John Carmack ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CTO ของ Oculus ( ลาออกในปี 2019 ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น "CTO ที่ปรึกษา" ) ได้รับเชิญไปพูดที่งาน Meta Connect 2022 แต่ปรากฏว่าเขา "สับเละ" ต่อแนวทางการพัฒนาโลก VR ของบริษัท Meta อดีตนายจ้างของตัวเอง
Carmack ปรากฏตัวในรูปแบบอวตารการ์ตูน (ไม่มีขา) ให้ผู้ชมทางบ้านดูจากคลิปวิดีโอ เขาบอกว่าการปรากฏตัวแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง เพราะสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ คือใส่แว่นเข้าไปในโลกเสมือน แล้วเดินพูดและทักทายผู้ชมคนอื่นๆ ในโลกเสมือน ราวกับไปขึ้นเวทีพูดในงานสัมมนาจริงๆ แต่เมื่อบริษัท Meta ยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากมาผ่านวิดีโอ เขาบอกว่าอวตารในวิดีโอ ก็ไม่ต่างอะไรจากการบันทึกวิดีโอธรรมดาๆ (Me being an avatar on-screen on a video for you is basically the same thing as [just] being on a video.)
เขาบอกว่ามีหลายสิ่งที่เขาไม่พอใจ (there's a bunch that I'm grumpy about) ไล่ตั้งแต่โลกเสมือน Horizon Worlds ที่ยังไม่สามารถทำได้ตามวิสัยทัศน์ของเขา ที่อยากเห็นการชุมนุมของคนจำนวนมากๆ ระดับหลายร้อยหรือเป็นพันคน ในร่างอวตารบนพื้นที่เดียวกัน (a completely uniformly shared world) ซึ่งมีความท้าทายในทางเทคนิค
เขายังพูดถึงประเด็น คุณภาพของอวตารที่มีคนวิจารณ์กันมาก (หมายถึงอวตารของ Mark Zuckerberg ที่คุณภาพต่ำ) แต่ก็แสดงความเห็นว่า อวตารไม่จำเป็นต้องมีความละเอียดสูงเกินไป เพราะพลังประมวลผลของแว่น VR มีจำกัด และการเรนเดอร์ผ่านคลาวด์ก็ไม่ได้ช่วยได้ในทุกกรณี ดังนั้นควรเก็บพลังประมวลผลไว้ใช้อย่างอื่นที่คุ้มค่าดีกว่า
ส่วนความเห็นต่อ แว่น Quest Pro ราคา 1,499 ดอลลาร์ เขาก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางแว่นราคาแพง เพราะเขาผลักดันแนวทางการสร้างแว่นราคาถูก เพื่อขยายฐานผู้ใช้ VR ให้กว้างที่สุดมากกว่า เป้าหมายที่เขาอยากให้เป็นคือแว่นราคา 250 ดอลลาร์ น้ำหนัก 250 กรัม เบาจนใส่ได้สะดวก แม้ต้องตัดฟีเจอร์อื่นออกไปบ้าง (Quest Pro ราคา 1,499 ดอลลาร์ หนัก 722 กรัม)
เขายังเตือนว่าการแยกแว่น Quest Pro ราคาแพง และ Quest 2 ราคาถูก จะทำให้ผู้สร้างเนื้อหาเผลอไปสนใจ Quest Pro เกินไป แต่ผู้ใช้จริงๆ จะอยู่บน Quest 2 ต่างหาก ซึ่งนักพัฒนาต้องไม่ลืมทดสอบแอพ-เกมของตัวเองกับ Quest 2 ให้ทำงานได้ดีด้วย อย่างไรก็ตาม เขาชม Quest Pro เรื่องคุณภาพของการแสดงผล, แรมที่เพิ่มขึ้น, การระบายความร้อนที่ดีขึ้น
Carmack ยังพูดถึงประสบการณ์ใช้งานแว่น Quest 2 ที่ต้องรออัพเดตซอฟต์แวร์แทบทุกครั้งที่หยิบมาใช้, ระยะเวลาการโหลดแอพที่ช้าเกินไป, การเชิญเพื่อนเข้าห้อง Horizon ที่ใช้เวลาเป็นนาที ว่าทั้งหมดเป็นประสบการณ์ใช้งานที่แย่ และพลอยทำให้คนไม่อยากใช้ VR กันในระยะยาว
ที่มา - Ars Technica
Comments
รอดูว่าฝั่ง meta จะตอบโต้อย่างไร
ที่พูดมาจริงหมดเลย แสดงว่าใน Meta Engineer มี Power มากกว่า Architecture มาก ซึ่งต่างจาก Apple ในสมัยที่ Job ยังอยู่ เพราะ Engineer จะพยายามทำโดยใช้เทคโนโลยีที่หาได้ และใช้งานได้ดี ไม่เน้นเรื่องความสวยงาม แต่ Architecuture จะพยายามทะลุขีดจำกัดไปยังสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปแทบเป็นไม่ได้เลยในเวลานั้นๆ ซึ่งทำให้ตีกันบ่อยๆ 555 จากคนที่เคยเป็น Architecture มาก่อน ปวดกบาลมากเวลาที่ระบบออกมาแล้วต้องร้อง อีหยังวะ ที่คุยกันไว้ไม่ใช่อย่างนี้นี่หว่า
ผมงงกับคำนี้นะ “ แสดงว่าใน Meta Engineer มี Power มากกว่า Architecture มาก” เช่น คนให้สัมภาษณ์นี่เป็น architecture ใช่มั้ยนะ แต่ดูปแล้ว ในบทสนทนาแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เค้าเป็น engineer หรือ architech
Architecture เป็นตำแหน่งที่ในต่างประเทศจะมีเพื่อดูภาพรวมโครงการในส่วนทางเทคนิคครับ แต่ไม่ได้ควบคุมเรื่องเวลาเหมือน PM ก็คล้ายสถาปนิกในแวดวงก่อสร้างนั่นแหล่ะครับ จะเป็นคนเอาไอเดียมาทดสอบความเป็นไปได้ สร้างต้นแบบหลายตัวเพื่อทดสอบ กำหนดเทคโนโลยีที่จะต้องใช้ แล้วก็ทดสอบสมมุติฐานบางอย่างถ้าจำเป็นต้อง Implement เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น SA หรือ Senior Programmer ที่ทำงานมานานแล้วมาทำ วิธีสังเกตุคนกลุ่มนี้จะพูดเป็นภาพรวมไม่ลงเทคนิค ถ้าไม่ถาม เพราะในส่วนรายละเอียดเป็นหน้าที่ของ Engineer กับ SA ต้องเอาไปสานต่อ
ส่วนผมเคยทำเพราะเจ้านายเก่าเขาจบจากต่างประเทศ แล้วเขาเอาแนวคิดไปคุยกับทีมพัฒนาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาคุยเป็นภาพในเชิงไอเดีย แต่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าจะทำได้หรือไม่ ก็เลยต้องหาคนมาสร้างต้นแบบคร่าวๆ เพื่อใช้ในการ Brief ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน หลังๆ ผมเห็นว่ามันก็ OK ในการเอาไว้ใช้กับลูกค้าจะได้เห็นภาพตรงกันกับเรา แต่ในไทยส่วนใหญ่ในไทยจะใช้ SA นั่นแหล่ะครับ แต่ผมเคยลองแล้ว SA จะมีปัญหาเรื่องการใช้ศัพท์เทคนิคเยอะเกินไป จนพาลูกค้าไม่เข้าใจ หรือถ้าเป็นหน่วยงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่มาตั้งในไทยก็จะเรียกว่า Presale นั่นแหล่ะครับ คนพวกนี้จะรู้จักผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และแนะนำเราได้ว่าควรต้องใช้อะไรบ้าง ข้อจำกัดมีอะไร แต่ถ้าต้องลงรายละเอียดเรื่อง Implement ก็ต้องให้ Engineer ที่สิงคโปร์หรือจีนบินมา
อ่อ ข้อสังเกตุอีกอย่างว่าคนนี้ทำงานเรื่องดูภาพรวมหรือเปล่า คนพวกนี้มักจะพูดถึงเรื่องประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้บ่อยๆ ในประโยคสนทนา เพราะเขาเป็นคนออกแบบต้นแบบ ดังนั้นเรื่องพวกนี้ต้องผ่านพวกเขาก่อนอยู่แล้ว เขาจึงเคยชิน เพราะต้องเป็นคนทดสอบต้นแบบก่อนส่งให้ทีมพัฒนา และเมื่อทำเสร็จแล้วเขาก็ต้องมาตรวจงานอีกที
ผมเคยคุยกับหัวหน้าว่าอยากทำตำแหน่ง architect เค้าก็มองว่า มันเป็นตำแหน่งที่ไปมองหาของมาประกอบเป็นโซลูชั่น ไม่ได้ลงมือทำอะไรเท่าไหร่ เค้าก็เลยบอกว่า architect เราไม่เหมือนที่อื่น ยังอยากทำอยู่ไหม
แล้วมาเจอทีหลังว่าเป็นงานที่ไม่มีใครเข้าใจว่าทำอะไร โดยเฉพาะทีมผมที่แทบไม่ได้ไปยุ่งกับทีมอื่นในบริษัทเลย ยิ่งไม่รู้เข้าไปใหญ่ว่าคนกลุ่มนี้เค้าทำอะไรกันแน่
ผมก็เลยไปสมัครตำแหน่ง android dev ในทีมอื่นแทน แล้วโดนต่อตำแหน่งลงจาก senior dev มาเป็น mid-level ด้วยเหตุผลว่า team organization ไม่เหมือนกัน
มันทำให้สามารถเชื่อมประสบการณ์ของคนที่มีแว่นกับไม่มีแว่นเข้าใช้งานในโลกเดียวกันได้ไหมครับ ถ้าบังคับว่าเริ่มต้นก็ต้องมีแว่นก่อนดูแล้วน่าจะยากเหมือนกันนะ
Mark เน้นเรื่องการเชื่อมต่อผู้คน ตั้งแต่ทำ Facebook ถึงตอนนี้ เค้าก็ไม่เคยเปลี่ยนความตั้งใจตรงนี้ เค้ารู้แล้วว่า ยังมีคนอีกมากมาย ที่ไม่พร้อมในการเข้ามาใน VR ด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ตอนเริ่มงานปีนี้ เค้าพูดเรื่องนี้เหมือนกัน เค้าก็เลยจะเชื่อมคนที่อยู่ใน VR กับคนที่ไม่อยู่ใน VR ไม่ว่าจะอยู่ใน Platform อะไร จะเป็น PC หรือ Mobile อาจจะเป็นอีกวิธีในการทำให้คนที่ยังไม่เข้า VR ทยอย Migrate มาใน VR
ผมอ่านแล้วเขาไม่ได้โจสตีอะไร แค่แนะนำให้เห็นจุดอ่อนแค่นั่น