 555 (แต่สื่อไม่เล่นข่าวเลย พอทรูนี้เล่นข่าวใหญ่เลย โดยเฉพาะทวีภพที่ชอบพูดสลิ่มกับTonyเจ้าของเก่านี้แหละ)
ถ้าผ่านทั้งสองดีลนี่ผู้บริโภคจบเห่ครับ ไม่ควรให้ผ่านด้วยประการทั้งปวง
ถ้าผ่านก็ผ่านด้วยกัน ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ผ่านเลย