เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แอปเปิลเพิ่งเปิดตัว MacBook โฉมใหม่ ที่มาพร้อมกับตัวเครื่องบางเบา ไร้พัดลมด้วยซีพียูอินเทล Core M รวมถึงทัชแพดแบบใหม่แบบรับแรงกดด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Force Touch ซึ่งดูเหมือนจะใหม่มากสำหรับทุกคน แต่ความจริงแล้วแทบทุกสิ่งที่ว่ามานั้นได้มีผู้ผลิตอีกเจ้านำมาใส่ไว้ในโน้ตบุ๊กรุ่นหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และรุ่นที่ว่านี้คือ HP EliteBook Folio 1020 G1 นั่นเอง
HP EliteBook Folio 1020 G1 (ต่อจากนี้จะย่อเหลือ Folio 1020) เป็นโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในองค์กรโดยเฉพาะ มีฟีเจอร์ทางด้านความปลอดภัยครบครันทั้งฝั่งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ (ผ่านมาตรฐาน MIL-STD) แต่ก็ไม่ได้มาในทรงสมบุกสมบันอย่างที่คุ้นตากันกับโน้ตบุ๊กองค์กร เหนือไปกว่านั้นคือ Folio 1020 มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ทั้งก่อน และพร้อมกับใครเพื่อนอย่างซีพียู Core M และทัชแพดแบบรับแรงสัมผัสในชื่อ ForcePad อีกด้วย ซึ่งทาง HP ประเทศไทยก็ได้ส่งโน้ตบุ๊กรุ่นนี้มาให้ทาง Blognone ได้ทดสอบเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ด้วยกัน
สำหรับสเปคของ Folio 1020 รุ่นที่ได้มาทดสอบนั้นเป็นรุ่นท็อปสุด ใช้ซีพียู Core M-5Y71 ดูอัลคอร์ความถี่ 1.2GHz (เร่งได้สูงสุด 2.9GHz), SSD 256GB, แรม 8GB หน้าจอสัมผัสขนาด 12.5" ความละเอียด 2560x1440 พิกเซล
ฮาร์ดแวร์
ตัวเครื่องของ Folio 1020 จะมาในทรงของ HP ยุคใหม่ที่เน้นความโค้งมน ทรงหยดน้ำ วัสดุที่ใช้เป็นอะลูมิเนียม และแมกนีเซียมอัลลอยพื้นผิวสากเล็กน้อย ใช้งานตลอดสัปดาห์ยังไม่เจอรอยขีดข่วน ตีได้ว่าแข็งแรงตามที่เคลมไว้
แม้ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นบางเบา แต่ Folio 1020 ก็ให้พอร์ตมาพอสมควร ด้านซ้ายมี ช่องสำหรับล็อกตัวเครื่อง, HDMI ขนาดเต็ม, USB 3.0 หนึ่งพอร์ต และช่องอ่าน micro SDฝั่งขวามีพอร์ตสำหรับชาร์จ, ช่องสำหรับเสียบด็อกกิง, USB 3.0 อีกหนึ่งพอร์ต และพอร์ต 3.5 มม.
ด้านหน้าตัวเครื่องจะมีช่องบากสำหรับเปิดหน้าจออยู่ (แต่ก็เปิดด้วยมือเดียวยากมากอยู่ดี)
พอยกหน้าจอขึ้นมาแล้ว จะเห็นของใหม่ที่มีมาในซีรีส์ EliteBook Folio ได้สองรุ่นแล้ว (Folio 1040 G1 และ G2) อย่าง ForcePad ทัชแพดรุ่นรับแรงกดจาก Synaptics ที่ต่างจากทัชแพดทั่วไปตรงที่จะกดไม่ได้เหมือนเคยแล้ว พร้อมกับวัสดุด้านบนที่เป็นกระจก โดยรายละเอียดของ ForcePad เราจะมาพูดถึงกันทีหลัง
ด้านข้างเป็นตำแหน่งสำหรับใช้งาน NFC ครับ
สำหรับเลย์เอาท์คีย์บอร์ดของ Folio 1020 แม้ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กขนาด 12.5" แต่ไม่ได้มีการวางปุ่มพิสดารเป็นพิเศษ สัมผัสการพิมพ์เทียบกับรุ่นก่อนหน้าแล้วค่อนข้างตื้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด ปุ่มฟังก์ชันที่แต่เดินซีรีส์นี้ทำมาเล็กอยู่แล้ว ในรุ่นนี้ยิ่งเล็กลงไปอีก
ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู แต่คีย์บอร์ดมีไฟนะ
ลำโพงเหนือคีย์บอร์ดแบบสเตอริโอ ที่เทียบกับรุ่นหน้าจอ 14" แล้วเสียงเบาลงพอสมควร (แต่เป็นโน้ตบุ๊กสายองค์กรเลยอนุโลมให้)
รายละเอียดอื่นๆ รอบคีย์บอร์ดคือวางปุ่มเปิดเครื่องไว้ด้านซ้ายบน และที่สแกนลายนิ้วมือด้านขวาล่างครับ
สำหรับหน้าจอของ Folio 1020 ให้ความละเอียดมาจุใจถึง 2560x1440 พิกเซล คุณภาพโดยรวมจัดว่าเกินมาตรฐานทั้งในแง่ของสีสัน และความคมชัด แต่เทียบกับอีกเจ้าที่เพิ่งเปิดตัวมาพร้อมๆ กัน (ยี่ห้อ D) แล้วยังด้อยกว่าเล็กน้อยครับ
ปัญหาที่เจอในทุกรุ่นที่ใช้หน้าจอความละเอียดสูงคือ Windows ในตอนนี้ยังสเกลไม่ค่อยดีนักครับ ไอคอนเล็กบ้าง ฟอนต์เล็กบ้าง ไม่ค่อยสมส่วน อันนี้ต้องปรับกันตามชอบ
น่าเสียดายที่ตอนรีวิว Folio 1020 ไม่มีรุ่นพี่ในซีรีส์ EliteBook Folio มาให้เปรียบเทียบ มีแต่รุ่นคุณปู่ที่เกิดมาก่อน 3 ปีอย่าง Folio 13 อาจพอเทียบความแตกต่างในช่วง 3 ปีของ HP ได้ครับ
หมายเหตุ: Folio 13 หน้าจอขนาด 13.3" ส่วน Folio 1020 หน้าจอขนาด 12.5"
ตัวเครื่องเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด
องศาหน้าจอแคบกว่าเล็กน้อย
บางกว่าเห็นๆ
ทัชแพดรับแรงกด ForcePad
แม้จะไม่ใช่รุ่นแรกที่ HP ใส่ทัชแพด ForcePad เข้ามา แต่เป็นครั้งแรกๆ ที่ได้ลองใช้งานอย่างจริงจัง จนพอมาเล่าให้เห็นภาพได้ว่า การที่ทัชแพดสามารถรับแรงกดได้นั้น สร้างความแตกต่างจากทัชแพดแบบปกติได้อย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าเป็นของใหม่ จะต้องมีคู่มือการใช้มาให้ด้วย เปิดเครื่องมาจะเห็นไอคอนของ ForcePad (เป็นโลโก้ใบไม้สีแดงของ Synaptics) โดยสิ่งแรกที่โปรแกรมจะให้เราตั้งค่าคือ ความแรงของการกดที่จะนับเป็นการคลิกนั่นเอง
สำหรับแถบสีเขียวจะขึ้นเมื่อเรากดไปที่ทัชแพด เส้นสีม่วงคือจุดที่ตัวทัชแพดรับคำสั่งเป็นการคลิก ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้ตามความถนัด เมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว พอเรากดทัชแพดเพื่อคลิก จะได้ยินเสียงคลิกจากลำโพงด้วย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน เรียงแบบย่อๆ ได้ดังนี้ครับ
- เปลี่ยนจากการคลิกขวาที่มุมขวาล่างของทัชแพด ไปเป็นตรงไหนก็ได้ของของทัชแพดด้วยสองนิ้ว
- จากเดิมที่จะลากไฟล์ต้องใช้สองนิ้ว (นิ้วหนึ่งคลิก อีกนิ้วลาก) ด้วย ForcePad สามารถใช้นิ้วเดียวกด แล้วลากไปยังจุด หรือโฟลเดอร์ที่ต้องการได้
- การเลื่อนหน้าเว็บ/เอกสาร จะไม่ต้องยกนิ้วเพื่อเลื่อนยาวๆ อีกต่อไป เพราะ ForcePad สามารถเลื่อนขึ้น-ลง และกดค้างเพื่อเลื่อนไปต่อโดยไม่ต้องยกนิ้วขึ้นจากทัชแพด แถมยังสามารถเพิ่มลดความเร็วได้ตามแรงกดอีกด้วย เช่นเดียวกับการซูมภาพ
สำหรับคนที่อยากเห็นภาพการใช้งานมากขึ้น สามารถดูได้จากวิดีโอนี้ครับ
เบนช์มาร์ก และการใช้งานตัวเครื่อง
ตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ใช้งาน Folio 1020 มา การทำงานทั่วไปเรียกได้ว่าเร็วมาก ยกเว้นการประมวลผลหนักๆ (รวมถึงเว็บแอพใหญ่ๆ) ที่ดูเหมือนจะยังเป็นจุดด้อยของ Core M
ระยะเวลาเปิดเครื่องจนถึงใช้งานได้อยู่ที่ราว 12-15 วินาที ความเร็ว SSD โดยเฉลี่ยมากกว่า 500MB/s
คีย์บอร์ดของ Folio 1020 ด้วยความที่ตื้นกว่าโน้ตบุ๊กปกติ แต่เทียบกับโน้ตบุ๊กขนาดเล็กแล้วจัดว่าดีกว่ามาก ทัชแพด ForcePad ทำลายกรอบของทัชแพดเดิมๆ ไปหลายประการ น่าประทับใจ แต่ว่าต้องฝึกใช้ให้ชินเช่นกัน โดยเฉพาะการเลื่อนหน้าเว็บไซต์ หรือซูมภาพที่ต้องกดต่อเนื่องค่อนข้างใช้ยากพอสมควร
ตัวเครื่องเงียบมาก! เพราะไม่มีพัดลม ส่วนที่ร้อนสุดจะเป็นด้านขวาของลำโพง แต่วางตักใช้งานได้สบายๆ ไม่ได้ร้อนมากจนรู้สึกได้
จีพียู Intel HD 5300 ที่มากับซีพียู ไม่เหมาะจะนำไปเล่นเกม หรือใช้งานกราฟิกหนักๆ ด้วยประการทั้งปวง
... จับโน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัสมาหลายรุ่น มารุ่นนี้ก็ยังไม่ใช้จริงจัง สิ่งที่ดีที่สุดของจอสัมผัสอย่างการเลื่อนเว็บไซต์ ย้ายไฟล์ ก็ดันมาโดน ForcePad แย่งงานเสียอีก
สำหรับการใช้งานต่อหนึ่งการชาร์จอยู่ที่ราว 7 ชั่วโมงเศษ น้อยกว่าที่ HP เคลมไว้ราว 9 ชั่วโมงพอสมควร ถึงจะไม่แย่ แต่ก็อยู่กลางตารางของความอึดแบตเตอรี่ครับ
สรุป
HP EliteBook Folio 1020 G1 จัดเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นบางเบาที่ให้ฟีเจอร์มาครบครันสำหรับงานองค์กร แต่ก็แข็งแรงทนทาน คีย์บอร์ดที่เหนือกว่ารุ่นอื่นๆ ในขนาดใกล้เคียงกัน ถ้าไม่ติดเรื่องราคา ก็เป็นรุ่นที่น่าสนใจมากรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว
ข้อดี
- บาง เบา ทนทาน
- ไม่มีข้อเสียเรื่องคีย์บอร์ดอย่างที่รุ่นเล็กอื่นๆ เป็น
- เครื่องทำงานเงียบมาก
ข้อเสีย
- แพงมาก (ราคาต่างประเทศเริ่มต้นที่ 1,359 เหรียญ)
- Core M ยังประสิทธิภาพไม่สูงนัก แม้แต่กับงานทั่วไป
- ForceTouch มีระยะเวลาเรียนรู้พอสมควร
Comments
อีไล้บุ๊ก
อลูมิเนียม => อะลูมิเนียม
พิศดาร => พิสดาร
การงซูม => การซูม
ตื้่น => ตื้น
ทำไป => นำไป
และพร้อมกับใครเพื่อน เป็น และพร้อมก่อนใครเพื่อน
ปุ่มฟังก์ชันที่แต่เดิมซีรีส์นี้ทำมาเล็กอยู่แล้ว
คือตรง touchpad มันคลิ๊กไม่ได้ แต่เอาแรงกดมาโปรแกรมเป็นการคลิ๊กแบบต่างๆใช่ใหมครับ
จะว่าแบบนั้นก็ได้ครับ นอกจากจะคลิกได้แล้ว ที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์คือเอามาใช้เลื่อนได้ด้วย เวลาอ่านอะไรยาวๆ แล้วไม่อยากยกมือขึ้นก็ใช้วิธีการลากมาแล้วกดค้างไว้ครับ
Core M + แพงมาก = สบายใจไม่ต้องกังวลว่าจะซื้อดีไหม
5555
+1
อ่านเจอ 2 ข้อนี้ รู้เลย Laptop ตัวนี้ มันจะไม่มีผลกับชีวิตผม 555
โหราคาโหดกว่าMaacbook2015อีก
แต่พอร์ตเชื่อมต่อเค้าให้มาครบดีน่ะ
ปล.เมื่อไหร่NB Windows จะทำการควบคุทTouchpadให้ตอบสนอง+อิริยาบทการใช้งานให้เหมือนMacซ่ะที ชอบสามนิ้ววางแล้วลากไฟล์มาก มันไม่เมื่อยมือดี
New Macbook 2015 รวม MultiPort แล้วแพงกว่าหลายพันนะครับ :-D
ตั้งแต่ใช้ Mac มานี่ติดใจ Touchpad ที่สุดละครับ จำไม่ได้แล้วว่าต่อ mouse ครั้งสุดท้ายเมื่อไร (น่าจะเกินปี)
ถ้าให้ผมเลือกMacbook2015กับตัวนี้
ผมลือกMacbook Pro Retina 13 Early 2015
เผ่น!!!
จริงๆครับ ความรู้สึกของ Touchpad Macbook นี่หาที่เทียบไม่ได้เลย
ไม่รู้ว่า HP ตัวนี้จะดีพอๆกันไหมครับ
ดูจากรูป เหมือนตัวสแกนลายนิ้วมือจะเป็น dummy หนะครับ รุ่นที่ผมใช้ก็แบบนี้ เป็นพลาสติกสีดำปิดไว้ครับ ต้องรุ่นสูงๆถึงจะมีครับ
ได้ลงไดรเวอร์ป่าวครับบ ผมใช้ Probook440 ก็ใช้งานได้นะครับ
ไว้ล๊อคอินวินโด้ว ล๊อคไบออส ใส่รหัสผ่านบนเว็บเบราเซอร์
อ้าว จริงหรอครับ ผมก็นึกว่ามันเป็น dummy เลยไม่ได้ลองหา driver มาลงเพราะที่เคยเห็นถ้ามันมีจะเป็นแถบสีเงิน ๆ เดี๋ยวผมลองลง driver ก่อน
อันนี้ใช้ได้จริงนะครับ D:
แม้กระทั่งลำโพงนะฮะ แหม่