David Heinemeier Hansson (@dhh) ผู้ร่วมก่อตั้ง Basecamp และบริษัท 37signals รายงานถึงความคืบหน้า การย้ายระบบออกจากคลาวด์ ในบริการบางส่วน (ไม่รวม S3) ว่าหลังจากเริ่มย้ายระบบออกมาก็ประหยัดค่าใช้จ่ายลง จากเดือนละ 180,000 ดอลลาร์เหลือไม่ถึง 80,000 ดอลลาร์ โดยรวมคาดว่าจะประหยัดปีละกว่าล้านดอลลาร์
การประหยัดค่าคลาวด์นี้นับเฉพาะค่าใช้จ่ายจากคลาวด์ที่ลดลงเท่านั้น เพราะบริษัทต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไปแล้วประมาณ 500,000 ดอลลาร์เป็นต้นทุนที่ต้องลงเป็นก้อนไปก่อน ด้วยอัตราการประหยัดตอนนี้ก็น่าจะคืนทุนค่าเครื่องทั้งหมดภายในครึ่งปีเท่านั้น และทาง 37signals เตรียมย้ายระบบเพิ่มเติมทำให้ค่าบริการคลาวด์โดยรวมลดลงปีละ 2 ล้านดอลลาร์
DHH ไม่ได้แจกแจงว่าย้ายบริการอะไรออกมาบ้างจึงลดค่าใช้จ่ายได้ขนาดนี้ แต่ก็พูดถึงบริการที่แพงๆ ของคลาวด์ เช่น ฐานข้อมูล ว่าบริษัทใช้จำนวนมาก และในบางกรณีที่โหลดเปลี่ยนแปลงมากๆ การใช้คลาวด์ก็อาจจะได้เปรียบกว่า แต่ก็ระบุว่าโหลดของ 37signals ไม่น่าหลุดจากสภาพที่บริษัททั่วไปเจอนัก
ค่าคลาวด์ของ 37signals ในปี 2022 อยู่ที่ 3.2 ล้านดอลลาร์ หากการย้ายระบบออกจากคลาวด์เป็นไปตามแผนก็ยังเหลือระบบที่อยู่ในคลาวด์คิดเป็นเงินถึง 1.2 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ที่มา - world.hey.com
Comments
ต้องรอดูระยะยาวเรื่องค่าซ่อมบำรุงด้วย อย่างคล้ายๆก็ Cloud ไป NAS มักจะแตกที่ ค่าไฟฟ้า ด้วย เพราะมันมักกินมากกว่าที่ข้างกล่องบอกเท่าตัวเลย
พวกเซิร์ฟเวอร์นี่กินมากกว่าข้างกล่องไม่น่าได้นะครับ เวลาเช่า DC เขาวัดไฟตลอดเวลาอยู่แล้ว กินเกินนี่ datacenter ถ้าไม่เก็บเงินเพิ่มก็โทรมาโวย
lewcpe.com , @wasonliw
ไอ้ตอน cloud กำลัง hype เค้าว่ามันลด cost ได้ไม่ใช่เหรอ
ลดได้เมื่อ "โหลดแกว่งมากๆ" ตามที่ DHH เขียนในเรื่องนี้เลยครับ ปัญหาคือองค์กรจำนวนมากโหลดไม่ได้แกว่งแบบนั้น ไม่ได้สนใจใช้ elasticity ของคลาวด์แต่ใช้เพราะมันสะดวกดี
lewcpe.com , @wasonliw
ถ้าองค์กรไม่มีแผนกที่ดูแล server หรือคนออกแบบ infrastructure เองได้ผมว่าลดได้อยู่นะครับ
แต่ถ้าองค์กรใหญ่ๆ พนักงาน 1000+ ผมว่าแบ่งมาแผนก IT สัก 50 คน แล้วดูแล server เองน่าจะคุ้มกว่า
ผมเคยให้ความเห็นเรื่องนี้ไปกับองค์กรที่เคยสังกัด คนดูแล data center ไปอ่านบทความอะไรสักอย่างว่าการใช้ cloud ทำให้ลดต้นทุน มีความยืดหยุ่น ก็เลยลุกขึ้นมาทำ private cloud ผมให้ความเห็นไปว่าเหตผลนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อไปใช้ public cloud ที่มีคนดูแล infra ให้ แต่ถ้าทำ private cloud เองจะเป็นการเพิ่มต้นทุน เพิ่มการดูแล เพราะคือการเพิ่ม layer เข้ามา ข้อสรุปคือทำ แล้วก็ไม่มีคนดูแล ปล่อยพัง
เรื่อง Cloud มี Myth หลายอย่างที่ผมฟังเขาเล่ามาก็ยังงง ๆ ว่าใช่เหรอ พอไปถามเจ้าของผลิตภัณฑ์เองถึงได้รู้ว่า อ้อเราเข้าใจถูกแล้ว
เอาจริงๆ เรื่อง cloud ผมว่ามันการตลาดบนความจริงส่วนหนึ่ง
บริษัทผมเช่า server ไว้กับ provider รายย่อย เดียวกัน 2 เครื่องอันนึงเป็น dedicated server ไม่ได้อยู่บน cloud เป็น test server
อีกอันอยู่บน cloud (ผมไม่รู้ว่าต้องเรียกว่าอะไร แต่ผม access โดย root ได้) เป็น production server ซึ่งแพงกว่า dedicated server (boss ผมน่าจะโดนผ่ายการตลาดของเขาเป่าหูเยอะ)
ผมทำตั้งแต่ config webserver จนเขียน app เอง (บน test server)
พอเอาไปเอาไป deploy production ผมรู้สึกว่ามันช้ากว่าแบบ dedicated (ผมทำทุกอย่างเหมือน test server หมด)
พอ web run ไปบางทีมันก็หน่วงโดยไม่มีสาเหตุ ผมเดาว่าเกิดจากมีลูกค้าอื่นบน server เดียวกับผมด้วย
แต่ก็พอมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง พักหลัง server มันมี traffic เพิ่มขึ้น การตลาดของเขาก็แนะนำให้ซื้อ core + ram เพิ่มพอผม accept boss ก็โทรสั่งประมาณชั่วโมงเดียวก็ได้ core + ram เพิ่มแล้ว เร็วมาก
ปกติ cloud จะช้ากว่า bare metal อยู่แล้วครับ เพราะมี overhead ของ VM แต่ส่วนมากเขาการันตี performance ถ้าไม่การันตี ก็แทบไม่ต่างอะไรกับ hosting ครับ
ตัวอย่างที่ยกมาคือข้อดีมาก ๆ ของ cloud อย่าง Digital Ocean ที่ผมใช้อยู่ ถ้าเพิ่ม resource คือได้เลยตอนนั้น ดังนั้น cloud จึงเหมาะมากกับระบบที่ peak load ไม่คงที่ อย่างที่คุณลิ่วว่ามา กับอีกอย่างคือ หากเราเป็นรายเล็กก็ไม่ต้องลงทุนเยอะ เช่าเดือนละไม่กี่บาท ได้ครบทุกอย่าง
แต่หากระบบขยายเมื่อไร ผมเคยคำนวณในเรื่องราคา Cloud แพงกว่า Colocation มาก แต่ยังได้เปรียบในเรื่อง Admin อยู่ แต่ถ้าระบบใหญ่มาก ๆ ก็แทบไม่ต่างกันแล้วในเรื่อง Admin เพราะยังไงก็ต้องมีทีม Admin เรื่องนี้เป็น myth หนึ่งที่ผมได้ยินมาว่า Cloud ถูกกว่าง่ายกว่า ซึ่งจริงบางกรณี
อีก myth ที่ผมได้ยินคือ cloud ช่วยกระจายโหลดอัตโนมัติ ซึ่งอันนี้ไม่จริงเลย
เมื่อก่อนมีแต่ย้ายจากเดต้าเซ็นเตอร์ขึ้นคลาวบอกประหยัดนู่นนี่ตอนนี้ย้ายกลับมาบอกประหยัดกว่า
อย่างNetflixนี่ค่าcloudน่าจะแพงกว่าของdhhเป็นร้อยเท่าแถมAmazonมาทำแข่งยังไม่ย้าย