Acer มีสินค้ากลุ่มเกมมิ่งอยู่ 2 แบรนด์ใหญ่ๆ คือ Predator ที่เน้นกลุ่มเกมเมอร์เต็มขั้น และ Aspire V Nitro โน้ตบุ๊กสมรรถนะสูงที่เน้นตลาดมืออาชีพ ดีไซน์โฉบเฉี่ยว แต่ก็มีสเปกดีพอสำหรับเล่นเกมได้ด้วย
V Nitro แบ่งออกเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ ตามขนาดหน้าจอคือ 15.6" และ 17.3" จุดเด่นของมันคือใช้ซีพียู-จีพียูตัวแรงของตลาดโน้ตบุ๊กในแต่ละปี บวกกับความสามารถในการอัพเกรดฮาร์ดแวร์ได้ง่าย ในฟอร์มแฟคเตอร์ที่ไม่ได้ใหญ่จนเกินไปเหมือนกับ Predator
ในช่วงต้นปี 2017 ทาง Acer ก็อัพเกรดฮาร์ดแวร์ V Nitro มาเป็นรุ่นที่สามแล้ว (รหัสรุ่นจะลงด้วยเลข 3) โดยผลิตภัณฑ์ที่เราจะมารีวิวกันคราวนี้เป็นรุ่นจอ 17.3" มีชื่อเต็มๆ ว่า Acer Aspire V17 Nitro Black Editionรหัสรุ่น VN7-793G
สเปกฮาร์ดแวร์
VN7-793G ถือเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปของไลน์ V Nitro ที่ Acer มีธรรมเนียมอัพเกรดสเปกให้ปีละครั้ง โดยสองรุ่นก่อนหน้านี้คือ 791G และ 792G ก็ได้รับความนิยมพอสมควรในตลาดต่างประเทศ
สิ่งที่เปลี่ยนไปของ V Nitro 793G รุ่นปี 2017 คือเปลี่ยนมาใช้ซีพียูรุ่นล่าสุดของอินเทล Core 7th Gen "Kaby Lake" และจีพียู NVIDIA GeForce GTX 1060 นั่นเอง
การเปลี่ยนมาใช้ GeForce 1060 ถือว่าน่าสนใจ เพราะ V Nitro รุ่นก่อน เลือกใช้จีพียูตัวรองล่างสุดอย่าง GeForce 960M ดังนั้นแปลว่าปีนี้ มันน่าจะใช้ GeForce 1050 Ti ที่จับตลาดเดียวกัน แต่ Acer กลับเลือกใช้ GeForce 1060 แทน นั่นแปลว่าสเปกของจีพียูย่อมจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก (สมรรถนะเพิ่มขึ้นมา 180% จาก 960M)
V Nitro VN7-793G มีหลายรุ่นย่อยตามสเปกที่ขายในแต่ละประเทศ แต่ในเมืองไทยนำเข้ามาขายรุ่น SKU เดียวคือ VN7-793G-726Aมีสเปกดังนี้
- Intel Core i7-7700HQ 2.8GHz
- NVIDIA GeForce GTX 1060 6GB
- แรม 8GB DDR4
- Harddisk 1TB
- จอ 17.3" IPS 1920x1080
- ประกัน 3 ปี on-site และประกัน international travelling 1 ปี
- น้ำหนัก 2.3 กิโลกรัม
ราคาขายปลีก 49,900 บาท และอันนี้ต้องย้ำว่า VN7-793G รุ่นที่ขายในไทย ไม่มีไลเซนส์ Windows มาให้ด้วยนะครับ (ระบบปฏิบัติการที่แถมมาเป็น Linux) คนที่คิดจะซื้อก็ต้องบวกราคาของ Windows เข้ามาในราคารวมเอง ( ข้อมูลบนหน้าเว็บ Acer Thailand )
รูปลักษณ์ภายนอก
V Nitro VN7-793G เป็นโน้ตบุ๊กหน้าจอ 17.3" นั่นแปลว่าเครื่องมันใหญ่พอสมควร แต่หน้าตาของมันแทบไม่เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่เน้นความถึกและอลังการสักเท่าไร มันกลับไปเหมือนโน้ตบุ๊กสายเวิร์คสเตชันมากกว่า ตัวเครื่องใช้สีดำ-เงินทั้งหมด ถ้าไม่มีไฟ backlit คีย์บอร์ดที่เป็นสีแดงแล้ว แทบไม่มีอะไรสื่อถึงความเป็นเกมมิ่งเลย
รูปลักษณ์ภายนอกเครื่อง ฝาด้านนอกใช้วัสดุทำเป็นร่องขนานกันในแนวตั้ง จับแล้วไม่ลื่นมือ แต่ข้อเสียคือเป็นลายนิ้วมือค่อนข้างง่าย และพอมันเป็นร่องก็เช็ดออกยากพอตัว
เมื่อเปิดฝาออกมา หน้าตาของมันก็ดูเหมือนโน้ตบุ๊กปกติทั่วไป แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าที่ฝาพับด้านใน จุดที่อยู่ระหว่างใต้จอกับเหนือคีย์บอร์ด มีโมดูลติดตามการเคลื่อนไหวของนัยน์ตา (eye-tracking) ของบริษัท Tobii ฝังมาด้วย
ระยะหลัง Acer ค่อนข้างสนิทสนมกับ Tobii และนำระบบ eye-tracking ใส่มาในโน้ตบุ๊กหลายรุ่น ( รวมถึงจอมอนิเตอร์ด้วย ) ในแง่ประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบการใช้งาน เราจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
ตามสเปกของมันบอกว่าตัวเครื่องหนา 1.1 นิ้ว ถือว่าค่อนข้างบางถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กสายเกมมิ่ง เมื่อพับฝาแล้ว ตัวเครื่องเป็นทรงลิ่มตามสมัยนิยม ปลายด้านที่ชี้เข้าตัวจะค่อนข้างแหลม
ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อของ V Nitro VN7-793G ก็ให้มาค่อนข้างครบครัน พอร์ตด้านขวามือได้แก่ USB 3.0 x2, USB Type-C, HDMI, พอร์ต RJ-45 สำหรับต่อ Ethernet และช่องเสียบอแดปเตอร์ชาร์จไฟ
พอร์ตด้านซ้ายได้แก่ Kensington Lock, USB x2, ช่องเสียบไมโครโฟน-หูฟัง และตัวอ่าน SD Card ไซส์มาตรฐาน
มาถึงยุคสมัยนี้แล้ว VN7-793G ไม่มีไดรฟ์ออปติคอลมาให้แล้วนะครับ (รุ่นก่อนหน้านี้ VN7-792G มีให้) ทุกวันนี้เราแทบไม่ได้ใช้แผ่นกันแล้ว เกมพีซีก็โหลดผ่าน Steam กันหมด การตัดออกไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการใช้งาน
คีย์บอร์ด-ทัชแพด
เนื่องจาก VN7-793G เป็นโน้ตบุ๊กขนาด 17.3" จึงมีพื้นที่สำหรับใส่ปุ่มบนคีย์บอร์ดเข้ามาได้มาก Acer จึงใส่ปุ่ม Numpad และปุ่มเสริมอื่นๆ มาให้ด้วย
ปัญหาที่ผมพบคือวิธีการเรียงปุ่มของ Acer ที่ฝั่งขวามือของปุ่ม Enter ไปยัง Numpad ทำได้ไม่ดีนัก จนปุ่มปนกันมั่วไปหมด (เช่น ปุ่มลูกศรจะกินพื้นที่ของปุ่ม 0 บน Numpad เข้ามา) การจำตำแหน่งปุ่มจึงทำได้ยากมาก ไหนๆ มีพื้นที่เหลือขนาดนี้แล้วน่าจะเว้น space ระหว่างกลุ่มของปุ่มสักหน่อย เพื่อให้การคลำตำแหน่งโดยไม่มองแป้นทำได้ง่ายกว่านี้
รูปแบบของปุ่มเป็นแบบ chiclet ตามสมัยนิยมอีกเช่นกัน แต่พอตัวเครื่องหนาหน่อยก็มีระยะลึก (key traveling) ทำให้ประสบการณ์การพิมพ์ค่อนข้างโอเค ถ้าไม่ติดเรื่องการวางปุ่มแปลกๆ ผมก็ไม่มีปัญหากับคีย์บอร์ดของ V Nitro ในประเด็นอื่น
ทัชแพดของ VN7-793G ถือว่าค่อนข้างใหญ่และทำมาได้ดี การใช้งานสะดวกคล่องตัว (เป็น Precision Touchpad) แถมมุมซ้ายบนยังมีตัวอ่านลายนิ้วมือแบบแตะสัมผัส (ไม่ใช่แบบรูด) มาให้ด้วย สามารถใช้ล็อกอินกับ Windows Hello ได้ทันที ผมลองแล้วก็มีความแม่นยำสูง ส่วนใหญ่แตะนิ้วครั้งเดียวก็ล็อกอินติดเลย
ความสามารถในการอัพเกรดฮาร์ดแวร์
V Nitro ออกแบบมาสำหรับลูกค้ากลุ่ม power user ทำให้มันแกะฝาเพื่ออัพเกรดฮาร์ดแวร์บางตัวได้ง่าย โดย V Nitro รุ่นก่อนหน้านี้จำเป็นต้องแกะแผงคีย์บอร์ดออกมาก่อน แต่พอมาถึง VN7-793G ตัวนี้ การอัพเกรดง่ายขึ้นมาก เพราะเราสามารถแกะฝาด้านใต้เครื่องออกมา แล้วเสียบฮาร์ดแวร์เพิ่มเข้าไปได้เลย
V Nitro ตัวนี้มีเทคโนโลยีด้านการระบายความร้อนของ Acer คือพัดลมโลหะ Aero Blade สองตัว ดันลมร้อนออกมาที่ตรงขอบสีเงินด้านใต้เครื่อง ส่วนเทคโนโลยีอีกตัวที่มีมาให้คือตัวขับฝุ่น Acer DustDefend ที่จะปล่อยฝุ่นออกมาในช่องที่มีไอคอนรูปพัดลมตรงกลางภาพ
วิธีการแกะจะมีทริคอยู่เล็กน้อยคือ เราต้องแกะฝาของ Tobii ออกก่อน เพื่อขันน็อตหนึ่งตัวที่ล็อคกับฝาใต้เครื่อง จากนั้นพลิกเครื่องเอาด้านใต้ขึ้นมา ขันน็อตทั้งหมดออก ถอดฝาใต้เครื่องออก เราก็เห็นฮาร์ดแวร์ทั้งหมดแล้ว
VN-793G รุ่นที่ขายในไทย ให้แรมมา 8GB และไม่ได้ใส่ SSD มาด้วย เนื่องจากตัวนี้เป็นเครื่องที่ผมซื้อใช้เอง เลยอัพเกรดแรมเพิ่มอีก 8GB (มีแรมให้สองสล็อต) และเสริม SSD เข้าไปอีกตัว
สำหรับคนที่ชอบของแรง VN-793G รองรับ SSD แบบ NVMe ด้วย (สล็อตเป็น M.2 ที่รองรับทั้ง NVMe PCIe และ mSATA) เผอิญว่าผมงบน้อย บวกกับหา NVMe M.2 ค่อนข้างยาก เลยใช้เป็นแค่ mSATA ก็พอครับ (ของซื้อที่ร้าน Memory Today ฟอร์จูน พร้อมบริการใส่ชิ้นส่วนให้เสร็จสรรพ อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณา)
ผลทดสอบประสิทธิภาพ
ในแง่การใช้งานคงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ มาดูผลเบนช์มาร์คกันเลยดีกว่า ย้ำอีกรอบว่าเบนช์มาร์คอันนี้ รันบนฮาร์ดแวร์ที่ผมอัพเกรดแรมและ SSD เพิ่มเข้ามาเอง ผลลัพธ์อาจต่างไปจากสเปกพื้นฐานของ Acer Thailand อยู่บ้างครับ
3DMark
ตัวชูโรงของ VN7-793G คือการ์ดจอที่เป็น GeForce GTX 1060 ที่ถือว่ามีสเปกอยู่ตรงกลางของ GeForce 10 Series ในปัจจุบัน (เป็นรองแค่ 1070/1080 ที่เป็นจีพียูไฮเอนด์) ดังนั้นเรามาดูสมรรถนะของมันที่รันอยู่บนฟอร์มแฟคเตอร์ที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดกันด้วย 3DMark
เนื่องจากเว็บไซต์ต่างประเทศ NotebookCheck มีรีวิว VN7-793G (แต่เป็นคนละรุ่นย่อย ของเขาเป็นรุ่นจอ 4K) ผมเลยใช้ชุดทดสอบ 3DMark ตัวเดียวกัน (FireStrike และ FireStrike Extreme) เพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบ รายละเอียดของเบนช์มาร์คกดดูได้ตามลิงก์
- Fire Strike Extreme 5140 คะแนน (vs 5384 คะแนน)
- Fire Strike 9662 คะแนน (vs 11160 คะแนน)
ไหนเลย 3DMark ยังมีชุดทดสอบอื่นให้รันด้วย ก็บันทึกคะแนนเก็บไว้
- Time Spy 3562 คะแนน
- Cloud Gate 21426 คะแนน
โดยรวมแล้ว ผลที่ได้ก็ถือว่าออกมาค่อนข้างดีทีเดียวสำหรับโน้ตบุ๊กสายเกมมิ่งลูกผสมอย่าง V Nitro ที่ไม่ได้เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งแท้ๆ 100% แต่ก็ยังได้ประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ากันนัก
PCMark
ถัดจากการวัดประสิทธิภาพจีพียูแล้ว เรามาดูเบนช์มาร์ครวมๆ ของระบบกันบ้าง ผมเลือกใช้ PCMark 8 โดยเลือกชุดทดสอบเป็น Creative เพื่อให้สะท้อนการทำงานของผู้ใช้กลุ่มโปร (รันแบบ Accelerated ด้วย OpenCL) ได้ออกมา 4889 คะแนน ( ผลเบนช์มาร์ค )
การเล่นเกม
เผอิญว่าผมไม่มีเกมระดับ AAA รุ่นใหม่ๆ ให้ทดสอบเท่าไรนัก เลยลองได้แค่เพียง Tomb Raider (2013) ทดสอบด้วยกราฟิกละเอียด 1920x1080 (เนทีฟของจอภาพ) เปิดเอฟเฟคต์ทุกอย่างระดับ Ultimate ตามพรีเซ็ตของเกม ก็ยังสามารถเล่นเกมได้อย่างลื่นไหล ส่วนการทดสอบเฟรมเรตภายในเกมเอง ก็ได้ผลออกมาที่ 60FPS สบายๆ
แบตเตอรี่และความร้อน
เนื่องจากมันเป็นโน้ตบุ๊กจอ 17" อรรถประโยชน์ของมันคงใช้ในเชิง desktop replacement ที่สามารถขนย้ายได้ง่าย มากกว่างานจำพวก mobility ดังนั้น อายุการใช้งานแบตเตอรี่คงไม่สำคัญเท่ากับประสิทธิภาพที่ได้ (ส่วนใหญ่ก็คงเสียบไฟกันซะมาก) แต่ก็เป็นข้อมูลที่ควรรู้ไว้ก่อนซื้อ โดยเฉลี่ยแล้ว แบตของ VN7-793G อยู่ได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ขึ้นกับประเภทของงานที่รันด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องความร้อน ผมคิดว่า Acer ทำการบ้านมาได้ค่อนข้างดี (บวกกับการเป็นโน้ตบุ๊กขนาด 17 นิ้ว มีพื้นที่ให้ระบายความร้อนได้พอสมควร) การมีพัดลมขนาดใหญ่ 2 ตัวช่วยให้เครื่องไม่ร้อนมากนัก ในขณะที่เสียงรบกวนก็ค่อนข้างเงียบเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเกรดเดียวกัน (เวลารันงานหนักๆ ก็ยังได้ยินเสียงพัดลมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ดังจนน่ารำคาญ)
ระบบติดตามดวงตา Tobii Eye-Tracking
Tobii เป็นบริษัทจากสวีเดนที่ทำระบบติดตามดวงตา เทคโนโลยีของ Tobii คือการยิงแสงอินฟราเรดที่ไม่เป็นอันตรายกับดวงตามาที่ใบหน้าของเราตลอดเวลา เพื่อวัดค่าว่าดวงตาของเรากำลังมองไปที่ไหนในจอภาพ จากนั้นก็นำพิกัดที่ได้ไปใช้งานกับแอพหรือเกมต่างๆ
จากภาพจะเห็นว่าตัวเซ็นเซอร์ของ Tobii จะยิงแสงสีแดงออกมา 2 เส้นเพื่อวัดดวงตาทั้งสองข้าง ตรงนี้มองตรงๆ เราจะเห็นแค่ไฟสีแดงที่ตัว Tobii แต่ถ้ามองด้านข้างจะเห็นเป็นลำแสงชัดเจน ซอฟต์แวร์ของ Tobii สามารถแสดงการตรวจจับดวงตาแบบเรียลไทม์ได้ ถ้าเราหลับตาหรือเอียงหัวออกจากหน้าจอ ก็จะเห็นไอคอนของ Tobii แสดงดวงตาที่ตรวจจับได้เพียงข้างเดียวหรือไม่ได้เลย
การใช้งานบน Windows 10 เราสามารถใช้ Tobii ช่วยสั่งงานบางอย่างได้ เช่น กด Alt+Tab เพื่อแสดงหน้าต่างที่เปิดอยู่ทั้งหมด แล้ว "ชำเลือง" ไปยังหน้าต่างที่เราต้องการเลือกโดยไม่ต้องขยับเมาส์เลย (แต่ต้องคลิกเพื่อเลือกนะครับ ไม่สามารถทำท่าแบบกระพริบตาแล้วเลือกได้) ตรงนี้ผมมองว่าเป็นลูกเล่นเสริมการใช้งาน หรือช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้กลุ่ม accessibility มากกว่าผู้ใช้งานทั่วไป
ส่วนการใช้งานร่วมกับเกม เราสามารถใช้ Tobii ช่วยให้เล่นเกมได้สะดวกขึ้น เช่น ชำเลืองวัตถุในเกมเพื่อล็อคเป้าอาวุธ หรือการขยับสายตาเพื่อเปลี่ยนมุมกล้อง ตรงนี้ขึ้นกับเกมที่รองรับด้วย ปัจจุบันมีเกมที่รองรับ Tobii แล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงเกมดังๆ อย่าง Deus Ex: Mankind Divided, Watch Dogs 2, Tom Clancy’s The Division, Arma 3, DayZ, Rise of the Tomb Raider เป็นต้น ( รายชื่อทั้งหมด )
เนื่องจากผมไม่มีสักเกม ตรงนี้เลยไม่ได้ลองครับ ต้องขออภัย แต่โดยรวมแล้วถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก
สรุป
Acer Aspire V17 Nitro Black Edition (VN7-793G) รุ่นปี 2017 ถือเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่น่าประทับใจ ข้อดีของมันคือประสิทธิภาพที่เหลือเฟือสำหรับคนทั่วๆ ไปที่ใช้ทำงานบ้าง เล่นเกมบ้าง และไม่ต้องการสมรรถนะถึงขนาดเกมเมอร์ฮาร์ดคอร์
V Nitro ตัวนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Predator กับไลน์สินค้าเกมมิ่งตัวใหม่ของ Acer คือ Aspire VX15/VX5 ที่เน้นราคาประหยัดกว่า ความเหมาะสมของสินค้าก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ซื้อว่าต้องการสเปกขนาดไหน และเอามาทำงานอะไร ถ้าต้องการเครื่องแรงในระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงขั้น Predator ก็ต้องบอกว่า V Nitro ตัวนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม power user
ข้อดี
- สมรรถนะระดับ Core i7 Kaby Lake และ GeForce GTX 1060 รุ่นล่าสุด ในฟอร์มแฟคเตอร์ที่ไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไป
- หน้าตาดูเรียบๆ ไม่ติดโทนแดงเหมือนสินค้าเกมมิ่งทั่วไป (อันนี้แล้วแต่ชอบ)
- อัพเกรดฮาร์ดแวร์เพิ่มเองได้ง่าย
- ประสิทธิภาพดี แต่ทำงานเงียบ (ในระดับหนึ่ง) ความร้อนไม่มาก (ในระดับหนึ่ง)
- พอร์ตเชื่อมต่อครบครัน
- Tobii Eye-tracking เป็นฟีเจอร์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ
ข้อเสีย
- ตำแหน่งการวางปุ่มของคีย์บอร์ดอาจแปลกๆ ไปสักหน่อย
- ราคานี้ไม่รวมไลเซนส์ Windows
- รุ่นที่ขายในไทยยังไม่รวม SSD มาให้
- เกมที่ Tobii รองรับยังมีไม่เยอะนัก
หมายเหตุ: สำหรับคนที่สนใจเบนช์มาร์คอย่างละเอียด แนะนำให้อ่าน รีวิวของ NotebookCheck
Comments
โอ้ว ผมเพิ่งรู้เหมือนกันว่ามี Acer รุ่นนี้ราคานี้ด้วย ใน notebookspec ก็ไม่มีดูๆ แล้วคุ้มมากเป็น GTX1060 แรม 6GB ที่ถูกที่สุดเลยมั้ง
เพิ่งมีขายเดือนนี้เองครับ แต่ Acer ทำเว็บไม่ค่อยดี เลยไม่ค่อยมีข้อมูล ต้องดูใน โบรชัวร์ Acer เดือน เม.ย. แต่ตอนนี้มันโหลดไม่ค่อยขึ้นครับ
รบกวนสอบถามครับ
ตัวนี้ตัดสินใจซื้อเองไม่มีสปอนเซอร์ใช่มั้ยครับ
ในบทความบอกว่าซื้อใช้เองครับ
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
ตอนแรกจะซื้อ VX แต่ของหมด เลยโดนกล่อมมาซื้อตัวนี้แทนครับ
ขอบคุณครับ
นึกว่าจะเป็นราคาแบบเอเซอร์
เคยคิดอยู่ว่าไม่ได้ต้องการโน้ตบุคใหญ่ๆ แต่ถ้ามันใหญ่แล้วมันจะระบายความร้อนได้ดีขึ้นนี่ก็น่าสน คำถามคือจริงมั้ย significant มั้ย
สงสัยเล่นๆ tobii ใช้เป็น windows hello ได้เปล่าหว่า
จัดวางHardwareด้านในได้สวยและเป็นระเบียบดีแฮะ
เอาอันร้อนไปไว้รวมๆกัน แถวๆด้านบานพับจอแบบเดียวกับMacbookเลยมีHarddiskหลุดมาตรงที่วางข้อมือตัวเดียว แต่มันก็คงไม่ร้อนข้อมือนรกแบบพวกการ์ดจอหรือCPUหรอก
ถ้าสลับด้านHarddiskกับแบตนี่น่าจะโอเคขึ้น เพราะHarddiskจะได้ไม่ได้อยู่ใต้ข้อมือซ้าย ไปอยู่ฝั่งขวาแทน ซึ่งเวลาเล่นเกมมือขวาไม่ค่อยได้วางบนที่รองข้อมือเท่าไหร่อยู่แล้ว(จับเมาส์)
พอกด Alt+tab เสร็จแล้ว ชำเรือง หน้าจอที่จะเอาแล้ว Enter แทน คลิ๊กได้มั่ยครับ บางทีก็ไม่อยากละมือไปจากคีร์บอร์ดครับ
ได้ครับ คือใช้ตาแทน pointer น่ะครับ ส่วนจะกดยืนยันด้วยปุ่มไหนก็ได้หมด
คีย์บอร์ดประหลาดมาก ของผม vn7591 ก็ไม่ได้เรียง numpad ประหลาดขนาดนี้นะ https://goo.gl/photos/oct2wUSSYDC73qu19
เข้าใจว่ามันเริ่มเปลี่ยนตอน 792G ครับ ภาพ โดยดัดแปลงมาอีกหน่อย
กระพริบ => กะพริบ
งงอยู่อย่างเดียวว่าทำไมไม่ใส่ Linux ดิสโทรอื่น ๆ ยอดนิยม เช่น Ubuntu ทำไมต้องเป็น Linpus?