การควบกิจการระหว่าง Dell และ EMC เพิ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว และทั้งสองบริษัทเพิ่งรวมการปฏิบัติงานเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง ปีนี้จึงถือเป็นปีแรกที่ Dell และ EMC จะเริ่มทำตลาดร่วมกันภายใต้แบรนด์เดียว
Blognone มีโอกาสพูดคุยกับ คุณอโณทัย เวทยากรกรรมการผู้จัดการ บริษัทเดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) และผู้จัดการทั่วไป ภาคพื้นอินโดจีน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ Dell และ EMC ในยุคใหม่ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
รวม Partner Program ใหม่เหลืออันเดียว
ก่อนหน้าที่การรวมกิจการจะเสร็จสิ้น ยังมีความสับสนอยู่มากต่อการควบรวมของ Dell และ EMC โดยเฉพาะจากลูกค้าและคู่ค้า (พาร์ทเนอร์) เดิมของทั้งสองบริษัท ตอนนี้การรวมกิจการเสร็จสิ้น ก็ได้เวลาที่ Dell EMC จะเริ่มบุกตลาดใต้แบรนด์ใหม่อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ Dell EMC จะทำคือปรับระบบของคู่ค้าใหม่ จากเดิมที่มี Partner Program แยกกันระหว่าง Dell กับ EMC ก็ยุบรวมกันเหลือเพียงอันเดียว ภายใต้ชื่อว่า Dell EMC Partner Program
คุณอโณทัย ระบุว่าการปรับปรุง Partner Program เป็นสิ่งแรกที่ Dell EMC ทำหลังรวมบริษัทเรียบร้อย เพราะต้องการให้พาร์ทเนอร์ทำงานได้ทันที จากเดิมในช่วงระหว่างรอรวมกิจการ ลูกค้ารายเก่าอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าอยู่บ้าง แต่เมื่อรวมกิจการเสร็จเรียบร้อย ลูกค้าเข้าใจว่า Dell EMC ยุคใหม่คือใคร ออเดอร์ก็เริ่มกลับเข้ามาอีกครั้ง
Partner Program อันใหม่รวมเอาจุดแข็งจากโปรแกรมเดิมของทั้ง Dell และ EMC เข้าด้วยกัน มีหน้าพอร์ทัลเพียงอันเดียวเพื่อไม่ให้พาร์ทเนอร์สับสน แนวทางของ Dell EMC คือโปรแกรมต้องชัดเจน ให้ความคุ้มครองคู่ค้าเดิม และที่สำคัญคือพาร์ทเนอร์เข้าร่วมแล้วต้องมีกำไร โดย Dell EMC จะช่วยสนับสนุนทุกด้านไม่ว่าจะเป็นส่วนลด หรือรางวัลเมื่อทำยอดขาย-อัตราการเติบโตได้ตามที่กำหนด
รวมตัวเป็น Dell EMC แล้ว ธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างไร
คุณอโณทัย บอกว่าจุดแข็งของ Dell EMC หลังรวมกิจการกันคือการเป็นบริษัทไอทีรายเดียวที่มีโซลูชันแบบ end-to-end คือตั้งแต่โซลูชันองค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงไคลเอนต์อย่างพีซี โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์ IoT ดังนั้นพาร์ทเนอร์ของ Dell หรือของ EMC เดิม จะเข้าถึงเทคโนโลยีของอีกฝั่งเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่พาร์ทเนอร์อาจขายเฉพาะสตอเรจ EMC ก็อาจขายเซิร์ฟเวอร์ของ Dell เพิ่มได้ด้วย
ปัจจุบัน โซลูชันของ Dell EMC มุ่งเป้าตอบโจทย์ Business Transformation โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- IT Transformationเน้นการเปลี่ยนแปลงสู่สถาปัตยกรรมไอทียุคใหม่ (modern architecture) เช่น hyperconverge, software defined, hybrid cloud หรือถ้าเป็นสตอเรจ ก็จะมุ่งไปทาง all flash
- Workforce Transformationพาร์ทเนอร์เดิมอาจถนัดการขายฮาร์ดแวร์เป็นชิ้น แต่ Dell EMC ก็พยายามผลักดันให้ขยายเป็นการขายทั้งโซลูชัน โดย Dell EMC จะส่งทีมวิศวกรเข้าไปช่วยประกบพาร์ทเนอร์แต่ละรายให้ใกล้ชิดมากขึ้น
- Security TransformationDell EMC มีซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยหลากหลายแบรนด์ เช่น RSA, SecureWork เป็นต้น
ปัจจุบัน Dell EMC อาจมีผลิตภัณฑ์ทับไลน์กันอยู่บ้าง เช่น สตอเรจบางรุ่น ทางออกของ Dell EMC Thailand คือมีทีมพนักงานส่วนกลางที่เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท คอยให้คำปรึกษากับพาร์ทเนอร์และลูกค้าในการเลือกโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยลดความสับสนตรงนี้ลงได้
พีซียังไม่ตาย
ถึงแม้การควบรวมระหว่าง Dell EMC จะส่งผลให้ภาพลักษณ์องค์กรมุ่งไปทาง enterprise แต่จริงๆ แล้ว Dell ยังมีสถานะผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ของโลก บริษัทมองว่าตลาดพีซียังไม่ตาย และธุรกิจของบริษัทยังเติบโตสวนกระแสตลาดพีซีที่หดตัว
ยุทธศาสตร์ของ Dell คือการใช้พีซีเป็นตัวเจาะลูกค้าองค์กร ให้คุ้นเคยกับแบรนด์ Dell ก่อนในช่วงแรก ก่อนจะขยายผลด้วยการขายโซลูชันอื่นๆ ให้กับองค์กรนั้นๆ ต่อไปในภายหลัง
คุณอโณทัย บอกว่ารับทราบเสียงจากผู้บริโภคที่มองว่าพีซีของ Dell ยังหาซื้อยากในเมืองไทย และจะปรับปรุงเรื่องนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
Comments
จะสั่ง Precision, Latitude, Alienware เองได้มั๊ยน้อ
ตอนนี้ก็สั่งประกอบเองได้อยู่นี่ครับ
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
คือยังกดเลือกสเปคจากเว็บไม่ได้ไงครับ ต้องสั่งผ่านตัวแทน ไม่เหมือนเมืองนอก เลือกสเปค จ่ายเงิน ส่งถึงบ้านเลย
Dell ไทยยุคให้เซลคนนอกขาย ทำไมผมรู้สึกมันไม่ค่อยมีโปรฯ ราคาถูกๆ ออกมาเลยแฮะ
พาร์ทเนอร์โปรแกรมใหม่หวังว่าจะจัดการกับพาร์ทเนอร์ได้ดีขึ้นนะจ๊ะ โดนหักหลังมาแบบคงเจ็บไปจนวันตายคงจำขึ้นใจ
จะได้ใช้ XPS ราคาเท่าหน้าเว็บ มั้ยนี่ ...
จาก ปสก. คือตัวแทนไทยทำเดลล์เสียพอสมควร และการกำกับไม่ดีพอ
ผมเคยจะสั่ง lattitude 3000
แบบไม่มีอะไรเลยนอกจากประกัน 3ปี + อุบัติเหตุ 3 ปี
เจ้าแรกเสนอมา 39,xxx พอให้ลดก็ลดมาเหลือ 36,xxx ผมเลยรีบโทรไปหาเดลล์
บอกแพงเชี้ยๆ แพงสลัดหมา (ผมซื้อรุ่นก่อนหน้าก่อนค่าเงินดอลล์ขึ้น ราว 32,xxxx)
จนได้เจ้าใหม่มาราวๆ 34,xxx ค่อยถอนหายใจหน่อย
เพราะถ้าแปลงตามเรทเงินดอลล์แล้วน่าจะขึ้นราวๆ สอง-สามพัน
ก็เลยซื้อเจ้าหลังไป
อีกเรื่องคือของบริษัท
มาถึงปุ๊ปเครื่องเสียบอกให้เคลมเดลล์อย่างเดียวไม่รับ
บอกให้เปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ไม่ยอม จะเปลี่ยนเจ้าก็ไม่ได้เพราะ
เดลล์ไทยสั่งแบ่งเค้กไปแล้ว เอวังจริงๆ
ใช้เดลอยู่ครับ ไม่ประทับหลายอย่างแต่ก็ทนๆ ใช้ไปซื้อใหม่ไม่ไหวแพง