เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2559 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาหัวข้อ “Lesson Learned form Overseas Thai Startups” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน Startup Thailand 2016 ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ว่าด้วยเรื่องราวของเทคสตาร์ตอัพหลายรายที่เป็นของคนไทย แต่ไปเติบโตในต่างประเทศ (หลักๆ คือในสหรัฐอเมริกา) โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้
- ดร.สารินทร์ ภูมิรัตน ผู้ร่วมก่อตั้ง EpiBone สตาร์ตอัพด้านการแพทย์ สร้างกระดูกอ่อนจากสเต็มเซลล์
- คุณปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ CEO จาก AdsOptimal เทคโนโลยีโฆษณาแบบ VR บนมือถือ
- คุณพรทิพย์ กองชุน ผู้ก่อตั้ง Jitta แพลตฟอร์มการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และ
- คุณคริส ชิโนสรณ์ ผู้ก่อตั้ง MentorMob แพลตฟอร์มออนไลน์สอนทักษะการใช้ชีวิตแบบต่างๆ
แม้จะล่วงเลยมาหลายวัน แต่คิดว่าสาระสำคัญยังน่าจะมีประโยชน์ จึงขอสรุปมาเล่าต่อ ณ ที่นี้ครับ
จุดเริ่มต้นที่แตกต่าง
จุดเริ่มต้นของสตาร์ตอัพแต่ละรายมีที่มาต่างกัน แต่มีพื้นฐานจากความหลงใหลส่วนตัวของผู้ก่อตั้งเป็นหลัก ดร.สารินทร์ เล่าว่าเริ่มจากโครงการนี้เป็นงานวิจัยสมัยเรียนที่ม.โคลัมเบีย สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ปริญญาตรี เมื่องานวิจัยน่าต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ จึงขอสิทธิบัตรจากมหาวิทยาลัยมาตั้งบริษัทเอง ใช้เวลาระดมทุน 1 ปี จากที่คิดค้นพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างเดียว ก็ต้องมาเรียนรู้รอบด้าน ทั้งการหาคน หานักลงทุน สร้างแบรนด์ ฯลฯ ซึ่งก็ท้าทายดี
ด้านคุณปรัชญา จาก AdsOptimal บอกว่าหลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ข้อเสนอให้มาทำงานประจำที่ Microsoft และ Google ตามลำดับ และเห็นโอกาสจึงออกมาทำของตัวเอง โดยเริ่มจากทำที่อเมริกาเลยเพื่ออยากเห็นสภาพตลาดใหญ่ แต่ยังนึกภาพไม่ออกเพราะเพิ่งทำงานมาไม่นาน จนได้ลองเอง เจออุปสรรคมากเท่าไร ยิ่งแก้ปัญหาได้ไว
ส่วนคุณพรทิพย์ เล่าว่า Jitta เริ่มจากไทยด้วยความหลงใหลในการลงทุนสไตล์วอร์เรน บัฟเฟตและเริ่ม เข้าตี สหรัฐฯ ด้วยแนวคิดว่าถ้าเข้าที่นี่ได้ ก็เข้าที่ประเทศไหนก็ได้ แต่อุปสรรคคือ "ความเชื่อมั่น" ที่ความเป็นไทยยังไม่โดดเด่นเรื่องเทคสตาร์ตอัพนัก จึงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองกันสักพักรวมถึงได้ที่ปรึกษาฝีมือดีมาช่วย และให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องวิธีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ ว่าจะ แน่น (density) ที่บางตลาดให้ผู้ใช้แข็งก่อน หรือจะเลือก ฟู (size) กระจายไปยังทุกพื้นที่ให้ไว้ที่สุด (อันนี้ผมใช้คำเทียบเองนะครับ)
สภาพแวดล้อมเมืองนอกเอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า
คุณปรัชญา เล่าว่า AdsOptimal วางพื้นที่ตัวเองเป็นเหมือนบ้านให้เทคสตาร์ตอัพไทยรายอื่นมานั่งทำงานแลกเปลี่ยนกัน (Jitta ก็เคยอาศัยชายคานั้น) และระบุว่าเมืองที่เขาอยู่ (San Francisco) มีพลังงานบางอย่าง ไปไหนมาไหนก็เจอคนคุยแต่เรื่องไอเดียใหม่ๆ สามารถหยิบผลิตภัณฑ์ให้ผู้คนลองใช้และขอคำเสนอแนะได้ทันที และเสนอเคล็ดลับว่า "ถ้าอธิบายสิ่งที่เราทำในหนึ่งนาที (หรือน้อยกว่านั้น) ไม่ได้ ก็ส่งสัญญาณเฟลแล้ว"
จุดนี้คุณพรทิพย์เสริมว่า elevator pitch หรือการ "ขายของ" ให้นักลงทุนเข้าใจในช่วงเวลาแวบหนึ่งในลิฟต์ก็สำคัญมาก ควรฝึกใช้คำสำคัญ ประโยคหลักกระชับจับใจ
ดร.สารินทร์เล่าว่าวงการสตาร์ตอัพในมุมมองเขาเหมือนเป็นชุมชนที่คนในนี้สามารถพูดคุยกับแลกเปลี่ยนทรรศนะกันได้อย่างอิสระ บางทักษะก็หยิบยืมจากเพื่อนร่วมวงการ มีการคุยกัน ส่งต่อคอนเนคชั่นจนได้รับทุนสนับสนุนก็มี
ไทยทำอะไรได้บ้าง
นอกจากเรื่องภาษีที่ภาครัฐฯ กำลังปรับใช้แล้ว วิทยากรหลายท่านเห็นตรงกันว่าควรผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่เน้นเท่าเรื่องของลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็สนับสนุนการศึกษาและความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องธุรกรรมกับภาครัฐให้มากขึ้น
คุณพรทิพย์เสริมว่าเคยคิดจะไปตั้งที่สิงคโปร์ แต่กฎระเบียบที่นั่นคือต้องจ้างคนสิงคโปร์เข้ามาทำงาน บางตำแหน่งงานหาคนยากมาก และต้นทุนต่อบุคลากรค่อนข้างสูง เมืองไทยคนเก่งเยอะกว่า โอกาสหาคนมาทำงานง่ายกว่า
Comments
แต่ไปเติบโตในต่างประเทศ (หลักๆ คือในสหรัฐอเมริกา) โดยมีคนจาก
จากไหนครับ?
ผมแก้คำที่บุลเล็ต ลืมแก้หัวเลยอ่านแล้วงง ขอบคุณครับ
ผมว่านะ ถ้าเมืองตาย มันต้องเป็น ธุรกิจเกี่ยวกับ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม
ทำยังไงก็ได้ ที่เทคโนโลยี เข้ามามีบืบาทในอาชีพนี้อ่ะครับ
เราอย่าไปเน้นว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีสำหรับเทคโนโลยีเลย
บางทีเทคโนโลยี มันต้องทำมาให้เกิดความสะดวก สบาย รวดเร็ว ตอบโจทย์ ได้หลายๆอาชีพครับ
ผทก็งงกับ เมืองตาย ไปพักนึงเลยครับ
เทคโนโลยีที่ลดพื้นที่การทำเกษตรเหลือ 0 นับไหมครับ ?
เมืองไทย * แก้โพสต์ไงเนี่ย 555+
พิมพ์ผิดก็ช่างมันเถอะครับ :p
"ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่จำเป็นต้องมีผลกำไรสวยงามก่อนถึงจะเข้าได้ เพราะสตาร์ตอัพบางรายจำเป็นต้องขาดทุนในช่วงแรกเพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้ให้มากขึ้น" ใครจะยอมผ่อนคลายกฎนี้ละครับอย่างงี้พี่ไม่ต้องมีกำไรแค่ทำ Project ออกมาให้มันดูดีขายฝันชวนเขื่อนักลงทุน เสร็จออก IPO หลังจากนั้นบริษัทพี่ขาดทุนต่อเนื่องจนเจ๊งพี่ก็คงไม่สนแล้วเพราะหลอกเอาเงินจาก IPO ไปเรียบร้อย
อ่านประโยคนี้แล้ว ก็อึ้งเหมือนกันไม่แปลกใจที่ Startup จะล้มเหลวกันเยอะ เมื่อเทียบเป็น %
เห็นด้วยเลย ตลาดทุนไม่ใช่ของเล่นนะครับ ขนาดไอบริษัทใหญ่ๆหลายต่อหลายที่ดังๆ ก็ยังทำนักลงทุนเจ็บๆกันมาแล้ว
อันนี้ไม่แน่ใจ ถ้าบริษัทแสดงข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่บิดเบือนอะไร ไม่มีข้อมูลอินไซต์ การแสดงตัวเลขว่าไม่เคยกำไร เป็นการ "หลอกเอาเงิน" อย่างไรหรือครับ? ก็รู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่เคยกำไรแต่ก็ยังซื้อ?
lewcpe.com , @wasonliw
เป็นข้อสงสัยที่ดีครับ เลยไปหาข้อมูลมาเสริมเพิ่มเติม ก็น่าสนใจ ก่อนอื่นต้องอธิบายว่ากิจการใดๆ เวลาต้องการเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อใช้ทำอะไรก็ตาม วิธีหลักมีสองอย่าง คือกู้เงิน (มีดอกเบี้ยต้องจ่าย) กับขายหุ้นบริษัทให้คนลงทุน (ไม่มีดอกเบี้ย แต่ก็มีภาระอื่นคือถูกควบคุม)
ประเด็นคือคนลงทุนเขาจะได้ผลประโยชน์อย่างไร หลักๆ ก็คือปันผล กับขายหุ้นต่อให้คนอื่นในมูลค่าที่สูงกว่าที่เคยได้มา กรณี Startup ถ้าทำกำไรด้วยตนเอง ไม่ต้องการเงินเพิ่มแล้ว เขาก็อาจปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เรื่อยๆ ทุกคนแฮปปี้ แต่ช่องทางหนึ่งที่เร็วกว่าก็คือ ขยายโอกาสกิจการด้วยการเข้าตลาดหุ้น เพราะ (1) บริษัทได้เงินเพิ่มทุนก้อนใหญ่จากไอพีโอ (2) ผู้ถือหุ้นเดิมอาจขายหุ้นผ่านตลาดหุ้นได้ซึ่งมีสภาพคล่องดีกว่า ซึ่งย้อนกลับไปที่หลักการนะครับว่าวิธีนี้รองรับความต้องการทุกฝ่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว
ทีนี้กฎเกณฑ์การเข้าตลาดหุ้นของไทย พูดเฉพาะเรื่องงบกำไรขาดทุนนะ ถ้าเป็น mai ( อ้างอิง ) ต้องมีกำไรสุทธิเป็นบวกในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้าที่จะจดทะเบียน กรณีบริษัทยังขาดทุนจะเข้าได้ต้อง (1) มีผลการดำเนินงานไม่เกิน 2 ปี (2) Market Cap. ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ถ้าเป็น SET เงื่อนไขจะมากกว่านั้น คือต้องมีกำไร 2-3 ปีก่อนหน้า หรือขาดทุนแล้วใช้เกณฑ์ Market Cap. ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
ทีนี้มาดูของอเมริกา เอา Nasdaq รายละเอียดเยอะกว่าหน่อย แต่คร่าวๆ มี 3 แบบ (1) มีกำไร 3 ปีต่อเนื่อง (2) กระแสเงินสดเป็นบวก 3 ปีต่อเนื่อง (3) ไม่สนกำไรขาดทุน แต่ Market Cap. ไม่ต่ำกว่า 850 ล้านดอลลาร์ และรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 110 ล้านดอลลาร์
ผมเข้าใจว่าเขาคงหมายถึงอยากให้กฎเกณฑ์มีความคล่องตัว คล้ายๆ เงื่อนไขข้อ 3 น่ะครับ ของไทยจะเห็นว่า ยังไงก็ต้องมีกำไร 2-3 ปีต่อเนื่อง ถ้าเล่นเกณฑ์ Market Cap. ธุรกิจก็ต้องใหญ่มากกว่า 5,000 ล้านซึ่งยากมาก ทีนี้ให้เห็นว่าของอเมริกา มันก็ไม่ได้ยืดหยุ่นระดับที่ว่าเขียนโครงการขายฝันได้ เพราะคุณต้องพิสูจน์ส่วนรายได้ด้วยนะครับ ทีนี้ถามว่าแบบไหนเหมาะกว่าก็ตอบยาก เกณฑ์ของไทยที่เน้นใช้กำไรเป็นหลักก็คัดกรองกิจการเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ดี เพียงแต่มันย้อนกลับไปที่ปัญหาข้างต้นนั่นเอง
ผมว่า บริษัทไทย น่าจะหมายถึง บริษัทที่จดทะเบียนในไทย มากกว่าไม่ใช่ดูว่า เจ้าของเป็นคนไทย
อย่าง EpiBone, AdsOptimal และ MentorMob พวกนี้บริษัทอเมริกันทั้งนั้นมี Jitta บริษัทเดียว ที่เป็นบริษัทไทย
(ไม่งั้น ถ้าดูตามผู้ก่อตั้งไมเนอร์ กรุ๊ป ก็คงเป็นบริษัทอเมริกัน เพราะผู้ก่อตั้งเป็นฝรั่ง)
คือในบริบทนี้ กำลังเปรียบเทียบเรื่องการดำเนินธุรกิจก็คงต้องแบ่งอย่างที่ผมบอก
แต่ถ้ากำลังพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรก็อาจกล้อมแกล้มว่า บางบริษัทที่มีผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นคนไทย ก็คือบริษัทคนไทยได้
สตาร์ทอัพมันคือการผูกขาดชนิดหนึ่ง หากทำสำเร็จจากนั้นขายบริษัท หรือ IPO คนต่างชาติมาซื้อมาถือ
หากคิดอะไรได้ ทำอะไรขึ้นมาก็รอ อาลีบาบามาซื้อเอาก็ ขาย จบ สบายไป ที่เหลือให้มันผูกขาดคนไทยไม่ต้องสนใจอะไรเพราะขายไปแล้ว ไม่สนใจ ต่อไปอีคอมเมิซ แท็กซี่ ส่งอาหาร เซอร์วิสต่างๆ ก็จะโดนรอซื้อกินรวบหมด
อยากแต่ให้รัฐสนับสนุนแต่ไม่มีมาตรการรองรับ อยากให้สตาร์ทอัพไปไกลแต่การศึกษาของคนไทยยังไม่ไปถึงไหน ฯลฯ