Atom เป็นโปรแกรมแก้ไขข้อความสุดล้ำจาก GitHub หลังจาก เปิดซอร์ซ และได้ นักพัฒนาจาก webupd8team สร้างไฟล์ไบนารีบน Ubuntu ไว้ให้ ผมก็ได้ฤกษ์ทดลองใช้งานและจะขอเขียนรีวิวสั้นๆ เกี่ยวกับว่าที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งสุดยอดโปรแกรมแก้ไขข้อความจากแชมป์เก่าอย่าง vi และ Emacs ตัวนี้ครับ
หน้าตาโปรแกรมในเสี้ยววินาทีแรกที่เห็น หลายคนคงนึกไปถึง Sublime Text อย่างแน่นอน ซึ่งก็อาจนับได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าเลยทีเดียว เพราะเมื่อลองกดปุ่ม ctrl+shift+p
ก็จะมีเมนูอัจฉริยะแบบพิมพ์ค้นหา (ตัวโปรแกรมเรียกความสามารถนี้ว่า Command Palette) โผล่ขึ้นมาเช่นเดียวกันอย่างกับแกะเลยครับ (ฮาาา)
ภาพ 1 หน้าตาโปรแกรมพร้อมข้อความต้อนรับเมื่อเปิดครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าด้วยความที่ Atom เติบโตมาภายใต้ร่มเงาของ GitHub ทำให้มันได้รับความสามารถเฉพาะตัวอันโดดเด่น 2 อย่างติดมาด้วย นั่นคือ
1) ความสามารถในการทำพรีวิว Markdown แบบสดๆ ซึ่ง Markdown ตัวนี้เป็นแบบที่ถูกปรับแต่งเพิ่มความสามารถโดย GitHub เองอีก (มีชื่อเรียกว่า GitHub Flavored Markdown ) มันถูกเคลมว่าเหมาะสำหรับการทำเอกสารประกอบโปรแกรมอย่างยิ่งยวด ด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นมาอย่างการทำตาราง และการเน้นสีโค้ดของโปรแกรม
ภาพ 2 การทำพรีวิว Markdown แบบสดๆ
2) มีการเน้นบรรทัดที่ถูกแก้ไขจากการจดจำ (commit) ใน Git ครั้งก่อนอย่างชัดเจน ที่ด้านหน้าของแต่ละบรรทัดจะมีสีเขียว (มีข้อความเพิ่มเติม) สีแดง (ลบข้อความทิ้ง) หรือสีน้ำตาล (แก้ไขข้อความบางส่วน) กำกับไว้ และบอกชื่อกิ่งก้าน (branch) กำกับไว้ที่มุมล่างขวา พร้อมทั้งสรุปว่ามีการแก้ไขไปแล้วกี่บรรทัด
ภาพ 3 บรรทัดที่ถูกแก้ไขจากการจดจำที่ถูกเน้นสีด้านหน้าบรรทัด
ถึงกระนั้น ตัว Atom เพียวๆ ก็ยังขาดความสามารถไปหลายอย่าง เช่น การแสดงแผนที่ย่อ (minimap) แบบเดียวกับ Sublime Text ซึ่งแก้ไขได้ง่ายๆ เพียงแค่ติดตั้งแพ็คเกจเพิ่มเติมลงไป โดยสามารถทำผ่านคอมมานด์ไลน์ได้ดังนี้
$ apm install minimap
เรียบร้อยก็ปิดแล้วเปิด Atom ใหม่ เพื่อให้แพ็คเกจที่เพิ่งติดตั้งถูกโหลดขึ้นมามาใช้งาน
ส่วนใครที่กลัวหน้าต่างดำๆ พร้อมการพิมพ์คำสั่งยั้วเยี้ย ก็สามารถลงแพ็คเกจได้ผ่านตัวโปรแกรมโดยเปิด Settings เข้าไปที่ Packages (หรือกด ctrl+shift+p setting package
) แล้วค้นหาแพ็คเกจมาลงเพิ่มได้ตามใจชอบ วิธีนี้เมื่อลงเสร็จแล้ว แพ็คเกจจะถูกโหลดขึ้นมาใช้งานทันที ไม่จำเป็นต้องปิดโปรแกรมแล้วเริ่มใหม่ด้วยครับ
ภาพ 4 ติดตั้งแพ็คเกจผ่านตัวโปรแกรมเลยก็ได้
หลังจากติดตั้งแพ็คเกจเสร็จ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดพร้อมตั้งค่าเพิ่มเดิมได้ หน้านี้จะมีข้อมูลสำคัญๆ เช่น เวลาที่เพิ่มขึ้นมาในการโหลดแพ็คเกจตอนเริ่มโปรแกรม หน้าเว็บสำหรับรับแจ้งข้อผิดพลาดของแพ็คเกจนั้นๆ ไปถึงทางเลือกสำหรับเปิดโค้ดของแพ็คเกจที่ดูอยู่ขึ้นมาแก้ไขตรงนี้เลย
ภาพ 5 หน้าต่างแสดงรายละเอียดแพ็คเกจ Vim Mode
ด้านธีมนั้นมี 2 แบบหลักๆ คือ UI (สีสันหน้าต่างโดยรวม) กับ syntax (สีโค้ดโปรแกรม) ซึ่งถ้าหากว่าธีมที่มีให้ยังน้อยไป ก็สามารถลงธีมเพิ่มเติมได้ (เป็นแพ็คเกจอีกเช่นกัน)
ภาพ 6 หน้าต่างเลือกธีมและติดตั้งเพิ่มเติม
หรือถ้าหากสีสันที่มีให้เลือกยังไม่ถูกใจอีก ก็สามารถแก้ไขสีธีมได้เอง โดยอาจเริ่มจากหาจากธีมที่ต้องการแก้ผ่านช่อง Filter packages ด้านซ้ายมือ แล้วเลือก Open in Atom หลังจากนั้นก็ลงมือแก้ไขไฟล์ LESS (เป็น CSS แบบพัฒนาความสามารถให้ตั้งตัวแปร/สร้างคลาสได้) ตัวอย่างนี้ผมอาศัยความช่วยเหลือจากแพ็คเกจ Color Picker ในการเลือกสีอีกทีหนึ่ง
ภาพ 7 แก้ไขสีธีมผ่าน Color Picker
Merge Conflicts เป็นอีกแพ็คเกจอีกหนึ่งที่น่าสนใจ มันทำหน้าที่เพียงแค่เน้นส่วนที่ Git ควบรวมกิ่งก้าน (merge branch) แล้วเกิดข้อขัดแย้ง (conflict) ให้เด่นขึ้นมาเพื่อการเปรียบเทียบที่ง่ายขึ้น พร้อมทั้งตัวเลือกว่าจะแก้ไขข้อขัดแย้งนี้ไปในทางไหน และเตือนว่ายังเหลือข้อขัดแย้งใดที่ยังไม่ได้แก้ไขอีกบ้างในไฟล์อื่น
ภาพ 8 ดูข้อขัดแย้งจากการควบรวมกิ่งก้านด้วย Merge Conflicts
ทั้งนี้ หากแพ็คเกจที่มีให้เลือกยังไม่เจ๋งพอ ธีมที่มีอยู่ก็สีงั้นๆ อยากจะพัฒนาของใหม่มาใช้เองแต่ต้น ก็สร้างแพ็คเกจ/ธีมเปล่าๆ ได้ผ่านคำสั่ง
$ apm init --package my-command
$ apm init --theme my-style
ภาษาที่ใช้สำหรับพัฒนาแพ็คเกจคือ CoffeeScript ครับ
สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า Atom เป็นโปรแกรมที่รันบน Node.js แล้วแสดงผลผ่าน Chrome อีกที ดังนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็อย่าได้ตกใจไปถ้าจะมีหน้าต่าง Inspect Element ที่แสนจะคุ้นเคยโผล่มาเช่นนี้
ภาพ 9 หน้าต่าง Inspect Element ภายในโปรแกรม Atom
เนื่องจากโปรแกรมยังไม่เสร็จดี (และจากสไตล์โปรแกรมยุคนี้ที่ชอบพัฒนาต่อเติมกันไปเรื่อยๆ ไม่มีวันเสร็จ) เจอแบบนี้แล้วก็อย่าลืมกดไปที่แท็บ Console แล้วจดข้อความแจ้งข้อผิดพลาดไปบอกนักพัฒนาที่ หน้าแจ้งบั๊กของโครงการ ด้วยนะครับ
ปล. ใน build ที่ผมรีวิวนี้ ภาษาไทยบน Atom ยังใช้งานไม่ได้ครับ
Comments
แต่ผมลองบน ubuntu 14.04 ภาษาไทยใช้ได้ดีครับ
ซึ่งแก้ไขได้ไม่ง่ายๆ ?
ยั๊วเยี๊ย => ยั้วเยี้ย
หลังจากก็ลงมือ ?
ข้อ 1 ซ้ำ 2 รอบเพราะพยายามจัดข้อความไว้กลางหน้าแล้ว Markdown ตีความเพี้ยนครับ ตอนนี้เป็นไปใช้ bullet list แทนแล้ว
ข้ออื่นเก็บหมดแล้วนะครับ
Emcas => Emacs
หวังอย่างเดียว อยากให้ภาษาไทยบยวินโดวส์โอเค
ตอนนี้บนลินุกซ์มีความสุขดีกับ vim
เท่าที่ได้ลองก็แสดงภาษาไทยได้โอเคดีนะ ใช้บน win 7 x64ผมใช้ตัวที่ build ไว้จาก someguy123
ผมรู้สึกว่า font มันไม่ค่อยชัดอะครับ มันดูจางๆ
น่าจะเป็นตัววาดฟอนท์ของระบบปฎิบัติการณ์นะครับ ? (ปรกติบน Linux กับ OSX จะดูไม่คมเท่า Windows แต่ Windows จะแสดงผลผิดเพี้ยนมากกว่า)
ใช่ครับ MacOS กับ Linux ไม่มี Clear Text ครับ
ไม่ใช่ครับ Sub-Pixel Antialiasing ตอนนี้มีทุกเจ้า (นาน) แล้วครับ
ระบบวาดตัวหนังสือบน Windows จะใช้ Hinting เด่นกว่าเจ้าอื่น ๆ คือมันจะปัดลง Grid หมด ทำให้ตัวหนังสือดูบาง ๆ คม ๆ ซึ่งอ่านได้ง่ายแต่จะอาจจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวได้กับหลาย ๆ Font โดยเฉพาะฟอนท์ที่ตัวบาง ๆ ที่ขนาดใหญ่ ๆ (เช่นที่ใช้ใน Metro App ครับ)
บาง OS ปิด Hinting ออกหมดเลยครับ เช่น iOS ที่มีความหนาแน่นของพิกเซลสูง ๆ เพราะว่าพอมีความหนาแน่นสูง ๆ แล้วก็ไม่มีความจำเป็นครับ ตัวหนังสือวาดออกมาสวยอยู่แล้ว แถมมีความถูกต้องมากกว่า
ทั้ง ๆ นี้ชอบแบบไหนแล้วแต่คนจะชอบครับ บางคนก็ชอบคม ๆ บางคนก็ชอบนุ่ม ๆ บน Linux นี่ปรับตั้งค่าเองได้ละเอียดด้วย
ลองแล้วครับเปิดไฟล์ใหญ่ๆ ช้ากว่า sublime มากๆ อืดๆ
ณ ตอนนี้ยังอยู่กับ sublime text ต่อไป รอพัฒนามากกว่านี้หน่อย :3
Atom ไม่อยากให้ มันลบ บรรบันที่ว่างๆ เอง ตั้งยังไงอ่ะ ครับ