วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาท กสทช. ภายใต้เศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล: ร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ตอบโจทย์หรือไม่?" จัดโดย โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช. และสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) โดยมีวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
สมเกียรติกล่าวถึงชุดร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลจำนวน 10 ฉบับว่า กฎหมายชุดนี้จะทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับ กลุ่มทุนที่ไม่ต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการที่โปร่งใสและหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กองทัพรัฐวิสาหกิจ รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องการสวมรอยใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการนั้นจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการ "ได้ขยายอาณาจักร" หรือ จากการจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการใหม่จำนวนมากขึ้นมาซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องนำรายได้เข้ารัฐ และสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนราชการได้ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีจะได้ประโยชน์น้อยมาก
ส่วนเมื่อมาพิจารณาจากมุมมองด้านการเมืองและสังคม พบว่า ร่างกฎหมายไม่มีความสมดุลเลยในด้านการถ่วงน้ำหนักเรื่องความมั่นคงและเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการเข้าถึงบริการต่างๆ เมื่อเทียบกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่ง ร่างกฎหมายชุดนี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับใช้ความมั่นคงมากกว่าประชาชนโดยประชาชนในที่นี้ยังรวมไปถึงภาคธุรกิจใหญ่อื่นๆ ด้วย เช่น ภาคธุรกิจธนาคารที่จะได้รับผลกระทบ
สมเกียรติกล่าวว่า กระบวนการออกแบบกฎหมายชุดนี้มีปัญหาอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังไม่ได้คิดถึงทางเลือกต่างๆ ทางนโยบายอีกด้วย เนื่องจากโดยปกติ การจะจัดทำโครงการใดขึ้นต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบในการออกกฎหมายหรือที่เรียกว่า RIA (Regulatory Impact Assessment) ซึ่งการร่างกฎหมายชุดนี้ ไม่ได้มีการทำแบบประเมินดังกล่าวนอกจากนี้ จากการที่ร่างกฎหมายชุดนี้ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบ เราจึงไม่อาจรู้ได้ด้วยว่า ประชาชนเสียประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างไรบ้าง และแนะนำว่าควรมีการจัด public debate หรือการโต้วาทีสาธารณะ โดยเชิญฝ่ายรัฐบาลและผู้ที่เห็นต่างมาอยู่ในเวทีเดียวกัน มีการตั้งคำถามและตอบคำถามกัน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ สมเกียรติยังฝากคำถาม 6 ข้อที่รัฐบาลควรตอบ ก่อนที่จะเดินหน้าร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้
- มีหลักประกันหรือไม่ว่าการออกกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพ.ร.บ.กสทช. และ พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะทำให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้คลื่นความถี่จริง
- ต่อให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปตามวัตถุประสงค์แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคลื่นจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
- หากยกเลิกการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลและใช้การคัดเลือกแทน รัฐบาลจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะมีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ
- รัฐบาลมีหลักประกันอย่างไร ว่าจะไม่ไปแทรกแซงการทำงานของกสทช.เพราะร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ออกมานั้น ได้กำหนดไว้ว่า กสทช. จะต้องทำตามนโยบายและแผนแม่บทของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- จะมีหลักประกันอย่างไรว่า ธรรมาธิบาลของกสทช.ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบันจะดีขึ้น ในเมื่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการใช้เงินหรือเรื่องของซุปเปอร์บอร์ดเลย
- มีหลักประกันอะไร ว่าจะมีการประมูล 4G ภายในเร็ววันนี้ เพราะการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ก็เป็นเหตุให้มีการเลื่อนประมูล 4G และก็มีความพยายามในการร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่ว่านี้ ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการประมูลคลื่นต่างๆ รวมทั้งคลื่น 4Gด้วย
ทางด้านสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) ออกมากล่าวเสริมว่า หากกฎหมายจะตอบโจทย์การนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจริง กฎหมายจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ว่ารัฐจะไม่มาสอดแนมประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่มีเหตุอันควร และความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบ (information security) อีกทั้งสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะการพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล คือการพูดถึงเศรษฐกิจสมัยใหม่ นวัตกรรมต่างๆ เป็นเศรษฐกิจที่โดยธรรมชาติควรจะเอื้อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจไม่ได้มีทุนมาก เข้ามานำเสนอบริการให้เราได้เลือกใช้ แต่หากมีหน่วยงานหนึ่งเป็นทั้งคนกำกับ ส่งเสริม และเป็นคนทำธุรกิจด้วย แบบนี้จะส่งผลเสียต่อการสร้างสนามแข่งขัน และต่อผู้บริโภคเอง ที่จะไม่ได้บริการที่หลากหลายให้เลือกใช้
ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของระบบสารสนเทศนั้น สฤณีกล่าวว่า การให้อำนาจรัฐในการสอดแนมประชาชน ไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับระบบทว่าสิ่งที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยของระบบคือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และเรื่องการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน การออกกฎหมายที่เอื้อให้รัฐสอดแนมประชาชนจึงไม่ได้ตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของระบบสารสนเทศ นอกจากนี้ หากไปดูกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ของต่างประเทศ เช่น ของสหรัฐอเมริกาที่เผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพบว่ากฎหมายมีความชัดเจนว่ากฎหมายมุ่งดูแลในเรื่องทางเทคนิคเท่านั้น
ที่มา - Thai Netizen Network
Comments
กฏหมาย => กฎหมาย
แหม่ งานนี้ไม่มีทหาารมาเฝ้าแล้วบอกว่า "ไม่ได้ทำผิดไม่ต้องกลัว" เหรอครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ภาวนาให้มีการปรับปรุงจริงๆจังก่อนนำมาใช้จริงละกันครับ ตอนนี้เสียงประชาชนไม่ค่อยมีความหมายอะไรเลย
การเสวนานี้อาจจะกลายเป็นอากาศเหมือนไม่มีิอะไรเกิดขึ้นแหงผมว่า
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.